Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตั้งเป้าหมายชีวิต ลิขิตอนาคต
เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ตั้งเป้าหมายชีวิต ลิขิตอนาคต ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ในทางโลกและการศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาความรู้ทางโลก มีเป้าหมายเพื่อให้เรารู้จักวิธีการแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตน ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการศึกษาความรู้ในทางธรรม มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้เข้าถึงความสุขอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในตน
มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
อตฺตา ว เสยฺโย ปรมา ว เสยฺโย ลพฺภา ปิยา โอจิตตฺเตน ปจฺฉา
ตัวเรานั่นแหละดีที่สุด ประเสริฐยอดเยี่ยมที่สุด ฝึกฝนตนเองดีแล้ว จะได้สิ่งที่ตัวรักในภายหลัง"
คนเราเกิดมาต้องมีเป้าหมายชีวิต เพื่อเป็นตัวกำหนดว่า เราจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด จะได้ฝึกฝนตนเองไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การตั้งเป้าหมายไว้ในทางที่ถูกต้อง จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทางพระท่านเรียกว่า "ตั้งตนชอบ"
เป้าหมายนั้นมี ๒ อย่าง คือ เป้าหมายทางโลกกับ เป้าหมายทางธรรม เป้าหมายทางโลกคือการศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพการงาน แต่เป้าหมายทางธรรมนี้สำคัญ เพราะเราเกิดมาภพชาติหนึ่ง จะต้องสั่งสมบุญกุศลไว้เป็นเสบียง หล่อเลี้ยงชีวิตข้ามภพข้ามชาติ ตั้งเป้าหมายในการสร้างบารมีไว้ ฝึกฝนกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ละโลกไปแล้วเราจะได้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี มีโอกาสสร้างความดีได้เต็มที่และสะดวกสบาย ดำเนินชีวิตมุ่งตรงสู่มรรคผลนิพพาน ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าตัวเองยังไม่มีศรัทธา ก็ตั้งตนไว้ในศรัทธา
ถ้าตัวเองเป็นคนตระหนี่ ก็ตั้งเป้าหมายทำทานให้ได้สม่ำเสมอ
ถ้าตัวเองยังไม่มีศีล ก็ตั้งเป้าหมายให้รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ดังเช่นโจรที่กลับตัวกลับใจ ปรับแนวทางชีวิตของตน ให้มุ่งตรงต่อสวรรค์นิพพานได้ทัน ดังเรื่องมีอยู่ว่า *ในยุคสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชาย ๕๐๐ คน หาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำโจรกรรมเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นโจรคอยฆ่า ลักขโมย ปล้นชิงทรัพย์สินของคนอื่น วันหนึ่งหลังจาก ที่พวกเขาปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้านแล้ว ถูกชาวบ้านตามจับตัว จึงพากันหนีเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง เผอิญในป่านั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปถือธุดงควัตรอยู่ พวกโจรเห็นพระก็เข้าไปกราบขอร้องให้ท่านช่วยเป็นที่พึ่งของพวกตนในยามคับขัน
พระเถระรูปนั้นกล่าวว่า "ศีล เป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด เพราะ ผู้ที่รักษาศีลได้สมบูรณ์ย่อมมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองไม่ตกต่ำ ถึงเวลาสิ้นชีวิตก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ พวกท่านจงสมาทานศีล ๕ กันเถิด" พวกโจรก็รับศีลจากพระเถระ เมื่อรับศีลเรียบร้อยแล้ว พระเถระสอนว่า "ตอนนี้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีศีลแล้ว ขอให้รักษาศีลให้ดียิ่งกว่าชีวิต แม้จะต้องตายก็อย่ายอมให้ศีลของตนเองด่างพร้อย
โจรทั้ง ๕๐๐ คน รับปากพระเถระว่าจะรักษาศีลให้ดีที่สุด ขณะนั้นเอง พวกชาวบ้านที่ตามจับโจรมาทัน ได้ฆ่าโจรตายหมด โดยที่พวกโจรไม่ได้ต่อสู้ และไม่มีความโกรธเคืองชาวบ้านเลย เพราะตั้งใจจะรักษาศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ ตามที่พระเถระสอน
พวกเขาตายไปด้วยความปีติ อิ่มใจในศีลที่บริสุทธิ์ของตัวเอง จึงได้ไปบังเกิดในเทวโลก หัวหน้าโจรได้เป็นหัวหน้าเทพบุตร เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติตลอด ๑ พุทธันดร คือ ช่วงเวลานับจากการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ไปจนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลายาวนานมาก
มาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เทพบุตรทั้ง ๕๐๐ องค์ ได้มาเกิดในหมู่บ้านชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี หัวหน้าเทพบุตรได้มาเป็นหัวหน้าชาวประมง พวกเขาจะออกหาปลาด้วยกันเป็นประจำ วันหนึ่งได้ไปทอดแหจับปลาในแม่น้ำอจิรวดี จับปลาใหญ่ได้ตัวหนึ่ง สีเป็นทองคำทั้งตัว ก็ดีใจ ช่วยกันยกปลาใส่เรือแล้วนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลให้เอาปลานั้นไปที่วัดเชตวัน ครั้นไปถึงปรากฏว่า แค่ปลาอ้าปากขึ้นเท่านั้นก็มีกลิ่นเหม็นเหมือนซากศพตลบอบอวลไปทั่วพระเชตวัน
พระราชาจึงทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ปลาใหญ่ตัวนี้ทำกรรมอะไรมา จึงเป็นสีทองทั้งตัว แต่มีกลิ่นปากเหม็นเหลือเกิน" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าว่า ปลาตัวนี้ในอดีตเคยเกิดเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ชื่อ พระกปิละ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีความจำดี เป็นพหูสูต เป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงพระปริยัติ มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์มาก แต่ท่านไม่ได้ปฏิบัติธรรม ครั้นมีลาภสักการะมากเข้า ท่านหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองฉลาด ตัวเองเก่ง มีความรู้ มากกว่าคนอื่น จึงสอนลูกศิษย์ตามใจตัวเอง สิ่งที่ถูกก็ว่าผิด สิ่งที่ผิดก็ว่าถูก อีกทั้งยกตนข่มท่าน หาว่าพระภิกษุรูปอื่นโง่กว่าตัวเองหมด
พระกปิละมีพระพี่ชายเป็นพี่ชายแท้ๆ ของท่าน พระพี่ชายไม่ได้ศึกษาพระปริยัติ แต่ท่านปฏิบัติธรรม เป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ว่าพระน้องชายกำลังหลงทาง ก็ไปตักเตือน แต่พระกปิละไม่ยอมรับฟังพระอรหันต์พี่ชาย กลับบอกว่า "หลวงพี่จะไปรู้อะไร ผมนี่รู้ดีกว่าใคร พระไตรปิฎกทั้งหมดผมก็บอกได้ว่า อะไรอยู่ตรงไหน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร ผมรู้หมด หลวงพี่ สอนตัวหลวงพี่เองเถอะ"
ในที่สุดพระพี่ชายก็ต้องทิ้ง เพราะสอนไม่ได้ เตือนไม่ได้ เมื่อไม่มีใครสอน ท่านก็ยิ่งหลงตัวเองมากขึ้น เที่ยวด่าว่าพระภิกษุรูปอื่นๆ ที่ไม่ทำตามความคิดของตน ลูกศิษย์ของท่านพลอยมีความเห็นผิด และทำผิดๆแบบนั้นไปด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลง ครั้นละโลกจึงได้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ใครที่เชื่อถือท่าน ทำตามท่าน ก็ไปอยู่ในอเวจีมหานรกเหมือนกัน ต้องเสวยวิบากกรรม ทนทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน จนนับไม่ได้ เพราะคิดผิด พูดผิด และก็ทำผิดๆ
ทันทีที่พ้นจากนรก ท่านก็มาเกิดเป็นปลาสีทอง ที่ตัวเป็นสีทองคำเพราะเคยกล่าวพุทธพจน์ สรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน แต่ที่ปากมีกลิ่นเหม็นเหมือนซากศพ เพราะเคยไปด่าพระภิกษุผู้ทรงศีลไว้ ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าจบ จึงถามปลาว่า "มาจากไหน"
ปลาตอบว่า "มาจากอเวจีมหานรก"
พระองค์ถามอีกว่า "แล้วกำลังจะไปไหน"
ปลา ตอบว่า "จะกลับไปอเวจีมหานรกเหมือนเดิม" แล้วเอาศีรษะฟาดเรือตายอยู่ตรงนั้น
ทุกคนที่ได้ฟังธรรมและเห็นเหตุการณ์นั้น ต่างมีความสลดใจ ชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน ได้ทูลขอบวชในบวรพระพุทธศาสนา และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ต่อมาภายหลังต่างได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด
เราจะเห็นว่าโจร ๕๐๐ คน จากเดิมที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำแต่บาปกรรม แต่ภายหลังกลับมาตั้งใจรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ จึงเป็นปัจจัยให้ได้ทำความดีอย่างอื่นเพิ่มขึ้น จนได้บวชและบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า การตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ เป็นมงคลอันสูงสุด เพราะจะทำให้ชีวิตของเราสูงขึ้น เจริญขึ้น
การตั้งตนชอบที่ดีที่สุด คือนำใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ ฝึกหยุดฝึกนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ พระธรรมกายเป็นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ เป็นแหล่งแห่งความสุข เป็นแหล่งแห่งความดีงามทั้งมวล เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้วชีวิตของเราจะปลอดภัย จะมีแต่ความสุข ความสำเร็จ เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านหมั่นปฏิบัติธรรม เอาใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย หยุดนิ่งกันให้ได้ทุกวัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ยโสชสูตร เล่ม ๔๔ หน้า ๓๐๙