รู้จักประเมินผล

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2558

รู้จักประเมินผล


            อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการแสดงธรรม พระภิกษุต้องไม่ลืมที่จะประเมินผลการแสดงธรรมของตนด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้ตรวจสอบถึงข้อดี และข้อบกพร่องที่มี เพื่อจะได้แก้ไข ปรับปรุงตัวเองได้ทัน อันจะเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการแสดงธรรมของตนเองไปด้วย โดยการประเมินนั้น อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะดังนี้

 

ประเมินตัวเอง
            แม้พระภิกษุจะสามารถแสดงธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นที่ถูกอกถูกใจเหล่าผู้ฟังสามารถแนะนำธรรมะสอนธรรมะได้มากมายเพียงใดก็ตามสิ่งสำคัญที่พระภิกษุไม่ควรละเลย คือ การรู้จักสอนและแก้ไขตัวเองควบคู่ไปด้วยสำหรับแนวทางการประเมินตัวเองนั้น อาจอาศัยจาก 2 แนวทาง คือ
1) องค์แห่งธรรมกถึก ใช้เพื่อตรวจสอบใจตัวเอง ตรวจสอบเนื้อหาธรรมะที่ตนแสดง ทั้งก่อนและภายหลังการแสดงธรรม หากเห็นข้อใดที่ตัวเองบกพร่อง ก็ต้องปรับปรุง และระมัดระวังต่อไป โดยประเมินได้จากธรรมทั้ง 5 ประการ คือ
1. จักแสดงธรรมไปโดยลำดับ
2. จักแสดงอย่างมีเหตุผล
3. จักแสดงธรรม เพราะอาศัยความเมตตาเอ็นดู มิได้มุ่งร้ายหรือมีวัตถุประ งค์อื่น
4. จักแสดงธรรม มิได้หวังในอามิ
5. จักไม่แสดงธรรมกระทบตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน

2) การแสดงธรรมที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ รู้จักลักษณะการแสดงธรรมของตนเองว่า บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพียงใด หากบกพร่อง ก็จะได้สำรวมระวังและแก้ไขตัวเองให้ทำได้อย่างถูกต้อง โดยอาศัยหลักที่พระองค์ให้ไว้ดังนี้


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ ย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นว่า โอหนอชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใสซึ่งธรรม ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น จะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเราภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล ไม่บริสุทธิ์ส่วนภิกษุใดแล เป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ แสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเองไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน
โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น อาศัยความที่แห่งพระธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นอาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ด้วยประการฉะนี้ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล บริสุทธิ์"

             หมายความว่า เมื่อแสดงธรรมแล้ว หากใจของพระภิกษุรูปนั้นคิดว่า ธรรมะที่ตนแสดงนั้นเป็นธรรมะของตัวเอง เป็นคำพูดของตน อยากให้คนที่ได้ฟังธรรมมาเคารพเลื่อมใสตน ชื่อว่า การแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์
แต่หากคิดว่า ธรรมะนี้เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อแสดงธรรมก็มีความปรารถนาในใจอยากให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติตามอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสแนะนำ จนเกิดผลดีกับคนฟังเอง ชื่อว่า การแสดงธรรมบริสุทธิ์

 

 อาศัยการประเมินผลจากผู้ฟัง มี 2 ลักษณะ คือ
1) เป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านทางแบบสอบถามที่กล่าวถึงผู้แสดงธรรม เช่น ถามถึงท่าทาง การวางตัวขณะแสดงธรรมว่าเป็นอย่างไรสาระหรือธรรมะที่นำมาแสดงนั้นสามารถอธิบายจนผู้ฟังเข้าใจได้หรือไม่ ใช้เวลานานเกินไปหรือไม่ เป็นต้น ทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อไปอีกได้ ทั้งเพื่อนำมาประเมิน ทั้งเพื่อนำมาปรับปรุงตัวให้การแสดงธรรมมีประสิทธิภาพดีขึ้น
2) ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านทางการได้ยิน ได้ฟัง ทั้งการติในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งการชมในสิ่งที่เหมาะสม แบบปากต่อปาก เช่น พระรูปนั้นเทศน์ดี ไม่เคยได้ฟังธรรมะแบบนี้มาก่อน หรือรูปโน้นกิริยาดูไม่เรียบร้อยเลย นั่งสั่นขา เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงตัวเองได้เช่นกันแต่หากไม่ได้จดจำ หรือไม่มีเวลาได้ทบทวน หรือประเมินตัวเองบ่อยนัก ก็อาจใช้ประโยชน์ได้น้อย เนื่องจากไม่ได้เก็บข้อมูลไว้เป็นเอกสาร อีกทั้งมีโอกาสที่ผลการประเมินนั้นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่อยากทราบ เช่น คนฟังติชมแต่เรื่องวิธีการในการแสดงธรรม แต่ไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาสาระของธรรมะที่ได้แสดงฟังไป ผู้แสดงธรรมจึงอาจได้รับผลประเมินเพียงบางด้านเท่านั้น

 

 ประเมินผู้ฟัง
พระภิกษุมีความจำเป็นต้องรู้จักประเมินผู้ฟัง เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1) เพื่อวัดความเข้าใจของผู้ฟัง ในธรรมะที่ตนแสดงไป ว่ารู้ เข้าใจหรือไม่ เพียงใด หากยังเข้าใจไม่ครบถ้วน หรือมีข้อสงสัย ก็จะได้อธิบายจนเกิดความเข้าใจ ซึ่งอาจประเมินผู้ฟังได้จากวิธีนี้ คือ
1. จากการสนทนา การตั้งคำถาม การฟังคำตอบจากผู้ฟัง
2.สังเกตจากกิริยา ท่าทาง ความสนใจของผู้ฟัง
3. ใช้แบบสอบถาม ใช้แบบทดสอบความเข้าใจ เป็นต้น


2) เพื่อพัฒนาผู้ฟัง จากปุคคลปโรปรัญญูที่แบ่งประเภทผู้ฟังไว้ 7 ประเภท นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการดูคนเป็นแล้ว ยังจะเป็นข้อมูลมาพัฒนาผู้ฟังให้มีความรู้และคุณธรรมในใจมากขึ้นไปตามลำดับ เช่น เมื่อรู้ว่า ผู้ฟังเป็นประเภทไม่อยากเห็นพระ (1) นอกจากจะแสดงธรรมให้เหมาะสมกับผู้ฟังแล้ว ต้องคิดพัฒนาผู้ฟังด้วย คือ พัฒนาจากประเภทไม่อยากเห็นพระ (1) ให้กลายเป็นอยากเห็นพระ (2) จากอยากเห็นพระ(2)ต้องพัฒนาจนทำให้เป็นประเภทอยากฟังธรรม (3) พัฒนาผู้ฟังในรูปแบบนี้ไปจนถึงที่สุด คือ ผู้ฟังประเภทที่ปฏิบัติธรรม เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่น (7)

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012329697608948 Mins