เพียรฝ่าฟัน วันอัศจรรย์ของฉัน

วันที่ 06 มค. พ.ศ.2559

เพียรฝ่าฟัน วันอัศจรรย์ของฉัน

    สาเหตุที่ตรัสชาดก ณ พระวิหารเชตวัน ภิกษุ นทนาในโรงธรรมว่า พวกอัญญเดียรถีย์พยายามทำอันตรายแก่ทานที่ควรถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่อาจทำอันตรายได้ เครื่องบริขารทั้งปวงมาถึงบาทมูลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด พระทศพลเสด็จมาทรงทราบเรื่องที่สนทนาแล้วตรัสว่า มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนชนเหล่านี้ก็พยายามมาแล้ว แต่เครื่องบริขารก็มาถึงแทบบาทมูลของเราทุกครั้ง ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าดังนี้..

    ในอดีต ณ นครแห่งหนึ่ง มีพิธีทำมงคลช้างเป็นราชประเพณีทุกปี ตำแหน่งนี้ผูกขาดอยู่ในตระกูลปุโรหิตมาหลายชั่วอายุคน ต่อมาปุโรหิตได้ถึงแก่กรรมลง ทายาทผู้ สืบทอดก็ยังเป็นเด็กเล็กอยู่พวกพราหมณ์รีบฉวยโอกาสนี้ไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า..

"ข้าแต่มหาราช! พิธีมงคลช้างใกล้วันเข้ามาแล้ว บุตรของปุโรหิตก็ยังเด็กนักไม่รู้สูตรกล่อมช้างขอให้พวกข้าพระองค์ทำแทนเถิด พระเจ้าข้า"พระราชาทรงอนุญาต พราหมณ์พากันร่าเริงดีใจที่ได้ลาภลอย เนื่องเพราะทำพิธีแต่ละครั้งได้เงินมาตั้งหนึ่งโกฏิ

 

    ณ บ้านท่านปุโรหิต ภรรยาปุโรหิตเพิ่งเสร็จงานศพสามีสร่างโศกได้ไม่ทันไรก็ต้องคร่ำครวญร้องไห้อีกครั้ง บุตรเห็นมารดาร้องไห้จึงเข้าไปสอบถาม..

"ร้องไห้ทำไมเหรอแม่"
"การทำมงคลช้างเป็นหน้าที่ของเรามาเจ็ดชั่วตระกูลแล้ว วงศ์ของเราจะเสื่อมสูญและสิ้นทรัพย์แล้วล่ะลูก"
มารดาตอบไปพลางสะอื้นไปอย่างไร้ที่พึ่ง น่าเวทนายิ่งนัก

 

    บุตรน้อยสงสารแม่จับใจ รู้สึกเห็นใจแม่ที่ต้องรับภาระครอบครัวแทนพ่อ แม้ตนเองจะยังเด็กไม่รู้วิชาทำมงคลช้างเลย แต่ก็มิอาจทนดู ภาพเยี่ยงนี้ได้ จึงตัดใจสู้กับความลำบาก ทำใจให้เด็ดเดี่ยวตั้งใจว่าจะต้องทำหน้าที่แทนพ่อให้จงได้ เข้าไปปลอบแม่ว่า..

"แม่อย่าเสียใจไปเลยนะ.. ลูกจะทำแทนพ่อให้ได้"
"ลูกแม่! ลูกไม่รู้ไตรเพท ไม่รู้สูตรกล่อมช้างเลย ลูกจะทำได้อย่างไรกัน"
มารดากล่าว
"เขาจะทำพิธีกันเมื่อไหร่หรือครับ" บุตรถาม
"จากนี้ไปอีก 4 วันน่ะลูก" มารดาตอบ
บุตรชายมีดวงตาแจ่มใสเป็นประกายขึ้นอย่างมีหวัง ถามต่อว่า..
"แม่จ๋า อาจารย์สอนไตรเพทที่รู้สูตรกล่อมช้างมีอยู่ที่ไหนหรือครับแม่"
"ที่เมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ จากนี้ไปร้อยยี่สิบโยชน์นะลูก!" มารดาตอบ


             บุตรปุโรหิตฟังแล้วไม่รู้สึกอ่อนแรงหรือหมดกำลังใจเลยสักนิด เพราะทำใจไว้แล้วว่าจะลำบากแค่ไหนก็จะทำให้ได้ แม้ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพียงไหนก็จะยอมทั้งหมด จึงรีบคิดวางแผนคำนวณเวลาเสร็จสรรพ เมื่อพร้อมแล้วก็กราบลาแม่ว่า..

"แม่จ๋า ลูกจะไม่ยอมให้วงศ์ของเราพินาศหรอก พรุ่งนี้ลูกจะไปแต่เช้า ต้องเดินทางวันเดียวให้ถึงที่เรียน! ต้องเรียนวิชาให้จบภายในคืนเดียว! รุ่งขึ้นอีกวันต้องกลับมาให้ทันทำพิธี!"บุตรปุโรหิตออกเดินทางลำพังแต่เช้า วิ่งไปโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างทั้งสิ้น ยิ่งมิอาจสับสนหนทางได้ ต้องใช้สติตลอดเวลา แม้อ่อนล้าหมดแรงก็แข็งใจวิ่งต่อไปไม่ยอมหยุดพัก ในที่สุดก็ถึงตักกสิลาในเย็นนั้นได้สำเร็จ! เมื่อเห็นอาจารย์แล้วก็รีบเข้าไปไหว้อาจารย์ เล่าเรื่องราวให้ฟังแล้ว


"ท่านอาจารย์ขอรับ! งานของกระผมค่อนข้างด่วนมาก ขอท่านอาจารย์ให้โอกาสแก่กระผมสักคืนหนึ่งเท่านั้น กระผมขอเรียนทุกวิชาเพียงแต่หัวข้อเท่านั้น ขอรับ"

           กล่าวเสร็จก็เข้าไปล้างเท้าอาจารย์ วางถุงทรัพย์พันหนึ่งไว้ให้อาจารย์แล้วเริ่มเรียนวิชาทันที
..อรุณขึ้นขอบฟ้าแล้ว
"ยังมีสิ่งอื่นอีกไหมครับ ท่านอาจารย์" ศิษย์ถาม
"ไม่มีแล้ว จบหมดแล้ว!" อาจารย์ยืนยัน

 

    ศิษย์กราบลาบูชาคุณอาจารย์ แล้ววิ่งกลับไปกรุงพาราณสีทันที บัดนี้แผนการสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วคงเหลือแต่กลับไปให้ทันและทำพิธีมิให้ผิดพลาดเท่านั้น! ยังประมาทดีใจไปก่อนมิได้เด็กชายวิ่งไปไม่มีเวลาหยุด ในที่สุดก็ถึงบ้านก่อนมืดพอดี มารดาเข้ามาหาบุตรอย่างเป็นห่วง บุตรกราบมารดา แจ้งว่าเรียนจบแล้ว มารดาหายโศก ปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก วันสำคัญที่สุดคือพรุ่งนี้ ความพยายามที่ทำมาจะบรรลุผลหรือไม่ ก็ขึ้นกับวันพรุ่งนี้ เด็กชายใจจดจ่อรอคอย พรุ่งนี้ต้องใช้ความกล้าหาญหากประหม่าทำติดขัดความพยายามที่ทำมาทั้งหมดก็ต้องสูญความหวังที่ตั้งไว้พังลงหมด!

 

    รุ่งขึ้น พระเจ้าสุสีมะเสด็จไปยังมงคลสถาน บุตรปุโรหิตแต่งตัวเต็มยศไปที่ลานพิธี โดยมีเหล่าสหายและบริวารของปุโรหิตห้อมล้อมมากมาย เด็กชายเข้าไปกราบทูลพระราชาว่า.."ข้าแต่มหาราช! พระองค์ยังทรงระลึกถึงวงศ์ของข้าพระองค์ได้ไหม พระเจ้าข้า เหตุไรพระองค์จึงทิ้งข้าพระองค์ แล้วให้ผู้อื่นทำพิธีมงคลช้างแทนล่ะ พระเจ้าข้า"พระราชาตรัสอนุญาตให้บุตรปุโรหิตลองทำพิธีดู บุตรปุโรหิตทุ่มเทสมาธิทำจนสุดกำลัง ใน
พิธีนั้นไม่อาจมีใครมาทัดเทียมบุตรปุโรหิตได้แม้แต่คนเดียว บุตรได้รับตำแหน่งแทนบิดานับแต่นั้นมา..

 

ประชุมชาดก
          พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า มารดาครั้งนั้นมาเป็นมหามายา บิดามาเป็นพระเจ้าสุทโธทนะพระราชาสุสีมะมาเป็นอานนท์ อาจารย์ทิศาปาโมกข์มาเป็นโมคคัลลานะ มาณพคือตถาคตแลจากชาดกเรื่องนี้ บุตรปุโรหิตไม่คิดยอมรับชะตากรรมที่ทำได้แค่อยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้สูญสิ้นเกียรติยศ ให้มารดาอนาถาน่าสงสาร แต่คิดสู้บากบั่น ยินดีรับความลำบาก แม้แทบจะไม่เห็นทางสำเร็จ แต่เมื่อไม่ยอมจำนน โอกาสก็เกิดขึ้นมนุษย์สูญเสียโอกาสดีๆ ไปมากมาย ก็เพราะ "ความกลัว"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์ก็คือความกลัวในตัวมนุษย์นั้นเอง เช่น กลัวความลำบาก กลัวสูญเสียความสะดวกสบาย กลัวตาย กลัวล้มเหลว กลัวอับอายขายหน้า ไม่กล้าหักใจแก้ไขนิสัยตนเอง ไม่กล้าเปลี่ยนความคิดของตน จึงหนีอุปสรรคอยู่ร่ำไป พอสิ่งใดเข้ามาในชีวิต ก็ตั้งป้อมป้องกันตนเอง กลัวว่าสิ่งนั้นจะมาพรากความสะดวกของตนไป ถ้าได้มาง่ายๆ ก็รับไว้ หากต้องทนลำบากก็ปฏิเสธไป ชีวิตมีแต่คอยหลบหลีกภาระและอุปสรรคต่างๆ รอบตัว ซุกตัวอยู่ในโลกที่คับแคบจนไม่กล้าทำอะไร กลายเป็นคนที่ไม่เคยล้มเหลว เพราะไม่ทำอะไรเลย กระทั่งยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงนิสัยตนเอง ชีวิตก็อับเฉาลง กลายเป็นคนที่ล้มเหลวที่สุดในชีวิตโดยมีความสะดวกสบายล่อให้ติดอยู่ นิสัยรักสบายนี้เอง ทำให้เกิดนิสัยเกียจคร้านและขลาดกลัว


           วิริยะคือ "ความขยันและกล้าหาญ" จะทำลายนิสัยดังกล่าวได้ ซึ่งต้องมีนิสัยยินดีรับความลำบากให้
ได้เสียก่อน โดยเอาอุปสรรคเป็นขั้นบันไดให้ตนเดินขึ้นไป หาควรนำอุปสรรคเป็นกำแพงขังตนเองไว้ไม่
"นิสัยไม่ชอบความเกียจคร้าน, ไม่ชอบความสบาย, เห็นความสบายเป็นเครื่องหมกตัวเอง เป็นของดักดาน ชั่วช้า น่ารังเกียจ ทำลายความก้าวหน้า เอาแต่ความเกียจคร้านมาให้,ชอบพัฒนาปรับปรุงตนเองและสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา, กล้าแก้ไขเหตุการณ์ ไม่กลัวอุปสรรค,รักการสะสมความดีไม่มีสิ้นสุด และยินดีรับความลำบาก" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในวิริยบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011756499608358 Mins