มีอาชีพบริสุทธิ์

วันที่ 11 พย. พ.ศ.2558

มีอาชีพบริสุทธิ์


       การมีอาชีพบริสุทธิ์ของพระภิกษุนั้น มีคำศัพท์โดยเฉพาะว่า "อาชีวปาริสุทธิศีล" ศัพท์เฉพาะคำนี้ แยกพิจารณาได้ 3 คำ คือ
คำที่ 1 "อาชีว" คือ อาชีพ หมายถึง พฤติการณ์ที่คนเราได้อาศัยเลี้ยงชีวิต
คำที่ 2 "ปาริสุทธิ" คือ บริสุทธิ์ หมายถึง ความสะอาดหมดจดจากกิเลส อันชั่วช้า ปราศจากการประพฤติทุศีล
คำที่ 3 "ศีล" คือ ภาวะปรกติ


        ดังนั้น "อาชีวปาริสุทธิศีล" จึงหมายถึง "ภาวะปรกติในการเลี้ยงชีวิตอย่างสะอาดหมดจดปราศจากการประพฤติทุศีล"
        เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุประกอบอาชีพใดๆ แบบฆราวาสพระภิกษุจึงต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัย 4 คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)และคิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค) ซึ่งได้รับมาจากทายกทายิกาพระภิกษุที่เลี้ยงชีวิตอย่างสะอาดหมดจด ปราศจากการประพฤติทุศีล ย่อมพอใจปัจจัย 4 ตามมีตามได้ จัดว่าเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ในทำนองกลับกันพระภิกษุที่มุ่งแสวงหาปัจจัย 4 มาปรนเปรอตนเองด้วยกลวิธีทุศีลต่างๆ จัดว่าประพฤติมิจฉาอาชีวะ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์

 

ลักษณะอาชีพไม่บริสุทธิ์
            เพื่อให้เข้าใจอาชีวปาริสุทธิศีลชัดเจน จึงควรกล่าวถึงลักษณะอาชีพไม่บริสุทธิ์ของพระภิกษุเสียก่อน
ลักษณะที่ถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะหรืออาชีววิบัติของพระภิกษุนั้น อยู่ที่การแสวงหามาด้วยการล่อหลอก และการละเมิดสิกขาบท ซึ่งมีผลให้สิ่งของที่ได้รับมาไม่บริสุทธิ์ เป็นของไม่ควรบริโภคการแสวงหาด้วยการล่อหลอกนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงรายละเอียดไว้มากมาย พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งเป็นหัวข้อไว้ดังนี้


1. กุหนา (อ่านว่า กุหะนา) หมายถึง การหลอกลวง มีอุทาหรณ์แสดงไว้ 3 พวก คือ

พวกแรก พระภิกษุเสแสร้งแสดงให้ทายกเข้าใจว่า ตนเป็นผู้สันโดษ มักน้อย ไม่ปรารถนาจะรับสิ่งของใดๆ เพื่อทำให้ทายกนึกนิยมสรรเสริญตนและคิดว่า ถ้าจะหาเครื่องไทยธรรมมาถวายพระภิกษุรูปนี้ก็จะได้บุญมาก ครั้นเมื่อทายกนำสิ่งของมาถวาย ก็จะเสแสร้งกล่าวว่า ความจริงตนไม่ปรารถนา จะรับสิ่งเหล่านั้นเลย แต่เพื่อจะอนุเคราะห์ทายกนั้น ตนก็ยินดีจะรับ การแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ก็เพื่อลวงให้ทายกรู้สึกนิยมชมชอบตน แล้วชักชวนกันหาสิ่งของดีๆ มาถวายอีกเพราะคิดว่าคงจะได้บุญมาก

พวกที่สอง ชอบพูดเป็นเลศนัย โดยมีเจตนาที่จะทำให้หลงเข้าใจผิดว่า ตนได้บรรลุฌานขั้นสูงหรือเป็นพระอริยบุคคล บรรลุโลกุตตรธรรม โดยการกล่าวถึงบุคลิกลักษณะของสมณะที่บรรลุโลกุตตรธรรมบ้าง กล่าวถึงคุณวิเศษของสมณะบางรูปที่ตนรู้จักคุ้นเคยบ้าง การกล่าวถึงเรื่องราวในทำนองนี้บ่อยๆก็จะทำให้มหาชนหลงเข้าใจว่า พระภิกษุรูปนั้นบรรลุคุณวิเศษ เป็นพระอริยบุคคลแล้ว จึงชักชวนกันมาถวายบิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัยต่างๆ มากมาย

พวกที่สาม ชอบแสร้งทำตนให้ทายกเลื่อมใสด้วยอิริยาบถที่แสดงว่าตนเป็นพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย ทายกจึงพากันน้อมนำสักการะมาถวายมากมาย

 

2. ลปนา หมายถึง พูดพิรี้พิไร ได้แก่ การพูดประจบเลียบเคียงต่างๆ นานา โดยมีเจตนาจะได้ปัจจัยไทยธรรมจากทายก พระอรรถกถาจารย์ได้ยกอุทาหรณ์ไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่า เมื่อพระภิกษุเห็นทายกเข้ามาสู่วิหาร ก็รีบชิงทักถามขึ้นก่อนว่า ทายกต้องการนิมนต์ภิกษุหรือ ถ้ามีความประสงค์เช่นนั้นอาตมาก็จะเป็นธุระพาภิกษุตามไปทีหลังอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีทายกมาสู่วิหาร แล้วสนทนาซักถามด้วยเรื่องต่างๆ พระภิกษุก็พยายาม
ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของตนเองว่า มีพระราชาหรือข้าราชบริพารระดับสูง ชื่อนั้นชื่อนี้มีความเลื่อมใสตนหรือพูดยกตนเองว่า มีสกุลใด กุลหนึ่งที่มีอันจะกิน คอยถวายลาภสักการะให้ตนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เคยถวายลาภสักการะพระภิกษุรูปอื่นเลยพระภิกษุบางรูปก็พยายามทำตนให้เป็นที่รักของเหล่าทานบดี โดยการประพฤติถ่อมตัวทั้งทางกายและทางวาจา หรือบางรูปก็อาจจะแสดงการประจบทานบดี โดยการเข้าไปอุ้มทารก ซึ่งเป็นบุตรหลานของทานบดีบ้าง ให้ทารกขี่คอเล่นบ้าง ทำประหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงหรือแม่ของทารกนั้นพระภิกษุบางรูปก็พยายามพูดเอาอกเอาใจยกยอคฤหบดีต่างๆ นานา ด้วยเกรงว่าคฤหบดีที่น้อมนำลาภสักการะมาสู่ตนนั้นจะเหินห่างไปเสีย พระภิกษุบางรูปก็พยายามพูดเกี้ยวทานบดี ให้ถวายทานใหม่อีก โดยการพูดสรรเสริญการถวายทานของเขาในครั้งก่อน (ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกล่าวยกใจ เพื่อให้ทายกทายิกาได้ระลึกถึงบุญ และมีใจปีติเบิกบานในบุญกุศล)พระภิกษุบางรูป เมื่อเห็นอุบาสกถืออ้อย (หรือของขบฉันอื่นๆ) มาก็แสร้งพูดว่า อ้อยนั้นคงจะอร่อยกระมัง ครั้นเมื่ออุบาสกตอบว่า ต้องลองฉันดูจึงจะรู้ พระภิกษุจึงพูดใหม่ว่า ถ้าตนจะบอกให้อุบาสกถวายอ้อยให้ก็จะไม่เหมาะไม่ใช่หรือ ครั้นแล้วอุบาสกก็อาจจะถวายอ้อยให้ เพราะเข้าใจว่าพระภิกษุรูปนั้นอยากฉันอ้อยการพูดเช่นนี้ของพระภิกษุจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ล้วนจัดเป็นเรื่องของการพูดพิรี้พิไรทั้งสิ้นจะเห็นว่าพฤติกรรมของพระภิกษุที่จัดเป็น "ลปนา" คือ พูดพิรี้พิไรนั้น มีตั้งแต่การพูดจาตี นิทหรือดักคอทานบดี การพูดประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของตนกับทานบดี การพูดเอาอกเอาใจ พูดเกี้ยว พูดยกตนหรือพูดถ่อมตนกับทานบดี จนถึงประพฤติถ่อมตนเข้าไปรับใช้ทานบดี เจตนาของพระภิกษุเหล่านี้มีอยู่เหมือนๆ กัน คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ

 

3. เนมิตติกตา หมายถึง พูดหว่านล้อม ได้แก่การกระทำหรือการพูดอ้อมค้อม เพื่อล่อใจให้ทายกถวายของ เพราะจะขอกันตรงๆ ก็รู้สึกเก้อเขิน และเป็นอาบัติ พระภิกษุจึงแสดงนิมิต คือ พฤติกรรมให้ทายกรู้ด้วยการพูดเป็นนัยว่าตนต้องการอะไร หรืออยากฉันอะไร แม้ทายกจะรู้เท่าทัน แกล้งปฏิเสธหรือหลบหน้าไปเสีย พระภิกษุก็ยังไม่สิ้นความพยายาม ในที่สุดทายกอดรนทนไม่ได้ ก็จำใจถวายสิ่งของนั้นๆ ให้

 

4. นิปเปสิกตา หมายถึง พูดท้าทายถากถางให้เจ็บใจ หรือพูดเป็นเชิงบีบบังคับ เป็นคำพูดที่ฉลาดของพระภิกษุ เพื่อปรามา หรือหมิ่นน้ำใจทายก โดยมีเจตนาให้ทายกถวายลาภสักการะแก่ตน เช่นกล่าวว่าสกุลนี้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสในการทำทาน ทายกทนฟังไม่ได้ก็ถวายสิ่งของให้โดยไม่เต็มใจหรือเมื่อไปบ้านหนึ่งก็พูดจาไพเราะกับเขา ครั้นไปอีกบ้านหนึ่งก็เอาไปนินทาให้คนในบ้านใหม่ฟัง พร้อมทั้งพูดจายกย่องผู้ที่กำลังฟังอยู่ด้วย แม้ผู้ฟังจะรู้สึกไม่พอใจ ก็จำต้องถวายลาภสักการะให้ เพราะไม่อยากถูกนินทาหรือเพราะรำคาญก็เป็นได้นิปเปสิกตานี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า หมายถึง การด่าด้วยวัตถุสำหรับด่า 10 อย่าง คือพูดข่ม พูดใส่ร้าย พูดขับเขา พูดไล่เขา พูดหยันเขา พูดเย้ยเขา พูดเหยียดเขา พูดหยามเขา พูดโพนทะนาและต่อหน้าพูดหวาน ลับหลังตั้งนินทา

 

5. นิชิคึสนตา หมายถึง การแสวงหากำไร เป็นการต่อลาภด้วยลาภของพระภิกษุบางรูป เช่น พระภิกษุได้รับสิ่งของจากทายกผู้หนึ่ง ตนรู้สึกว่ายังไม่พอใจนัก จึงนำสิ่งของนั้นไปให้ผู้อื่น โดยหวังว่าตนจะได้รับของสิ่งใหม่ซึ่งดีกว่าของเดิมเป็นการทดแทน ครั้นเมื่อได้ของสิ่งใหม่มา ก็นำไปให้ผู้อื่นอีกเพื่อแลกกับของสิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือแพงกว่า ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะได้ของที่ตนพอใจที่สุด

 

            วิธีการหาเลี้ยงชีวิตด้วยเล่ห์เพทุบายของพระภิกษุ ดังได้กล่าวมาทั้ง 5 ประการนี้ ซึ่งอาจมีรายละเอียดพิสดารมากกว่าอุทาหรณ์ที่ยกมา ล้วนถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะของพระภิกษุทั้งสิ้น พระภิกษุรูปใดที่หาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการเหล่านี้ แม้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งก็จัดว่า มีอาชีพไม่บริสุทธิ์นอกจากการเลี้ยงชีพด้วยการล่อหลอกทั้ง 5 ประการดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องการเลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชา อันเป็นการละเมิดสิกขาบท ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อ "ถึงพร้อมด้วยศีล"ชื่ออาบัติเกี่ยวกับอาชีพไม่บริสุทธิ์

 

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับเรื่องมิจฉาอาชีวะไว้ 6 ข้อ พร้อมทั้งระบุชื่ออาบัติเพราะละเมิดสิกขาบทเหล่านั้นไว้ ดังนี้
1) พระภิกษุอวดอุตริมนุ ธรรมที่ไม่มีในตน เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาราชิก
2) พระภิกษุชัก สื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติสังฆาทิเ
3) พระภิกษุพูดเป็นเลศนัยกับทายกทายิกาผู้สร้างกุฏิถวายว่า พระภิกษุผู้อยู่ในวิหารของทายกทายิกานั้นเป็นพระอรหันต์ การที่กล่าวยืนยันเช่นนั้น เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
4) พระภิกษุที่มิได้อาพาธ ขออาหารอันประณีตมาฉันเอง เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
5) ภิกษุณีที่มิได้อาพาธ ขออาหารอันประณีตมาฉันเอง เพราะเห็นแก่อาชีวะ ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
6) พระภิกษุโดยทั่วไปเอ่ยปากขออาหารจากทายกทายิกามาฉันเอง ต้องอาบัติทุกกฎการขอดังกล่าวแล้วนี้ จะเห็นว่า แม้พระภิกษุยังมิได้บริโภคก็เป็นอาบัติ คือ การละเมิดปาฏิโมกขสังวรศีล หากบริโภคแล้วย่อมเป็นการละเมิดอาชีวปาริสุทธิศีล ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติ เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุประพฤติมิจฉาอาชีวะ ถ้าพระภิกษุสามารถปฏิบัติตนตามได้อย่างเคร่งครัด ก็ย่อมจะมีการบริโภคที่บริสุทธิ์สะอาด และมีอาจาระที่น่ายกย่องบูชาเป็นอย่างยิ่ง

 

ลักษณะอาชีพที่บริสุทธิ์
           พระภิกษุที่งดเว้นจากมิจฉาอาชีวะทุกประการดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีอาชีวปาริสุทธิศีล หรือมีอาชีพบริสุทธิ์ หรือมีกาย วาจาบริสุทธิ์ การที่พระภิกษุจะบำเพ็ญอาชีวปาริสุทธิศีลได้เต็มที่นั้น ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเองเป็นสำคัญ หากความเพียรย่อหย่อนเสียแล้ว พระภิกษุก็จะหันไปแสวงหาปัจจัยในทางไม่ มควร ความเพียรเท่านั้นที่เอื้ออำนวยให้ปัจจัยอันบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่พระภิกษุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์นั้นมีอยู่หลายทาง เช่น ปัจจัยที่ฆราวา ถวายเพราะมีความเลื่อมใสศรัทธาในคุณของพระภิกษุ เช่น ศรัทธาในการแสดงธรรม เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยที่เกิดขึ้นจากการบิณฑบาตก็ถือว่าบริสุทธิ์อย่างยิ่งส่วนพระภิกษุผู้รักษาธุดงค์นั้น ปัจจัยอาจเกิดขึ้นจากการเที่ยวบิณฑบาต หรือเกิดจากผู้เลื่อมใสศรัทธาในธุดงค์คุณของพระภิกษุนั้นนำมาถวายก็ได้


          จากที่กล่าวมาแล้วนี้จะเห็นว่า ข้อบัญญัติเกี่ยวกับอาชีพบริสุทธิ์นั้น จะช่วยให้พระภิกษุมีกายและวาจาบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม อาชีพบริสุทธิ์เป็นเพียงเรื่องของวิธีการแสวงหาปัจจัย 4 เท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติวิธีบริโภคที่ดีเพิ่มเติมอีก เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ศีลที่เรียกว่า "ปัจจัยสันนิสิตศีล" หรือ "ปัจจเวกขณศีล"

 

ปัจจัยสันนิสิตศีล
            โดยเหตุที่เป้าหมายสำคัญของการบวช คือ การหลีกออกจากกาม ดังนั้น เมื่อพระภิกษุสามารถปฏิบัติตนให้สมบูรณ์ด้วยอาชีวปาริสุทธิศีลแล้ว ก็จำเป็นจะต้องรู้จักบริโภคปัจจัยที่ได้มาอย่างฉลาดอีกด้วยทั้งนี้เพื่อยกตนให้พ้นจากการเป็นทาสของกามได้อย่างแท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสอนการบริโภคปัจจัย 4 หรือปัจจัยสันนิสิตศีลให้กับพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย 4 อย่างแยบคายดังนี้


1. วัตถุประสงค์ในการใช้จีวร คำว่า "จีวร" หมายรวมถึงผ้าทุกชิ้นที่ภิกษุใช้นุ่งและห่ม การใช้จีวร ก็เพียงเพื่อบำบัด ความหนาว อันจะเป็นเหตุให้เกิดอาพาธประการหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลง และสัตว์ร้ายทำอันตรายประการหนึ่ง และเพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าอายอีกประการหนึ่ง

2. วัตถุประสงค์ในการบริโภคบิณฑบาต คำว่า "บิณฑบาต" หมายถึง "อาหาร" ของพระภิกษุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสอนให้พระภิกษุพิจารณาการบริโภคอาหารอย่างแยบคาย เพื่อละอุปนิสัยที่ไม่ดี และเพื่อป้องกันมิให้กิเลส เฟื่องฟูขึ้นในใจ โดยตรัสแสดงไว้เป็น 4 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 ต้องไม่บริโภคเพื่อจะเล่น หมายความว่า ไม่มุ่งการบริโภคให้มีเรี่ยวแรงไปเล่นคะนองเหมือนเด็กๆ และไม่มุ่งเอากำลังมากอย่างลูกผู้ชาย ดังเช่นพวกนักมวย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ละอุปนิสัยแห่งโมหะและโทสะ คือ ความงมงายและความขึ้งเคียดเสีย


แนวทางที่ 2 ต้องไม่บริโภคเพื่อจะมัวเมา หรือติดในรสอาหาร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ละอุปนิสัยแห่งโลภะหรือความติดใจในกามคุณเสียอันที่จริงจุดมุ่งหมายที่แยบคายของทั้ง 2 แนวทางแรกนี้ ก็เพื่อป้องกันอาสวะ อันจะบังเกิดขึ้นในตนนั่นเอง


แนวทางที่ 3 การบริโภคนั้นไม่ต้องการจะประดับ หมายความว่า ไม่มุ่งความอวบอัดอ้วนพีแห่งอวัยวะต่างๆ ดังเช่นหญิงแพศยาเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อละอุปนิสัยแห่งความกำหนัดเสีย

 

แนวทางที่ 4 การบริโภคนั้นไม่ต้องการจะตกแต่ง หมายความว่า ไม่มุ่งจะให้ผิวงาม ดังเช่นตัวละคร เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อละอุปนิสัยกำหนัด ราคะ เช่นกันจะเห็นได้ว่า จุดมุ่งหมายที่แยบคายของ 2 แนวทางหลังนี้ ก็เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดขึ้นในตนรวมทั้งผู้อื่นด้วย


          เมื่อตรัสอนในเชิงให้ละและป้องกันกิเลสแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงสอนถึงวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องในการบริโภค กล่าวคือ ให้พิจารณาว่าพระภิกษุบริโภคอาหาร ก็เพื่อยังชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป และเพื่อระงับความหิว แล้วอาศัยกำลังกาย อันเกิดจากการบริโภคนั้น ศึกษาไตรสิกขา คือ ศีลสมาธิ ปัญญาประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยบริบูรณ์บริสุทธิ์ เพื่อความหลุดพ้นของตนเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งที่ระลึกของสัตว์โลกทั้งหลาย ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ด้วยความเมตตากรุณาและสันติสุขส่วนการบริโภคที่เป็นโทษ นอกจากจะหมายถึงการบริโภคอาหารที่ได้มาจากการแสวงหาโดยอาชีพไม่บริสุทธิ์ดังได้กล่าวไว้แล้ว ยังหมายรวมถึงการบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ คือ ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ และการบริโภคมากเกินพอ ซึ่งมีโทษมากมาย เช่น ทำให้เกิดความกระสันความอืดอาด ความง่วงเหงาหาวนอน อันเป็นเหตุแห่งความเกียจคร้าน เป็นต้นส่วนการบริโภคพอประมาณนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอนว่า ควรบริโภคหย่อน 4-5 คำ แล้วดื่มน้ำตามไป ก็จะรู้สึกอิ่มพอดี ไม่ทำให้ท้องพร่อง และไม่ทำให้แน่นท้องจนรู้สึกอึดอัด

 

3. วัตถุประสงค์ในการใช้เสนาสนะ คำว่า "เสนาสนะ" ประกอบด้วย คำว่า "เสนะ" คือ ที่นอนกับ "อาสนะ" คือ ที่นั่ง เมื่อรวมกันเป็น "เสนาสนะ" หมายถึง ที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ วิหาร และเครื่องใช้เกี่ยวกับสถานที่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งโคนไม้ เมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็เรียกว่า "เสนาสนะ"วัตถุประสงค์โดยตรงของการใช้เสนาสนะ ก็เพียงเพื่อบำบัดความร้อน หนาว และเพื่ออยู่ตามลำพังอย่างสงบ นอกจากนี้ก็เพื่อบรรเทาอันตราย 2 อย่าง คือ อันตรายอันเนื่องจากการเบียดเบียนของเหล่าสัตว์ร้ายต่างๆ และอันตรายอันจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเห็นรูป แล้วทำให้กิเลสกามเฟื่องฟูขึ้นเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการใช้เสนาสนะแล้ว ย่อมเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งการใช้เสนาสนะ เพื่อเป็นที่นอนและที่นั่งอย่างแท้จริง ดังนั้นกุฏิของพระภิกษุ จึงไม่ สมควรตกแต่งด้วยเครื่องเรือนหรือเครื่องประดับบ้านที่หรูหราฟุ้งเฟ้อ เพราะจะเอื้ออำนวยให้กิเลสกามของพระภิกษุเจ้าของเสนาสนะเฟื่องฟูขึ้น โดยเหตุนี้พระภิกษุจำเป็นจะต้องพิจารณาโดยแยบคายในการใช้สอยเสนาสนะ

 

4. วัตถุประสงค์ในการใช้คิลานเภสัช คำว่า "คิลาน" (คิลานะ) แปลว่า "คนเจ็บ" คำว่า "คิลานเภสัช" แปลว่า "ยารักษาโรค" ซึ่งรวมถึง เนยใสเนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ถือว่าเป็นคิลานเภสัชของพระภิกษุด้วยวัตถุประสงค์ในการบริโภคคิลานเภสัช ก็เพื่อระงับอาพาธหรือโรคต่างๆ อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขเวทนา ดังนั้นก่อนที่พระภิกษุจะบริโภคจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จนมั่นใจว่าเมื่อบริโภคแล้วทุกขเวทนาในตนจะถูกระงับอย่างแท้จริง

 

            อนึ่ง ในเรื่องของการบริโภคคิลานเภสัชนี้ มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะใน ภาพสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ยาที่เป็นโทษแก่ร่างกายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาประเภทที่เรียกกันว่า "ยาเพิ่มพลังหรือยาขยัน" และ "ยาอายุวัฒนะ" นั้น ที่แท้คือยาที่ก่อให้เกิดทุกขเวทนา มิใช่ระงับทุกขเวทนา ฉะนั้น ก่อนจะบริโภค จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าสิ่งนั้นเป็นคิลานเภสัชที่เหมาะกับตนหรือไม่ปัจจัยสันนิสิตศีลนี้ จึงมุ่งเน้นให้พระภิกษุบริโภคใช้ สอยปัจจัยสี่อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการให้พระภิกษุพิจารณาโดยแยบคายถึงวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องของการบริโภคเสียก่อน แล้วจึงค่อยบริโภคใช้สอยปัจจัยนั้นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจัยสันนิสิตศีลนี้ พระภิกษุจะสามารถบำเพ็ญให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ ก็ด้วยปัญญา

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033631749947866 Mins