ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๕


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๕

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP188_01.jpg

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๕

                ร่างกายที่เราต้องใช้ในการประกอบ ภารกิจการงานทุกวัน มีความจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดด้วยน้ำ อีกทั้งจะให้มีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วยไข้ ทำภารกิจประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องรู้จักวิธีบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จิตใจก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จะได้เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสไม่เศร้าหมอง ใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง จะเป็นใจที่มีพลังพร้อมเสมอ ต่อการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคทุกอย่าง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 


                เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสั่งสอนพุทธบริษัท ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา จะได้มีกำลังใจในการละบาปอกุศลทุกชนิด และทำความดีทุกรูปแบบ ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของใจว่า ใจที่ผ่องใสย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้ และเป็นทางมาแห่งมหากุศล  อันจะนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

 


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพรหมชาลสูตรว่า

ทุลฺลภา สทฺธา สมฺปติ
ความถึงพร้อมศรัทธาหาได้ยาก 

ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา
การบวชก็หาได้ยาก

 


                การจะทำตอนนี้เป็นผู้ที่ถึงพร้อม ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานั้น ต้องมีดวงปัญญามองเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา หรืออย่างน้อยบุคคลนั้นจะต้องเคยทำบุญไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เมื่อได้มาเจอพระพุทธศาสนา จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากสนับสนุนพระภิกษุสามเณร ให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบาย บางท่านมีความศรัทธาอยากเป็นญาติกับพระศาสนา จึงอนุญาตให้บุตรหลานได้บวช ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง 

 


                เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักมีศรัทธาเพียงการให้ทาน รักษาศีลหรือเจริญภาวนาอยู่ที่บ้านเท่านั้น แต่การที่จะให้ออกบวชดำรงชีวิตในเพศสมณะ มีอาหารเพียง ๒ มื้อ มีผ้าครองกายเพียง ๓ ผืน รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่เหมือนกัน สิ่งใดที่ทำได้ยากลำบากสิ่งนั้นก็จะเป็นบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่

 


                โดยเฉพาะการบรรพชานั้น เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากฆราวาส มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย ผู้ที่เข้ามาบรรพชาในพระพุทธศาสนา มีข้อวัตรปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับฆราวาส คือจะต้องแสวงหาธรรมะในการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ซึ่งต้องใช้ความเพียรและความอดทนอย่างยิ่งยวด เพราะกำลังปฏิบัติสวนกระแสโลก ดังนั้นพุทธองค์จึงตรัสว่า การบรรพชาเป็นสิ่งที่หาได้ยาก อีกประการหนึ่งการบรรพชาเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะหากไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่มีการบรรพชาอุปสมบท โอกาสที่จะได้รับ รับรสพระธรรมจึงไม่มี  

 


                เพราะฉะนั้นในยุคสมัยใดที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็จะหาโอกาสบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพื่อสลัดตนออกจากกามด้วยการออกบวชเป็นฤษีเป็นดาบสบำเพ็ญตบะ เหมือนการออกผนวชของพระเตมียราชกุมาร ครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่พระเจ้ากาสิกราช ครั้นทราบว่าพระโอรสไม่ได้ถูกฝังทั้งเป็น แต่เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยพละกำลังทุกอย่าง ก็ทรงปลื้มปีติมาก รีบนำข้าราชบริภารเสด็จไปหาพระโอรส เพื่อเชื้อเชิญให้กลับมาครองราชดังเดิม เมื่อเสด็จไปถึงพระฤษีก็ต้อนรับพระราชบิดา ด้วยการนำเอาใบหมากเม่า ที่นึ่งสุกแล้วออกมาถวาย แล้วทรงเชื้อเชิญให้พระราชาเสวย 

 


                พระราชาทรงปฏิเสธว่า “โยมมีอาหารที่ได้เตรียมพร้อมมาแล้ว อาหารของโยมมีรสโอชา แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงหยิบใบหมากเม่ามากำไว้  ด้วยความเคารพในพระฤษี แล้วตรัสถามว่า พ่อเตมียะ พ่อบริโภคอาหารอย่างนี้หรือ”

 


                พระโพธิสัตว์ตรัสในเชิงให้คติเตือนใจว่า “อย่างนี้แหละมหาบพิตร ใบหมากเม่านี้เป็นอาหารของอาตมา บุคคลอยู่ในที่สงัด มีความสงบใจ แม้จะบริโภคอาหารเช่นไรก็ย่อมมีรสโอชา”

 

                ขณะนั้นพระนางเจ้าจันทาเทวีมีหมู่สนมนางในแวดล้อม ก็ได้เสด็จติดตามมาถึง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสแล้ว ก็ทรงตื้นตันพระทัยจนสุดที่จะพรรณนาได้ จึงทรงคลานเข้าไปจับคู่พระบาทของพระโพธิสัตว์ได้ทรงกราบลง แล้วแลดูพระฤษีผู้เป็นโอรสอยู่ด้วยความรัก แต่ก็ยังมิอาจที่จะกล่าวพระวาจาใดๆ ออกมาได้ จึงได้แต่ทรงพระกันแสงด้วยความปีติอยู่ตรงนั้นเอง

 

