Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๑๕
มีธรรมภาษิตที่พระเถราจารย์กล่าวเอาไว้ว่า
ผู้มีขันติชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา
และผู้มีขันติชื่อว่า บูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธบริษัท มีความอดทนถึงขนาดอุปมาว่า ถ้ามีพวกโจรใจบาปหยาบช้า นำเรื่อยขนาดใหญ่มาตัดอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา หากเรามีใจคิดอะไรต่อพวกโจรแม้แต่น้อย ก็ไม่ชื่อว่าประพฤติตามคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะว่าไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อความโกรธ ถ้ามีความคิดแม้เพียงเล็กน้อย พุทธองค์ก็ยังไม่สรรเสริญเลยนะจ๊ะ ถ้าถึงขนาดกล่าวผรุสวาท เพื่อตอบโต้ฝ่ายที่มาคิดร้ายให้เจ็บใจหรือใช้มือใช้ไม้ใช้อาวุธ เพื่อประหัตประหารกัน ก็ยิ่งได้ชื่อว่าห่างไหลจากคำสอนของพระพุทธองค์ ความอดทนนี้ เป็นบันไดไปสู่นิพพาน
พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ถ้าปราศจากความอดทนแล้ว จะตรัสรู้เป็นวันสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เลย เพราะว่ากว่าที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น ก็ไม่ใช่ของง่าย ต้องอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องสละทั้งทรัพย์ อวัยวะและก็ชีวิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เพื่อจะได้สั่งสมบุญบารมี ให้ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้ว่าท่านจะเจออุปสรรคมากมายเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ เหมือนดังเรื่องความอดทนของพระเตมียกุมารที่ลูกๆ ทุกคนได้รับฟังกันมาหลายตอนแล้วนะจ๊ะ
ท่านมีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ที่จะหาทางออกบวชให้ได้ จึงอดทนต่อเหตุการณ์และคืนวันนั้นเลวร้าย ที่ถาโถมเข้าใส่ ใจท่านยังคงหนักแน่นยิ่งกว่าภูผา แข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร ความคิดที่จะล้มเลิกความตั้งใจแม้แต่น้อยก็ไม่มี เรามาติดตามรับฟังวีรกรรมการบำเพ็ญบารมีของท่านกันต่อเลยนะจ๊ะ
เมื่อครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่ พระนางจันทราเทวี ครั้นทราบว่า พระเตมียกุมาร จะถูกนำไปฝังทั้งเป็นที่ป่าช้าผีดิบ ด้วยน้ำพระทัยของผู้เป็นมารดา ที่มีความรักต่อพระโอรสอย่างสุดหัวใจ จึงหาทางทูลทัดทานพระราชา อย่างสุดความสามารถ แต่พระราชาทรงให้เหตุผลว่า หากแม้เตมียกุมารจักไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย แต่ก็ไม่อาจครองราชสมบัติได้ เพราะเตมียกุมารเป็นคนกาลกิณี
ครั้นพระเทวี ได้สดับคำว่า พระโอรสเป็นคนกาลกิณี ก็ทรงรู้สึกเหมือนกับว่า ถูกสายฟ้าฟาดลงกลากระหม่อม จวนเจียนจะล้มลงแทบพระบาทของพระสวามี เพราะไม่เคยคิดว่า พระโอสรสจะถูกใส่ความว่า เป็นกาลกิณี ซึ่งพระนางเชื่อมั่นเสมอว่า พระโอรสเป็นผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เพียงแต่ยังไม่ปรารถนา จะพูดจาเหมือนคนทั่วไปเท่านั้น
ครั้นแล้วพระนางก็ทรงอดกลั้นความโศกาอาดูรนั้น ทูลอ้อนวอนพระราชาต่อไปว่า “หากพระองค์ไม่อาจพระราชทานราชสมบัติ ให้เตมิยกุมารครองราชไปจนตลอดชีวิตได้ ก็ขอได้โปรดพระราชทานสักเจ็ดปีเถิด เพคะ”
พระราชารีบตรัสว่า “เราให้ไม่ได้หรอก พระเทวี”
“ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติหกปีเถิดเพคะ”
“หกปีก็ให้ไม่ได้ ”
พระเทวีทูลขอว่า “หากทรงเห็นว่า หกปียาวนานเกินไปก็ขอพระองค์ทรงพระราชทานสักห้าปีเถิด"
ท้าวเธอก็ทรงปฏิเสธดังเดิมว่า “อย่าเลย พระเทวี เธออย่าชอบใจเช่นนั้นเลย”
พระนางเจ้าจันทาเทวียังไม่ละความพยายาม ทรงทูลต่อรองกับพระราชาเพื่อทูลขอราชสมบัติให้พระเตมิยกุมารต่อไปเรื่อยๆ โดยลดระยะเวลาลงตามลำดับ คือสี่ปี สามปี สองปี ปีเดียว เจ็ดเดือน หกเดือน ห้าเดือน สี่เดือน สามเดือน สองเดือน กระทั่งเดือนเดียว
แม้พระนางจะทรงทูลขอ ให้พระกุมารได้ครองราชย์เพียงชั่วระยะเวลาครึ่งเดือน แต่ก็ดูเหมือนยังยาวนานเกินไป กว่าที่พระราชาจะพระราชทานให้ได้
ในที่สุดพระนางจึงทรงอ้อนวอนเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ ขอพระองค์โปรดทรงสดับคำของหม่อมฉันด้วยเถิด นับแต่หม่อมฉันได้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่หม่อมฉัน จะมีความสุขใจเท่ากับการที่ได้ประสูติพระโอรส จนถึงบัดนี้ หม่อมฉันก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระองค์เลย ยังคงพอใจเฉพาะสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้เท่านั้น แต่ครั้งนี้ หากพระองค์จะทรงเมตตาหม่อมฉัน ก็ขอให้พระองค์ได้ทรงโปรดพระราชทานราชสมบัติ ให้เตมิยกุมารลูกรักของหม่อมฉันได้ครอบครองเพียงแค่เจ็ดวันเถิด หม่อมฉันขอพระองค์เพียงชั่วระยะเวลาเจ็ดวันเท่านั้นเพคะ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว หม่อมฉันก็คงไม่อาจมีชีวิตต่อไป เป็นแน่”
พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์ของพระนางหมองเศร้า พระเนตรทั้งสองเต็มไปด้วยน้ำตา ร่ำไห้ปานจะขาดใจ ก็ยิ่งทรงสลดพระทัย ครั้นจะทรงปฏิเสธเช่นเดิม ก็ทรงเกรงว่าพระทัยของพระนางจะแตกสลาย ในที่สุดท้าวเธอจึงได้ทรงพระราชทานให้ตามที่เธอทูลขอ
ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระสวามีแล้ว พระนางก็โปรดให้จัดพิธีราชาภิเษก พระเตมิยราชกุมารให้เป็นกษัตริย์ โดยให้ประดับตกแต่งพระราชกุมารด้วยเครื่องทรงเยี่ยงกษัตริย์ ทูลเชิญให้ขึ้นประทับบนพระประทุนหลังช้างพระที่นั่ง ให้ยกพระเศวตฉัตรขึ้นเหนือพระเศียร แล้วให้ป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า “บัดนี้ราชสมบัติแห่งกาสิกรัฐ เป็นของพระเตมิยราชกุมารแล้ว” จากนั้นก็เสด็จเลียบบนถนนโดยรอบพระนคร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
มหาชนชาวกาสิกรัฐต่างช่วยกันประดับประดาบ้านเรือนของตนเอง เมื่อขบวนช้างพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษกผ่านมา ต่างก็พากันกล่าวสดุดีตามราชประเพณี แต่จิตใจของทุกคนนั้น ล้วนเศร้าสลดไปตามๆ กัน เพราะต่างก็รู้ดีว่าชีวิตของพระราชกุมารจะดำรงอยู่ได้เพียงแค่ ๗ วันเท่านั้น จากนั้นก็จะถูกนำไปฝังทั้งเป็นที่ป่าช้าผีดิบ
ฝ่ายพระนางเจ้าจันทาเทวี แม้จะดำเนินการอภิเษกพระโอรสให้เป็นกษัตริย์สำเร็จแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นพระนางยังทรงทุกข์ระทมอยู่ดี เพราะจนถึงบัดนี้ ก็ยังมิอาจทำให้พระโอรสกลับเป็นเหมือนคนปกติได้ ทรงเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตของพระโอรสมาก จนไม่เป็นอันจะเสวยเลย ซึ่งก็เป็นธรรมดาของแม่ ย่อมมีจิตใจอ่อนไหวไปตามความเป็นไปของบุตร ถึงคราวบุตรอยู่ดีมีสุข มารดาก็พลอยแช่มชื่นเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใสไปด้วย แต่ครั้นบุตรมาเจ็บไข้ได้ป่วย ใจของมารดาก็เป็นทุกข์ร้อน และดูเหมือนว่าจะทุกข์ร้อนมากไปกว่าที่บุตรได้รับเสียด้วยซ้ำ
ดังที่ได้เห็นกันอยู่บ่อยๆว่า มารดาจำนวนมิใช่น้อย ยอมทำบาปเพื่อลูกและยอมสละแม้กระทั่งชีวิตของตน เพียงเพื่อให้บุตรกินดีอยู่ดีมีความสุข ได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างดี เพื่อให้มีอนาคตที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า ด้วยเหตุนี้เอง บัณฑิตในกาลก่อนถึงได้กล่าวว่า “มารดาเป็นพรหมของบุตร เป็นเทวดาในเรือน เป็นบูรพาจารย์ของบุตร และเป็นผู้ที่บุตรทั้งหลาย ควรเคารพกราบไหว้บูชา ดุจเป็นพระอรหันต์ในบ้าน”
หลังจากพิธีราชาภิเษกพระเตมิยกุมารผ่านพ้นแล้ว พระนางจันทาเทวี จึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงาน เชิญเสด็จพระราชกุมารขึ้นสู่พระแท่นที่บรรทม พระนางตรงเข้าสวมกอดพระราชกุมารด้วยทรงอาลัยรัก พร่ำวิงวอนอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ด้วยพระดำรัสซ้ำๆ ว่า “ลูกรักของแม่ แม่รู้อยู่เต็มอกว่า ลูกของแม่มิใช่คนง่อยเปลี้ย มิใช่คนใบ้ มิใช่คนหูหนวก ลูกจงกล่าวอะไรๆ บ้างเถิดอย่าปล่อยให้แม่ต้องทุกข์ใจไปมากกว่านี้เลย”
น้ำตาของพระเทวีที่หลั่งไหลออกมา จนแทบกลายเป็นสายเลือดนั้น จะทำให้พระเตมียกุมารใจอ่อนหรือไม่ เราคงต้องมาติดตามรับฟังกันต่อในวันถัดไปแล้วนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย