Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน กตัญญูกตเวทีนำชีวีสดใส 1
บุญคือความดีที่เราได้ทำ ทั้งจากการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา บุญนี้ก็จะกลั่นกาย วาจา ใจของเราให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ ยิ่งใจเราบริสุทธิ์มากปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงได้มาก บุญก็จะยิ่งมาก เป็นอสงไขยอัปปมาณัง คือ จะนับจะประมาณมิได้
เมื่อมีบุญมาก ปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จได้ ทั้งความสุข ความสมหวังทุกอย่างก็จะบังเกิดขึ้นเพราะมีบุญคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งบุญบารมีนั้นเต็มเปี่ยมก็คลายความยึดมั่นในโลกียสมบัติ อยากจะประพฤติธรรม มุ่งแสวงหาโลกุตรสมบัติเพียงอย่างเดียว เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่ต่างก็มุ่งแสวงหาโลกุตรสมบัติ
ดังนั้นเราต้องหมั่นสั่งสมบุญกันให้มากๆ โดยเฉพาะบุญที่สำคัญที่สุดคือการเจริญภาวนาทำใจหยุดใจนิ่งเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว นี่คือบุญใหญ่ บุญใสใสที่จะเป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัยของชีวิต เพียงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏกัน
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในมังคลัตถทีปนี ความว่า
บุคคลผู้มีความอกตัญญูย่อมประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา มีการนินทาเป็นต้น ส่วนบุคคลผู้มีความกตัญญูแม้พระบรมศาสดาก็ทรงสรรเสริญ
คนอกตัญญูหรือเรียกอีกอย่างว่าคนใจบอด เพราะแม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณก็มองไม่เห็นคุณความดีที่คนอื่นมอบให้ เหมือนคนตาบอดแม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเพียงใดก็มองไม่เห็นโลกนี้ว่ามีคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งมีรูปร่างสันฐานที่แตกต่างกันอย่างไร
ซึ่งแตกต่างจากคนผู้มีความกตัญญูรู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย และหาโอกาสตอนแทบอยู่เนืองๆ คนมีความกตัญญูถึงแม้จะมีนัยน์ตามืดบอดทั้งสองข้างแต่ใจของเขานั้นใสกระจ่ายยิ่งกว่าดวงตะวันตอนเที่ยงเสียอีก
ตัวอย่างโทษของผู้ไม่มีความกตัญญู เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งภิกษุสงฆ์ได้ประชุมกันในโรงธรรมสภา สนทนากันถึงเรื่องที่พระเทวทัตถูกภิกษุทั้งหลายตักเตือนว่า
“ท่านอาวุโสเทวทัต พระบรมศาสดาทรงมีอุปการะมากกับท่าน ท่านได้อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้บวช ได้ศึกษาคำสอนของพระองค์จนได้ฌานสมาบัติ แม้ลาภสักการะที่เกิดขึ้นจากท่านก็เพราะอาศัยพระทศพลเช่นกัน”
พระเทวทัตครั้นได้ฟังคำตักเตือนของเพื่อนสหธรรมิก นอกจากจะไม่สำนึกแล้วยังได้กล่าวอวดตนเองว่า “อาวุโสทั้งหลาย เรายังมองไม่เห็นเลยว่าพุทธองค์ได้ทำอุปการคุณแก่เราอย่างไร นั่นก็เป็นเพราะความสามารถของเราเองต่างหาก แต่ถ้าจะมีบ้างก็เป็นเพียงอุปการคุณเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น” ในขณะนั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาพอดี จึงตรัสถามภิกษุสงฆ์ถึงเรื่องที่สนทนากันอยู่
เมื่อทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่เทวทัตเป็นคนอกตัญญู เป็นผู้ประทุษร้ายมิตร ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญู เป็นผู้ประทุษร้ายมิตรเหมือนกัน” ว่าแล้วก็ทรงนำเรื่องในอดีตของพระเทวทัตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตกาลเมื่อครั้งพระเจ้ามคตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นเศรษฐีเมืองราชคฤห์ได้ไปขอธิดาของเศรษฐีชนบทเพื่อให้มาเป็นภรรยาแก่บุตรของตน
ครั้งแต่งงานกันแล้วปรากฏว่านางเป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้ แต่บังเอิญว่าในช่วงนั้นตระกูลของท่านเศรษฐีทำธุรกิจขาดทุน ฐานะจึงยากจนลงอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้มีเสียงร่ำลือกันว่าเป็นเพราะท่านเศรษฐีได้หญิงหมันมาอยู่ในตระกูลจึงทำให้วงศ์ตระกูลไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน เมื่อนางได้ฟังแล้วก็ไม่สบายใจ จึงคิดหาวิธีการที่จะลวงผู้อื่นให้เข้าใจว่าตนเองไม่ได้เป็นหมัน
และก็ได้เข้าไปถามหญิงพี่เลี้ยงที่ตนเองไว้ใจว่า สตรีเวลาตั้งครรภ์มีอาการอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็พยายามแสดงอาหารเหมือนหญิงแพ้ท้อง ชอบกินอาหารมีรสเปรี้ยว ทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น เอาผ้าเก่าพันท้องไว้ให้ดูเหมือนว่าท้องโตขึ้นทุกๆวัน
สามีของนางก็คิดว่านางตั้งครรภ์จริง จึงช่วยบำรุงครรภ์นางอยู่นานถึงเก้าเดือน เมื่อครบกำหนดคลอด นางได้ลาพ่อสามีกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิดในชนบท
ขึ้นรถออกจากเมืองราชคฤห์ไปพร้อมกับบริวาร ระหว่างเดินทางนั้นเองมีกองคาราวานของพวกพ่อค้าเดินทางล่วงหน้าไปก่อน
และมีหญิงยากจนคนหนึ่งซึ่งมีครรภ์แก่ใกล้คลอดร่วมเดินทางมาด้วย เมื่อถึงกลางคืนในขณะที่หยุดพักค้างแรมอยู่นั้น นางก็เกิดเจ็บครรภ์และคลอดบุตรที่โคนต้นไทรต้นหนึ่ง พอรุ่งเช้าพวกกองเกวียนก็เก็บสัมภาระเพื่อเดินทางมุ่งหน้าต่อ
นางจึงเกิดความลังเลใจว่าควรทำอย่างไรดี ต้องอาศัยพวกกองเกวียนเหล่านี้เลี้ยงชีพ หากนำทารกน้อยไปด้วยคงจะเดินทางยากลำบาก แต่กระนั้นเลยหากใครยังมีชีวิตอยู่ย่อมสามารถมีลูกคนใหม่ได้อีก
เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงตัดสินใจทิ้งลูกน้อยไว้ที่โคนต้นไทรต้นนั้น ฝ่ายรุกขเทวาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรได้มาเฝ้าอารักขาทารกน้อยเป็นอย่างดี เพราะทารกนั้นมิใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นพระบรมโพธิสัตว์ผู้มาบังเกิดเพื่อสังสมบุญบารมี
ในรุ่งเช้าวันนั้นรุกขเทวาเห็นว่าหญิงหมันกำลังต้องการลูก และเห็นว่านางเป็นผู้มีบุญพ่อที่จะเลี้ยงทารกผู้มีบุญนี้ได้จึงดลบันดาลให้หญิงหมันเดินไปที่โคนต้นไทรเพื่อทำสรีรกิจ
นางได้พบทารกน้อยผู้มีผิวพรรณงดงามเหมือนทองคำจึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างมาก และก็เกิดความรักในทารกน้อยนั้น เหมือนกับเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดจริงๆ เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นพ่อแม่ของเด็กจึงรู้ว่าทารกน้อยนี้ถูกทอดทิ้งอย่างแน่นอน นางจึงรีบแก้ผ้าพันท้องออกเอาโลหิตและมลทิตครรภ์ของทารกน้อยมาทาตัวเองให้แปดเปื้อนเพื่อให้ดูเหมือนว่าพึ่งจะคลอดบุตรมาใหม่ๆ
และรีบอุ้มทารกน้อยมาบอกกับเหล่าบริวารว่าตนได้คลอดบุตรแล้ว พวกบริวารต่างก็พากันร่าเริงยินดี ส่งหนังสือไปแจ้งข่าวดีให้พ่อแม่ของสามีทราบและพานางเดินทางกลับไปยังนครราชคฤห์ตามเดิม หมู่ญาติเลยตั้งชื่อให้กับทารกน้อยว่า นิโครธกุมาร เพราะทารกเกิดที่ใต้โคนต้นไทรนั่นเอง
ในขณะเดียวกันหญิงสะใภ้ของอนุเศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็ลาพ่อแม่ของสามีเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อคลอดบุตรเช่นกัน และได้คลอดบุตรที่ใต้กิ่งไม้แห่งหนึ่งในระหว่างทาง พวกญาติจึงตั้งชื่อบุตรผู้สั้นว่า สาขกุมาร เพราะเกิดใต้กิ่งต้นไม้นั้น
ส่วนภรรยาของช่างชุนผ้าที่อาศัยอยู่กับท่านมหาเศรษฐีก็ได้คลอดบุตรบนกองผ้าเก่าพวกญาติจึงตั้งชื่อให้ทารกน้อยว่า โปตติกะ ทารกน้อยทั้งสามนี้ได้ถือกำเนิดในวันเดียวกันนั้นเอง ท่านมหาเศรษฐีปราบปลื้มยินดีมาก
ยิ่งมาทราบว่ามีทารกน้อยอีกสองคนที่เกิดวันเดียวกันกับนิโครธกุมารหลานของตน จึงสั่งให้คนไปนำมาเลี้ยงไว้ร่วมกันกับนิโครธกุมาร กุมารทั้งสามเติบโตขึ้นพร้อมกับความรักกันฉันเพื่อน จากนั้นก็ถูกส่งไปเรียนศิลปะวิทยาที่เมืองตักกะศิลา
ลูกเศรษฐีทั้งสองได้ให้ทรัพย์เป็นค่าสอนแก่อาจารย์คนละพันกหาปนะ จึงได้เล่าเรียนก่อน ส่วนโปตติกะกุมารไม่มีค่าเล่าเรียน จึงต้องคอยเรียนวิชาจากนิโครธกุมารอีกทีหนึ่ง นิโครธกุมารจึงเป็นทั้งนักเรียนและก็เป็นครูไปในเวลาเดียวกันด้วย
เมื่อกุมารทั้งสามสำเร็จการศึกษาศิลปะวิทยาแล้วก็กราบลาอาจารย์เพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางทั้งสามกุมารได้ชักชวนกันออกเที่ยวไปตามชนบทต่างๆเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม และได้เที่ยวจนไปถึงเมืองพาราณสี ได้พากันหยุดพักผ่อนนอนหลับที่โคนต้นไม้