ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ตายก่อนตาย ตายแล้วสบาย


ธรรมะเพื่อประชาชน : ตายก่อนตาย ตายแล้วสบาย

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
 
DhammaPP117_01.jpg
ตายก่อนตาย ตายแล้วสบาย
                   อุปสรรคและความพ่ายแพ้ ไม่เคยทำให้นักสู้ยอมแพ้ได้ เพราะนักสู้ที่แท้จริง แม้จะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เขายังคงสู้ต่อไป จนกว่าจะประสบชัยชนะ นักปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมา บางท่านอาจจะยังไม่สมหวังกับผลการปฏิบัติธรรม ให้สวมหัวใจของนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ ความไม่สมหวังจะอยู่กับเราได้ไม่นาน ให้หมั่นทำความเพียร ทำใจหยุดใจนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ ในไม่ช้าเราย่อมจะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแน่นอน
 
 
DhammaPP117_02.jpg

                 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมมรณัสสติสูตร ว่า
 
                      ภิกษุใดเจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงมีชีวิตอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน หรือเราพึงมีชีวิต อยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
 
                  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณานุสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอย่างแรงกล้า

 

 

DhammaPP117_04.jpg

                   ความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับทุกๆ ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ คนโง่หรือฉลาด เศรษฐีหรือยาจก ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เสมอเหมือนกันหมด ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ นั่นคือความตายนั่นเอง ไม่เพียงแต่บนโลกมนุษย์นี้เท่านั้น ที่จะต้องเผชิญหน้ากับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ แม้ชาวสวรรค์ทุกชั้นฟ้าที่เสวยทิพยสมบัติ หรือพรหมผู้วิเศษที่เสวยสุขด้วยฌานสมาบัติในพรหมโลกก็ตาม สุดท้ายต่างต้องจุติเหมือนกันหมด มีเพียงพระนิพพานเท่านั้น ที่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
 
                   เพราะฉะนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ คือ เราจะเลือกตายแบบไหน แต่ที่แน่ๆ เราจะต้องตายด้วยความมั่นใจและมีชัยชนะ เมื่อเรายังไม่หมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพาน เราต้องไปพักที่ดุสิตบุรี เสวยทิพยสมบัติอยู่ตรงนั้น  ครั้นถึงเวลา เราก็ลงมาสร้างบารมีกันต่อ
 
 
 
DhammaPP117_03.jpg
                     ความตายของมนุษย์มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ตายหลังตาย ตายขณะตาย และตายก่อนตาย
 
 
DhammaPP117_05.jpg
                  ตายหลังตาย คือ ขณะตายนั้นไม่มีสติ หรือไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เสียชีวิตกระทันหัน เช่นนี้เป็นต้น กว่าจะรู้ตัวว่า ตนเองเสียชีวิตแล้ว ก็ ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง หรือเกินไปกว่านั้นก็มี ต้องไปเป็นกายสัมภเวสีที่ล่องลอยไปมา จะทักทายใครก็ไม่มีใครรู้เรื่อง เพราะอยู่กันคนละภพภูมิ
 
 
DhammaPP117_07.jpg
                    ตายขณะตาย คือ ในขณะเสียชีวิตนั้น มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวตลอดเวลา ว่าขณะนี้ตนเองกำลังหมดบุญหรือหมดอายุขัยแล้ว และพยายามประคับประคองสติให้ระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ได้สั่งสมไว้ คนที่ตายในลักษณะนี้ มีทั้งไปสบายและไปอบาย ซึ่งแล้วแต่บุญบาปที่ทำไว้ เป็นเครื่องชักนำไปสู่ปรโลก
 
 
DhammaPP117_08.jpg

                   ประเภทสุดท้าย คือ พวกตายก่อนตาย ประเภทนี้ต้องมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดี ฝึกซ้อมมาอย่างดี เหมือนทหารที่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมยุทโธปกรณ์ หรือหมั่นฝึกซ้อมรบอยู่เป็นประจำมิได้ขาด  เมื่อถึงคราวต้องออกทำศึกสงคราม ย่อมได้รับชัยชนะในสงครามเสมอ ในสมรภูมิของชีวิตก็เช่นกัน เราต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ด้วยการสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มาก ทำความดีกันอย่างต่อเนื่องจนตลอดชีวิต ยิ่งถ้าเราเข้าถึงพระธรรมกายภายใน มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง เราย่อมอาศัยธรรมจักษุของพระธรรมกาย ไปกำหนดรู้การหมดอายุขัยของตัวเราได้

 

 

DhammaPP117_10.jpg

                   เหมือนผู้รู้ทั้งหลายที่กำหนดรู้วันละสังขารของตัวท่านเอง  เมื่อมรณภัย มาถึงก็ไม่ได้หวั่นไหวเพราะเตรียมตัวพร้อมแล้ว ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่รู้วันดับขันธ์ของท่านเองด้วยญาณทัสสนะว่า จะดับขันธ์วันไหน ผู้ที่ตายก่อนตายจะมีลักษณะเช่นนี้
 

 

 
DhammaPP117_06.jpg
 
              *ในสมัยพุทธกาลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุเจริญมรณานุสติอยู่เนืองๆ จะได้ไม่ประมาทในชีวิต และรีบบำเพ็ญสมณธรรม ทรงถามภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณานุสติที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เธอทั้งหลายเจริญมรณานุสติกันเป็นประจำหรือไม่
 
             ภิกษุรูปแรกทูลว่า ข้าพระองค์เจริญมรณานุสติเป็นประจำ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มาก ข้าพระองค์เจริญมรณานุสติอย่างนี้ พระเจ้าข้า
 
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งทูลว่า ข้าพระองค์เจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
 
              ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์เจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าว ๔ คำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ อีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่  ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
 
               ภิกษุรูปถัดไปทูลว่า แม้ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการ   คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
 
 
DhammaPP117_11.jpg
           เมื่อภิกษุแต่ละรูปกราบทูลเช่นนี้แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุใดย่อมเจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง และเราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าว ๔ คำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณานุสติเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
 
          ส่วนภิกษุใดเจริญมรณานุสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน หรือเราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณานุสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาท จักเจริญมรณานุสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอย่างแรงกล้า

 

 

DhammaPP117_09.jpg

              จากพระดำรัสนี้ ทำให้เรารู้ว่า บางครั้งเราเองก็ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาทอยู่ ยังสนุกสนานเพลิดเพลินกับสิ่งที่ไร้สาระ ใครเป็นเช่นนี้ก็แก้ไขเสีย ตอนนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ยังแข็งแรง ความทรงจำยังดีอยู่ ให้เร่งรีบทำความดี สั่งสมบุญบารมีติดตัวไปให้ได้มากที่สุด เพื่อแข่งกับเวลาของชีวิต ที่เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธองค์จะตรัสเตือนพุทธบริษัทเสมอๆ ไม่ให้ประมาทในการทำความเพียร หลังจากให้โอวาทแล้ว ทรงแนะนำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ โน่นเรือนว่าง โน่นลอมฟาง เธอทั้งหลายจงประกอบความเพียร อย่าได้ประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย ดังนั้น ให้เราหมั่นฝึกใจให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่เข้าถึงเป็นไม่ยอม เมื่อทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทอย่างแท้จริง
 
 
*มก. ปฐมมรณัสติสูตร เล่ม ๓๖ หน้า ๕๗๐
 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล