Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ทิฏฐิมานะเป็นทางแห่งความเสื่อม
การประพฤติธรรมให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องดีงาม เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณธรรมและคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ สำหรับผู้ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เพราะการประพฤติธรรมนำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมได้รับความสุขความเจริญ และยังทำให้สังคม ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย ถ้าครอบครัวไหนประพฤติธรรม ครอบครัวนั้นก็จะมีความสุข ถ้าบ้านเมืองไหนผู้นำประพฤติธรรม ประชาชนในบ้านเมืองนั้นก็จะประพฤติธรรมตาม ชาวเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ชำระกายวาจาใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงเป็นการพัฒนาตนเองสังคม ประเทศชาติและคนทั้งโลก ให้เจริญรุ่งเรืองด้วยศีลธรรมอันดีงามอย่างสมบูรณ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปราภวสูตร ว่า
นระใดกระด้างโดยชาติ
กระด้างโดยทรัพย์
และกระด้างโดยโคตร
ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน
กรรม ๔ อย่างของนรชนนั้น เป็นทางแห่งความเสื่อม
ผู้ที่ฝึกตัวได้สมบูรณ์ดีแล้ว จะไม่ดูถูกดูแคลนหรือเหยียดหยามคนอื่น จะเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำตนเหมือนน้ำที่เต็มตุ่ม เพราะอย่างไรก็ไม่มีเสียงดัง แต่คนที่ฝึกตัวยังไม่ดีพอ มักจะคอยหาช่อง หาโอกาสจับผิดคนอื่นอยู่เสมอ จากนั้นก็นำมานินทาว่าร้าย ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้คนอื่นเสียหายอับอายขายหน้า ที่ทำเช่นนั้นก็เพราะอยากให้คนอื่นรู้สึกว่าด้อยค่ากว่าตัว ทั้งด้อยโดยชาติ โดยเอาเรื่องทรัพย์สินเงินทองมาเทียบกันบ้าง หรือเอาเรื่องตระกูลมาดูถูกคนอื่น บางคนลืมตัวดูถูกดูหมิ่น แม้กระทั่งหมูญาติของตัวเอง ผลเสียของผู้ที่ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น ต่อไปก็จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่สามารถรับความดีจากคนอื่นได้ ทำให้สูญเสียเพื่อนที่ดีๆ เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง เรื่องที่ไม่ควรถือก็ถือสาหาความ ไม่ควรโกรธก็โกรธจึงไม่มีใครไม่อยากจะคบด้วย วันนี้หลวงพ่อมีตัวอย่างมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจเพื่อเราจะได้ไม่ผิดพลาดกันนะจ๊ะ
ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง เนื่องจากท่านบวชมาจากตระกูลสูง เคยเป็นลูกเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก มาก่อน เมื่อมาอยู่รวมกันกับหมู่คณะ ท่านก็มักจะหงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจของตัว บางวันก็ไปทะเลาะกับเพื่อนสหธรรมิก เพราะสมัยที่เป็นลูกเศรษฐีนั้นน่ะ พวกลูกน้องหรือคนรับใช้ ถ้าทำไม่ถูกใจท่านก็จะโกรธเคืองและทำร้ายเอา นิสัยนั้นจึงติดตัวมา เมื่อภิกษุสงฆ์มาประชุมสนทนากัน ที่โรงธรรมะสภาได้โจทน์กันถึงเรื่องที่ภิกษุรูปนี้เป็นคนมักโกรธ มักแสดงอาการขัดเคืองต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ รวมไปถึงเพื่อนสหธรรมิกด้วย ทำให้ต่างก็รู้สึกเอือมระอา ในความประพฤติของภิกษุผู้มีทิฏฐิมานะรูปนี้ แต่ก็คิดหาทางว่าจะแก้ไขอย่างไรดี
ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมา และทรงสดับเรื่องราว ที่ภิกษุกำลังสนทนากันอยู่ ก็ให้ไปเรียกภิกษุผู้มักโกรธนั้นมา เพื่อว่าพระองค์จะได้ตักเตือน และชี้โทษของความมักโกรธ เมื่อภิกษุอดีตลูกเศรษฐีมาแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุได้ยินว่าเธอน่ะ เป็นคนมักโกรธจริงหรือ เมื่อภิกษุรูปนั้นยอมรับว่า ได้ประพฤติเช่นนั้นจริง
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่บัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้น่ะเป็นคนมักโกรธแม้ในกาลก่อนภิกษุนี้ก็เป็นคนมักโกรธเหมือนกัน เพราะความเป็นคนมักโกรธของเธอนี่แหละ บัณฑิตในการก่อน แม้ตั้งอยู่ในความเป็นนาคราชผู้บริสุทธิ์ ก็จำต้องไปอยู่ในพื้นที่เปลื้อนคูถ ซึ่งเต็มไปด้วยคูถที่เหม็นเน่าถึง ๓ ปี ว่าแล้วก็ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า ให้ภิกษุสงฆ์ในธรรมสถสภาได้รับฟังกัน
เรื่องก็มีอยู่ว่า ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นพระโอรส ของพยาทัททรนาคราช ผู้ครองราชสมบัติอยู่ในทัททรนาคภพ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขาทัททรบรรพต ในหิมวันตประเทศ มีนามว่ามหาทัททรนาคราช ส่วนนาคผู้น้องชื่อจุลลทัททระ เป็นผู้มีอัธยาศัยมักโกรธหยาบคาย เที่ยวทำร้ายพวกนาคหนุ่มเป็นอาจิน เพราะถือว่าเป็นลูกของพญานาค ผู้มีอานุภาพมาก จึงไม่มีอำนาคตนไหนกล้าตอแยด้วย ก็ได้แต่อดทนหรือไม่ก็หลบหนีไปอยู่ที่อื่น
พยาทัททรนาคราชรู้ว่า จุลลทัททรนาคราชเป็นผู้หยาบช้า ชอบอาศัยบารมีพ่อ ไปรังแกนาคบริวารให้เดือดร้อนไปทั่ววังบาดาล จึงคิดจะสั่งสอนลูกชายให้เป็นนาคผู้ข่มความโกรธ และไม่ก้าวร้าว เพราะตามปกตินิสัยของนาค มีความโกรธเป็นนิสัยอยู่แล้ว แต่อัธยาสัยของผู้นำ จะต้องข่มความโกรธเอาไว้ และต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงจะเป็นที่รักของนาคบริวาร พยานาครับสั่งให้ขับจุลลทัททรนาค ออกไปจากนาคพิภพ เป็นการทำโทษ ด้วยความรักและสงสารน้องชาย มหาทัททรนาคทัดทานและขอให้บิดาอดโทษให้น้องด้วย แม้ว่าพยานาคราชจะให้อภัย เพราะเห็นแก่มหาทัททรผู้พี่ถึง ๒ ครั้ง แต่จุลลทัททรนาคราชก็ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ยังเที่ยวระรานนาคมาณพอื่นเป็นประจำ
พระองค์ได้รับรายงานเรื่องความประพฤติไม่ดี ของพระโอรสคนเล็กบ่อย จึงทรงกริ้วต่อจุลลทัททรนาคมาก เมื่อให้อภัยถึง ๓ ครั้งแล้ว จุลลทัททระก็ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม พญานาคผู้บิดาจึงรับสั่งว่า เจ้าห้ามมิให้พ่อขับไล่โอรสผู้ประพฤติไม่ดี เพราะฉะนั้นเจ้าทั้งสองนั่นแหละจงออกจากพร้อมๆ กัน จงออกจากนาคพิภพนี้ ไปอยู่ที่พื้นเปื้อนคูถ ในนครพาราณสีเป็นระยะเวลา ๓ ปี แล้วก็ให้นาคบริวาร ฉุดคร่านาคสองพี่น้อง ออกจากนาคพิภพ นาคพี่น้องทั้งสองจำใจต้องไปอยู่ที่พื้นเปื้อนคูถ ในเมืองพาราณสี ต้องหากบหาเขียดเป็นภักษาอาหาร
พวกเด็กชาวบ้านเห็นนาคพี่น้องทั้งสอง เที่ยวหาเหยื่ออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ใกล้พื้นที่เปื้อนคูถ จึงพากันขว้างปาด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยก้อนดินเข้าใส่บ้าง พร้อมกับพากันด่าว่า ด้วยคำหยาบว่า สัตว์นี้นั้นเป็นตัวอะไร หัวใหญ่แต่มีหางเล็ก เที่ยวกินกบกินเขียดเป็นอาหารน่าสมเพชนัก จุลทัททรนาคอดกลั้นการดูหมิ่นของพวกเด็กชาวบ้านเหล่านั้นไม่ได้ จึงพูดกับพี่ชายว่าพี่ทัททระ เจ้าพวกเด็กเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีฤทธิ์เดช แต่มาดูหมิ่นพูดจาหยาบคายกับพวกเรา ไม่รู้ว่าพวกเราน่ะเป็นผู้มีพิษร้ายมีอานุภาพมาก น้องไม่อาจจะอดกลั้นกับการดูหมิ่นของพวกเด็กพวกนี้เลย น้องจะฆ่าเด็กเหล่านี้ให้ตายเสียทั้งหมด ภายในพริบตาเดียว
มหาทัททรนาคผู้พี่ ได้กล่าวสอนน้องชายว่า บุคคลน่ะถูกขับไล่จากแว่นแคว้นของตนไปอยู่ถิ่นอื่น ควรทำฉางใหญ่ไว้ เพื่อเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย บุคคลอยู่ในหมู่ชนผู้ไม่รู้จักตน ไม่ควรทำการถือตัวในที่ที่ไม่มีคนรู้จักตน โดยชาติหรือโดยวินัย บุคคลผู้มีปัญญาแม้มีอานุภาพร้อนแรงเสมอด้วยไฟ เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นไกลพึงอดทน แม้คำขู่ตะคอกของทาส นาคพี่น้องทั้งสองนึกถึง ความสุขที่เคยได้ในนาคพิภพ จึงจำต้องอดทนอดกลั้นในถ้อยคำดูถูกดูหมิ่นของเด็กชาวบ้าน ต้องอยู่อาศัยในสถานที่นั้นนานถึง ๓ ปี เมื่อครบกำหนดแล้วพญานาคผู้บิดา ก็ให้เรียกนาคพี่น้องทั้งสองกลับคืนตามเดิม ตั้งแต่นั้นมานาคผู้น้องก็สิ้นมานะถือตัว อยู่ในนาคพิภพอย่างมีความสุข
พระบรมศาสดาครั้นทรงเล่าเรื่องในอดีตจบแล้ว ก็ทรงแสดงโทษของความมักโกรธให้ฟัง และแสดงอริยสัจ ๔ ไปตามลำดับ ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้มักโกรธได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า จุลทัททรนาคในครั้งนั้น ได้แก่ภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้ ส่วนมหาทัททรนาคได้เป็นเราตถาคต
เห็นไหมจ๊ะ ว่าความประพฤติไม่ดีอะไรน่ะ ที่เราเคยทำเอาไว้ในอดีต มันจะติดตามตัวเป็นข้ามภพข้ามชาติทีเดียว ถ้าหากเรานั้นไม่แก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองในชาตินี้ นิสัยไม่ดีนี้ก็จะติดไปเป็นอุปสรรค ต่อการสร้างบารมีในภพชาติต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นหากลูกๆ ตระหนักว่าเราน่ะเกิดมาสร้างบารมี เกิดมาเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจาและใจแล้วล่ะก็ ให้หมั่นสำรวจตรวจตราปรับปรุงแก้ไข ข้อบกพร่องของตัวเองเสีย ภพชาติต่อไปเราก็จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแก้นิสัยที่ไม่ดี จะได้สร้างบารมีกันได้เต็มที่ แล้วก็จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชาวโลก ชีวิตของเราก็จะได้สดชื่นสดใส ในเส้นทางของการสร้างบารมียิ่งๆ ขึ้นไปนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)