กว่าที่ใครคนหนึ่งจะผ่านด่านแห่งอันตรายในสังสารวัฏจนกระทั่งมาเกิดเป็นมนุษย์ จะต้องมีบุญบารมีมากทีเดียว และต้องไม่มีกรรมอันใดมาขัดขวางจึงได้เกิดเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงได้ตรัสเอาไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นการยาก เมื่อการเกิดเป็นการยากอย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะดำรงชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท และตระหนักถึงคุณค่าของการเกิดมาโดยใช้วันเวลาให้คุ้มค่าให้ผ่านไปพร้อมๆ กับการสร้างบารมี ทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า หมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน เวลาที่สูญเสียไปก็จะไม่สูญเสียไปเปล่า เพราะมีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน
* มีวาระแห่งภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน เอกัญชลิกเถราปทาน ความว่า
“เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง พระนามว่า วิปัสสี
เลิศกว่าผู้นำทั้งหลาย เป็นนระผู้แกล้วกล้า ทรงแนะนำดี ทรงฝึกผู้ที่ยังมิได้ฝึก ผู้คงที่ ทรงมีวาทะมาก มีสติสัมปชัญญะมาก เสด็จดำเนินไปในระหว่างตลาด จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส
ได้ประณมอัญชลีไหว้ ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ การที่เราได้ประณมอัญชลีไหว้ในเวลานั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการประณมอัญชลีไหว้ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว”
สิ่งต่างๆ ที่เรากระทำในแต่ละวันในขณะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ล้วนมีผลต่อเราทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งที่กระทำนั้นแยกได้ ๒ ประการใหญ่ๆ ก็คือ กุศลและอกุศล สิ่งใดที่ทำแล้วก่อให้เกิดความดีงามต่อตนเองและผู้อื่น จะมีผลดีในภพชาตินี้ และจะส่งผลไปยังภพชาติเบื้องหน้า ให้ได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งนี้เรียกว่า กุศล แต่สิ่งที่ทำตรงกันข้าม หากว่าทำลงไปแล้วส่งผลให้มีความทุกข์ทรมาน จนเป็นเหตุให้ต้องไปรับทุกข์ในอบายภูมิ ก็เรียกว่าอกุศล หรือพูดง่ายๆ ก็คือบุญกับบาป อุปกรณ์ในการสร้างบุญและบาปนี้มีอยู่ ๓ ทางด้วยกันก็คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ หากใครรู้จักระวังกาย วาจา ใจ ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้เห็นภัยในโลกนี้และโลกหน้า
อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา สามารถที่จะนำมาเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบุญได้ทั้งนั้น บัณฑิตผู้รักบุญต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าจะอำนวยให้สร้างบุญ ก็สามารถที่จะหาเอาบุญได้ เหมือนเรื่องราวของนักสร้างบารมีในกาลก่อน ที่หลวงพ่อจะนำมาเล่าในครั้งนี้ เป็นเรื่องราวที่ควรแก่การอนุโมทนาและควรเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี
เป็นเรื่องของพระเถระที่ท่านได้กล่าววาจาในข้างต้น ท่านได้ระลึกถึงผลบุญที่ตัวท่านเองได้ประสบมาในภพชาติก่อนๆ ท่านได้มีโอกาสสั่งสม บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ และได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานตามสมควรแก่อัตภาพ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะสร้างบุญพิเศษที่พอระลึกถึงแล้วเกิดมหาปีติแต่อย่างใด ชีวิตได้เวียนว่ายตายเกิดตามภพภูมิต่าง บางภพบางชาติก็เกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติ บางภพบางชาติก็เกิดมาในตระกูลที่ยากจน มีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้มายาวนาน
จนกระทั่งมาถึงยุคที่สว่างไสวที่สุดยุคหนึ่งในกาลแห่งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ปี เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรงประกาศพระสัทธรรมไปทั่วชมพูทวีป ทำให้ผู้มีบุญได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต กำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนามากมายทีเดียว จนกิตติศัพท์อันดีงามของพระผู้มีพระภาคเจ้าแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ
ในยุคนั้น พระเถระได้บังเกิดในเรือนของตระกูลแห่งหนึ่ง ท่านเป็นเด็กที่มีใจน้อมไปในทางกุศล มีจิตใจอ่อนโยนเปี่ยมด้วยเมตตา จนกระทั่งเจริญวัยบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ยินข่าวคราวการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์ แม้ว่าจะไม่เคยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เลย แต่ก็หาโอกาสไปฟังธรรมจากพระสาวก ผู้ที่จาริกมายังนครที่ท่านอาศัยอยู่เรื่อยๆ ท่านคิดอยู่ในใจเสมอว่า สักวันหนึ่งเราคงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ท่านเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างแรงกล้า และไม่เคยพลาดโอกาสที่จะทำความดีเลย
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จผ่านมาทางพระนครนั้น วันรุ่งขึ้นได้เสด็จออกบิณฑบาตในพระนคร เพื่อโปรดสาธุชนผู้มีบุญทั้งหลาย ในวันนั้นกุลบุตรได้เข้าไปทำธุระบางอย่างในพระนคร เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ แล้วได้เห็นพระฉัพพรรณรังสีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ก็คิดว่า
เราเคยได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระบรมศาสดามามากว่า พระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ วันนี้ความปรารถนาของเราที่จะได้เห็นพระพุทธองค์สมหวังแล้ว แต่เราเพิ่งเดินทางออกมาจากเรือน ไม่มีไทยธรรมติดมาเลยแม้สักอย่างเดียว เราจะเอาบุญกับพระบรมศาสดาอย่างไรหนอ เมื่อคิดอย่างนี้ท่านก็ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่า แม้จะไม่มีสิ่งของในมือทั้งสอง เราก็จะใช้มือของเรานี่แหละเอาบุญกับพระพุทธองค์ แล้วท่านก็ทำความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ได้ยืนเอามือทั้งสองประคองอัญชลีด้วยความเคารพนอบน้อม
หลังจากวันนั้นผ่านไป ทุกครั้งที่กุลบุตรมองมือทั้งสองข้างของตัวเอง ก็จะเกิดมหาปีติอยู่ตลอดเวลาว่า มือของเรานี้เป็นมืออันเป็นมงคลหนอ ที่เราได้นมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านระลึกถึงผลกรรมที่ทำเพียงเท่านี้จนกระทั่งละจากโลกไป ด้วยบุญนั้นทำให้ท่านท่องเที่ยวในเทวดาและมนุษยโลก เมื่อเกิดในหมู่เทวดาก็เป็นที่เคารพเกรงอกเกรงใจของทวยเทพทั้งหลาย เมื่อมาเกิดในหมู่มนุษย์ก็จะเป็นที่รักที่ชอบใจ และเป็นผู้ควรแก่การบูชาของมนุษย์ในทุกที่ทุกสถาน ท่านได้เสวยสมบัติทั้งสองนับภพนับชาติไม่ถ้วน
จนกระทั่งมาถึงพุทธกาลนี้ ท่านได้มาบังเกิดในตระกูลผู้สมบูรณ์ด้วยมหาสมบัติทั้งหลาย มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายด้วยบุญเก่าที่ท่านสั่งสมมา พอได้ยินข่าวการอุบัติขึ้นของพระรัตนตรัยก็เกิดเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยม จึงตัดสินใจสละความสุขสบายทางโลกออกบวชในพระศาสนา เมื่อบวชแล้วได้ทูลขอวิธีการปฏิบัติธรรมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า และท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรอย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจแห่งบุญที่เคยประคองอัญชลีต่อพระวิปัสสีพุทธเจ้า ทำให้ท่านใช้เวลาไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ กำจัดกิเลสอาสวะได้หมดสิ้น และด้วยอำนาจบุญที่บำเพ็ญมาในกาลก่อนเป็นเครื่องสนับสนุน จึงทำให้ท่านปรากฏนามว่า เอกัญชลิกเถระ
เมื่อท่านระลึกถึงบุพกรรมที่ได้ทำมา ก็เห็นเรื่องราวทั้งหมด เหมือนผลมะขามป้อมที่วางอยู่บนฝ่ามือ บังเกิดปีติโสมนัสจึงประกาศการสร้างบุญของท่านว่า
"ผลแห่งบุญนี้ยิ่งใหญ่เกินประมาณ เราได้สร้างบุญเล็กน้อยด้วยการประคองอัญชลีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ยังมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เพียงนี้ สองมือที่ได้กราบไหว้ผู้ทรงศีล เป็นมืออันเป็นมงคลจริงหนอ เพราะสามารถอำนวยสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ให้บังเกิดขึ้น กิจทุกอย่างที่ควรทำเราได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ได้กระทำแล้ว"
เราจะเห็นว่า มือทั้งสองข้างที่อยู่กับตัวเรานี้ มีความสำคัญกับชีวิตเราทั้งภพนี้และภพหน้า หากมือนี้ได้อัญชลีบูชาผู้ประพฤติธรรม มือนั้นก็เป็นมงคลเพราะทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ทว่าหากนำมือนี้ไปสร้างบาปอกุศลก็เป็นมืออัปมงคล ก่อให้เกิดแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีอาการครบ ๓๒ ก็ควรจะใช้ทุกส่วนของร่างกาย ให้เป็นทางมาแห่งบุญให้มากที่สุด ใช้กาย วาจา ใจ ใช้ความคิด คำพูด และการกระทำ ให้เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานให้ได้
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๑๑๓