ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : มาตังคบัณฑิต ๓


ธรรมะเพื่อประชาชน : มาตังคบัณฑิต ๓

 

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP202_3_01.jpg

มาตังคบัณฑิต ๓


                        ชีวิตในสังสารวัฏเป็นชีวิตที่วกวน บางทีจากโลกมนุษย์ก็ไปเทวโลก จากเทวโลกก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือจากมนุษย์ก็ลงไปในอบายภูมิ ไปเสวยวิบากกรรมที่ตนเองได้ทำเอาไว้เป็นเวลายาวนาน พอหมดกรรมก็กลับขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ สรุปแล้วก็เดินวนเวียนอยู่ในสุคติภูมิและทุคติภูมินี่แหละ 

 

 

                        การเดินทางไกลนั้นหากเราไม่รู้เป้าหมาย ก็ยากที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนคนที่เดินวกไปวนมาอยู่ที่เดิม เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์น้อมนำใจกลับมาตั้งไว้ในกลางกาย แล้วก็หยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้นการเดินทางที่แท้จริงจึงจะเริ่มขึ้น และเราก็จะพบเส้นทางไปสู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างแท้จริงนะจ๊ะ

 

มีพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปฐมธนสูตร ว่า

ทรัพย์เหล่านี้คือศรัทธา 
ทรัพย์คือศีล 
ทรัพย์คือหิริ 
ทรัพย์คือโอตัปปะ 
ทรัพย์คือสุตะ 
ทรัพย์คือจาคะ และ
ทรัพย์คือปัญญา 

                        ทรัพย์ทั้ง ๗  ประการนี้มีแก่ผู้ใด จะเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ 

 

                       คนเราน่ะถึงแม้จะรูปสวยรวยทรัพย์มียศถาบรรดาศักดิ์มาก ก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่ร่ำรวยอย่างแท้จริง เพราะว่ายังรวยแบบไม่สมบูรณ์ เป็นการรวยเพียงชั่วคราวและผิวเผินภายนอกเท่านั้น เพราะทรัพย์เหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีการเสื่อมสลายและหมดสิ้นไปได้ในที่สุด แต่ทรัพย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ที่หลวงพ่อได้ยกขึ้นมากล่าวเมื่อสักครู่นี้ ถึงบุคคลนั้นจะเป็นคนจน คนยากไร้ทรัพย์สินเงินทองภายนอก แต่ก็สามารถเป็นคนร่ำรวยได้ ด้วยอริยทรัพย์ภายใน อีกทั้งยังเป็นการรวยแบบถาวรอีกด้วย เพราะการรวยด้วยทรัพย์ภายในนี้สามารถนำติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ และเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าใครก็ตามที่ได้อริยทรัพย์ภายในทั้ง ๗ ประการนี้ ปิดประตูอบายภูมิและจะท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น 

 

 

                        มีตัวอย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายเรื่อง ที่เป็นอดีตคนเคยรวยหรือรวยชาตินี้ชาติเดียว แต่ชีวิตหลังความตายต้องเสวยวิบากกรรมในอบายภูมิเป็นเวลายาวนาน เสวยสุขเพียงชาติเดียวแต่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกหลายล้านชาติ ซึ่งมันก็ไม่คุ้มกันเลยนะลูกนะ เพราะฉะนั้น พุทธวิธีในการรวยถาวรหรือรวยข้ามชาติ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เริ่มต้นที่ การมีทรัพย์ภายใน คือศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะและก็ปัญญา  เมื่อทรัพย์ภายในเจริญงอกงามขึ้นมาในใจแล้ว จะนำไปสู่การมีทรัพย์ภายนอกที่มั่งคั่งและก็มั่นคง 

 

 

                        เมื่อธรรมะดำรงค์มั่นอยู่ในใจของใครแล้ว คนๆ นั้นน่ะจะคิด พูด ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล บุญก็จะบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายและก็บุญนี้แหละจะดึงดูดสมบัติภายนอกมา ซึ่งบุญในตัวนี้น่ะ คนพาลหรือโจรไม่สามารถเอาจากเราไปได้ เมื่อทรัพย์ภายในเจริญงอกงามขึ้นมากเพียงไร คำว่าอิ่มคำว่าพอก็เกิดขึ้นในจิตใจ และจะไม่มีความรู้สึกว่าขัดสนเลย

 

 

                        บางครั้งถึงแม้ทรัพย์ภายนอกจะหมดไปแล้ว แต่ทรัพย์ภายในของเราก็ยังคงอยู่และยังสามารถดึงดูดทรัพย์ภายนอก มาให้เราได้อย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น อีกทั้งเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองและผู้อื่นได้อีกด้วย เหมือนบัณฑิตโพธิสัตว์ของเรา ถึงแม้จะขาดแคลนทรัพย์ภายนอกแต่ทรัพย์ภายในนั้นมีอยู่อย่างมากมาย และยังเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย 

 

 

                        ความเดิมจากคราวที่แล้ว หลังจากที่พระโพธิสัตว์ปราบทิฏฐิมานะของนางทิฏฐมังคลิกาได้แล้ว ก็ไม่ได้กระทำการล่วงเกินนางแต่อย่างใดแต่ท่านกลับออกบวชเจริญกรรมฐาน จนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ จากนั้นก็คิดว่าเรามีทรัพย์ภายในแล้ว และบัดนี้แล้วก็สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่นางได้ ท่านจึงทำทีว่ากำลังเที่ยวภิกขาจาร แล้วก็ไปหยุดอยู่ที่ประตูบ้านของนางทิฏฐมังคลิกา 

 

 

                        นางเห็นพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ใกล้ประตู เนื่องจากไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นใคร จึงกล่าวว่า ขอเชิญท่านไปโปรดข้างหน้าเถิด บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ของคนจัณฑาล แม้ว่าพระโพธิสัตว์จะถูกเชิญไปบ้านหลังอื่น แต่ก็ยังยืนอยู่ที่เดิม นางสงสัยว่าทำไมดาบสท่านนี้จึงไม่ไป พอจ้องมองดูใบหน้าชัดๆ ก็จำได้ ด้วยความดีใจที่สามีของนางกลับมา จึงร้องไห้ร้องพร้อมกับร่ำพิไรรำพันว่า ทำไมท่านจึงทำให้ดิฉันต้องเสื่อมจากยศใหญ่ถึงเพียงนี้ ดิฉันต้องขาดที่พึ่ง อยู่อย่างโดดเดี่ยว หมดสิ้นทั้งทรัพย์และบริวาร ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่ดิฉันด้วยเถิด ว่าแล้วก็นิมนท่านเข้าไปนั่งในบ้าน พร้อมกับจัดหาอาหารมาให้ 

 

 

                        พระมหาบุรุษฉันแล้วก็กล่าวกับนางว่า ทิฏฐมังคลิกาเจ้าอย่าโศกเศร้าอย่าคร่ำครวญไปเลย เราสามารถทำการอภิเษกพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยน้ำชำระเท้าของเธอได้ แต่เธอต้องทำตามคำของเราอย่างหนึ่งคือ ให้เธอเข้าไปป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า สามีของข้าไม่ใช่คนจัณฑาล ท่านเป็นท้าวมหาพรหม ด้วยความไม่มั่นใจนางจึงพูดแย้งขึ้นว่า ข้าแต่นายทุกวันนี้ดิฉันย่ำแย่เพราะปากอยู่แล้ว ยังจะให้ดิฉันต้องได้รัโทษจากการพูดโกหกชาวเมืองอีกหรือ

 

 

                        พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนทิฏฐมังคลิกา เมื่อเรายังอยู่ในบ้านหลังนี้ เธอเคยได้ยินเราพูดเหลวไหลหรือพูดเพ้อเจ้อบ้างไหม เราไม่เคยพูดในสิ่งที่ทำไม่ได้ บัดนี้เราบวชแล้วจะพูดเหลวไหลได้อย่าง เราเป็นสัตบุรุษ พูดแต่คำจริง วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำแห่งปัก เจ้าจงป่าวประกาศว่า ในวันอุโบสถล่วงไป ๗ วันนับแต่วันนี้ไป ท้าวมหาพรหมสามีของเราจักทำลายวงพระจันทร์ แล้วมายังบ้านของเรา เมื่อท่านบอกนางเรียบร้อยแล้วก็หันหลังกลับ ไปยังที่พำนักของท่านในป่าตามเดิม

 

 

                        ด้วยความเคารพเชื่อมั่นในความสามารถของพระโพธิสัตว์ นางจึงเข้าไปป่าวประกาศให้ชาวเมืองได้ทราบว่า ท่านทั้งหลายอีก ๗ วันนับจากนี้ไป ท้าวมหาพรหมผู้เป็นสามีของข้า จะทำลายวงพระจันทร์แล้วลงมาเยี่ยมข้าถึงที่บ้าน ขอเชิญพวกท่านมาบูชามหาพรหมเถิด

 

 

                        เมื่อมหาชนฟังแล้วก็หัวเราะเยาะเย้ย แต่นางก็ไม่สะทกสะท้าน นางได้ป่าวประกาศทั้งเช้าทั้งเย็นตามตรอกซอยต่างๆ ทุกวัน จนกระทั่งทั่วเมือง ในวันที่ ๗ ก็ประกาศเหมือนเดิมว่า วันนี้ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จะทำลายวงพระจันทร์มาหาข้า ขอให้ท่านทั้งหลายได้มาบูชาท้าวมหาพรหมเถิด

 

 

                        ชาวเมืองเห็นนางเที่ยวป่าประกาศ ด้วยความอาจหาญร่าเริงไม่สะทกสะท้าน จึงคิดว่า นางทิฏฐมังคลิกานี้น่ะกล้าหาญเกินตัว สิ่งที่นางประกาศออกมานี้เนี่ยอาจจะเป็นจริงก็ได้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น จึงชักชวนกันไปที่บ้านของนาง ช่วยกันทำความสะอาดบ้านของนาง ทำพื้นที่ให้เขียวชะอุ่ม ตกแต่งสถานที่เตรียมการต้อนรับท้าวมหาพรหม ด้วยความใจจดใจจ่อ 

 

 

                        พอดวงอาทิตย์อัสดงดวงจันทร์ก็มาแทนที่ มหาบุรุษซึ่งนั่งทำสมาธิอยู่ในป่าตามลำพังก็เข้าฌาน ทำอภิญญาจิตให้เกิดขึ้น ได้เนรมิตอัตภาพเป็นท้าวมหาพรหมสูงประมาณ ๑๒ โยชน์ เหาะเข้าไปภายในจันทวิมาน ทำลายวงพระจันทร์และอธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเราและก็ออกมาจากพระจันทร์ มหาชลเห็นแล้วก็กล่าวว่า คำของนางทิฏฐมังคลิกาน่ะเป็นจริงแล้ว ท้าวมหาพรหมเสด็จมาจริงๆ พวกเรามาบูชาท่านเถิด ว่าแล้วก็ถือของหอมและพวงดอกไม้ มายืนล้อมบ้านของนางไว้

 

 

                        มหาบุรุเหาะวนไปรอบๆ กรุงพาราณสี ๗ รอบ จากนั้นก็กลับอัตภาพเป็นดาบสตามเดิม แล้วเดินเข้าไปหานางทิฏฐมังคลิกา ซึ่งนั่งรออยู่ในบ้าน พระมหาบุรุษถามไถ่นางว่า นางมีฤดูหรือยัง เมื่อทราบว่านางกำลังมีฤดู ก็บอกว่าเจ้าจงรับบุตรที่เราให้ไว้เถิด ว่าแล้วก็แตะบริเวณท้องด้วยปลายนิ้วมือ ด้วยการแตะสัมผัสที่ท้องเท่านั้น นางก็ตั้งครรถ์ ส่วนว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะต้องมาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ

 

 

                        สำหรับวันนี้ให้ตั้งใจ เจริญสมาธิภาวนากันให้ดี เพราะผู้มีสมาธิสมบูรณ์ ด้วยวิชชาและจารณเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ในชีวิต และควรแก่การเคารพสักการะบูชา ฉะนั้นน่ะให้ขยันนั่งสมาธิกันทุกๆ คนนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล