Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน ให้ทานอย่างสัตบุรุษ
ศาสตร์ทุกแขนงทุกสาขาวิชาล้วนมีสูตรเฉพาะหรือสูตรสำเร็จในการทำให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้องด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่มีวิธีการที่แตกต่างกันไปเท่านั้น
อย่างในการปรุงอาหารให้อร่อยก็มีเคล็ดวิชาในการทำให้อาหารที่ออกมามีรสมีชาติกลมกล่อมเอร็ดอร่อยน่ารับประทาน หรืออย่างในการทำสมาธิให้ใจหยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็วก็มีสูตรสำเร็จและเคล็ดวิชา นั่นคือ การวางใจให้พอเหมาะพอดีที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ให้เป็นธรรมชาติ ทำใจให้หยุด นิ่ง เฉย เพียงอย่างเดียว
เมื่อประกอบเหตุได้ถูกต้องผลลัพธ์จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ คือ ความสงบ ความสว่างและความสุขภายใน และจะทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึก ที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัปปุริสทานสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานมี ๕ ประการ คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานโดยกาลอันควร เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน และให้ทาน ไม่กระทบตนและผู้อื่น
ลักษณะการให้ทานของแต่ละคนในโลกนี้ไม่เหมือนกัน วัตถุประสงค์ของการให้ ก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ได้รับการปลูกฝังหรือการฝึกฝนอบรมตนมาจากครอบครัวอย่างไร
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ แข่งขัน และการเอาตัวรอด วิถีชีวิตของบางท่านจึงดูเหินห่างจากพระพุทธศาสนามากขึ้น เหินห่างจากการศึกษาความเป็นจริงของชีวิต ไม่รู้เรื่องชีวิตในปรโลก
คิดแต่เพียงจะเอาตัวรอดไปวันๆ แต่ยังไม่ได้สร้างหลักประกันในชีวิตที่เป็นทางรอดในปรโลก หรือในสังสารวัฏ
ดังนั้นชีวิตที่ห่างจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นชีวิตที่อันตราย ยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาท และชีวิตยังไม่ปลอดภัย
บางท่านเป็นชาวพุทธ แต่ไม่รู้จักวัฒนธรรมชาวพุทธ ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะหรือเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ แต่หลายท่านได้ศึกษากันมาอย่างดีแล้ว ได้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำ
หลวงพ่อก็ขออนุโมทนาด้วย จะทำบุญตักบาตร หรือถวายสังฆทานแต่ละครั้ง ก็ทำด้วยความเคารพเลื่อมใส ให้ทานเพราะรู้ว่าพระสงฆ์นั้นเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของชาวโลก
ท่านเป็นบุญเขตอันเยี่ยมที่เป็นทางมาแห่งบุญของพวกเรา เพราะท่านมุ่งชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างเดียว
นอกจากนี้บางท่านยังมีความเข้าใจในหลักการทำบุญมากขึ้นไปอีก ทั้งก่อนให้ก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็มีใจศรัทธา ครั้นให้ไปแล้ว ตามระลึกถึงทานที่ได้ทำไป ก็เกิดปีติในบุญยิ่งขึ้น
บุญกุศลก็บังเกิดขึ้นทั้ง ๓ ระยะ เรามาดูลักษณะการให้ทานของสัตบุรุษว่า ท่านทำอย่างไรบ้าง คือในขณะให้ทานท่านจะให้ด้วยศรัทธาไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นแก่หน้าหรือถูกบังคับให้ทำ ให้ทานโดยเคารพมีความนอบน้อมในทาน
ไม่มีอหังการว่า ทรัพย์นี้เป็นของเรา เพราะฉะนั้นผู้มารับทรัพย์หรือรับบริจาคจากเราต้องนอบน้อมเราผู้เป็นเจ้าของ แต่กลับให้ความนอบน้อม ต่อผู้ที่มารับของของตน
สัตบุรุษจะให้ทานโดยกาลอันควร ดูช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมว่าช่วงไหนจะถวายภัตตาหาร ช่วงไหนควรถวายน้ำปานะ ช่วงไหนควรถวายผ้าไตรจีวร หรือเครื่องสมณบริขารที่เหมาะต่อสมณบริโภค สัตบุรุษผู้ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์
ไม่ได้มุ่งอยากเด่นอยากดัง แต่อยากได้บุญเป็นหลัก และประการสุดท้าย สัตบุรุษจะให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น คือตนเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะให้แล้วไม่คิดอยากเอาคืน ตัดใจเหมือนตายจาก
ผู้รับก็สบายใจ มีความสุขใจที่ได้มารับจากเรา เมื่อสัตบุรุษให้ทานถูกหลักวิชาทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว เรามาดูผลบุญที่จะบังเกิดขึ้น ว่าให้ทานด้วยศรัทธา เมื่อถึงคราวบุญส่งผล จะให้อิฏฐผลที่น่าปลื้มปีติใจอย่างไรบ้าง
พระพุทธองค์ตรัสว่า สัตบุรุษเมื่อให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากและเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณวรรณะผ่องใส ดึงดูดตาดึงดูดใจแก่ผู้ที่ ได้พบเห็นยิ่งนัก นี่เป็นผลที่เกิดจากให้ทานด้วยศรัทธา
ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ผลนั้นจะอำนวยให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากและเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนรับใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง
เงี่ยโสตลงสดับรับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ภรรยาสามีไม่นอกใจซึ่งกันและกัน ข้าทาสบริวารก็ไม่คดโกง
ตั้งใจดูแลทรัพย์สมบัติของเจ้านาย เหมือนเป็นของของตนเอง อานิสงส์ที่ให้ทานถูกกาลเทศะ ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และปรารถนาสิ่งใดก็จะสมหวังได้โดยง่าย เป็นผู้ที่ไม่ขาดตกบกพร่อง จิตใจจะเอิบอิ่มอยู่ในสมบัติที่หามาได้ตลอดเวลา
อานิสงส์ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์มุ่งปรารถนาบุญเป็นหลักนั้น จะทำให้เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไป
เพื่อบริโภคสมบัติอันประณีตที่สูงยิ่งขึ้น จะเดินทางใกล้ไกลแม้ไปในสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จัก ก็จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เหมือนได้รับการต้อนรับจากญาติผู้เป็นที่รัก
อีกทั้งจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ประการสุดท้ายของอานิสงส์ที่ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น จะทำให้สมบัติบังเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ ภยันตรายใดๆ ไม่มากลํ้ากราย
ตั้งแต่อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย ราชภัย หรือภัยจากคนอันไม่เป็นที่รักและจากทายาทจะไม่บังเกิดขึ้น จะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยธรรมทั้งจากมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เป็นบุคคลผู้มีความเกษมสำราญในที่ทุกสถาน
จะอยู่ที่ไหนก็นำความสวัสดีมีชัย นำความสุขความเจริญไปสู่สถานที่นั้นๆ คนรอบข้างก็ได้รับความสงบร่มเย็นตามไปด้วย นี่เป็นอานิสงส์ย่อๆของการให้ทานอย่างถูกหลักวิชชา
ในสมัยพุทธกาลมีทานบดีหลายท่านที่หมั่นมาถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นประจำ ได้ทำหน้าที่เป็นกองเสบียงได้อย่างสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่องจนได้รับคำยกย่องจากพระบรมศาสดา
เช่น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ได้รับการยกย่องว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ถวายทานที่มีรสประณีต
คือให้ทานด้วยความเคารพนอบน้อม ฝ่ายหญิงที่เป็นกองเสบียงซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นคือ มหาอุบาสิกาวิสาขา ผู้เป็นเลิศในด้านการถวายทาน ส่วนชีวิตในสังสารวัฏของท่านมีความพิเศษมาก
คือท่านผ่านการถวายมหาสังฆทาน ผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ และได้ถวายทานอย่างสัตบุรุษครบทั้ง ๕ ประการ อานิสงส์นั้นทำให้ท่านเวียนว่ายตายเกิดในสองภพสองภูมิเท่านั้น คือ ได้สวรรค์สมบัติและมนุษย์สมบัติมาตลอด
แม้ว่าท่านจะยินดีในความเป็นหญิง แต่ก็ได้เป็นพระธิดาของพระราชา เป็นอัครมเหสี ได้เป็นลูกสาวของมหาเศรษฐี ชีวิตไม่เคยตกต่ำ ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ
จะเกิดในสวรรค์ก็ได้เป็นเจ้าของวิมาน ไม่ได้เป็นบริวารของใคร ในภพชาตินี้หลังจากที่ท่านละโลกไปแล้ว ก็ได้อุบัติเป็นเทพนารีวิสาขา เป็นอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช
ถือได้ว่าเป็นจอมเทพนารีในสวรรค์ชั้นนั้น เราจะเห็นว่าการให้ทานที่ถูกหลักวิชาจะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง แม้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็จะปลอดภัยและมีความสุขใจไปตลอดทุกภพทุกชาติ
พวกเราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยการให้ทานมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ให้สังเกตดูตนเองว่า ที่ผ่านมานั้น เราได้ให้ทานถูกหลักวิชชาที่สัตบุรุษทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติกันมาหรือไม่ บางคนให้ทานเหมือนกัน แต่ได้ผลไม่เท่ากัน ให้ย้อนกลับมาดูที่การประกอบเหตุ เมื่อพิจารณาแล้ว หากขาดตกบกพร่องข้อไหน
ก็ให้ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการให้ทานของเราให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อทานบารมี ของเราเต็มเปี่ยม จะสร้างบารมีอย่างอื่นให้ครบทั้ง ๑๐ ทัศ ก็ง่ายขึ้น ดังนั้นให้พวกเราทุกคนหมั่นปรับปรุงวิธีการสร้างบารมีให้สมบูรณ์ เพื่อชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม