Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน กองทุกข์ใหญ่
การทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น เป็นหัวใจของการเกิดมาสร้างบารมี ในแต่ละภพแต่ละชาติ ซึ่งการสร้างบารมีของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย จุดมุ่งหมายสูงสุดก็เพื่อให้ได้เข้าถึงดินแดนอันเป็นบรมสุข หรืออาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้าภายในตัว
ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่ง แล้วก็หยุดในหยุดเรื่อยไป จนถึงที่สุดแห่งธรรม นี่คือจุดหมายปลายทางของเหล่านักสร้างบารมีทั้งหลาย แต่กว่าเราจะเข้าถึงตรงนี้ได้ก็ต้องอาศัยกำลังบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์
อาศัยความเพียรอยางกลั่นกล้า มีขันติธรรมอยู่ภายใน และหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมโดยไม่ขาดเลย แม้แต่เพียงวันเดียว แล้วสักวันหนึ่งเราก็จะสมปรารถนาในการเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน สุสีมชาดก ว่า
เราครุ่นคิดถึงคุณและโทษของรูปนั้นอยู่ จึงนอนคนเดียว เราพิจารณาเห็นโทษของรูปแล้วจึงไม่ยินดีในเรือน เวลานี้เป็นเวลาแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือนนี้แหละเป็นเหมือนเชือกที่คอยเหนี่ยวรั้งไว้ ธีรชนตัด เชือกนี้ได้แล้วไม่อาลัยใยดีจึงละกามสุข แล้วหลีกหนีไปได้
หากเราพิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้วเราจะพบว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นกองทุกข์ขนาดใหญ่ รูปสวยๆงามๆอาจทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรน เล่าร้อน เหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยาก ลำบากนานับปการ
เพราะเบญจกามคุณนั้นอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว ก่อให้เกิดทุกขเวทนามากมายแก่ผู้ที่ไม่ได้กำหนดรู้โทษของมัน
เหมือนปลาที่ไปติดเบ็ดเพราะเห็นแก่เหยื่อเล็กน้อยที่ติดอยู่กับตะขอเบ็ด เมื่อติดเบ็ดแล้วก็มีความทุกข์ทรมานเกิดขึ้น ในที่สุดก็ต้องเสียชีวิตลง ในเรื่องนี้เราต้องใช้ปัญญาเป็นหลัก ใช้สติและโยนิโสมนสิการ
พิจารณาให้แยบคายละเอียดถี่ถ้วน แล้วอาศัยความไม่ประมาทเป็นทานดำเนินไป ชีวิตจึงจะไม่ตกต่ำเมื่อยังต้องเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกามคุณ ก็เกี่ยวข้องด้วยประการที่จะมีทุกข์น้อยที่สุด เพราะเรายังต้องสร้างบารมีอยู่บนโลกมนุษย์ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องข้องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ต้องสำรวมระวังให้ดี
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้มีภิกษุบวชใหม่จำนวนมาก เมื่อนุ่งสบงครองจีวรเรียบร้อยแล้วก็ถือบาตรเข้าไปในพระนครสาวิตถี เนื่องจากเห็นว่ายังเช้าอยู่ จึงพากันไปอารามของพวกปริพาชก แสดงให้เห็นว่าภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธหรือรังเกียจนักบวชต่างศาสนา
ตรงกันข้ามกลับมีสัมพันธไมตรีที่ดีงามต่อทุกศาสนา ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ภิกษุสงฆ์จึงมักไปสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติกันอยู่เป็นประจำ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงเคยโปรดปริพาชกมาแล้วมากมาย ในวันนั้นพวกปริพาชกได้สนทนากับพวกพระภิกษุว่า
“ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกเราก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้และเวทนาได้ แม้พวกเราก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปและเวทนาได้เหมือนกัน ในเรื่องนี้อะไรเป็นข้อวิเศษ เป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทำให้ต่างกันระหว่างพระสมณะโคดมกับพวกเรา เช่นการแสดงธรรมกับการแสดงธรรม อนุสาสนีกับอนุสาสนี”
เนื่องจากภิกษุเหล่านั้นยังเป็นผู้ใหม่ต่อพระธรรมวินัย จึงไม่อาจที่จะโต้ตอบกับปริพาชกเหล่านั้นได้ ได้แต่คิดว่าจะไปฟังคำตอบนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเห็นว่าถึงเวลาบิณฑบาตแล้วก็ไปปฏิบัติสมณะกิจต่อ เมื่อได้เวลาอันควรก็นำเรื่องที่พวกตนได้สนทนากราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงกล่าวว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนกาม ถ่ายถอนรูปและเวทนาทั้งหลาย พวกปริพาชกถูกพวกเธอถามอย่างนี้เขาจักไม่พอใจเลย และจะต้องคับแค้นอย่างยิ่ง เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยที่พวกเขาจะตอบได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดตอบคำถามได้ เว้นไว้แต่ตถาคตหรือสาวกของตถาคต หรือมิเช่นนั้นก็ฟังจากผู้รู้เหล่านี้”
จากนั้นพุทธองค์ก็ทรงตอบคำถามเหล่านี้ไปตามลำดับ
กามทั้งหลายหมายถึง เบญจกามคุณ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ กามเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดสุขและโสมนัสได้ จึงเรียกว่ามีคุณ แต่คุณของกามนั้นเล็กน้อยหรือเกิน กามเหล่านี้เป็นเหตุให้ทำงาน
ผู้ทำงานต้องได้รับทุกข์นานาชนิด เช่นทุกข์จากการตรากตรำทำงานหนัก ทุกข์จากความหนาวร้อนลมแดด จากการถูกรบกวนจากสัตว์ร้าย ทุกข์จากความหิวกระหาย ความทุกข์เหล่านี้ล้วนเกิดจากกามเป็นเหตุทั้งสิ้น
ผู้ทำงานถ้าไม่ได้รับผลหรือค่าตอบแทนก็เป็นทุกข์ แม้ได้รับผลผลิตแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ในการดูแลไม่ให้ถูกภัยต่างๆ มีอัคคีภัย โจรภัยเป็นต้นเบียดเบียน
นอกจากนี้กามทั้งหลายยังเป็นเหตุให้เกิดโทษต่าง ๆ เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในวงการต่าง ๆ เช่น พระราชาทรงทะเลาะกับพระราชา คฤหบดีทะเลาะกับคฤหบดี คนในครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นเหตุให้ประหัตประหารฆ่าฟันกัน
กามทั้งหลายเป็นเหตุให้มีการทำทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเป็นเหตุให้ไปเกิดในทุคติภูมิ การกำจัดฉันทราคะคือ ละขาดจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย
ที่ว่าการสละออกจากกาม ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแห่งรูปทั้งหลาย เป็นคุณของรูป ดังเช่นเมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาว ย่อมมีรูปงามเปล่งปลั่ง ดึงดูดตา ดึงดูดใจของผู้ที่ได้พบเห็น
แต่ต่อมาเมื่อความแก่ชราครอบงำ อายุ ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี ก็กลายเป็นคนแก่ชรามีซี่โครงคด ร่างกายขดงอ ถือไม้เท้าเดินงกๆเงิ่นๆ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ตกกระ จะลุกก็โอยจะนั่งก็โอย ประครองตัวเองแทบไม่ไหว
นี่คือโทษของรูป บางคราวเมื่อป่วยหนัก นอนจมอุจาระ ปัสสาวะ ต้องให้คนอื่นคอยพยังอยุ่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวตายก็กลายเป็นซากศพ ส่งกลิ่นเหม็นเน่ารบกวนคนรอบข้าง ตอนนั้นจะพิจารณาเห็นโทษของรูปได้อย่างชัดเจนว่าไม่น่าดู ไม่น่าชม และน่าอึดอัดใจเพียงไร นี่คือโทษของรูป จะลุกก็โอยจะนั่งก็โอย ประครองตัวเองแทบไม่ไหว
ที่ถามว่าอะไรเป็นคุณของเวทนานั้น เมื่อใดที่จิตสงบ ปราศจากการตรึกเรื่องกาม หรือเรื่องอกุศลต่างๆ เมื่อนั้นย่อมไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น เวลานั้นบุคคลย่อมเสวยเวทนาซึ่งไม่มีความเบียดเบียน
เพราะใจติดอยู่ในสุขเวทนาที่เกิดจากปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน นี่ก็เป็นคุณของเวทนา หรือกล่าวย่อ ๆ คือ คุณของเวทนามีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ดังพุทธพจน์ที่ว่า
อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก
ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก
ส่วนโทษของเวทนานั้น เนื่องจากเวทนาเป็นส่วนที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อเวทนาเป็นสุขหายไป ทุกขเวทนาก็เข้ามาแทนที่ ดังนั้นการจะถ่ายถอนทั้งรูปและเวทนาให้ได้นั้นต้องกำจัดฉันทราคะในรูปและเวทนาเหล่านั้นให้ได้ โดยปฏิบัติตามอริยสัจ ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งประมวลรวมลงในความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ หรือพูดง่ายๆก็คือ ทำสมาธิรักษาใจให้หยุดให้นิ่ง ยิ่งใจหยุดก็ยิ่งบริสุทธิ์เข้าไปเรื่อย ๆ เราจะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของรูปหรือกายต่าง ๆ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ การรูปพรหม กายอรูปพรหม
และเมื่อเข้าถึงกายธรรมเมื่อไรก็จะรู้ว่าธรรมขันธ์เที่ยง แต่เบญขันธ์นั้นมีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และก็เป็นอนัตตา เวทนาของกายก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ส่วนธรรมกายนั้นเป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ที่ไม่มีทุกข์เจือปน แม้เวทนาก็เป็นสุขล้วน ๆ เหมือนกัน