อานิสงส์ทำจิตเลื่อมใสในพระญาณ

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์ทำจิตเลื่อมใสในพระญาณ
 

อานิสงส์ทำจิตเลื่อมใสในพระญาณ

 

      บุญ คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกอย่าง จะคอยอำนวยความสุข  และความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะสมหวังในทุกๆ เรื่องที่เราปรารถนา เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพานได้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่เราได้สั่งสมเอาไว้อย่างดีแล้ว ดังนั้นการสั่งสมบุญจึงเป็นกรณียกิจที่เราทั้งหลายต้องหมั่นกระทำกันตลอดเวลาทุกวัน ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกโอกาส ให้ทุกหนทุกแห่งเป็นทางมาแห่งบุญ ให้เราได้สร้างบารมีได้ตามใจปรารถนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราให้เปลี่ยนเป็นบุญให้หมด แล้วเราจะมีความสุขสมหวังตลอดไป


มีธรรมภาษิตที่ท้าวสักกะจอมเทพตรัสไว้ใน วิมานวัตถุ ความว่า  
 

“ติฏฺฐนฺเต นิพฺพุเต จาปิ    สเม จิตฺเต สมํ ผลํ
เจโตปสาทเหตุมฺหิ        สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคตึ
 
     เมื่อพระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี ปรินิพพานแล้วก็ดี เมื่อมีจิตเลื่อมใสเสมอกัน
ผลบุญก็เสมอกัน สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติ เพราะเหตุแห่งจิตเลื่อมใส”


      การยังใจให้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เท่ากับว่าเราได้นำใจของเราเข้าไปผูกไว้กับสิ่งประเสริฐสุด ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด จะทำให้ใจของเราผ่องใสอยู่เป็นนิจ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างที่สุด เพราะเป็นการกลั่นจิตกลั่นใจให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว ธรรมชาติของใจนี้ เมื่อคุ้นเคยกับสิ่งใดแล้วก็จะแล่นไปหาสิ่งนั้น หากผูกพันกับสิ่งที่เลิศที่ประเสริฐสุด ใจของเราก็จะถูกยกให้สูงตามไปด้วย และไม่ว่าเราจะสั่งสมบุญใดที่สืบเนื่องถึงพระพุทธองค์ แม้พระองค์ท่านจะมีพระชนม์ชีพอยู่หรือดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม อานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา ส่งผลให้เรามีชีวิตที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองนับภพนับชาติไม่ถ้วนทีเดียว
 
     * เหมือนการสร้างบารมีของพระอรหันตเถรเจ้ารูปหนึ่ง ที่ท่านมีโอกาสได้สร้างบุญด้วยใจที่ปีติเลื่อมใส ซึ่งสิ่งที่ท่านทำนั้น แม้ในสายตาผู้อื่นอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ด้วยอานุภาพที่เกิดจากความเลื่อมใสอย่างไม่มีประมาณ ทำให้ท่านได้มหานิสงส์ที่ไม่มีประมาณเช่นกัน พระอรหันตเถระรูปนี้มีนามว่า
พระญาณสัญญิกเถระ
 
     ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ท่านได้บังเกิดในตระกูลหนึ่ง ตอนเป็นทารกได้สนุกสนานเช่นเดียวกับเด็กทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจเรื่องราวของการสร้างบุญแต่อย่างใด ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านได้ไปฟังธรรม แล้วเกิดความเลื่อมใสในพระญาณและพระสุรเสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ที่มีความไพเราะ ไม่แหบ ไม่พร่า กังวานซาบซึ้งจับใจ
 
          ธรรมดาของมนุษย์ในโลกนี้ จะมีความเลื่อมใสอยู่ ๔ ประเภท 
 
          พวกแรกเรียกว่า
รูปัปมาณิกา คือเลื่อมใสในรูป  เพียงแค่เห็นรูปร่างหน้าตา ก็เกิดความเลื่อมใสแล้ว 
 
          พวกที่สองเรียกว่า
ลูขัปปมาณิกา เลื่อมใสในความสมถะ 
 
          พวกที่สามเรียกว่า
เลื่อมใสในเสียง เรียกว่า โฆสัปปมาณิกา 
 
          พวกสุดท้ายนี้เรียกว่า
ธัมมัปปมาณิกา เลื่อมใสในธรรม คือเมื่อได้ฟังธรรมที่มีเหตุมีผลก็เกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง
 
     พระเถระในภพชาตินั้นจัดได้ว่าเป็นประเภท โฆสัปปมาณิกา เพราะทันทีที่ได้ยินพระสุรเสียงของพระพุทธองค์ที่ไพเราะจับใจ ก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเบื่อที่จะฟังพระสุรเสียงพระองค์ และเมื่อท่านฟังพระสัทธรรมก็ฟังด้วยความตั้งใจ ทั้งส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาด้วยความเบิกบานใจยิ่งนัก
 
     เมื่อท่านละจากอัตภาพนั้นแล้วได้ไปเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกทั้งหกชั้นฟ้า จุติจากเทวโลกก็มาเกิดในมนุษยโลก สมบูรณ์ด้วยจักรพรรดิสมบัติ และสมบัติที่เป็นเลิศในเมืองมนุษย์ เสวยสุขที่เกิดจากบุญนั้นยาวนานมาก จนมาถึงสมัยพุทธกาลนี้ ท่านได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่งที่สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ท่านก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระบรมศาสดา จึงได้ออกบวช บำเพ็ญเพียรเพียงไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
 
     ภายหลังท่านระลึกถึงบุพกรรมของตน ทำให้เกิดปีติโสมนัส ถึงกับกล่าวว่า “ครั้งหนึ่ง เราได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดั่งทอง องอาจดุจม้าอาชาไนย ดังช้างมาตังคะตกมัน ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ทรงยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เหมือนพญารังมีดอกบานสะพรั่ง เป็นเชษฐบุรุษของโลก สูงกว่านระทั้งปวง เสด็จดำเนินไปในถนน เราได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระญาณ ประณมอัญชลี มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ถวายบังคมพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ
 
     ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้กระทำในครั้งนั้น ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ เราได้เสวยทิพยสมบัติมากมายหลายภพหลายชาติ เราไม่เคยไปสู่ทุคติเลย ในกัปที่ ๗๓ แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๑๖ ครั้ง มีพระนามว่า นรุตตมะ  ซึ่งแปลว่า ผู้สูงสุดกว่าใคร สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพละมาก และในภพชาติสุดท้ายนี้ เราก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษทั้งหลาย นี้เป็นผลแห่งบุญในครั้งนั้น”
 
     ท่านได้กล่าววาจาออกมาด้วยความโสมนัสถึงผลแห่งบุญที่ท่านได้สร้างในครั้งนั้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า ผลแห่งการสร้างความดีด้วยจิตใจที่เลื่อมใสหนักแน่นนั้น มีอานิสงส์มากมายมหาศาล เพราะเมื่อมีใจเลื่อมใสแล้ว แม้ไทยธรรมจะมีน้อย แต่ผลแห่งการกระทำไม่ได้น้อยตามเลย นี่เป็นเรื่องราวของพระญาณสัญญิกเถรเจ้า
 
     * อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ เช่นเดียวกัน ได้มีช่างดอกไม้ท่านหนึ่ง มีอาชีพทำธุรกิจเกี่ยวกับดอกไม้ ทั้งขายปลีก ขายส่ง รวมทั้งรับตกแต่งประดับสถานที่ วันหนึ่ง ท่านถือดอกไม้เดินสวนกับพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเดินเข้าไปใกล้ๆ แล้วก้มกราบถวายบังคม บูชาด้วยดอกอุบลแดงที่ตนเองถือมา ท่านรู้สึกปีติยินดีในการกระทำนี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อละจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปเสวยทิพยสมบัติในสุคติโลกสวรรค์เป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งมาถึงในสมัยพุทธกาล ท่านก็ได้มาบังเกิดในตระกูลหนึ่ง ครั้นเจริญวัยก็ออกบวชด้วยศรัทธา ท่านบำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีนามว่า
อุปปลหัตถิยเถระ  เมื่อตรวจดู บุพกรรมเพียงน้อยนิดที่ได้กระทำด้วยใจที่เลื่อมใส จึงเกิดความโสมนัสกล่าวว่า
 
     “เราได้ถวายดอกอุบลกำมือหนึ่ง ด้วยบุญนั้นเมื่อเราอุบัติในภพใดๆ เราก็ได้เสวยผลอันน่าปรารถนาที่ตนได้ทำไว้ดีแล้วทุกชาติไป เราบูชาพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย และได้เป็นพระราชาผู้มีอานุภาพมากถึง ๕๐๐ ครั้ง มีพระนามเหมือนกันว่า นัชชุปมะ ภพชาตินี้เราก็สมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษทั้งหลาย นี้เป็นผลแห่งบุญที่ได้กระทำด้วยใจที่เลื่อมใสไม่คลอนแคลน”
 
     เราจะเห็นว่า ใจที่เลื่อมใสดีแล้วในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศ ไม่ว่าจะเลื่อมใสด้วยเหตุใดก็ตาม ล้วนเป็นทางมาแห่งมหากุศลที่เป็นอสงไขยอัปปมาณัง จะนับจะประมาณไม่ได้ และบุญจะส่งผลให้บุคคลนั้นประสบแต่ความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ใจที่เลื่อมใสจะปิดประตูอบายภูมิ เปิดสวรรค์และนิพพานได้อย่างแท้จริง  ขอให้พวกเราทั้งหลายตระหนักไว้ว่า เมื่อไรที่เราจะสร้างบุญ ก็ให้ทำใจให้ผ่องใส ให้เลื่อมใสอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะได้รับอานิสงส์ใหญ่ ดังเช่นพระอริยเจ้าทั้งสองรูปนี้

 

พระธรรมเทศนาโดย :  พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๓๕๖
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๓๕๙

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021339499950409 Mins