Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ชัยชนะครั้งที่ ๒ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(ตอน ชนะอาฬวกยักษ์)
อายตนนิพพานเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ต้องเป็นผู้ที่มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น จึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ปัจจุบันแม้หลายท่านจะมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนิพพาน แต่ไม่ว่าจะมีความเข้าใจอย่างไร อายตนนิพพานซึ่งเป็นเครื่องรองรับพระนิพพานยังคงมีอยู่ พระนิพพานหรือธรรมกายของพระพุทธเจ้าก็ยังคงมีอยู่ เป็นอมตะและเป็นบรมสุขที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม การไปสู่อายตนนิพพาน เป็นวิสัยของผู้มีใจหยุดที่ละเอียดมากๆ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ผู้ไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึง เพราะมัวติดอยู่ในเบญจกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราจึงไม่ควรเสียเวลามาถกเถียงกัน ควรจะลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ด้วยตนเอง เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงเช่นเดียวกับผู้รู้ทั้งหลาย
มีบทสรรเสริญพุทธคุณใน พุทธชัยมงคลคาถา บทที่ ๒ ว่า
“มาราติเรกมภิยุชฺฌิตสพฺพรตฺตึ
โฆรมฺปนาฬวกมกฺขมถทฺธยกฺขํ
ขนฺตีสุทนฺตวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
พระจอมมุนีได้ชัยชนะต่ออาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตสันดานหยาบกระด้าง ปราศจากความอดทน มีฤทธิ์มาก ได้เข้ามาต่อสู้จนตลอดทั้งคืน ด้วยวิธีทรมานอย่างดี คือ พระขันติธรรม ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านเถิด”
สำหรับชัยชนะครั้งที่ ๒ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยขันติธรรมเป็นเลิศ และด้วยเมตตานุภาพอันไม่มีประมาณ ซึ่งหลวงพ่อได้เล่าไปบ้างแล้ว จึงขอนำมาเล่าย่อๆว่า พระพุทธองค์ทรงมีชัยชนะต่ออาฬวกยักษ์อย่างไรบ้าง
เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาล พระราชาเมืองอาฬวีถูกยักษ์จับ แต่พระองค์ทรงให้สัญญากับยักษ์ว่า ถ้าหากยักษ์ปล่อยพระองค์ไป พระองค์จะส่งคนมาให้ยักษ์กินเป็นอาหารทุกวันเมื่อพระราชารอดชีวิตมาได้ ทรงรับสั่งให้อำมาตย์ส่งนักโทษนำอาหารใส่ถาดทองไปให้ยักษ์กินที่ใต้ต้นไทรใหญ่ เมื่อนักโทษผู้เคราะห์ร้ายไปถึงโคนต้นไทร จะถูกยักษ์จับกินเป็นอาหาร
ต่อมาเมื่อเรือนจำหมดนักโทษ พระราชาทรงรับสั่งให้นำเด็กทารกเกิดใหม่ส่งไปให้ยักษ์กิน ทำให้หญิงที่ใกล้จะคลอดลูก ต้องหลบหนีไปคลอดลูกที่อื่น เหลือแต่อาฬวกุมารเพียงพระองค์เดียว ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังตัดสินพระทัย ให้นำพระกุมารส่งไปให้ยักษ์กิน
ขณะเดียวกันนั้นเอง พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งด้วยพุทธจักขุ พระพุทธองค์รู้ถึงอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของอาฬวกยักษ์ จึงเสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปยังที่อยู่ของยักษ์ เป็นระยะทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์
พระองค์ได้เสด็จเข้าไปประทับยืนอยู่ที่ประตูวิมานของยักษ์ ขณะนั้นอาฬวกยักษ์ไปประชุมสมาคมของยักษ์ที่หิมวันตประเทศ เมื่อกลับมาถึงก็โกรธเป็นกำลัง ลุกขึ้นยืนบนพื้นมโนศิลาด้วยเท้าซ้าย เท้าขวาเหยียบบนยอดเขาไกรลาศ ทำลมให้ตั้งขึ้นด้วยคิดว่า จักทำลายพระพุทธเจ้า ลมพายุใหญ่ได้ถาโถมพุ่งตรงไปยังอาฬวีนคร ทำให้สถานที่ต่างๆ พินาศแหลกลาญ พัดหลังคาบ้านลอยไปในอากาศ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า “ขอภัยพิบัติอย่าได้มีแก่ใครๆ” ด้วยแรงอธิษฐานนั้นทำให้พายุใหญ่ทำอันตรายใดๆ ผู้คนไม่ได้
เมื่ออาฬวกยักษ์ถึงปากถํ้า ได้ทำห่าฝนให้ตกลง ด้วยคิดว่าจะให้น้ำท่วมพระองค์ให้ตาย ฝนก้อนเมฆตั้งร้อยตั้งพันก่อตัวขึ้นแล้วตกลงมา ด้วยความแรงของน้ำฝน แผ่นดินแตกเป็นช่องๆ แต่ก็ไม่อาจทำให้แม้จีวรของพระองค์เปียกได้ อาฬวกยักษ์บันดาลฝนแผ่นหิน ฝนเครื่องประหาร ฝนถ่านเพลิง ฝนขี้เถ้า ฝนทรายให้ตกลงมา แต่ฝนเหล่านั้นกลายเป็นทิพยมาลาบูชาพระพุทธองค์
