สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้ตรัสชื่นชมภิกษุผู้เลี้ยงมารดาว่า รักษาวงศ์ของโบราณกบัณฑิตทั้งหลายไว้ เพราะบัณฑิตแม้เกิดในเดียรัจฉานก็ยังให้ชีวิตแก่มารดาบิดา แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาสาธกดังนี้..
ในอดีต มีพระราชาเมืองหนึ่งทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการล่าเนื้อเป็นอย่างมาก ทรงเสด็จเข้าป่าล่าเนื้อทุกวันจนชาวบ้านต่างเดือดร้อน หากินไม่สะดวก ชาวบ้านได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า..
"พระราชาพระองค์นี้นี่ทำให้พวกเราทำงานไม่ได้เลย เพราะทรงเอาแต่รุกที่ล่าสัตว์ครอบครัวของพวกเราจะพากันล่มจมเสียก่อนนะซี! พวกเราน่าจะต้อนฝูงสัตว์ให้มารวมกันที่ทุ่งหญ้าที่เดียวกัน แล้วล้อมที่เอาไว้ นำไปถวายให้พระราชาได้ล่าสัตว์ในที่นี้แทนเถอะ พวกเราเห็นด้วยไหม"
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันจึงเริ่มดำเนินการต้อนฝูงกวางในป่าใหญ่ ขณะนั้นกวางตัวหนึ่งชื่อนันทิยะได้พาพ่อแม่ไปนอนอยู่ในป่าดอนเล็กๆกวางนันทิยะเห็นคนล้อมเข้ามานึกห่วงแต่พ่อแม่เท่านั้นคิดว่า..
"วันนี้เราจะสละชีวิตให้ชีวิตเป็นทานเพื่อพ่อแม่ของเรา"
กวางนันทิยะลุกขึ้นไหว้พ่อแม่แล้วกล่าวว่า..
"พ่อจ๋าแม่จ๋า ถ้ามีคนเดินเข้ามา พ่อกับแม่อย่าออกไปนะจ๊ะ"
ชาวบ้านเดินเข้ามาฟาดพุ่มไม้ กวางนันทิยะก็รีบกระโจนพรวดออกไปทันที พวกชาวบ้านเข้าใจว่า ในตอนนี้คงมีกวางอยู่แค่ตัวเดียวจึงไม่เดินลึกเข้าไปอีก ชาวบ้านต้อนเนื้อทุกตัวเข้าสวนกั้นประตูทูลมอบถวายให้พระราชา แต่นั้นมาเนื้อก็ถูกสังหารวันละตัวเพื่อเป็นอาหารของพระราชา ถึงวาระใครเนื้อตัวนั้นก็ไปยืนเป็นเป้านิ่งที่ลานสังหาร นันทิยะดื่มน้ำในสระ กินหญ้าแสนอร่อยรอคอยวาระของตนมาถึง...
หลายวันผ่านไป พ่อแม่ของกวางนันทิยะคิดถึงลูกมาก รู้ว่าลูกมีพละกำลังมากสามารถกระโดดข้ามรั้วออกมาได้จึงฝากความไปถึงนันทิยะว่าพ่อแม่คิดถึงมาก พ่อแม่แก่แล้วอยากพบหน้าลูกเหลือเกิน
"มีใครชื่อนันทิยะบ้างไหม" ผู้ส่งสาส์นตะโกนถามเข้าไปในคอก
"ข้าพเจ้าเอง!" นันทิยะตอบพลางกระโดดมายืนใกล้ๆ รอฟังข่าว เมื่อทราบสาส์นแล้วจึงตอบกลับไปว่า..
"ข้าพเจ้าต้องกลับไปหาพ่อแม่แน่ล่ะ แต่จะไม่กระโดดข้ามรั้วไปเนื่องเพราะข้าพเจ้าได้กินน้ำและหญ้าของพระราชาอยู่ในฐานะเป็นหนี้ชีวิตเขาแล้ว ข้าพเจ้าก็อิ่มท้องสุขสบายอยู่ในนี้มานาน ยังไม่ได้ตอบแทนพระราชาเลย ข้าพเจ้าจะไม่กินอาหารของพระราชาเปล่าๆ ข้าพเจ้ารอคอยวาระอยู่ จะเอียงสีข้างให้พระราชาทรงยิง หากเมื่อใดเราพ้นภัย พระราชาทรงอนุญาตแล้ว เราคงเป็นสุขใจได้กลับไปพบแม่บ้าง" กวางนันทิยะฝากความไปถึงพ่อแม่แล้วกลับเข้าไปในคอกดังเดิม
ต่อมาวาระของนันทิยะก็มาถึง พระราชาทรงโก่งคันธนู กวางนันทิยะยืนสงบเป็นเป้านิ่งแล้วแผ่เมตตาให้พระราชาอยู่ พระราชาโก่งธนูสุดแรงแต่ลูกศรมิยอมหลุดออกจากแล่งสักที พระราชาทรงฉงนพระทัยยิ่งนัก ทรงทอดพระเนตรดูกวางนันทิยะก็นึกเอ็นดูค่อยๆ คลายพระทัยคิดเบียดเบียนพร้อมกับทรงเลื่อมใสในกวางนันทิยะ ทรงดำริว่าลูกศรนี้คงจะรู้คุณกวางตัวนี้เป็นแน่จึงยิงอย่างไรก็ไม่ออก ทรงทิ้งธนูแล้วตรัสว่า..
"ท่อนไม้ไม่มีจิตยังคิดถึงคุณธรรมของท่านได้ ข้าพเจ้าเป็นคนเสียเปล่ากลับไม่รู้เลย เราขออภัยเจ้าด้วย"
กวางนันทิยะทูลว่า..
"เมื่อพระองค์ให้อภัยแก่หม่อมฉันได้ แล้วฝูงกวางทั้งหมดในอุทยานนี้ล่ะ พระเจ้าข้า"
"อืม เราก็ให้อภัยด้วยเช่นกัน" พระราชาตัดพระทัยสละให้
"แล้วนกบนฟ้า ปลาในน้ำสัตว์บนบกล่ะ พระเจ้าข้า" กวางนันทิยะทูลถามต่อ
"ตกลง เราให้อภัยทั้งหมดตามที่เจ้าขอ" พระราชาตรัสตอบ
"อย่างนั้น ขอพระองค์ทรงมั่นอยู่ในศีล 5 เถิด พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงละอคติมีทศพิธราชธรรมให้สม่ำเสมอ และขอให้ทรงตรวจดูกุศลธรรมเหล่านี้ที่สถิตอยู่ในพระองค์คือ ทาน ศีลการบริจาคความซื่อตรงความอ่อนโยนความเคร่งครัดความไม่พิโรธ การไม่เบียดเบียนความอดทนความไม่ผิดพลาดเถิด แล้วปีติและโสมนัสจะเกิดขึ้นแก่พระองค์หาน้อยไม่เลย พระเจ้าข้า"
พระราชาทรงโสมนัสเป็นที่ยิ่งเพราะทรงไม่เคยได้ยินสัตว์กล่าววาจาเป็นธรรมน่าฟังถึงเพียงนี้มาก่อนเลย พระทัยของพระองค์อ่อนลงดุจทองลนไฟ เกิดความเลื่อมใสที่จะประพฤติธรรมตามที่กวางแนะนำมาทุกประการ พระราชายึดถือคุณธรรมมั่นคง เมื่อพระองค์และชาวเมืองละโลกแล้วก็ไปสวรรค์กันถ้วนหน้าสำหรับกวางนันทิยะก็ได้กลับไปหาบิดามารดาปรนนิบัติท่านทั้งสองอย่างสุขใจทุกวันคืน..
ประชุมชาดก
พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า บิดามารดามาเป็นราชตระกูล ราชามาเป็นพระอานนท์นันทิยมฤคราชมาเป็นตถาคตแล
จากชาดกเรื่องนี้ กวางมีความกตัญูต่อบิดามารดาอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นผู้มีสัจจะอย่างยิ่งอีกด้วย แม้ผู้ให้อาหารตนจะเป็นศัตรูผู้คิดฆ่าก็ยังแยกแยะดีชั่วออกส่วนดีคือได้ให้อาหารเลี้ยงชีพตน เมื่อตนเป็นหนี้ชีวิตก็ยอมมอบกายให้ส่วนชั่วคือคิดฆ่าตนก็แผ่เมตตาให้ ไม่ถือสา ไม่เอาดีชั่วมาปนกันจนทำให้ลืมพระคุณในส่วนที่ดี
"นิสัยยึดมั่นในสัจจะ โดยไม่เห็นแก่สุขส่วนตัว, ไม่ลืมคุณคน และรู้จักแยกแยะดีชั่ว"
ทั้งหมดจึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในสัจจบารมี
-----------------------------------------------
SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี
กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย