Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ต้องใช้ปัญญาปัญหาจะหมดไป
คนทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนปรารถนาความบริบูรณ์ ตั้งแต่การมีคุณสมบัติในระดับเบื้องต้น คือความเป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดในศาสตร์ทั้งปวง หรือคุณสมบัติอย่างกลาง คือมีไหวพริบปฏิภาณ เชี่ยวชาญชำนาญในการทำมาหาเลี้ยงชีพ สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และคุณสมบัติขั้นสูง คือความเป็นผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่เกิดจากใจที่หยุดนิ่งดีแล้ว เป็นดวงปัญญาที่สว่างไสวอยู่ภายใน ที่มาควบคู่กับความสุขและความบริสุทธิ์ ซึ่งจะนำไปสู่การหลุดพ้น จากกิเลสอาสวะทั้งมวล คุณสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากการทำสมาธิภาวนาเป็นหลัก ดังนั้นพวกเราทุกคน จะต้องให้ความสำคัญกับการทำใจหยุดใจนิ่งแล้วเราจะได้สมปรารถนาในทุกสิ่ง ทั้งโลกียสมบัติ และโลกุตรสมบัติกันนะจ๊ะ
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในสุลสาชาดกว่า
น โส สพฺเพสุ ราเนสุ
ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต
อิตฺถีปี ปณฺฑิตา โหติ
ตตฺถ ตตฺถ วิจกฺขณา
บุรุษนั้นจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่ แม้สตรีผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็เป็นบัณฑิตในที่นั้นๆ ได้ คนพาลมักสำคัญตนว่าเป็นคนฉลาดเหนือผู้อื่น และแสดงตนว่าเป็นผู้รู้ ถึงแม้ไม่มีใครถามจะหาโอกาสแสดงออกให้ผู้อื่นรู้ แต่สำหรับบัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ก็จะสำคัญตนว่ายังเป็นผู้รู้น้อยอยู่ ไม่อวดอ้างตนว่าเป็นคนมีปัญญามาก แต่ภายในนั้นน่ะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นต้น และก็รักในการฝึกฝนอบรมตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญสมาธิภาวนา เพื่อชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพราะทานนอกจากจะขจัดความตระหนี่ออกจากใจแล้ว ยังเป็นพื้นฐานของศีลอีกด้วย
การรักษาศีลเป็นการรักษากาย วาจา ใจของเรา ไม่ให้ให้ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ศีลจึงเป็นพื้นฐานของสมาธิ และสมาธิก็เป็นพื้นฐานของปัญญา ตั้งแต่ปัญญาในระดับเบื้องต้นคือ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีประสิทธิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดจนกระทั่ง ปัญญาในระดับสูง คือภาวนามยปัญญา ที่สามารถขจัดกิเลสอัศวะให้หมดจากใจไปได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม หากเป็นผู้มีปัญญาแล้ว ย่อมสามารถใช้ปัญญาแก้ไขสถานการณ์ ที่ร้ายให้กลายเป็นดีได้อย่างรวดเร็ว และก็ทันท่วงที เหมือนดังเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ที่หลวงพ่อจะนำมาเล่าให้ฟัง เป็นอุทาหรณ์กันในวันนี้นะจ๊ะ
เรื่องก็มีอยู่ว่าที่กรุงสาวัตถี มีงานมหรสพประจำปี หญิงรับใช้ของนางบุญลักษณาเทวี ภรรยาของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี อยากแต่งกายด้วยเครื่องประดับสวยๆ ออกไปเที่ยวงานกับเขาบ้าง เลยไปขอยืมเครื่องประดับกับนางบุญลักษณา นางเห็นว่าเป็นหญิงรับใช้ใกล้ชิดจึงให้ยืมไป ซึ่งเครื่องประดับนั้นน่ะมีมูลค่าถึงแสนกหาปณะทีเดียว
หญิงรับใช้ได้ประดับเครื่องประดับแล้ว ก็เดินมุ่งหน้าไปเที่ยวงาน กับพวกผู้หญิงรับใช้ด้วยกัน ระหว่างทางมีโจรคนหนึ่ง เห็นเครื่องประดับนั้นเข้า ก็เกิดความโลภขึ้นมาทันทีว่า เราจะหาอุบายฆ่าหญิงนี้เพื่อชิงเครื่องประดับ จึงเดินเข้าไปตีสนิทกับนาง เดินคุยกันไปจนถึงสวนแห่งหนึ่ง แล้วจึงยื่นสุราและกับแกล้มให้หญิงรับใช้ พร้อมกับชักชวนนางไปร่วมดื่มสุราด้วยกัน หญิงรับใช้เกิดคิดระแวงขึ้นว่า ชายคนนี้เพิ่งจะรู้จักกันไม่นาน แล้วของเหล่านี้มาให้เราทำไม สงสัยว่าต้องคิดไม่ดีกับเราอย่างแน่นอน แต่นางก็รับไว้ด้วยความเกรงใจ พอตกเย็น พวกหญิงรับใช้คนอื่น ๆ ได้พากันกลับไปจนหมด
ส่วนนางยังอยู่กับโจรสองต่อสอง โจรนั้นจึงหาทางพูดหว่านล้อม แล้วก็ล่อลวงนางให้เข้าไปนั่งคุยกันในที่เปรี่ยว จะได้ลงมือจัดการได้สะดวก จึงกล่าวชักชวนว่า น้องหญิงที่ตรงนี้น่ะไม่มิดชิด เราเดินไปข้างหน้าอีกหน่อยเถิด หญิงรับใช้ผู้ช่างสังเกต เมื่อได้ฟังดังนั้นก็รู้ได้ทันทีว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่รับพอสมควรอยู่แล้ว เขาคงไม่ได้มีความรักในตัวเรา น่าจะคิดลวงเราไปฆ่าเพื่อชิงเครื่องประดับเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราต้องชิงลงมือก่อน จึงกล่าวว่าพี่จ๋า ฉันรู้สึกมึนศีรษะคล้ายกับเมาสุรา ขอท่านช่วยหาน้ำให้ฉันดื่มทีเถิด แล้วก็พาโจรไปที่บ่อน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ โจรคิดว่าสบโอกาสแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตรายโดยไม่รู้ตัว ขณะที่โจรกำลังหย่อนเชือกลงไปในบ่อ เพื่อก้มตักน้ำนั่นเองหญิงรับใช้ผู้มีกำลังดุช้างสาร ก็ใช้มือผลักหลังโจร และรวบขายกขึ้นทิ้งลงไปในบ่อน้ำ จากนั้ก็เอาอิฐแผ่นใหญ่ทุ่มตามลงไปอีก แผ่นอิฐตกลงกลางหัวโจรพอดีทำให้โจรเสียชีวิต
แล้วนางก็กลับไปที่บ้าน มอบเครื่องประดับคืนให้แก่นางบุญลักษณา จากนั้นก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง นางบุญลักษณาก็นำเรื่องนี้ไป เล่าให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังต่อ
ในวันรุ่งขึ้นเมื่อท่านอนาถะฯ ไปถวายภัตตาหารที่วัดเชตวัน จึงถือโอกาสกราบทูลเรื่องนี้ ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่หญิงรับใช้ของท่านมีปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ในการก่อนนางก็มีปัญญาเหมือนกัน แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีตว่า
ในอดีตกาลเมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในนครพารานาสี หญิงโสเภณีคนหนึ่งชื่อสุลสา มีนางทาสี ๕๐๐ เป็นบริวาร ในพระนครนั้นมีโจรชื่อสัตตุกะ ถูกเจ้าหน้าที่จับมัดเอามือไพร่หลัง ถูกเคี่ยนตีด้วยหวาย ครั้งละ ๔ เส้น ควบคุมตัวนำไปสู่ที่ประหาร ขณะนั้นนางสุลสายืนอยู่ที่หน้าต่างเห็นโจรกำลังเดินผ่านมา ก็มีจิตปฏิพัทธ์ในโจรนั้น จึงติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ ๑,๐๐๐ กหาปณะเพื่อให้ปล่อยโจร แล้วนางก็ร่วมอภิรมณ์กับโจรนั้น
ครั้นผ่านไปได้ สามสี่เดือน โจรก็รู้สึกอึดอัดที่จะต้องมาอยู่อย่างสดวกสบาย เพราะตนเองคุ้นเคยกับการจี้ปล้น จึงคิดที่จะทิ้งนางไป แต่ไม่ต้องการจะไปมือเปล่า จึงคิดหาอุบายที่จะฆ่านางเพื่อเอาเครื่องประดับติดไม้ติดมือไปด้วย อยู่มาวันหนึ่งโจรก็ได้กล่าวกับนางว่า น้องหญิงเมื่อราชบุรุษจับตัวพี่มา พี่ได้บนบานที่จะทำพลีกรรม แก่รุขเทวดาไว้ที่ยอดเขา แล้วชักชวนนางให้ประดับร่างกายไปด้วยของมีค่า เพื่อไปทำพลีกรรม
เมื่อทั้งสองเดินทางไปถึงเชิงเขา ก็ให้บริวารที่ติดตามมากลับไปหมด เหลือเพียงนางกับโจรนั้นเพียงรำพัง โจรให้นางแบกถาดเครื่องทำพลีกรรมเดินขึ้นยอดเขา เมื่อไปถึงก็ให้วางถาดเครื่องพลีกรรม ที่โคนไม้ซึ่งอยู่ใกล้ปากเหวลึก และบอกอุบายอันชั่วร้ายของตนให้นางสุลสาทราบ พร้อมกับหัวเราะเสียงดังลั่นภูเขา
ครั้นนางสุลสารู้ความจริงว่า ถูกลวงมาฆ่าชิงทรัพย์ จึงอ้อนวอนขอชีวิต เมื่อไม่ได้ผลก็ตั้งสติครุ่นคิดว่า เราต้องถูกฆ่าแน่ๆ ดังนั้นเราต้องหาอุบายชิงลงมือก่อน คิดแล้วก็พูดหว่านล้อมว่า พี่จ๋าก่อนที่ดิฉันจะตาย ขอให้ดิฉันได้กอดท่าน และทำประทักษิณท่านก่อนเถิด เพราะว่าต่อไปเราจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว
นางทำทีเป็นเศร้าโศกคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร เพื่อให้โจรนั้นตายใจ ครั้นได้รับอนุญาตก็เดินเวียนรอบโจรนั้น ๓ รอบ ไหว้โจรทั้ง ๔ ทิศ คณะที่อยู่ด้านหลังนางก็ถือโอกาสช่วงจังหวะที่โจรกำลังครึ้มใจนั้น ผลักหลังอย่างแรงให้ตกลงไปจนตกลงไปในเหวลึก เมื่อโจรตกลงไปถึงก้นเหวร่างกระทบหินก็สิ้นใจตายทันที
เห็นไหมจ๊ะว่าปัญญาสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด ปัญหาจะมากหรือน้อยถ้ามีปัญญาเสียแล้ว ก็สามารถมองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ อย่างทะลุปรุโปร่ง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงปัญญาที่เกิดจากภาวนามยปัญญาจะไขปัญหาความลี้ลับทั้งหลายได้ เพราะนอกจากจะทำให้เราเป็นผู้เฉลียวฉลาด ในสรรพศาสตร์ทั้งปวงแล้ว ยังเป็นผู้ฉลาดในสรรพธรรมทั้งหลายอีกด้วย เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการนำใจของเรามาหยุดมานิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ประคับประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ต่อเนื่องกันไปอย่างสบายๆ ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงแหล่งของสติ แหล่งของปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล ดังนั้นให้ลูกๆ ทุกคน หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมกันทุกๆ วัน เพื่อเราจะได้เข้าถึงแหล่งของปัญญาอันบริสุทธิ์กันนะจ๊ะ