ครึ่งคืนผ่านไป ยักษ์ยังไม่สามารถเอาชนะได้ จึงแก้ทุสสาวุธ ยกชูขึ้น เหาะเวียนวนอยู่ใกล้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า ปล่อยอาวุธไปในอากาศ ทุสสาวุธมีเสียงน่าสะพรึงกลัวแล่นไปในอากาศประดุจสายฟ้า แต่ครั้นมาใกล้พระพุทธองค์ ก็กลับกลายเป็นผ้าเช็ดพระบาท ตกลงที่เบื้องพระบาท อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยังไม่หมดหวัง รีบตรวจดูว่า เหตุใดหนอ พระสมณะจึงไม่กลัว ในที่สุด ตนรู้ว่าเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งอยู่ในเมตตาธรรม จึงคิดจะทำให้พระองค์โกรธ ด้วยการขับไล่พระพุทธองค์ให้ออกไปในทันที
เมื่อยักษ์ขับไล่เช่นนั้น พระองค์ทรงเสด็จออกไปโดยดี อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น เริ่มมีจิตอ่อนโยน ด้วยคิดว่า “สมณะนี้ว่าง่ายจริง เราบอกคำเดียวก็ออกไปแล้ว เราสามารถชนะสมณะนี้ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้ เสียแรงอุตส่าห์ต่อยุทธกับสมณะนี้อยู่ตั้งครึ่งค่อนคืนด้วยอาวุธร้ายแรง” ยักษ์ทดสอบให้พระบรมศาสดาเสด็จเข้าออกเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง เพื่อดูว่า พระองค์เป็นผู้ว่าง่ายจริงไหม ครั้งที่ ๔ ยักษ์เกิดความคิดชั่วว่า เราจะทำให้สมณะนี้ลำบากตลอดคืนด้วยการเข้าๆ ออกๆ อย่างนี้แหละ” จึงสั่งว่า “ท่านจงออกไปสมณะ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เราไม่ออกไป ท่านจงกระทำกิจที่ท่านควรทำเถิด”
เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จออกไปตามคำสั่ง จึงตั้งใจจะถามปัญหาที่ค้างใจมานาน เนื่องจากอาฬวกยักษ์เคยถามปัญหากับดาบส และปริพาชกที่มีฤทธิ์มีเดชที่มาสู่วิมานของตน ครั้นตอบไม่ได้ ยักษ์ก็ควักหัวใจของท่านเหล่านั้น มาขยี้ทิ้งหมด ยักษ์นึกถึงปัญหาเหล่านั้นได้ รีบทูลถามพระศาสดาว่า “ดูก่อนสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหาท่าน ถ้าท่านไม่ตอบ ข้าพเจ้าจักควักดวงจิตของท่าน จักฉีกหัวใจของท่านและขว้างไปที่ฝั่งแม่นํ้าคงคาโน้น”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เรายังไม่เห็นบุคคลใดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ อีกทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะควักหทัยของเราโยนทิ้ง จะพึงฉีกหทัยของเรา หรือจับเราที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งนํ้าคงคาได้ ดูก่อนยักษ์ เมื่อท่านหวังจะถามปัญหาก็ถามเถิด เราจักตอบ”
อาฬวกยักษ์เริ่มทูลถามปัญหา ๘ ข้อ ซึ่งหลวงพ่อขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปเท่านั้น เช่นยักษ์ถามว่า “อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลก อะไรหนอ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอ เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด”
อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า “คนข้ามโอฆะได้อย่างไร ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
อาฬวกยักษ์ได้ถามปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก เมื่อได้ฟังคำตอบ ใจยักษ์ยิ่งเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะในพระพุทธองค์ หลังจากตั้งใจสดับธรรมะทุกข้อที่พระองค์ทรงตอบ ในที่สุดอาฬวกยักษ์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้มั่นคงต่อหนทางพระนิพพาน กลายเป็นยักษ์ใจดีที่สำรวมระวังในศีล ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
จะเห็นว่า กว่าพระพุทธเจ้าจะสั่งสอนบุคคลใดให้เกิดความเลื่อมใส และยอมลงมือปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุธรรมนั้น ต้องใช้กุศโลบายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ให้เห็นถึงฤทธานุภาพ หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ดักใจผู้ฟัง หรืออนุสาสนีปาฏิหาริย์แสดงธรรมอย่างพอเหมาะพอดีแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ทำให้มีผู้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์มากมายนับไม่ถ้วน อีกทั้งพระพุทธองค์ยังเป็นยอดนักเสียสละ หากรู้ว่าใครมีบุญที่พร้อมจะเข้าถึงธรรม พระพุทธองค์จะรีบเสด็จไปโปรดโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก เพราะฉะนั้น พวกเราพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย สมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ และหมั่นปฏิบัติธรรม จะได้เข้าถึงพุทธภาวะภายในคือพระธรรมกายกันทุกคน
พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*พุทธประวัติ เล่ม๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)