อยู่ร่วมกันอย่างไรให้ใจเป็นสุข

วันที่ 24 พย. พ.ศ.2558

อยู่ร่วมกันอย่างไรให้ใจเป็นสุข


    หลักการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้แล้วใน สาราณียธรรม มีทั้งหมด 6 ข้อเป็นพื้นฐาน แต่ขอให้เราเน้น 2 ข้อใหญ่ๆ คือ มีศีลเสมอกัน และมีทิฐิเสมอกัน เราศึกษาได้จากสังคมสงฆ์ครั้งพุทธกาล สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีชนชั้นวรรณะมาก ทั้งวรรณะพรหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร และจัณฑาล ซึ่งแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน 


    ยกตัวอย่าง ถ้าคนวรรณะอื่นๆ เผลอไปมองคนจัณฑาล ต้องรีบเอาน้ำล้างตาเพราะถือว่าเป็นเสนียด แตกต่างกันถึงขนาดอยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าคนละวรรณะกันมาแต่งงานกัน ลูกออกมาถือว่าเป็นจัณฑาลทันทีอย่างนี้เรียกได้ว่า มีการแแบ่งชนชั้นกันแบบสุดขั้ว จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เลย แต่ในสภาวะสังคมแบบนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คนทุกชั้นวรรณะมาบวช เป็นพระภิกษุได้ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วยธรรมะ และวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้อายุก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ในวันบวช และเคารพกันตามอาวุโสพรรษา คนที่อายุ 20 บวชเมื่อวาน อีกคนอายุ 80 บวชวันนี้ คนอายุ 80 ที่เพิ่งบวชวันนี้ต้องให้ความเคารพ คนอายุ 20 ที่บวชเมื่อวาน เพราะอายุทางโลกถือว่าตัดทิ้งเริ่มนับอายุใหม่เมื่อตอนที่เริ่มบวชแล้วนั่นเอง


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำให้คนวรรณะกษัตริย์และแพศย์ที่มาบวชหลังคนวรรณะจัณฑาลที่เป็นภิกษุพรรษามากกว่า เป็นการปฏิรูปสังคมที่ยิ่งใหญ่ และสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น แล้วคณะสงฆ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก สืบทอดมาได้ 2,500 กว่าปีแล้ว เราสามารถศึกษาตัวอย่างจากคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลได้ว่า การอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่างกันด้วยความผาสุกนั้น ต้องมีหัวใจสำคัญดังนี้

 

หัวใจสำคัญประการที่ 1 
    ประการแรก ผู้ที่มาบวชมีเป้าหมายการบวชตรงกันคือบวช เพื่อตั้งใจปฏิบัติมุ่งสู่พระนิพพาน ผู้เข้าอุปสมบทต้องเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าขอออกบวชเพื่อสลัดกองทุกข์และทำพระนิพพานให้แจ้ง ประกาศเป้าหมายในการบวชถึง 6 ครั้ง ในการบวชของพระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะมาจากวรรณะใดก็ตาม การมีเป้าหมายตรงกัน มีทิฐิเสมอกัน มีความเห็นตรงกัน มีเป้าหมายชีวิตตรงกัน มีความเห็นในเรื่องของกฏแห่งกรรมและเรื่องบุญบาปเหมือนกันถึงได้มาบวช ซึ่งรายละเอียดจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่กรอบใหญ่ๆ ของทิฐินั้นตรงกัน 

 

หัวใจสำคัญประการที่ 2 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเป็นสิกขาบทให้พระภิกษุปฏิบัติเหมือนกันทุกรูป สิกขาบทที่เป็นประธานหลักมีทั้งหมด 227 ข้อ พระสงฆ์ต้องลงสวดในโบสถ์ทุกๆกึ่งเดือน เรียกว่า ลงสวดพระปาฏิโมกข์ และยังมีข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นมารยาทในด้านต่างๆ อีกเป็นพันข้อ โดยระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนนี้เอง ที่ทำให้บุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นๆรู้ถึงสิ่งที่ตนควรทำและสิ่งที่ตนควรเว้น พอทุกคนรู้กฏระเบียบอย่างชัดเจนและปฏิบัติเหมือนกันอย่างนี้ ก็เปรียบเสมือนรถที่วิ่งบนถนน ที่มีทั้งรถยี่ห้อดัง ราคาแพงๆ ไปจนถึงรถราคาถูกๆ สภาพเก่าๆ มากมาย แต่ถ้าคนบังคับรถทุกคันเคารพกฏจราจร เราก็จะมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางได้โดยราบรื่น แต่ถ้าเราปล่อยให้รถวิ่งบนถนนโดยไม่มีกฏจราจร ต่างคนต่างวิ่งแซงกันอุตลุด ไม่นานรถก็จะวิ่งชนกัน การมีกฏกติกาควบคุมให้ปฏิบัตินี้เองที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายอยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก เรียกว่า มีศีลเสมอกัน เป็นพื้นฐานของคนที่แตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก

 

หัวใจสำคัญประการที่ 3
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่า เมื่อได้ลาภมาก็แบ่งปันกันไป พูดง่ายๆว่า แบ่งปันลาภด้วยความเสมอภาค
และเท่าเทียมกัน หากไม่มีความยุติธรรมในสังคม เช่น มีการออกกฏหมายเอื้อให้คนบางชนชั้นได้เปรียบ และคนบางชนชั้นเสียเปรียบ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่า ถูกเอารัดเอาเปรียบ สร้างความไม่พอใจจนเกิดกระบวนการ
ต่อต้าน และต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมขึ้น สุดท้ายจะเกิดความปั่นป่วนในสังคม เพราะฉะนั้นทุกสังคมล้วนต้องการความยุติธรรมความเสมอภาค และมีกติกาในการแบ่งปันทรัพยากรกันอย่างเป็นธรรม

 

หัวใจสำคัญประการที่ 4 - 6
    ทั้ง 3 ข้อนี้ คล้ายกัน แต่คนละด้าน คือจะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้ และชี้นำให้สร้างวัฒนธรรม 
ที่ทำให้ทุกคนคิดถึงคนอื่นด้วยใจที่เมตตาด้วยคำพูดที่เมตตา และด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาเรียกได้ว่ามี มโนกรรม คือความคิดประกอบด้วยเมตตาและมี วจีกรรม คือคำพูดประกอบด้วยเมตตา ที่สำคัญต้องมี กายกรรม คือการกระทำประกอบด้วยเมตตาสิ่งเหล่านี้บังคับได้ยาก ต้องใช้การรณรงค์และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งว่า คนในสังคมนี้ไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม ต้องมีแนวความคิดเหมือนกันทุกคนว่า เราเป็นเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมสังคม เพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะขยายใจให้ใหญ่เท่าไรก็แล้วแต่ ถ้าเราอยู่ในชาติ อย่างน้อยเราก็เป็นเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน


    ยกตัวอย่าง คนยิวที่ถูกขจัดพลัดพรากกันไปสองพันกว่าปี บางคนไปเป็นคนยิวในรัสเซียบางคนไปเป็นคนยิวในเอธิโอเปีย บางคนกลายเป็นคนผิวดำไปแล้วก็มี บางคนไปเป็นคนยิวในแถบยุโรปก็มี แต่อย่างไรก็ยังถือว่าพวกเขาเป็นคนยิวอยู่ดี ถึงคราวตั้งประเทศอิสราเอล คนยิวทุกคนมีสิทธิ์กลับมาอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลได้หมด เมื่อเท้าแตะแผ่นดินก็ได้สัญชาติทันที พวกเขาไม่ต้องขออนุญาตใคร คนยิวสามารถอยู่ในอิสราเอลได้หมดทุกคนให้เราลองนึกภาพตาม บางคนอ้างว่าตนเองเป็นคนยิวแต่มีผิวดำ บางคนมีผิวขาวแบบคนรัสเซีย
 บางคนมีผิวขาวแบบคนเยอรมันบางคนมีผิวขาวแบบคนฝรั่งเศส เพราะร้อยหลายพันปี มีการแต่งงานกันข้ามเชื้อชาติจนเชื้อชาติประสมกันไปหมด แต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นคนยิว เพราะพวกเขามีบรรพบุรุษเป็นคนยิวนั่นเองพอพวกเขามาอยู่ในประเทศอิสราเอลแล้ว ก็ต้องสร้างความรู้สึกว่าเป็นคนยิวด้วยกัน มีมโนกรรม วจีกรรมและกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ความสมัครสมานสามัคคีก็เกิดขึ้น แม้จะมีความแตกต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้ คนหมู่มากทั้งในบริษัท ในองค์กรที่เล็กลงมาและในชุมชนจะให้เกิดความสามัคคี ก็ต้องรณรงค์สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ต้องคิด พูด ทำประกอบด้วยเมตตา ความสมัครสมานสามัคคีจึงจะเกิดขึ้นได้ 

 

    สรุปได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ สาราณียธรรม 6 หลักการอยู่ร่วมกันไว้ ได้แก่ 1. กายกรรม ประกอบด้วยเมตตา 2. วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา 3. มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา  โดยทั้ง 3 ข้อนี้ ต้องอาศัยการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมองค์กร 4.  แบ่งปันลาภด้วยด้วยความยุติธรรม 5. มีศีลเสมอกันโดยมีกฏกติกาในการอยู่ร่วมกันชัดเจนและ 6. มีทิฐิเสมอกันคือมีความคิดเห็น มีเป้าหมายและอุดมการณ์ตรงกัน หากปฏิบัติได้ครบ 6 ข้อ แม้พื้นฐานเดิมของแต่ละคนจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป แต่หมู่คณะนั้นจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไป

-----------------------------------------------------------------

หนังสือ " The Lover รักเป็นจะเห็นใจ "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010422507921855 Mins