นิวรณ์

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

นิวรณ์


           นิวรณ์ คือ กิเลส ที่ปิดกั้นใจไม่ให้บรรลุความดี ไม่ให้ก้าวหน้าในการเจริญภาวนา ทำให้ใจซัดส่ายไม่ยอมให้ใจรวมหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง หรือเป็นสมาธิ นิวรณ์มี 5 ประการ คือ

กามฉันทะ คือ ความหมกมุ่น ครุ่นคิด เพ่งเล็งถึงความน่ารักน่าใคร่ในกามคุณ อันได้แก่รูปเสียง กลิ่น รสสัมผัส เนื่องจากใจยังหลงติดในรสของกามคุณทั้ง 5 นั้น จนไม่สามารถสลัดออกได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบกามฉันทะเหมือน "หนี้" คือ ผู้ที่เป็นหนี้เขา แม้จะถูกเจ้าหนี้ทวงถามด้วยคำหยาบ ก็ไม่อาจโต้ตอบอะไรได้ ต้องสู้ทนนิ่งเฉย เพราะเป็นลูกหนี้เขา แต่ถ้าเมื่อใดชำระหนี้หมดสิ้นแล้ว มีทรัพย์เหลือเป็นกำไร ย่อมมีความรู้สึกเป็นอิสระและสบายใจ อุปมาข้อนี้ฉันใด ผู้ที่สามารถละกามฉันทะในจิตใจได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมมีความปราโมทย์ยินดีอย่างยิ่งฉันนั้น

 

พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความรู้สึกไม่ชอบใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ได้แก่ ความขุ่นใจ ความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความเกลียด ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ใจกระสับกระส่ายไม่เป็นสมาธิพรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบพยาบาทเหมือน "โรค" ผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ย่อมมีความทุกข์มีความเจ็บป่วย ไม่ สบายทั้งกายและใจ เมื่อจะทำการสิ่งใดก็ต้องฝนทำด้วยความทรมาน ยากที่จะพบความสุขความสำเร็จได้ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจพยาบาท ใจย่อมเป็นทุกข์ กระสับกระส่าย แม้จะพยายามปฏิบัติธรรม ก็ยากที่จะซาบซึ้งในรสแห่งธรรม ไม่อาจพบความสุขอันเกิดจากฌานได้ฉันนั้น

 

 ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ความง่วงเหงา ซึมเซา ขาดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ขาดกำลังใจและความหวังในชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายชีวิต ไม่คิดอยากทำสิ่งใดๆ บุคคลที่ใจหดหู่ย่อมขาดความวิริยอุตสาหะในการทำสิ่งต่างๆ ได้แต่ปล่อยให้ความคิดเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ จึงไม่สามารถรวมใจเป็นหนึ่งได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบถีนมิทธะเหมือน "การถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ" คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนั้น ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความบันเทิงจากการเที่ยวดูหรือชมมหรสพต่างๆ ในงานนักขัตฤกษ์ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจถีนมิทธะนิวรณ์ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับรู้รสแห่งธรรมบันเทิง คือความสงบสุขอันเกิดจากฌานฉันนั้น

 

อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อันเกิดจากการปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องที่มากระทบใจแล้วคิดปรุงแต่งเรื่อยไปไม่สิ้นสุด บางครั้งก็ทำให้หงุดหงิด งุ่นง่าน ความรำคาญใจ และความฟุ้งซ่านเหล่านี้ ย่อมทำให้ใจซัดส่ายไม่อยู่นิ่ง ไม่เป็นสมาธิ แม้ต้องการจะเอาใจจดจ่อกับเรื่องใดก็ไม่สามารถทำได้ตามปรารถนา เพราะใจจะคอยพะวงคิดไปถึงเรื่องอื่น ใจจึงไม่มีความเป็นใหญ่ในตัว ควบคุมใจตัวไม่ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบอุทธัจจกุกกุจจะเหมือน "ความเป็นทาส" ผู้ที่เป็นทาสเขาจะไปไหนตามความพอใจไม่ได้ ต้องคอยพะวงถึงนาย เกรงจะถูกลงโทษ ไม่มีอิสระในตัว

 

วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ มีคำถามเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา ทำให้ไม่แน่ใจในการปฏิบัติของตน เช่นนี้ย่อมไม่สามารถทำใจให้รวมเป็นหนึ่งได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบวิจิกิจฉาเหมือน "บุรุษผู้มั่งคั่งเดินทางไกลและกันดาร พบอุปสรรคมากมาย" บุรุษที่เดินทางไกล หากเกิดความสะดุ้งกลัวต่อพวกโจรผู้ร้าย ย่อมเกิดความลังเลใจว่าควรจะไปต่อหรือจะกลับดี ความสะดุ้งกลัวพวกโจรผู้ร้าย เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไกลของบุรุษฉันใด ความลังเลสงสัยในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยภูมิของพระภิกษุฉันนั้นผู้เจริญภาวนา หากถูกนิวรณ์ทั้ง 5 แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งเข้าครอบงำ ย่อมไม่อาจรวมใจให้เป็นหนึ่งได้ ต่อเมื่อทำใจให้ปลอดจากนิวรณ์ทั้ง 5 รักษาใจให้แน่วแน่ ใจจึงจะรวมเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "สมาธิ"

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012884815533956 Mins