อานิสงส์ปรบมือต้อนรับพระพุทธเจ้า

วันที่ 16 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์ปรบมือต้อนรับพระพุทธเจ้า
 

อานิสงส์ปรบมือต้อนรับพระพุทธเจ้า

 

     ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องวนเวียน  อยู่ในวัฏสงสารรํ่าไป ฉะนั้นเสบียงคือบุญเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางไกล ไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต เราจะต้องสร้างบารมีกันต่อไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ฉะนั้น ให้พวกเรามีจิตใจเยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์ ที่ทุกลมหายใจของท่านเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมีล้วนๆ เมื่อจิตใจของเราผูกพันกับการสร้างบารมีอย่างนี้ กาย วาจา ใจ ก็จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ รองรับมรรคผลนิพพาน การเจริญสมาธิ ภาวนาเป็นทางลัดที่สุด ที่จะไปสู่อายตนนิพพานและเป็นวิธีเดียวที่จะย่นย่อหนทางในวัฏสงสารให้สั้นเข้า ดังนั้น เราจะต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆ วาระ 

 
มีวาระแห่งภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน สุมังคลเถราปทาน ความว่า
 
     
“พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี ผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระทั้งหลาย ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้นิมนต์สงฆ์ผู้ซื่อตรง มีจิตที่มั่นคง และนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ฉัน เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ผู้นั้นจักได้เสวยเทวราชสมบัติ ๒๗ ครั้ง จักยินดียิ่งในกรรมของตน รื่นรมณ์อยู่ในเทวโลก จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระราชาในแผ่นดิน ครอบครองพสุธาถึง ๕๐๐ ครั้ง”


     บุญเป็นเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของทุกชีวิต เป็นทางมาแห่งมหาสมบัติอันน่าปรารถนาทั้งหลาย มหาสมบัติใหญ่ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในโลกนี้ ล้วนบังเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีบุญเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโลกิยสมบัติที่ใช้สอยกันในภพมนุษย์และสมบัติทิพย์ที่ใช้กันในภพสวรรค์ ความสุขความสำเร็จนี้ก็บังเกิดด้วยอานุภาพแห่งบุญ และในท้ายที่สุด ชีวิตก็จะได้นิพพานสมบัติ กำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
 
     เพื่อให้เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมในสมบัติทั้ง ๓ คือมนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ  และนิพานสมบัติ หลวงพ่อจะได้นำชีวประวัติการสร้างบารมีของพระอรหันต์องค์หนึ่งมาเล่าให้พวกเราทั้งหลายได้รับรู้รับทราบกัน จะได้เกิดกำลังใจและดำเนินรอยตามท่านไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต
 
     * เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี  พระเถระนี้ได้เกิดเป็นรุกขเทวดา สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งริมฝั่งแม่นํ้า ตอนนั้น รุกขเทวดายังไม่ทราบถึงการบังเกิดขึ้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม จึงอาศัยอยู่ที่ต้นไม้นั้น คอยดูแลรักษาแม่นํ้าอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่รุกขเทวดาอยู่ในวิมาน สายตาก็ได้ทอดไปเห็นสมณะรูปหนึ่ง เดินตรงมาที่ท่าสำหรับอาบนํ้า ใกล้ๆ กับวิมานของตน
 
     รุกขเทวดาครั้นเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า สมณะรูปนี้ ดูงดงามน่าเลื่อมใสจริงหนอ น่าเลื่อมใสยิ่งกว่านักบวชเหล่าอื่นที่เคยพบเห็น วรรณะของท่านก็ดูผ่องใสรุ่งเรืองเหมือนพระอาทิตย์ สมณะนี้เป็นผู้ใดกันหนอ จึงยืนมองสมณะรูปนั้นด้วยจิตที่เลื่อมใส โดยยังไม่รู้ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงท่าสรงสนาน รุกขเทวดาสังเกตเห็นมหาปุริสลักษณะที่งดงามและพระฉัพพรรณรังสี ก็รู้ว่าสมณะรูปนี้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แม้จะยกมือไหว้ก็ยังไม่เคยทำ แต่ในใจนั้นกลับเกิดความปีติโสมนัสที่ได้เห็นพระพุทธองค์จึงปรบมือต้อนรับด้วยความไม่รู้
 
     แต่เพราะบุญที่เกิดจากความเลื่อมใสและปรบมือต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่งผลให้รุกขเทวดาได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อันโอฬาร หลังจากที่หมดอายุขัยจากสวรรค์แล้วก็กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เวียนวนอยู่อย่างนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน การลงมาเกิดเป็นมนุษย์แต่ละครั้งจะมีบุญพิเศษติดตัวมาอยู่อย่างหนึ่งคือ พอเห็นสมณะแล้วจะได้สติสอนตนเองได้ แล้วกลับตัวเป็นคนดี เป็นสัมมาทิฏฐิในทันทีทันใด 
 
     จนกระทั่งมาถึงสมัยพุทธกาลของเรา ได้มาบังเกิดในตระกูลของคนเข็ญใจ เพราะกรรมเก่าตามมาทัน โดยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีมากนัก พวกญาติทั้งหลายพากันตั้งชื่อว่า
สุมังคลกุมาร กุมารนั้นเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพไปวันๆ ตามรอยของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา โดยไม่รู้เป้าหมายของชีวิตแต่อย่างใด ถึงกระนั้นบุญเก่าที่เคยพบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส ก็ยังคอยตักเตือนอยู่ในจิตสำนึกลึกๆ ว่า การที่เราใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ความต้องการดั้งเดิมที่เคยมี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปแสวงหาครูบาอาจารยที่ไหนมาตอบปัญหาข้อสงสัย เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับภารกิจประจำวันจนลืมเลือนไป ท่านได้ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่อย่างนี้จนเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน
 
     เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ปักหลักพระศาสนาได้อย่างมั่นคงที่กรุงสาวัตถี กิตติศัพท์อันดีงามของพระพุทธองค์ก็แผ่ไปทั่วชมพูทวีปว่า พระองค์เป็นผู้ที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและสามารถที่จะยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ได้ เมื่อได้ฟังข่าวนี้ สุมังคละก็ปรารถนาที่จะไปเข้าเฝ้า แต่ภารกิจการงาน ก็ทำให้ต้องผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา ทำให้ไม่ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักที จนกระทั่งพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแห่งกรุงสาวัตถี ทรงบำเพ็ญมหาทานครั้งใหญ่ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและหมู่สงฆ์ สุมังคละก็ได้มีโอกาสถือหม้อนมส้มเดินทางร่วมกับมหาชนไปบำเพ็ญบุญที่พระวิหาร
 
     พอไปถึงพระวิหาร มองเห็นสิ่งของที่ญาติโยมนำมาสร้างบุญ และเห็นหมู่สงฆ์เป็นจำนวนมาก ก็เกิดความคิดว่า สมณศากยบุตรเหล่านี้ มีความเป็นอยู่ที่ดีงาม เป็นชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนอย่างชาวโลกทั้งหลาย ทำอย่างไรหนอเราถึงจะมีชีวิตอย่างนี้บ้าง จึงตัดสินใจเข้าไปหาพระเถระรูปหนึ่ง แจ้งความประสงค์ถึงความปรารถนาที่จะบวช พระเถระรูปนั้นก็เมตตาให้ท่านบวชในวันนั้น หลังจากที่สุมังคละบวชแล้วก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ถึงได้รู้ซึ้งว่าการที่จะดำรงเพศเป็นสมณะนั้น ไม่ใช่ของง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว จึงคิดจะลาสิกขา พอคิดอย่างนี้ก็แอบเดินทางออกจากพระวิหารเพื่อที่จะไปลาสิกขา
 
     พอเดินมาในระหว่างทาง เห็นชาวนากำลังทำงาน ร่างกายซูบซีด เนื้อตัวเปื้อนฝุ่นละออง จึงได้คิดว่า สัตว์ทั้งหลายไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ก็ต้องเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง เมื่อเรารู้อย่างนี้ก็ไม่ควรกลับไปเสวยทุกข์นั้นอีก ครั้นคิดได้อย่างนี้ก็เข้าไปที่โคนต้นไม้ ตั้งใจบำเพ็ญเพียรอย่างกลั่นกล้า ใช้เวลาไม่นานนัก ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระศาสนา  
 
     เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็ระลึกชาติกลับไปดูการสร้างบารมีของตนเอง  ตั้งแต่ครั้งเกิดเป็นรุกขเทวาที่ได้ปรบมือต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยจิตใจที่เลื่อมใส บุญนั้นได้ตามคํ้าจุนให้ได้มีโอกาสสั่งสมบุญ ส่งผลให้สมบูรณ์ด้วยมหาสมบัตินับชาติไม่ถ้วน อีกชาติหนึ่งท่านก็ได้นิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป ให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน ด้วยอำนาจของบุญนั้นทำให้ตักเตือนและสอนตัวเองได้ จนกระทั่งมาถึงภพชาติสุดท้ายนี้ ทำให้ท่านได้บรรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
 
     เราจะเห็นว่า ผู้มีบุญจะมีบุญเก่าคอยเกื้อหนุน ตักเตือนให้ตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางบุญตลอดเวลา และทำให้เป็นผู้ที่สอนตนเองได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักสร้างบารมี คือสามารถเตือนตนสอนตนเองได้ การเป็นผู้ที่สอนตนเองได้ ถือเป็นความโชคดีอย่างมหาศาล เพราะจะทำให้เรารู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เราจะมีโอกาสสร้างบุญได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง จะรู้จักยกใจของตนให้สูงขึ้นได้ รู้จักเพิ่มบุญบารมีในตัวให้มากขึ้นได้ ทำบุญกันทุกวันเลย บุญใหม่ในวันนี้จะเป็นบุญเก่าที่จะเกื้อหนุนเราในวันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป ดังนั้น เมื่อรับทราบกันอย่างนี้ดีแล้ว ก็ให้ทุ่มเทสร้างบารมีกันต่อไป


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๖๐
  

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.049764450391134 Mins