Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน ขุมทรัพย์ข้ามชาติ
ช่วงชีวิตของคนเราสั้น การยอมเสียเวลาเพื่อลงทุนทำอะไรสักอย่างจะต้องใคร่ครวญให้ดีเพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาและเงินตราที่เสียไป เพราะนั่นไปถึงชีวิตและโอกาสดี ๆ ที่ต้องสูญเสียไปด้วย แต่การลงมือทำความดีนั้นไม่มีการสูญเสียมีแต่ได้อย่างเดียว
การที่เราให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ล้วนได้ประโยชน์ใหญ่ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด การทำบุญไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะนอกจากจะได้กำไรชีวิตแล้ว ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลบุญ เพื่อนำไปใช้ในภพชาติต่อไปได้
เพราะฉะนั้น ผู้มีบุญมีปัญญาต้องรีบสั่งสมบุญ โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ฝึกใจหยุดใจนิ่ง จะทำให้เราเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร ความว่า
คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่ลึกกระทั่งในน้ำก็ด้วยความคิดว่า เมื่อเกิดกิจจำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา คนฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย
ทุพภิกขภัย เช่น เกิดข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองเกิดการขาดแคลนอาหาร หรือเพื่อใช้ในเวลามีภยันตรายต่าง ๆ ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในน้ำลึกถึงเพียงนั้น จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
เพราะบางทีขุมทรัพย์เคลื่อนที่ไปบ้างก็มี บางทีเขาลืมที่ฝังไว้บ้างก็มี บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายไปบ้างก็มี บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปบ้างก็มี
หรือบางทีเมื่อเขาเผลอ มีญาติผู้ไม่เป็นที่รักมาขโมย หรือขุดเอาไปบ้างก็มี เมื่อเขาสิ้นชีวิต ต้องละจากโลกนี้ไป ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศไป ไม่สามารถนำติดตามไปได้
ขุมทรัพย์โดยทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท คือ ๑. ถาวรนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง เช่น ที่ดิน เรือกสวนไร่นา อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เป็นต้น
ประเภทที่ ๒. ชังคมนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เป็นสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง เช่น ข้าทาสบริวาร ช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น
ประเภทที่ ๓. อังคสมนิธิ คือ ขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยาต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถพิเศษของแต่ละบุคคล เป็นต้น และขุมทรัพย์ประการที่ ๔. อนุคามิกนิธิ คือ ขุมทรัพย์ทางคุณธรรม ได้แก่ บุญกุศลความดี ที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ หรือบารมีสิบทัศ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นขุมทรัพย์ที่ถาวรที่สุด ขุมทรัพย์ประการสุดท้ายนี้ ที่เราจะต้องแสวงหากันให้มาก ๆ และต้องทำให้มีให้เป็นขึ้นมาในตัวให้ได้
พระพุทธองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า ขุมทรัพย์ที่ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยการทำทาน รักษาศีล สัญญมะ คือ การห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง การเจริญสมาธิภาวนาและสำรวมอินทรีย์ทั้งหก เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทมะ หมายถึง การหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ข่มใจไม่ให้กิเลสเข้าไปครอบงำจิตใจได้
ผู้มีปัญญาควรฝังขุมทรัพย์ไว้ในพระเจดีย์ ในพระสงฆ์ ในบุคคล ในแขกที่มาหา ในบิดามารดาหรือหมู่ญาติ หมายความว่า ให้ทำการนอบน้อมบูชากราบไหว้พระเจดีย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บูชาพระสงฆ์ด้วยการถวายทาน
คอยอุปัฏฐากดูแลให้ท่านได้รับความสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม ให้ความเคารพกราบไหว้ รู้จักเข้าไปหาและสนทนาธรรมกับท่านเป็นประจำ ให้ความเคารพในท่านผู้มีคุณธรรมทั้งที่เป็นเด็ก เป็นเพื่อน และเป็นผู้ใหญ่
ให้ความสำคัญในการต้อนรับปฏิสันถารกับแขกที่มาเยือน รวมไปถึงการเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที การบำรุงบิดามารดา สงเคราะห์ท่านให้มีความสุขในโลกนี้ และแนะนำท่านให้เกิดศรัทธาในการทำทาน
รักษาศีลและเจริญภาวนา ท่านจะได้มีบุญติดตัวไป เป็นการช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์และนิพพานให้กับท่าน นี่เป็นหลักย่อ ๆ ในการฝังขุมทรัพย์ เมื่อสั่งสมบุญตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้แล้ว จะเกิดผลอันน่าอัศจรรย์อย่างไร
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า
ขุมทรัพย์ที่ผู้มีปัญญาได้ทำเช่นนี้ ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นจะขนเอาไปไม่ได้ จะติดตามคนฝังตลอดไป บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป เขาจะพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้ ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญ ที่จะเป็นขุมทรัพย์อันติดตามตัวเราตลอดไป
ขุมทรัพย์ คือ บุญนี้ ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ แก่เทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลอันใด ผลนั้นๆ ทุกอย่าง จะสำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ ความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามเปล่งปลั่งผ่องใส มีเสียงไพเราะเสนาะโสต มีทรวดทรงสมส่วน มีรูปร่างสวยสดงดงาม เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น การได้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพวกพ้องบริวารห้อมล้อม ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น จะสำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ
ความเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในประเทศ ความเป็นอิสระ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ความสุขอันน่าพอใจของพระเจ้าจักรพรรดิ และแม้ความเป็นจอมเทพของเทวดาในหมู่เทพ ทั้งหมดนั้น จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ
สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดนั้น จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้ บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา หมายถึง ความเพียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณงามความดี มีคุณธรรม สามารถที่จะแนะนำเส้นทางสวรรค์และนิพพานให้ได้
เช่น เพื่อนสพรหมจารี หรือเพื่อนกัลยาณมิตร ผู้ดำรงตนน่าเคารพ ประกอบด้วยความเพียรโดยแยบคาย เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ ทั้งหมดนี้ จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ ทั้งหมดนี้ จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ
บุญสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมแห่งบุญนั้น มีประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ จึงสรรเสริญการที่บุคคลได้สั่งสมบุญเอาไว้อย่างดีแล้ว ทั้งหมดนี้ คือ พุทธวจนะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
ทางมาแห่งความสุขทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ล้วนเกิดจากบุญ
ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ความทุกข์ยากลำบากทั้งหลายที่เราได้ประสบพบเจอ เพราะบาปอกุศลที่เคยทำเอาไว้ ความสุขเป็นผลจากการสั่งสมบุญ ความทุกข์เป็นผลจากการสั่งสมบาป
นี่เป็นหลักเหตุและผลง่ายๆ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ดีแล้ว ซึ่งหลวงพ่อได้ยกพระสูตรนี้เพื่อต้องการให้ทุกท่านได้รับทราบไว้ จะได้เห็นคุณค่าของการฝังขุมทรัพย์ คือ บุญ อันจะเป็นเสบียงติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นสั่งสมบุญ บุญจะได้อำนวยสุขให้เราสมความปรารถนาในทุกสิ่ง ได้ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน