Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง
ยามใดที่บุคคลทั้งหลายละเลยการฟังธรรม ยามนั้นเขาย่อมเสียโอกาส ที่จะได้สัมผัสกับอมตธรรมอันทรงคุณค่า ทุกวันนี้มนุษย์ยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม หากจะมีความสุขบ้าง ก็เพียงเล็กน้อยหรือชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เหมือนหลับแล้วฝันไป ครั้นตื่นขึ้นมาก็ยังพบกับความทุกข์อยู่เหมือนเดิม ชีวิตจึงเหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ภัทเทกรัตตสูตร ว่า
อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺา มรณํ สุเว
น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา
ความเพียร ควรทำในวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้เพราะการผัดเพี้ยนกับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ย่อมไม่มี
ปัจจุบัน มนุษย์น้อยคนนักที่จะนึกถึงความตาย คนส่วนมากจะคิดแต่เรื่องการทำมาหากิน คิดว่าวันนี้ หรือวันข้างหน้า จะแสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ทำให้ประมาทในชีวิต ละเลยต่อการสร้างบุญบารมี อันเป็นงานหลัก งานที่แท้จริงของชีวิต การแสวงหาทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นเพียงงานรอง เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ เพื่อจะได้ทำงานหลักต่อไปเท่านั้น
การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี เราจะได้ไม่ประมาท เพราะในที่สุดจะต้องตายกันทุกคน หากมีสติระลึกเสมอว่า ชีวิตของเราดุจไม้ใกล้ฝั่ง ไม่รู้จะล้มในวันใด เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ จึงควรเร่งสร้างความดี ทำงานไปด้วย สร้างบุญไปด้วย ชีวิตจะได้ปลอดภัย อันที่จริงเราไม่อาจรู้ได้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวแค่ไหน ความตายเป็นสิ่งที่ยากจะกำหนด ดีที่สุด คือ เราควรรีบทำความดีตั้งแต่วันนี้
*ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าท่านหนึ่ง มีอาชีพค้าขายผ้าหลากหลายชนิดด้วยกัน วันหนึ่ง ขณะที่กำลังบรรทุกผ้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากเมืองพาราณสี ไปยังเมืองสาวัตถี เพื่อทำการค้าตามปกติ ครั้นเดินทางมาจนถึงแม่น้ำสายหนึ่ง พ่อค้าได้สั่งให้ลูกน้องพักเกวียน คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก จนกระทั่งน้ำล้นตลิ่ง พ่อค้าจึงคิดว่า เราเองก็เดินทางมาไกล ถ้าเดินทางต่อก็จะเสียเวลา ควรทำการค้าที่นี่ให้แล้วเสร็จตลอดทั้งฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาวดีกว่า
ขณะเดียวกันนั้นเอง พระศาสดาได้เสด็จผ่านมาเพื่อจะอนุเคราะห์ ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุนั้น พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ เธอเห็นพ่อค้าผู้มีทรัพย์คนนั้นหรือไม่ พระอานนท์ทูลตอบว่า เห็นพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสต่อไปว่า พ่อค้านั้นไม่รู้ว่า อันตรายของชีวิตจักเกิดขึ้นแก่ตัวเขา ยังมีความคิดจะอยู่ที่นี่ตลอดปี เพื่อค้าขาย พระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรายจักมีแก่เขาหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ใช่แล้ว อานนท์ พ่อค้านั้นจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น
พระอานนท์จึงทูลขออนุญาตเพื่อไปบอกพ่อค้า ด้วยการไปบิณฑบาต พ่อค้าได้ถวายอาหารแด่พระเถระ พระอานนท์จึงถือโอกาสสนทนากับพ่อค้า โดยถามว่า ท่านจะอยู่ที่นี่นานไหม พ่อค้าตอบว่า กระผมเดินทางมาไกล ถ้าจะเดินทางต่อไปอีก ก็กลัวจะเสียเวลาเสียงาน จึงตั้งใจจะอยู่ขายสินค้าที่นี่ตลอดปี พระอานนท์กล่าวต่อว่า อุบาสก อันตรายของชีวิตรู้ได้ยาก ทำไมท่านมัวประมาทในชีวิตเล่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันตรายอะไรหรือ จักมีแก่กระผม อุบาสก ท่านจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น
พ่อค้าได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ จึงตั้งใจว่า เวลาที่เหลืออยู่นี้จะต้องรีบทำความดี เพราะชีวิตตนดุจไม้ใกล้ฝั่งแล้ว จึงตั้งใจถวายสังฆทานมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระศาสดาได้ประทานโอวาทว่า ดูก่อนอุบาสก ธรรมดาบัณฑิตไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ ประกอบ การงานตลอดฤดูทั้งสาม ควรคิดถึงความตายบ้าง ทรงตรัสเทศนาไม่ให้ประมาทในชีวิต ครั้นจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงธรรมกายพระโสดาบัน เมื่อพระศาสดา เสด็จกลับ พ่อค้าเดินตามไปส่งพระพุทธองค์ และหมู่ภิกษุสงฆ์ ทันทีที่กลับมาถึงที่พัก เขาเกิดปวดศีรษะกระทันหัน จึงนอนพัก และสิ้นชีวิตวันนั้นเอง ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ได้ตั้งใจทำในช่วงบั้นปลายชีวิตตลอด ๗ วัน ประกอบกับมีดวงตาเห็นธรรม จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
พวกเราควรจะได้ข้อคิดว่า ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง ชีวิตเราใกล้ความตายทุกขณะ จะกำหนดวัน เวลา สถานที่ตายไม่ได้ เหมือนต้นไม้ที่ริมตลิ่ง ซึ่งจะถูกกระแสน้ำเซาะให้พังลงไป ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมถูกกระแสแห่งความชรา ความเจ็บ ความตาย ทำให้เสื่อมและดับไปได้ทุกเมื่อ บุคคลใดไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นตักเตือนตัวเองอยู่เสมอ และรีบเร่งทำความเพียร ชีวิตของเขาย่อมจะปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง อย่างแน่นอน
นอกจากนี้เราควรพิจารณาว่า สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อีกทั้งยังต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ลืม จะได้ไม่หลงเพลิดเพลิน ไม่ไปหมกมุ่นพัวพันกับสิ่งเหล่านั้น อันจะเป็นเหตุให้เราห่างจากการเข้าถึงธรรมกาย ยิ่งห่างจากธรรมกายซึ่งเป็นต้นแหล่งกำเนิดของความสุขอันเป็นอมตะ ความทุกข์จะยิ่งได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาสู่กายและใจของเรา
ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราจะต้องพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่ร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็กๆ เจริญเติบโตด้วยอาหารของมารดา จนกระทั่งลืมตามาดูโลก และก็เจริญเติบโตเรื่อยมา ไม่มีคงที่เลย เปลี่ยนเรื่อยมาตามลำดับ สู่วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชรา จนกระทั่งสู่เชิงตะกอนในที่สุด
เพราะฉะนั้น ร่างกายของเราจึงเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดมันก็ต้องผุพังลง ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดได้นั้น จะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดความสุขตลอดกาล คือเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตานั่นเอง
พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้วว่า ธรรมกายนั่นแหละเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง การที่จะเข้าถึงสรณะนี้จะต้องเอาตัวเรานี้ เอากายนี้ ลงมือฝึกฝนปฏิบัติ รู้จักพึ่งตัวเอง ทำความเพียร โดยการฝึกใจหยุดใจนิ่ง ไม่ใช่ไปอ้อนวอน สวดมนต์ขอ หรือไปอ้อนวอนจุดธูปบูชาตามจอมปลวกบ้าง เจ้าทรงผีสิงผู้วิเศษบ้าง เพื่อจะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึก อย่างนั้นเข้าถึงไม่ได้ ต้องอาศัยตัวของเราเท่านั้น การมีสัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ เพียรทำใจให้หยุดให้นิ่ง จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา และจะมีความสุขอย่างไร้ขอบเขต ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
ความเพียรชอบ คือ มีความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าไม่ประมาทในชีวิต ถือเป็นความเพียรเพื่อความหลุดพ้น ความเพียรของพระอริยเจ้า เพียรทำใจให้หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ หยุดโดยไม่ต้องยั้ง หยุดอย่างไม่มีถอนถอย หยุดตลอดเวลา หยุดทุกอนุวินาที ทำใจหยุดอย่างนี้ แม้พญามัจจุราชก็ย่อท้อ มัจจุราชมองไม่เห็นผู้ที่ใจหยุดอย่างแท้จริง ดังนั้น ใจหยุดนิ่ง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพียรหยุดต่อไปเถิด จะเกิดผล ไม่ช้าเราจะได้บรรลุธรรมไปตามลำดับ
ขอให้ทุกคนจงจำไว้เสมอว่า สิ่งที่เราจะสูญเสียไปไม่ได้อีกแล้ว คือ เวลา เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้น ได้ดึงเอาความแข็งแรง ความสดชื่นของร่างกายเราไปด้วย เราควรสงวนเวลาสำหรับชีวิตของเราเพื่อประพฤติธรรม ฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ ให้คิดกันอย่างนี้ทุกวัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พ่อค้ามีทรัพย์มาก เล่ม ๔๓ หน้า ๑๓๒