                พระราชาทรงสังเกตเห็น พระวรกายของพระเตมียฤษี มีรัศมีผุดผ่องแจ่มใส ก็ยิ่งทรงประหลาดพระราชหฤทัย จึงตรัสถามว่า “น่าอัศจรรย์ใจเหลือเกิน ลูกเสวยเพียงพืชผักและผลไม้ในป่า แต่เหตุไฉนจึงกลับมีผิวพรรณผุดผ่องเช่นนี้”  ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงชี้ชวนให้พระราชเทวีทอดพระเนตรใบหมากเม่า ว่านี่คืออาหารของพระโอรส

 


                พระโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนบนพื้น ซึ่งลาดด้วยใบไม้แต่ผู้เดียว ยินดีในการนอนคนเดียว ผิวพรรณของอาตมาจึงผ่องใส  อนึ่ง อาตมภาพไม่ต้องมีราชองครักษ์คาดดาบคอยเฝ้าระวังภัย แต่ก็มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงภัย ไม่สะดุ้งตกใจ ไม่เศร้าหมอง เพราะต้องห่วงใยในทรัพย์สมบัติ  จึงเป็นเหตุให้มีผิวพรรณผ่องใส 

 


                 อีกประการหนึ่ง อาตมภาพไม่มีความเศร้าโศกถึงอดีต ไม่คาดหวังความสุขในอนาคต แต่ใช้ชีวิตให้เป็นไปในปัจจุบัน ด้วยการรักษาจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ไม่ยึดติดคิดกังวลในเรื่องอันเป็นทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นผิวพรรณของอาตมาจึงผ่องใส  ส่วนคนพาลย่อมมีผิวพรรณซูบซีด เหมือนไม้อ้อที่ถูกตัดทิ้งไว้กลางแดด เพราะมัวเฝ้ารอคอยอนาคต และขณะเดียวกันก็มัวแต่เศร้าโศกรำพันถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ขอถวายพระพร”

 


                พระราชาทรงชื่นชมว่า “ลูก เจ้าช่างกระทำในสิ่งที่ใครๆ กระทำได้ยากยิ่ง แต่เจ้าจงอย่าลืมว่า เจ้าเป็นลูกของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าจะมาอยู่ป่าแต่ผู้เดียวได้อย่างไร”  ว่าแล้วก็ไม่ทรงลังเลพระทัย ได้ทรงเชื้อเชิญพระเตมิยฤษีให้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร เพื่อเสวยราชสมบัติสืบไปว่า “ลูก พ่อขอมอบสิริราชสมบัติอันโอฬาร พร้อมด้วยเสนาสี่เหล่าให้ลูกปกครอง แม้หมู่นางสนมกำนัลผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง ต่างก็พร้อมที่จะบำรุงบำเรอเจ้า ในกาลบัดนี้ลูกก็ยังหนุ่มแน่น มีพละกำลังแข็งแรง 
     


 
                ฉะนั้นลูกก็ควรเป็นที่พึ่งแก่อาณาประชาราษฎร์ อีกทั้งผิวพรรณรูปร่างก็งามสง่าสมส่วน หากลูกปรารถนาจะอภิเษกกับเจ้าหญิงองค์ใด ก็จงเลือกเอาตามใจชอบเถิด พ่อขอรับรองว่าจะหาพระชายามาอภิเษกให้ลูกได้ตามที่ใจปรารถนา  เตมียะ ครั้นลูกได้ครองราชย์ พรั่งพร้อมไปด้วยโอรสและธิดาแล้ว จึงค่อยออกบรรพชาในภายหลังเถิด บัดนี้ลูกยังอยู่ในช่วงปฐมวัย จะมาบวชอยู่ในป่า เพียงลำพังผู้เดียวจะมีประโยชน์อะไรเล่า”

 


                พระเตมียฤษีทรงสดับพระดำรัสของพระราชบิดาแล้ว ก็มิได้หวั่นไวในคำเชื้อเชิญนั้น ยังทรงยืนยันพระประสงค์เดิมอย่างแน่วแน่ ที่จะทรงเพศดาบส เพื่อประพฤติพรตพรหมจรรย์ต่อไป เพราะทรงตระหนักชัดแล้วว่า การประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นทางสว่าง การครองเรือนเปรียบเสมือนถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการณ์ เป็นเครื่องผูกหย่อนๆ  ที่จะต้องอาศัยปัญญาในการพิจารณาไตรตรองอย่างสุขุมรุ่มลึก จึงจะรู้ว่าบุตรธิดาเป็นเหมือนบ่วงคล้องคอ สามีภรรยาเปรียบเสมือนบ่วงคล้องแขน ทรัพย์สมบัติเหมือนบ่วงคล้องเท้า จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไม่สะดวก หาความเป็นอิสระได้ยาก พระฤษีเห็นโทษในการครองเรือนชัดเจน จึงออกบวชเป็นบรรพชิตมาหลายชาติ 

 


                แต่จะทรงปฏิเสธอย่างไร ในเมื่อทุกคนต่างให้ความหวัง อยู่กับพระราชกุมารเพียงพระองค์เดียว ที่จะให้พระองค์ขึ้นครองราชให้ได้ เมื่อเป็นดังนี้พระฤษีจะตรัสอธิบายให้พระประยูรญาติทั้งหลาย เข้าใจได้อย่างไร เอาไว้พรุ่งนี้เราค่อยมารับฟังเหตุผล และมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ของท่านกันต่อนะจ๊ะ


พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล