ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : มหาทานบารมีเพื่อที่สุดแห่งธรรม


ธรรมะเพื่อประชาชน : มหาทานบารมีเพื่อที่สุดแห่งธรรม

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP199_01.jpg

มหาทานบารมีเพื่อที่สุดแห่งธรรม

                        การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะธรรมกายมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกๆ คน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ทั้งนั้น ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

 

DhammaPP199_02.jpg

                        เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ความสุข ความบริสุทธิ์ ความเบิกบานที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงธรรมกายภายในของแต่ละคน จะแผ่ขยายออกไป กลั่นบรรยากาศรอบข้างและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก แล้วในไม่ช้า โลกทั้งโลกก็จะเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง

 

 

DhammaPP199_04.jpg


                        มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในมหาสุทัศนจริยา ความว่า

                     “เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน วันละ ๓ ครั้งว่า ใครปรารถนาอะไร เราจะให้สิ่งนั้น ใครหิวกระหาย ใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาดแคลนผ้าสีต่าง ๆ ก็จงมารับเอาไปนุ่งห่ม ใครต้องการร่มกันแดด ก็จงมารัเอาไป ใครต้องการรองเท้า ก็จงมารับเอาไป ทานนั้นเรามิใช่ตกแต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง หรือในที่ ๑๐๐ แห่ง แต่เราตกแต่งทรัพย์ไว้สำหรับยาจกในที่หลายร้อยแห่ง พวกยาจกจะมาในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนก็ตาม ก็จะได้โภคะตามความปรารถนาพอเต็มมือกลับไป”

 

 

DhammaPP199_05.jpg

                        ชีวิตเราตั้งแต่ถือกำเนิดมา แล้วดำเนินไปจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต ล้วนต้องเกี่ยวพันอยู่กับการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเดินทางข้ามวัฏสงสาร เราจำเป็นที่จะต้องให้ หากให้สิ่งที่ดี ก็จะได้สิ่งที่ดี ให้สิ่งที่เลิศ ผลบุญอันเลิศก็จะบังเกิดขึ้น

 

 

DhammaPP199_06.jpg

                        เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทาง ผลทานที่ทำไปนั้น ไม่สูญหายไปไหน แต่จะคอยเป็นเพื่อนแท้ติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ คอยอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ให้เราเป็นผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และนิพพานสมบัติ พร้อมสรรพกันเลยทีเดียว

 

 

DhammaPP199_07.jpg

                        พระโพธิสัตเจ้าทั้งหลายต่างตระหนักดีถึงอานุภาพของทาน ว่าเป็นอุบายเครื่องเปลื้องตนและสัตว์โลกให้ข้ามพ้นจากภพทั้งสาม จึงมุ่งบำเพ็ญมหาทานบารมีเพื่อให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ และยิ่งไปกว่านั้น อานุภาพแห่งทาน นอกจากจะทำให้พระองค์เต็มเปี่ยมด้วยทรัพย์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว

 

 

DhammaPP199_08.jpg

                        กำลังของทานยังจะแผ่ไปสู่พุทธสาวก สาวิกา ที่จะออกบวชตามมาอีกมากมาย ทำให้เหล่าสาวกไม่ลำบากในเรื่องของการแสวงหาบิณฑบาต เพราะฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีจิตใจกว้างใหญ่เหนือมนุษยชาติทั่วไป และทรงมองเห็นการณ์ไกลของพระองค์นี่แหละ เมื่อมีทรัพย์แล้ว ก็ไม่ตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ ได้มุ่งมั่นที่จะบำเพ็ญทาน ใครมาขออะไร ก็ให้หมด เหมือนดังเรื่องของพระเจ้ามหาสุทัศนโพธิสัตว์ที่นำมาให้ศึกษากันดังต่อไปนี้

 

 

DhammaPP199_09.jpg

                        ย้อนไปในสมัยที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคฤหบดีใหญ่ วันหนึ่งท่านได้เดินทางเข้าไปทำงานในป่า พบพระเถระรูปหนึ่งนั่งอยู่ใต้โคนไม้ในราวป่าแห่งนั้น มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในจริยวัตรของพระเถระ จึงคิดที่จะสร้างบรรณศาลาสักหลังหนึ่งไว้ในป่าเพื่อถวายพระเถระ เมื่อคิดดังนั้นแล้วก็ไม่รอช้า ตัดสินใจลงมือสร้างทันที ไม่นานนักก็สำเร็จเป็นบรรณศาลากลางป่า ที่เหมาะต่อการบำเพ็ญสมณธรรม

 

 

DhammaPP199_10.jpg

                        จากนั้น ท่านจึงนิมนต์พระเถระให้รับบรรณศาลาหลังนั้น แล้วนิมนต์ท่านให้มารับภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำทุกวัน

 

 

DhammaPP199_11.jpg

                        นอกจากนี้ยังได้จัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาประดับบรรณศาลาให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยถวายเสื่อลำแพน เตียง ตั่ง แท่นผิงไฟ ขุดสระโบกขรณีให้ดูร่มรื่น นำทรายมาเกลี่ยทำเป็นทางเดินจงกรมและถวายเครื่องสมณบริขารต่าง ๆ แด่พระเถระมากมาย ดูแลอุปัฏฐากท่านอย่างดี 

 

 

DhammaPP199_12.jpg

                        ฝ่ายพระเถระเมื่อได้รับการบำรุงอย่างดี ก็ไม่ประมาท หมั่นเจริญสมาธิภาวนาไม่ขาด ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

 

 

DhammaPP199_13.jpg

                        หลังจากที่อุบาสกทำบุญกุศลตลอดชีวิตแล้ว เมื่อละโลก ก็ได้ไปเสวยสุขในเทวโลก มีวิมานสว่างไสวกว่าเหล่าเทวดาทั้งปวง เสวยทิพยสมบัติ ที่พรั่งพร้อมด้วยบริวารอยู่อย่างนั้นเป็นเวลายาวนาน

 

 

DhammaPP199_14.jpg

                        จากนั้นท่านก็ได้จุติลงมาเกิดในเมืองกุสาวดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัศนะ ทรงเป็นผู้มีอานุภาพมากพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทุกอย่าง ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ พร้อมทั้งรัตนะ ๗ ประการ

        

 

DhammaPP199_15.jpg

                        แม้พระเจ้ามหาสุทัศนะทรงได้เสวยสิริราชสมบัติเป็นราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่กว่าราชาทั้งปวงและมีฤทธานุภาพมาก ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ประมาท ทรงอาศัยโอกาสนี้บำเพ็ญประโยชน์ที่เอื้อต่อการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณยิ่งๆขึ้นไป ด้วยการสร้างโรงทานจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วชมพูทวีป แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตีกลองป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า “ท่านทั้งหลายจงมารับสิ่งของตามใจชอบจากโรงทานแห่งนี้เถิด”

 

 

DhammaPP199_16.jpg

                        พระบรมศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า 

                           “เมื่อครั้งที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัศนะ เสวยราชสมบัติในนครกุสาวดี ในสมัยนั้นเราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน วันละ ๓ ครั้งว่า ใครปรารถนาอะไร เราจะให้สิ่งนั้น ใครหิวกระหาย ใครต้องการดอกไม้ ต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาดแคลนผ้าสีต่าง ๆ ก็จงมารับไปนุ่งห่ม ใครต้องการร่มกันแดดเพื่อเดินตามถนน ก็จงมารับเอาไป ใครต้องการรองเท้า ก็จงมาสวมเอาไป เราให้ประกาศอย่างนี้ทั้งเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาเย็นทุกวัน เราตกแต่งทรัพย์ไว้ในที่หลายร้อยแห่ง วณิพกจะมาในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ก็ได้โภคะตามความปรารถนากลับไปทุกครั้ง

 

 

DhammaPP199_17.jpg


                  “เราได้ให้มหาทานตราบกระทั่งสิ้นชีวิตไม่เคยให้ทรัพย์ที่ด้อยค่า ไม่เคยมีการกักตุนไว้เปรียบเสมือนคนไข้ที่กระสับกระส่ายต้องการหายจากโรคร้าย แม้หมอจะเรียกร้องทรัพย์เท่าไรก็ยอมให้ได้ เราก็เช่นกัน เมื่อรู้อยู่ว่าการบริจาคทานเป็นอุบายเครื่องเปลื้องตนและสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากภพสาม ให้พ้นจากโลก คือ สังขารทุกข์ทั้งสิ้นได้ จึงบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์โดยไม่มีเศษเหลือ เพื่อยังใจที่บกพร่องให้เต็ม เรามิได้อาลัย มิได้หวงแหน ได้ให้ทานเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล”

 

 

 

DhammaPP199_18.jpg


                        พระเจ้ามหามหาสุทัศนะทรงขวนขวายในการบริจาคทานทุกวัน ในสมัยนั้นชาวชมพูทวีปไม่ต้องทำมาหากิน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกคนรักษาศีล ๕ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่มีการลักขโมย ยินดีในคู่ครองตนเอง มีวาจาสัตย์พูดแต่คำจริง ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาต่างๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่พระราชาพระราชทานให้

 

 

DhammaPP199_19.jpg

                        พระเจ้ามหาสุทัศนะถวายมหาทานอยู่อย่างนี้เป็นเวลานานหลายหมื่นปี มีอยู่วันหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาทที่เกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ ประทับนั่งเหนือราชบัลลังก์ที่ทำด้วยทองคำ ทรงสมาทานศีล ๘ แล้วทำสมาธิเจริญภาวนา ทำลายกามวิตกที่เกิดขึ้น ทำฌาญ อภิญญาให้บังเกิดขึ้น ทรงเจริญพรหมวิหารธรรม ๔ ประการอยู่ด้วยฌาญสมาบัติตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี เมื่อสิ้นอายุไขของพระองค์แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

 

 

DhammaPP199_20.jpg

                        เห็นไหมจ๊ะ ว่าพระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการสั่งสมเลย ท่านทำความดีทุกรูปแบบ ดังนั้นพวกเราเองก็ควรดำเนินตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์ในการก่อน หมั่นเป็นผู้ให้อยู่เสมอ การให้ด้วยใจที่บริสุทธิ์นั้นแม้ทักษิณาทานจะมีไม่มากก็ไม่ต้องกังวล เพราะถ้าทำด้วยจิตที่ผ่องใส ทำเพื่อต้องการสระความตระหนี่ออกจากใจ ผลบุญที่เกิดขึ้นก็ยิ่งใหญ่ไพศาล ทำให้ได้ทั้งโลกียทรัพย์ และอริยทรัพย์ คือได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

 

 

DhammaPP199_21.jpg

                        โดยเฉพาะพวกเราทั้งหลายเป็นนักสร้างบารมีพันธุ์ลื้อวัฏ มุ่งสร้างบารมีตามติดหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ผู้มีมโนปณิธานที่จะลื้อสัตว์ขนสัตว์ ปราบมารประหารกิเลส ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ต้องอาศัยกำลังบุญบารมีของทุกๆ คนมาช่วยกันและต้องทำกันไปเป็นทีม ชนิดที่ไม่มีใครล้ำหน้า ไม่มีใครน้อยหน้า แต่เราจะไปกันพร้อมหน้าจึงจะถึงเป้าหมายได้

 

 

DhammaPP199_22.jpg

                        ดังนั้นให้ลูกๆ ทุกคนสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ ให้ทุกลมหายใจของเราเป็นไปเพื่อการสร้างบารมี ไม่มีข้อแม้ข้ออ้างและเงื่อนไป พร้อมเสมอต่อการสร้างบารมีในทุกรูปแบบ จึงจะสามารถ สร้างบารมีตามติด ท่านไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล