Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๑๒
ในการสร้างบารมีเป็นธรรมดาที่เราจะต้องพบเจออุปสรรค บางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย จากผู้ที่ยังไม่เข้าใจซึ่งบางครั้งอาจจะรุนแรง ถึงขั้นหมายจะเอาชีวิตก็มี ในเมื่อเราปรารถนาจะให้โลกนี้มีสันติสุข มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองโลก เราก็ต้องอดทนไม่หวั่นไหวหรือท้อแท้ ตัวเราจะต้องไม่ยอมให้กิเลสมารหรืออุปสรรคน้อยใหญ่ทั้งหลาย มามีอิทธิพลเหนือการสร้างบารมีของเรา
เราต้องเข้มแข็งในการทำความดีเรื่อยไป แล้วรักษาใจให้แช่มชื่นเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้อนหูมากระทบ อย่าให้กระเทือนเข้าไปถึงในใจ ยังคงรักษาใจไม่ให้หลุดจากศูนย์กลางกาย ต้องรู้จักรักษาใจให้เป็นสุขและใจเราจะเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อเรานำใจกลับมาสู่ฐานที่ตั้งดั่งเดิม คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแหลงแห่งความสุขและความสำเร็จทั้งมวลนะจ๊ะ
มีธรรมะภาษิตที่พระโบราณอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า
ขนฺติโก เมตฺวา ลาภี
ยสสฺสี สุขสีลวา
ผู้มีขันติและเมตตาย่อมเป็นผู้มีลาภมียศและมีความสุขเสมอ
ปิโย เทวมนุสฺสานํ
มนาโป โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติธรรมย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระท่านสอนเราให้รู้จักอดทน เมื่อมีความโกรธหรือความคิดประทุษร้ายเกิดขึ้น ก็ทำใจให้สงบนิ่งเสียก่อน ตอนแรกๆ ความโกรธอาจจะพรุ่งพร่านอยู่ในใจ แต่ก็ไม่ถึงกับหลุดปากออก เมื่อเราสงบนิ่งสักพักหนึ่ง ความโกรธความขัดเคืองนั้นก็จะจางหายไป เมื่อหยุดใจได้เพียงอย่างเดียวก็จะสามารถเอาชนะกิเลสในใจของเราได้ อุปสรรคภายนอกทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เราจะชนะได้อย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ยากลำบาก คำพูดให้ร้ายต่างๆ ก็อย่าปล่อยให้กเข้ามาอยู่ในใจของเรา สิ่งที่ควรจะอยู่ในใจของเราคือบุญกุศล ความดีงามที่เราได้ทำไว้และพระรัตนตรัยในตัว หากเราทำได้เช่นนี้ ตัวเราก็จะเป็นศูนย์รวมแห่งสัพศิริมงคลทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และก็จะเป็นที่เคารพยกย่องทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนดังพระเตมียราชกุมาร ผู้มีขันติธรรมเป็นเลิศ เพียงเพื่อให้ความปรารถนาที่จะไม่ต้องครองราช สืบต่อจากพระราชบิดา กลายเป็นจริงถึงขนาดยอมตนเป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนใบ้คนหูหนวก ความอดทนของพระองค์นั้น จัดได้ว่าเป็นขันติในขั้นปรมัตถบารมีทีเดียวนะจ๊ะ
เพราะทรงทำในสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปทำได้ยาก ซึ่งพระองค์ได้เพิ่มขันติบารมีให้กับตัวเองอย่างไรบ้างนั้น ยกโทษที่ติดตามรับฟังกันเป็นประจำก็คงเห็นขั้นที่ทำของพระบรมบริษัทกันแล้วนะจ๊ะ
เมื่อครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่หญิงนักฟ้อนผู้เลอโฉม จำนวนมาก ได้รับบัญชาให้เข้าไปถวาย การปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ ซึ่งแต่ละนางล้วนแสดงอากัปกิริยาที่น่าเย้ายวนต่อบุรุษหนุ่มทั่วไป
แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งมั่นในอุดมการณ์ ทรงพิจารณาเห็นหญิงเหล่านั้นเป็นเพียงอัตภาพที่รวมกันเข้าไว้อย่างวิจิตร ประสานขึ้นด้วยกระดูก ฉาบทาด้วยเนื้อและเลือด ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น มีหนังเป็นเครื่องห่อหุ้ม แพรวพราวด้วยอาภรณ์เครื่องประดับอันอลังการ แม้จะเป็นที่บันเทิงใจของผู้คนเป็นอันมาก แต่ย่อมไม่เป็นที่ต้องการของผู้แสวงหาฝั่งคือนิพพาน
ครั้นทรงดำริเช่นนี้แล้ว พระกุมารจึงทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า “อย่าให้สตรีเหล่านี้ มาแตะต้องสรีระของข้าพเจ้าเลย” จากนั้นทรงกลั้นลมหายใจอยู่ครู่หนึ่ง ทำให้สรีระของพระโพธิสัตว์แข็งกระด้างดุจท่อนไม้ ทำให้หญิงงามตกอกตกใจกันใหญ่ ไม่กล้าแตะต้องพระสรีระของพระองค์ ได้แต่ขึบร้องฟ้อนลำแสดงอาการกรีดกายยั่วยวนเหมือนสตรีทั่วไป แต่ถ้าเมื่อไรที่พวกนางคิดจะถูกต้องพระกุมารพระวรกายจะเกิดอาการแข็งกระด้างขึ้นมาทันที
พวกอำมาตย์ก็ให้สลับสับเปลี่ยนกันมาปรนนิบัติพระโพธิสัตว์เช่นนี้ ตลอดกาลยาวนานถึงหนึ่งปีเต็ม แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ทรงหวั่นไหวเลย กลับทรงนิ่งเฉยดังเดิม เหล่าอำมาตย์จึงต่างพากันหวั่นวิตก ด้วยจนปัญญา เพราะยังไม่อาจหาวิธีอื่นใดที่จะทดลองพระกุมารให้ยิ่งไปกว่านี้ได้
พระเจ้ากาสิกราชทรงโปรดเกล้าให้ทดลองด้วยวิธีต่างๆ หลากหลายวิธี จนบัดนี้พระกุมารทรงเจริญวัยได้ ๑๖ พระชันษาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จได้เลย จึงทรงโทมนัสด้วยอับจนพระหฤทัยเป็นยิ่งนัก แต่มิรู้จะทำประการใด ได้แต่ทรงนึกสิ้นหวังรำพึวรำพรรณอยู่เพียงพระองค์เดียวว่า “ตัวเราช่างมีกรรมจริงหนอ ครั้นพอจะมีรัชทายาทกับเขาบ้าง ก็มากลายเป็นคนง่อยเปลี้ยไปเสียอีก เห็นทีว่าราชวงศ์ของเรา คงจะถึงคราวดับสูญเป็นแน่”
ครั้นพระองค์ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว ก็ให้ทรงร้าวรานในพระหทัย และยิ่งทรงดำริถึงคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์ว่า พระกุมารของพระองค์จะได้ครองความเป็นใหญ่เหนือทวีปทั้งสี่ ก็ให้ทรงขัดเคืองพระหฤทัยยิ่งขึ้นไปอีก จึงทรงรับสั่งให้เรียกตัวพราหมณ์ปุโรหิตเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วพระองค์ก็ตรัสถามด้วยพระอาการพิโรธว่า “ทำไมเตมิยกุมาร ลูกเรา จึงมิได้เป็นไปตามคำทำนายของท่านเล่า พวกท่านพากันพยากรณ์ว่า ลูกเราจะได้ครองเป็นความใหญ่ในทวีปทั้งสี่ แต่บัดนี้อย่าว่าแต่ลูกเราจะสามารถปกครองทวีปทั้งสี่เลย แม้จะครองตนให้รอดปลอดภัย ก็ยังไม่อาจจะทำได้ เราขอถามพวกท่านตรงๆ ว่าครั้งนั้นพวกท่านทำนายส่งเดชไปอย่างนั้นหรือ จงรับสารภาพมาแต่โดยดี อย่าได้ชักช้า”
ฝ่ายโหราจารย์เหล่านั้น เมื่อทราบว่าพระราชาทรงกริ้ว ก็พากันตัวสั่นงันงกด้วยเกรงกลัวต่อพระราชอาชญา และอับจนด้วยปัญญา หัวหน้าโหราจารย์ไม่รอช้า รีบกราบบังคมทูลพระราชาไปว่า “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า พวกข้าพระบาทได้กราบทูลว่าพระราชกุมารจะได้เป็นใหญ่ในภายภาคหน้า เป็นเช่นนั้นจริงๆ พระเจ้าข้า”
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธหนัก ที่โหราจารย์ตอบไม่ตรงคำถาม จึงตรัสสำทับอีกว่า “ท่านอาจารย์ ท่านตอบคำถามไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เสียแรงที่เราเคารพนับถือและไว้เนื้อเชื่อใจ เราถามท่านว่า เหตุใดลูกของเรา จึงไม่เป็นไปตามคำทำนายของท่าน มิใช่ถามว่าท่านทำนายไว้อย่างไร เพราะเรื่องนั้นใครๆ ก็ย่อมจำได้ แต่คำถามที่เราสงสัยท่านจะว่าอย่างไร”
เหล่าโหราจารย์ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ต่างนิ่งอึ้งไปตามๆ กัน ไม่รู้ว่าจะกราบทูลพระราชาอย่างไรดี เพราะอันที่จริงแล้ว ที่ได้ถวายคำพยากรณ์แด่พระราชาไปในครั้งนั้น ก็เป็นไปตามตำรับตำราที่พวกตนได้ร่ำเรียนมา มิได้ประสงค์ที่จะเอาใจพระราชา หรือเพราะปรารถนาลาภสักการะเลยแม้แต่น้อย แต่อาการของพระโอรสกลับผิดเพี้ยนไปจากตำราอย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ก็สุดวิสัยที่พวกตนจะรู้ได้
ในที่สุด โหราจารย์คนหนึ่ง ผู้มีปฏิภาณว่องไว จึงได้กราบทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ขึ้นชื่อว่าบุพนิมิตทั้งปวงที่พวกข้าพระบาทไม่รู้ไม่เห็นนั้น ย่อมไม่มีเลย พวกข้าพระบาทย่อมรู้เห็นเป็นจริงทุกประการ แม้แต่เรื่องที่พยากรณ์ถวายพระองค์ในครั้งนั้น ความจริงพวกข้าพระบาททราบแต่ต้นแล้วว่า พระราชกุมารนี้เป็นกาลกิณี”
พระราชาครั้นทรงสดับแล้วจึงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง เพราะไม่นึกว่าจะได้สดับเรื่องที่เป็นอัปมงคลอย่างนี้ ทรงเกิดความสับสนในเหตุการณ์ที่ผ่านมา โหราจารย์สังเกตุอาการของพระราชาออกว่า พระองค์ทรงสับสน จึงได้ตัดสินใจกราบทูลพระราชาต่อไปว่า “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า พระราชกุมารนี้เป็นผู้ที่พระองค์และพระมเหสีทรงปรารถนายิ่งนัก ครั้นสมปรารถนาแล้ว การที่ข้าพระบาทจะทำนายไปตามจริงว่า พระราชกุมารนี้เป็นกาลกิณี ก็เกรงว่า พระองค์จะทรงโทมนัส เพราะฉะนั้นพวกข้าพระบาทจึงมิได้กราบทูลข้อเสียหายให้ทรงทราบ จะควรมิควรประการใด แล้วแต่พระองค์จะทรงโปรดเถิด พระเจ้าข้า” ฝ่ายพระราชาทรงเชื่อในถ้อยคำของโหราจารย์หรือไม่ถือ หรือจะทรงเห็นขัดแย้งเป็นประการใด ก็ให้มาติดตามรับฟังกันต่อในวันถัดไปนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)