ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พ่อสร้างแต่ลูกรื้อ


ธรรมะเพื่อประชาชน : พ่อสร้างแต่ลูกรื้อ

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP193_04.jpg

พ่อสร้างแต่ลูกรื้อ


                     ไม่ว่ายุคใดสมัยใดบิดาถือว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว เพราะต้องสงเคราะห์บุตรธิดาและภรรยา โดยเฉพาะบุตรธิดาจะได้รับการเลี้ยงดูจนกระทั่งเติบใหญ่ และได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน การศึกษารวมทั้งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่หวังเพียงแค่ว่าจะให้ลูกน่ะมีชีวิตที่ดี มีความเจริญรุ่งเรืองและดำเนินชีวิตได้ถูกทาง อยู่ในทำนองคลองธรรม พ่อแม่จึงต้องปลูกฝังให้ลูกเป็นผู้ที่มีความรู้คู่กับคุณธรรม จุดเริ่มต้นของคุณธรรมก็ต้องให้ลูกรู้จักการเจริญสมาธิภาวนา เพราะสิ่งนี้เป็นการพัฒนาคุณธรรมขั้นแรก โดยจะต้องเริ่มต้นพัฒนาที่จิตใจก่อน เพราะว่าจิตใจเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทุกสิ่ง ที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง


        


                     มีพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ในปฐมปัณณาสก์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ใช่สิ่งที่ง่ายแก่ท่านทั้งสองคือบิดามารดา เพราะแม้บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในศิริราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์มีความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อันประกอบไปด้วยรัตนะ ๗ ประการก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นการกระทำตอบแทนแก่บิดามารดาเลย เพราะบิดามารดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้อนุเคราะห์บุตรและเป็นผู้แสดงโลกนี้ให้แก่บุตร

 

 

                พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งต่อลูกทุกๆ คน พระคุณของท่านมีมากล้นเกินพรรณนา เพราะท่านได้ให้โอกาสในการมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้เรามีโอกาสได้สร้างบารมี ได้สั่งสมคุณงามความดี ทั้งการให้ทานรักษาศีลและเจริญภาวนา รวมทั้งสามารถพัฒนาจิตใจให้สูงส่ง บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยธรรมะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

 

 

              ดังนั้นลูกที่ดีจะต้องอยู่ในโอวาทของพ่อแม่และจะต้องไม่ดื้อ ไม่เกะกะเกเรอย่างน้อยก็ต้องไม่ทำให้ท่านเสียใจหรือทำให้ท่านขัดเคืองใจ เหมือนดังเรื่องของบทนายอุทยานที่ทำให้ผู้เป็นบิดาต้องเหนื่อยใจกับการไม่รู้จักความควรและไม่ควรของบุตร  

 


                   เรื่องก็มีอยู่ว่าในกรุงสาวัตถีมีอำมาตย์ท่านหนึ่งเป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความเคารพยิ่งในพระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ วันหนึ่งท่านอำมาตย์ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้มาเป็นเนื้อนาบุญ นิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตตาหารในวนอุทยานของตน เมื่อได้ทำบุญใหญ่ในการถวายมหาสังฆทานแล้ว ท่านอำมาตย์ก็มีใจปราบปลื้มยินดี ได้ปวารณาตัวอุปัฏฐากรับใช้พระภิกษุสงฆ์ และอาราธนาให้หมู่สงฆ์ มาใช้วนอุทยานของท่านตามสะดวกตามอัธยาศัย โดยมอบหมายให้นายอุทยานเป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่หมู่สงฆ์อย่างเต็มที่เต็มกำลัง

 


                      ดังนั้นวนอุทยานของท่านอำมาตย์ จึงงดงามด้วภาพของพระภิกษุสงฆ์ ผู้ประพฤติธรรม ที่มาเจริญสามธิภาวนากันอยู่เนืองๆ มิได้ขาด นายอุทยานผู้ดูแลสวน เป็นผู้มีความชำนาญในพรรณไม้ต่างๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ประดับ ได้จัดสวนตกแต่งกิ่ง รักษาความสะอาดอุทยานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยงดงามหน้ารื่นรม 

 


                 มีอยู่วันหนึ่งนายอุทยานได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ เพื่อเก็บใบไม้ชนิดหนึ่ง และได้ทำการห่อเป็นอย่างดี เพื่อเวลาโยนมากระทบพื้นจะได้ไม่ทำให้ยอดอ่อนของใบไม้ช้ำ พอทำการห่ออย่างดีเรียบร้อยแล้วก็โยนลงมาข้างล่าง แต่บุตรของนายอุทยานก็มาแกะห่อใบไม้ออก แล้วก็คลี่ออกจนกระจัดกระจายเสียหายหมด บุตรได้ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง โดยไม่เกรงใจบิดา จนบิดารู้สึกเหนื่อยใจ ซึ่งภาพเหตุการณ์นั้นได้อยู่ในสายตาของพระภิกษุทั้งหลาย ผู้กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 

 


                     ในเวลาเย็นเมื่อพระภิกษุสงฆ์กลับมายังวัดพระเชตวัน จึงได้นำเรื่องเหตุการณ์อันไม่สมควรที่ได้เห็นนั้น เล่าถวายพระบรมศาสดา พุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรนายอุทยานนี้น่ะ ได้เคยทำความลำบากใจ ให้แก่บิดาเฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนก็ได้ทำความเดือดร้อนใจ ให้แก่นายอุทยานเหมือนกัน 

 


                  แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสเล่าเรื่องในอดีตกาลให้ฟังว่า ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองศิริราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ท่านหนึ่งได้ไปยังวนอุทยาน ด้วยความประสงค์อยากจะได้ใบไม้ชนิดหนึ่ง จึงเข้าไปพบนายอุทยาน และก็ขอให้นายอุทยานช่วยจัดการเป็นธุระให้ นายอุทยานผู้ชำนาญในพรรณไม้ ได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้แล้วก็เด็ดเอาใบไม้ที่ต้องการนั้น ห่อใส่ผ้ามัดไว้เป็นห่ออย่างดี เมื่อห่อแล้วก็โยนลงมาข้างล่างเป็นห่อๆ แต่ได้มีวานรที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ อุทยานนั้น มาแย่งเอาห่อผ้านั้นไป แล้วไปแกะห่อออกจนใบไม้กระจัดกระจายเสียหายหมด   ซึ่งได้สร้างความรำคาญใจให้กับนายอุทยานเป็นอย่างยิ่ง พราหมณ์ผู้มีความประสงค์ใบไม้นั้น เห็นเหตุการณ์การกระทำอันไม่สมควรของวานร จึงกล่าวกลับวานรว่า เจ้าวานรเจ้ามาแย่งเอาห่อใบไม้ไปแก้ออกเสียหมด เจ้านึกหรือว่าเจ้าน่ะเป็นสัตว์ฉลาดที่สามารถห่อใบไม้ได้ดีกว่าเดิม

 


                    วานนอนตัวป่วนก็ตอบกลับไปว่า ตระกูลของเรา พ่อแม่ของเราไม่มีความชำนาญในเรื่องการหอบใบไม้ แต่เราชอบทำลายข้าวของให้เสียหาย เพราะนี่เป็นพฤติกรรมอันเป็นธรรมดาของตระกูลของเรา  พราหมณ์จึงกล่าวติดเตียนว่า สิ่งที่เป็นธรรมดาของเจ้ายังทำให้เราวุ่นวายใจถึงเพียงนี้ แล้วสิ่งที่ไม่ธรรมดาของเจ้าจะทำให้เราเดือดร้อนใจขนาดไหน เราไม่อยากเจอสิ่งที่เป็นธรรมดาและไม่ธรรมดาของเจ้า เจ้าจงไปเสียจากที่นี่แล้วพลางก็ไล่ตะเพิดวานรนั้นไป

 


                     สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า วานนรในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นบุตรของนายอุทยานในครั้งนี้ ครั้นพุทธองค์ตรัสจบแล้วก็ทรงภาษิตว่า เมื่อบัณฑิตหวังสร้างความเจริญอยู่ แต่คนผาลกลับสร้างความเสื่อมเสีย เหมือนบิดาผู้เป็นบัณฑิตเป็นผู้สร้าง แต่ถูกบุตรผู้เป็นพาลรื้อทำลายจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงประกาศอริยสัจ ๔ สืบต่อไป การบรรลุธรรมาภิสมัยได้มีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย และสรรพสัตว์เป็นอันมาก

 

                   เราจะเห็นได้ว่าวิสัยของคนพาลนั้น มักสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้เป็นบัณฑิตเพราะความไม่รู้ว่า สิ่งใดควรหรือว่าไม่ควร จึงทำให้เกิดปัญหาแล้วอุปสรรคต่างๆ มากมายตามมา ซึ่งการกระทำบางอย่าง เมื่อผ่านไปแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ เนื่องจากการงานบางอย่างต้องการผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางจะผิดพลาดไม่ได้เลย 

 


                  แต่ผู้ที่ขาดวินิจฉัยจะมองไม่ออก จึงมองข้ามความจำเป็นและความสำคัญไป และก่อให้เกิดความผิดพลาดใหญ่หลวงขึ้นมาได้ การประเมินตัวเองผิด ไม่ประมาทกำลังและความสามารถของตน เมื่อทำงานประสานร่วมกับผู้อื่น อาจทำให้ภาพรวมของผลงานล้มเหลวได้ เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ให้ดูผลได้ผลเสียและอย่าให้ไปกระทบกระทั่งกับใคร อย่าให้ใครต้องมาลำบากใจหรือเดือดร้อนใจเพราะการกระทำของเรา 

 


                     สิ่งใดที่ทำแล้วดีทั้งเขาดีทั้งเรา เย็นทั้งเขาเย็นทั้งเรา สิ่งนั้นสมควรทำ แต่ถ้าตรงกันข้ามก็อย่าได้ไปทำ ดังนั้นพึงใคร่ควรให้ดีก่อนทำ ก่อนพูด ควรให้ใจใสๆ เพื่อวินิจฉัยจะได้ไม่ผิดพลาด เมื่อใจเราผ่องใส ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะคิดจะพูดหรือจะทำสิ่งใดก็จะเป็นไปในทางมราสร้างสรรค์ ในทางที่เจริญไม่ผิดพลาด กระทั่งเราอบรมใจให้เจริญถึงที่สุด ก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล