หัวใจบัณฑิต

วันที่ 25 มค. พ.ศ.2559

หัวใจบัณฑิต

               สาเหตุที่ตรัสชาดก ภิกษุสนทนากันที่ธรรมสภาว่าสมเด็จพระชินสีห์ทรงย่ำยีถ้อยคำกล่าวร้ายของผู้อื่น ด้วยอานุภาพแห่งพระปัญญาของพระองค์ ทรงทรมานให้หมดพยศแล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล ดำเนินสู่อมตมหานิพพาน พระจอมมุนีเสด็จมา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนาแล้วตรัสว่า ข้อที่ตถาคตได้บรรลุพระโพธิญาณแล้วแนะนำชนทั้งหลายได้เช่นนี้ไม่น่าอัศจรรย์ ตถาคตเมื่อกำลังแสวงหาพระสัพพัญุตญาณในภพก่อนก็ย่ำยีถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายเหมือนกัน เมื่อภิกษุทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องอดีตมาดังนี้..

 

             อดีตกาลนานมาแล้ว มีพระราชานามว่าธนัญชัยโกรพยราช พระองค์มีอำมาตย์ชื่อวิธุรบัณฑิตดำรงตำแหน่งผู้ถวายอรรถธรรม

               วันหนึ่ง ขณะที่พระราชาทรงเล่นสกา จู่ๆ ก็มีบุรุษหนุ่มผู้หนึ่งปรากฏตัวมาขอท้าเล่นสกากับพระองค์ ชายหนุ่มผู้นี้พกแก้วมณีวิเศษและม้าอัศจรรย์มาเป็นของเดิมพัน แล้วทูลถามพระราชาว่าจะให้อะไรตนเป็นของเดิมพัน พระราชายินดีให้ชายหนุ่มเลือกเอาของทั้งหมดได้ตามความพอใจ โดยยกเว้นตัวพระองค์กับพระมเหสีและเศวตฉัตรเท่านั้น จากนั้นพระราชาจึงรับสั่งให้อำมาตย์จัดแจงโรงสกาทันที พระองค์ทรงทอยลูกสกาไอย่างมั่นใจว่าพระองค์ต้องทรงชนะอย่างแน่นอน แต่พระราชาแพ้! ชายหนุ่มหัวเราะเริงร่า พระราชาทรงไม่เคยเล่นแพ้ใครมาก่อนเลย จึงให้อัปยศอดสูพระทัยยิ่งนักตรัสให้ชายหนุ่มเลือกเอา ช้าง ม้า โค แก้วมณี รัตนสมบัติทั้งหลายไปได้ตามความพอใจ แต่บุรุษหนุ่มนี้กลับขอเพียงสิ่งเดียวคือ วิธุรบัณฑิต!

 

           พระราชาทรงปฏิเสธทันที ตรัสว่า..
"วิธุรบัณฑิตเป็นเช่นกับตัวเรา! เราให้เจ้าไม่ได้หรอก!"


         พระราชาทรงให้บุรุษหนุ่มเลือกอย่างอื่นแทน แต่ชายหนุ่มก็ยืนยันไม่ยอมเลือกอย่างอื่นเด็ดขาด กลับเลือกเอาวิธุรบัณฑิตแทนอย่างอื่นทั้งหมด พร้อมทั้งกล่าวว่า..
"ป่วยการที่จะโต้เถียงกัน! เราไปถามท่านวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ว่าจะตัดสินยังไง ถ้าวิธุรบัณฑิตตอบอย่างไรก็ตกลงตามนั้น ท่านจะตกลงไหม"

 

            พระราชารับคำ ทั้งสองจึงมุ่งตรงไปยังโรงธรรมสภา วิธุรบัณฑิตลงมาถวายบังคมพระราชาบุรุษนั้นได้กล่าวว่า..
"ท่านบัณฑิต! กิตติศัพท์ท่านระบือลือไกลไปว่าท่านนั้นตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พูดเท็จแม้ต้องตาย วันนี้เราจะเห็นว่าสมคำร่ำลือหรือไม่ วันนี้พระราชาทรงแพ้พนันข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลือกท่านเป็นรางวัล ท่านเห็นสมควรหรือไม่"

 

             วิธุรบัณฑิตสอบถามกติกาจากพระราชา แล้วลงความเห็นว่า บุรุษนี้สมควรได้ตนไปโดยชอบธรรม บุรุษหนุ่มปรบมือเริงร่ากล่าวว่า..
"วิธุรบัณฑิตเป็นปราชญ์ แต่พระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพเจ้า"

 

             พระราชาทรงโทมนัสที่เห็นวิธุรบัณฑิต ไม่เห็นแก่พระองค์บ้างเลย กลับเห็นแก่ชายหนุ่มที่เพิ่งเห็นกันเป็นครั้งแรก ทรงเคืองพระทัยจึงตรัสแก่บุรุษนั้นว่า..

"ถ้าอย่างนั้นเชิญท่านรับเอาวิธุรบัณฑิตไปตามความชอบใจเถอะ!"

 

            แต่พระราชาก็ยังทรงอาลัยอาวรณ์วิธุรบัณฑิตอยู่ในพระทัยลึกๆ ทรงเสียดายว่าต่อไปนี้จะไม่ได้ฟังธรรมจากท่านบัณฑิตอีกแล้ว ทรงอ้อนวอนขอให้วิธุรบัณฑิตพักอยู่ก่อนสักคืนหนึ่งเพื่ออยู่แสดงธรรมก่อน ทรงเชิญบัณฑิตให้นั่งเหนือบัลลังก์แล้วตรัสถามว่า..

    "ท่านวิธุรบัณฑิต! คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจะประพฤติอย่างไรจึงจะปลอดภัย คนเราจะสงเคราะห์ต่อกันได้อย่างไร และจะไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร การกล่าวคำสัตย์เป็นอย่างไรเมื่อตายไปแล้วทำอย่างไรถึงจะไม่เศร้าโศก"

 

           วิธุรบัณฑิตทูลตอบพระราชาก่อนลาจากว่า..
"คนที่มีครอบครัวไม่ควรคบหาภรรยาผู้อื่นโดยเด็ดขาด ไม่ควรทานอาหารอร่อยแต่เพียงผู้เดียวควรแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย ไม่ควรพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์อันเป็นทางเสื่อมที่ไม่ได้ให้ทางสวรรค์และนิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญได้เลย ผู้ครองเรือนต้องมีศีล ประพฤติดี มีมารยาท ไม่ประมาท ฉลาดรู้เหตุรู้ผล และอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยอมเป็นคนตระหนี่ มีวาจาน่าคบหาและใฝ่หาความสงบเสงี่ยม เรียบร้อย อ่อนโยน เป็นคนมีเมตตาสงเคราะห์มิตรสหาย จำแนกแจกจ่ายทาน บำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ เป็นผู้เชื่อฟังธรรม ใคร่ในธรรม ทรงจำธรรมะไว้ได้ รู้จักไต่ถามผู้ทรงศีลอย่างสม่ำเสมอ ไม่เผอเรอกระด้าง ให้วางตัวเคารพ หากประพฤติจนจบได้เช่นนี้ จึงจะปลอดภัย คนเราจะสงเคราะห์ต่อกันได้อย่างนี้ จะไม่เบียดเบียนกันโดยประการที่ว่ามาแล้วนี้ ผู้ปฏิบัติตามนี้แลชื่อว่ากล่าวคำสัตย์ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วจะไม่เศร้าโศกเลย พระเจ้าข้า"

 

             วิธุรบัณฑิตกล่าวจบก็ทูลอำลาพระราชาแล้วตามบุรุษหนุ่มผู้เป็นนายใหม่ไป วิธุรบัณฑิตขอผัดผ่อนเวลาชายหนุ่มเพื่อจัดการธุระบางอย่างให้เสร็จ ได้ชวนบุรุษหนุ่มให้พักบ้านของตนก่อนสัก 3วันเพื่อขอโอกาสสั่งสอนบุตรภรรยาก่อนจากกันไปตลอดกาล บุรุษหนุ่มได้ฟังเหตุผลดังนั้นก็ยินยอมอีกประการก็นึกอยากตอบแทนคุณที่วิธุรบัณฑิตตัดสินให้ตนชนะด้วย

              บ้านของวิธุรบัณฑิตมีแต่ช้างและม้าอาชาไนยเต็มไปหมด หรือนี่คือทรัพย์ที่วิธุรบัณฑิตชมชอบสะสม ยังมีปราสาท 3 หลังสำหรับ 3 ฤดู วิธุรบัณฑิตเชิญบุรุษนั้นมาพักในปราสาทหลังที่ดีที่สุดสำหรับฤดูนี้ พร้อมทั้งบำรุงข้าว น้ำ ดนตรีสิ่งบันเทิงเริงสุขทุกชนิด เพื่อมิให้แขกต้องเบื่อหน่ายจากนั้นก็กลับห้องของตน ให้ภรรยาไปตามทุกคนในบ้านมารวมตัวกันที่ห้องโถงใหญ่ แจ้งข่าวถึงการพบกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย! ภรรยาน้ำตานองหน้าเรียกหาทุกคนด้วยใจเลื่อนลอย วิธุรบัณฑิตเห็นบุตรธิดา มาแล้วก็ให้เกิดสิเน่หา น้ำตาไหลพรากกอดจูบลูบศีรษะอย่างอาลัยรัก จากนั้นก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทุกคนทราบ แล้วกล่าวว่า..

    "ครั้งนี้ พ่อมาเพื่อสอนสั่งสร้างเครื่องป้องกันให้แก่ลูกๆ หากพระราชาทรงต้องการกัลยาณมิตรแล้วมาตรัสถามลูกทั้งหลายว่าพ่อพร่ำสอนอันใดไว้บ้าง ลูกๆ จะได้แนะนำพระองค์ได้ถูกทางไม่ติดขัดเมื่อพระราชาตรัสอย่างพอพระทัยว่าให้พวกเจ้าทั้งหลายจงมานั่งอาสนะเสมอกันกับเราเถิด พวกเจ้าจงจำไว้เลยว่า! ไม่มีมนุษย์คนไหนจะมีชาติคู่ควรกับพระราชา พวกเจ้าอย่าขึ้นนั่งตีเสมอพระองค์เป็นเด็ดขาด! ข้อนี้สำคัญนะลูก!

 

             ลูกทั้งหลายต้องถวายบังคมกราบทูลพระองค์ว่า..
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้าสิ่งนี้มิใช่ธรรมเนียมขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์เลยเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอกที่มีชาติต่ำต้อยจะมีอาสนะเสมอด้วยพญาไกรสรราชสีห์นั้นหาสมควรไม่พระเจ้าข้า"

 

        ทุกคนในบ้าน มีภรรยา บุตรชาย บุตรสะใภ้ ญาติทั้งหลาย และทาสกรรมกรทั้งหมด นั่งฟังนิ่งเงียบ น้ำตาไหลพรากไม่ขาดสาย วิธุรบัณฑิตเห็น ภาพดั่งนี้เริ่มจะมีใจหดหู่ จึงกล่าวต่อว่า..

 "พวกเราอย่าได้วิตกไปเลย! อย่าเศร้าโศกพร่ำพิไรร่ำพันกันนักเลยสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โลกสมมุติยศขึ้นมาย่อมมีวิบัติเป็นที่สุด บัดนี้เราจะแสดงจริยาวัตรของผู้รับใช้พระราชาคือ ราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดยศแก่พวกเจ้า พวกเจ้าจงตั้งใจสดับราชวสดีธรรมนี้ให้ดีนะ..

 

           ผู้เข้าไปสู่ราชสกุลโดยพระราชาไม่ทรงทราบ ย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไปไม่ควรขลาดเกินไป ควรไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติที่ดีมีปัญญาเป็นผู้ซื่อตรงบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้นย่อมทรงวางพระทัย และไม่ทรงปิดบังความลับ

               ราชเสวกที่พระราชามิได้เรียกใช้อย่าพึงหวั่นไหวน้อยใจ ต้องรักษาความดีให้เที่ยงตรงเหมือนตราชูไม่ยุบลงไม่ฟูขึ้น ราชเสวกพึงตั้งใจทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย ฉลาดในราชกิจที่พระราชาตรัสใช้ ให้มีความขยันทั้งกลางวันและกลางคืน อย่าหวั่นไหวในราชกิจนั้นๆ หนทางใดที่เขาตบแต่งไว้สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน แม้พระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินทางนั้นทำเช่นนี้แล้ว ราชเสวกนั้นจะอยู่ในราชสำนักได้"

 

              ราชเสวกไม่พึงใช้สมบัติทัดเทียมกับพระราชาในกาลทุกเมื่อควรเดินข้างหลังในทุกกรณีไม่ใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา และต้องไม่ประพฤติอากัปกิริยาหรือพูดจาทัดเทียมเลียนแบบพระราชาเป็นอันขาด! ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างอื่นไป

              เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ซึ่งมีพระสนมกำนัลมาเฝ้าล้อมรอบอยู่ ราชเสวกต้องไม่ทำการสนิทสนมในพระสนมกำนัลเหล่านั้น ไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน หรือคะนองกายและวาจาพึงมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ต้องสำรวมอินทรีย์สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี อย่ามองดูอวัยวะน้อยใหญ่ของพระราชา และไม่มองหาดูตำหนักนางสนมกำนัลของพระราชานั้น ไม่ควรผูกพันเล่นหัวเจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน มิให้หยิบเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ไม่มัวห่วงการหลับนอน ไม่ดื่มสุราจนเมามาย และไม่ฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัยโทษ

 

               ราชเสวกต้องไม่ขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือและรถพระที่นั่งด้วยอาการทะนงตนว่าเป็นคนโปรดปราน ไม่ควรเฝ้าให้ไกลนักหรือใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอ ทอดพระเนตรเห็นถนัด และพอจะได้ยินชัดในพระราชดำรัสไม่ควรวางใจว่าพระราชาเป็นเพื่อนของเราหรือพระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้โดยเร็วไวเหมือนผงเข้านัยน์ตาราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตที่พระราชาทรงไว้ใจบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลคำหยาบคายกับพระราชาท่ามกลางบริษัท ไม่พูดถ้อยคำเป็นเหตุให้พระราชาทรงพิโรธ

            ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานเป็นคนพิเศษให้เข้าประตูได้ก็อย่าได้วางใจ ถ้าไม่ได้รับราชอนุญาตอย่าเพิ่งเข้าไปพึงสำรวมตนทุกเวลา หากพระราชาจะทรงยกย่องพระราชโอรสหรือพระราชวงศ์ด้วยกัน ราชเสวกควรนิ่งดูก่อนไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษโดยเด็ดขาด! เมื่อพระราชาทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขาราชเสวก ไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกพึงโอนไปเหมือนคันธนูและลู่ไหวตามลมเหมือนต้นไผ่ อย่าได้ไปทูลทัดทานความดีความชอบเขา

 

            ราชเสวกต้องเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู รู้ประมาณในอาหาร มีปัญญาเครื่องรักษาตน เป็นคนองอาจ ไม่มัวเมาในหญิงซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช มีเพทภัยประสบโรคมากมาย ทำให้กระวนกระวายและอ่อนกำลัง ต้องไม่พูดมากเกินไปและไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ ไม่พร่ำเพรื่อ เมื่อถึงเวลาควรเปล่งวาจาก็เปล่งให้พอประมาณ อ่อนหวาน พูดคำจริง ไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ ไม่ส่อเสียด และไม่ควรพูดถ้อยคำอันเพ้อเจ้อ

    "ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล เพิ่มพูนหิริโอตตัปปะมีศิลปะฝึกตน เป็นคนอ่อนโยน ทำตนมีประโยชน์ อย่าประมาทสะอาดหมดจด เป็นคนขยัน เคารพยำเกรงผู้ใหญ่สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข เว้นห่างไกลจากทูตที่มาเกี่ยวกับความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูดเรื่องลับของเจ้านายในสำนักของพระราชาอื่น

 

               ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตนพึงเข้าไปสมาคมคบหากับสมณะผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพพึงน้อมนบรักษาอุโบสถศีล บำรุงเลี้ยงสมณะ ถามถึงสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่ห้ามทานของพระราชาจัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ตรวจตราดูลานข้าวสาลี ปศุสัตว์และนาเสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณมาเก็บไว้ในฉาง นับบริวารในเรือนแล้วหุงต้มให้พอดี ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้องหรือวงศ์ญาติที่ไม่มีศีลเป็นใหญ่ คนพาลไม่จัดว่าเป็นพี่น้องแต่เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว หากเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนักก็ควรให้ผ้านุ่งผ้าห่มและอาหารไปบ้าง แต่ต้องตั้งผู้มีศีลคนขยันหมั่นเพียรให้เป็นใหญ่ แม้เขาจะเป็นทาสกรรมกรก็ตามที

                ทั้งหมดนี้ชื่อว่าราชวัสดีธรรม เป็นข้อปฏิบัติสำหรับราชเสวก นรชนใดประพฤติตามย่อมยังพระราชาให้โปรดปรานและได้รับการบูชาในเจ้านายทั้งหลายแล"วิธุรบัณฑิตให้โอวาทบุตรจบก็เชิญหมู่ญาติมาเข้าเฝ้าพระราชา ถวายบังคมยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ทำประทักษิณพระราชาแล้วประคองอัญชลีกราบบังคมทูลว่า..

"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว ขอพระองค์จงอดโทษแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"
"ท่านบัณฑิต! เราไม่อยากให้ท่านไปเลย เราจะสั่งให้เอาบุรุษนั้นไปฆ่าก็แล้วกัน ท่านอย่าไปเลยนะ" พระราชาตรัสด้วยความอาลัย กระทั่งพาลไปโกรธแค้นบุรุษหนุ่มนั้น
"อัธยาศัยเช่นนี้มิบังควรแก่พระองค์เลย พระเจ้าข้า พระองค์อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยในอธรรมเลย ขอจงประกอบในอรรถและธรรมเถิด อกุศลกรรมไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียน จะต้องตกนรกในภายหลัง ข้าแต่พระจอมประชาชน ข้าพระองค์ขอกราบทูลลาไปแล้วนะ พระเจ้าข้า"

 

              ก่อนจากไป วิธุรบัณฑิตได้ไปสอนสั่งนางสนมกำนัลและข้าราชบริพารต่างๆ ถึงแนวทางปฏิบัติต่อพระราชาแล้วออกจากวังไปอำลาชาวเมืองที่มาส่ง เมื่อเห็นบุตรคนโตมารอส่งอยู่หน้าบ้านก็มิอาจกลั้นโศกาดูรไว้ได้ น้ำตาไหลพรากสวมกอดบุตรแล้วเดินเข้าบ้านบุรุษหนุ่มจึงรีบกล่าวกับวิธุรบัณฑิตว่า..
"เรารีบไปกันเถอะ! เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกไกลนะท่าน ท่านจับหางม้าอาชาไนยของเราตัวนี้ไว้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน!"

 

               วิธุรบัณฑิตกระชับผ้า จับหางม้า เอาขาเกี่ยวสองขาหลังม้าไว้แน่นแล้วให้สัญญาณบุรุษนั้นออกเดินทางได้ บุรุษหนุ่มกระตุกม้า พริบตานั้นม้ามโนมัยสินธพกระชากพาวิธุรบัณฑิตเหาะขึ้นฟ้าท่ามกลางสายตาที่ตื่นตะลึงของชาวเมืองที่มาส่ง ชาวเมืองยืนตะลึงตาค้าง มิใช่ตะลึงที่ม้า แต่ตะลึงที่ชีวิตของวิธุรบัณฑิต! การมาโดยลักษณะนี้และไปด้วยอาการเยี่ยงนี้ จากประสบการณ์ชาวเมืองพอจะคาดเดาได้ไม่ยาก บุรุษนั้นย่อมเป็นใครอื่นไปได้ยากนอกเสียจากยักษ์! ชาวเมืองพากันคร่ำครวญหวลไห้รำพันกันเป็นการใหญ่ วิ่งไปแจ้งพระราชาว่าบุรุษนั้นเป็นยักษ์ ต่างพากันบ่นพร่ำเพ้อไปตามหนทางเป็นการใหญ่

 

            บุรุษหนุ่มได้กลายร่างเป็นยักษ์จริงดังชาวเมืองคาดการณ์ ยักษ์คิดว่า..
"เราจะทุบวิธุรบัณฑิตให้ตายแล้วทิ้งซากไว้เอาแต่หัวใจไปยังนาคพิภพ มอบให้แก่พระนางวิมลานาคเทวี"

 

              ยักษ์หมายใจว่าจะขี่ม้ากระชากวิธุรบัณฑิตให้ชนต้นไม้หรือชนภูเขาจนตายแล้วค่อยควักเอาหัวใจ แต่พอโฉบไปถึงที่หมาย ต้นไม้ก็แหวกออก ภูเขาก็โหว่ออกหมด ยักษ์ควบม้ากลับไปกลับมาก็ไม่มีทีท่าว่าจะกระแทกวิธุรบัณฑิตได้เลย ยักษ์หันกลับมาดู วิธุรบัณฑิตยังคงยืนสงบนิ่งหน้าตาผ่องใสยักษ์โกรธควบม้าวิ่งฝ่าลมพายุร้ายหมายให้ลมหวนวิธุรบัณฑิตเป็นจุณ แต่ลมกลับวืดไปอย่างไม่น่าเชื่อ!ยักษ์ยังไม่อยากฆ่าวิธุรบัณฑิตด้วยมือตนเองเพียงแค่คิดข่มขู่ให้ตกใจตายก็คงพอ จึงแปลงร่างให้ใหญ่โตจนน่ากลัวแล้วผลักวิธุรบัณฑิตล้มลม จับเท้าทั้งสองกระชากเข้ามาในปากทำท่าจะเคี้ยววิธุรบัณฑิตไม่มีอาการเสียวกลับสงบนิ่งเหมือนจะรู้ว่าตกใจกลัวไปก็ไม่มีประโยชน์มีแต่จะทำร้ายตัวเองให้ทุกข์ใจไม่เป็นสุข และวิธุรบัณฑิตก็ไม่สำนึกเสียใจเลยที่ตนได้รักษาคำสัตย์ให้เจ้านายแล้วต้องมาจบชีวิตลงเช่นนี้ ยักษ์โมโหตะโกนเสียงดัง นั่นปานเมฆคำรามกระแทกใส่วิธุรบัณฑิตหมายให้สะดุ้งตกใจจนอกแตกตายแต่ก็ไม่เป็นผล ยักษ์จับเท้าวิธุรบัณฑิตกวัดแกว่งแล้วเหวี่ยงลงดินเต็มแรง จนจมลงดินลึกถึง 15 โยชน์ แล้วยกเท้าขึ้นมองดูหน้าวิธุรบัณฑิต เห็นว่ายังไม่ตายจึงเหวี่ยงลงไปใหม่ถึง 3ครั้ง แล้วจับเท้าขึ้นมามองหน้าวิธุรบัณฑิตต่อก็เห็นว่ายังดูดีมีสง่าอยู่เหมือนเดิม วิธุรบัณฑิตถูกจับห้อยหัวอยู่ขณะนั้นเริ่มกล่าวขึ้นแล้วว่า..
"ท่านนี้รูปงามแต่ใจทรามหางามไม่! ท่านคล้ายเป็นคนสำรวมแต่ไม่สำรวมเลย ท่านทำสิ่งหยาบช้า ไร้ประโยชน์ มีแต่โทษมากมาย กุศลสักอย่างหนึ่งยังมีอยู่ในจิตใจท่านอยู่อีกหรือ ท่านจะโยนข้าพเจ้าลงเหวเพื่ออะไรกัน แล้วตัวท่านเป็นใคร"

 

"เราเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ! เราต้องการธิดาสาวสวยของพระยาวรุณนาคราช พระองค์ต้องการให้เรานำหัวใจของท่านไปให้พระนางวิมลามเหสีของพระองค์ แล้วจะยอมยกธิดานั้นให้แก่เราฉะนั้น เราจำเป็นต้องฆ่าท่านแล้วเอาหัวใจท่านไปให้ได้" ยักษ์ตอบ

 

            วิธุรบัณฑิตได้ฟังแล้วตรองดูก็ทราบทันทีว่า..
"แท้จริง! พระนางวิมลาจะต้องการหัวใจของเราจริงๆ ก็หาไม่ ทั้งนี้เพราะพระยาวรุณนาคราชเคยมาฟังธรรมจากเราแล้วคงกลับไปเล่าให้พระนางฟัง พระนางอยากพบเราเพื่อฟังธรรมบ้างต่างหากแต่พญานาคราชกลับไม่รู้น้ำพระทัยของพระนาง กลับให้ยักษ์มาฆ่าเราเสีย"

 

           ครานั้น วิธุรบัณฑิตได้กล่าวกับยักษ์ต่อไปว่า..
"ข้าพเจ้านี้ทราบสาธุนรธรรม ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตายลง ท่านจงนำข้าพเจ้าไปนั่งบนยอดเขาแล้วตั้งใจฟังสาธุนรธรรมก่อนแล้วค่อยฆ่าเราก็ยังไม่สาย"

 

ยักษ์คิดว่า..
"สาธุนรธรรมนี้คงจะยิ่งใหญ่ไม่น้อย ท่านบัณฑิตน่าจะยังไม่เคยแสดงไว้แก่ใครมาก่อนเป็นแน่"จึงกล่าวว่า "เอาล่ะ! เราจะลองฟังดู"

 

           ยักษ์ได้ยกวิธุรบัณฑิตขึ้นไปนั่งบนยอดเขาบรรพตเชิญให้แสดงธรรมนั้นออกมา แต่วิธุรบัณฑิตมีเนื้อตัวสกปรกประสงค์จะอาบน้ำชำระกายเสียก่อน ยักษ์จึงนำน้ำและอาหารมาให้อาบดื่มจนพอแก่ต้องการ วิธุรบัณฑิตจึงได้เริ่มกล่าวออกมาว่า..
"ท่านยักษ์! จงฟังให้ดี 1. ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว 2. ท่านจงอย่าเผาฝ่ามือที่ชุ่ม 3. ท่านจงอย่าประทุษร้ายในหมู่มิตร 4. ท่านจงอย่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงอสติ"

 

"อย่างไรกันรึ ขอท่านจงอธิบายเนื้อความให้ประจักษ์ซิ!" ยักษ์ถามอย่างฉงน
"ผู้ใดเชื้อเชิญคนที่ไม่เคยคุ้นเคยกันทั้งมิเคยพบเห็นกันให้นั่งอาสนะ ให้ข้าว ให้น้ำ บุรุษควรทำประโยชน์แก่ผู้นั้นตอบแทน บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวผู้นั้นว่าเดินไปตามทางที่เดินไปแล้ว นี้คือสาธุนรธรรมที่หนึ่ง

 

               บุคคลอยู่ในบ้านผู้ใดแม้เพียงคืนเดียว ทั้งยังได้ข้าวและน้ำด้วย ยิ่งไม่ควรคิดร้ายต่อผู้นั้นแม้ ด้วยใจ ผู้คิดร้ายชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มและชื่อว่าประทุษร้ายมิตร นี้คือสาธุนรธรรมที่สองบุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของไม้ใดไม่ควรหักรานกิ่งของร่มไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่วช้า นี้คือสาธุนรธรรมที่สาม
หญิงที่สามียกย่องบูชายังกลับมาดูหมิ่นสามีนั้นได้ ดังนั้นบุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงแล้วทำความชั่ว นี้คือสาธุนรธรรมที่สี่ท่านจงประกอบด้วยสาธุนรธรรม 4 ประการนี้แล้วจะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม"

 

           ปุณณกยักษ์ตริตรองคำพูดของวิธุรบัณฑิตแล้วพลันรู้สึกถึงความผิดของตนขึ้นมาทันทีว่า..
"เรานี้ได้รับลาภสักการะและยศอันยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านของวิธุรบัณฑิตมาตลอด 3 วัน เรายังทำชั่วเช่นนี้ได้ลง นี้ก็เพราะผู้หญิงแท้ๆ เราได้ประทุษร้ายต่อมิตรนับว่าไม่ประพฤติตามสาธุนรธรรมเลย เราทำผิดถึงนี้เพราะนางนาคมาณวิกาคนเดียว ไม่เอาล่ะกับนางนาคนั้น เราจะหันมาเช็ดน้ำตาที่เปื้อนใบหน้าของชาวอินทปัตตนครให้เบิกบานใจดีกว่า"

 

ยักษ์กล่าวว่า..
"ข้าพเจ้าขอปล่อยท่านกลับบ้าน ธิดาพญานาคข้าพเจ้าไม่ต้องการแล้ว เพราะคำสุภาษิตของท่านโดยแท้ข้าพเจ้าจึงไม่ฆ่าท่าน"
"อย่าเพิ่งก่อน! ท่านโปรดนำข้าพเจ้าไปนาคพิภพก่อนเถิด ข้าพเจ้าเองก็อยากเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีแห่งนาคและวิมานที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน" วิธุรบัณฑิตกล่าวขอร้องยักษ์
"ท่านไม่ควรไปดูสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน มันเสี่ยงที่ท่านจะไปยังที่อยู่ของศัตรู!" ยักษ์รีบกล่าวทัดทาน
"เอาเถิด! ข้าพเจ้าไม่รังเกียจความตาย เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ทำชั่วอะไรไว้ อีกประการข้าพเจ้าต้องการกล่าวแสดงธรรมให้แก่พญานาคได้ฟัง ท่านโปรดนำข้าพเจ้าไปที่นั้นทีเถิด" บัณฑิตกล่าวยืนยันจิตจำนงค์

 

            ปุณณกยักษ์ไม่ขัด ได้ให้วิธุรบัณฑิตนั่งบนหลังม้าแล้วควบม้าบินไปโดยพลัน ในใจก็พลางคิดว่าถ้าหากนาคราชเห็นวิธุรบัณฑิตแล้วมีท่าทีเป็นมิตรก็ดีไป แต่หากคิดเป็นศัตรูเราจะอุ้มบัณฑิตขึ้นม้าอาชาไนยควบหนีทันที ทันทีที่คิดจบม้าก็ได้มาถึงนาคพิภพแล้ว ยักษ์เข้าไปพบพญานาคราช แจ้งว่า.."เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต ผู้แสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้ ข้าแต่มหาราช! การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายย่อมนำความสุขมาให้โดยแท้พระเจ้าข้า"นาคราชต้องการควักหัวใจวิธุรบัณฑิต จ้องมองดู วิธุรบัณฑิตซึ่งยืนองอาจนิ่งเฉยอยู่ก็กล่าวอย่างไม่สบอารมณ์ว่า.."ท่านบัณฑิต ท่านมาถึงที่แห่งเรา ถูกความตายคุกคามอยู่ตรงหน้าแล้ว ทำไมท่านไม่อภิวาทเรา อาการเยี่ยงนี้ดูไม่สมกับท่านผู้มีปัญญาเลยนะ" "ท่านนาคราช ข้าพเจ้ามิได้กลัวและความตายก็ไม่อาจมาคุกคามคนเช่นข้าพเจ้าได้ นักโทษประหารไม่จำเป็นต้องกราบไหว้เพชฌฆาตมิใช่หรือ แม้เพชฌฆาตเองก็ไม่มีสิทธิให้นักโทษประหารมากราบไหว้ตนมิใช่หรือ ไฉนคนจะต้องกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตนเล่า ผู้ฆ่าจะให้คนที่ตนฆ่ามากราบไหว้ได้อย่างไรกัน" วิธุรบัณฑิตกล่าว

 

"อืม.. ก็ถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริงทีเดียว" นาคราชกล่าวอย่างพึงใจ
"วิมานของฝ่าพระบาทนี้เป็นของไม่เที่ยง ทั้งฤทธิ์ ทั้งความรุ่งเรือง ทั้งกำลังวิริยภาพและการเสด็จอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท วิมานนี้ทรงได้มาอย่างไร เป็นของเกิดขึ้นตามธรรมชาติเองหรือฝ่าพระบาททรงกระทำเองหรือเทวดาทั้งหลายถวายแก่พระองค์" บัณฑิตทูลถามนาคราช

 

"วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญ เราเป็นทานบดีได้บำรุงสมณะพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ถวายที่นอนที่พักอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ"


"ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์ทรงอย่าประมาท หมั่นประพฤติธรรมเพื่อให้ได้สิริสมบัตินี้ต่อไปนานๆเถิด พระเจ้าข้า" บัณฑิตตรัสแนะนำ

 

"ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ไม่มีสมณพราหมณ์เลย เราจะถวายข้าวน้ำแก่ใครกันเล่า ท่านโปรดบอกหนทางที่เราจะได้เสวยสมบัติต่อไปด้วยเถิด" นาคราชตรัสถามอย่างจนปัญญา


"นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรสพระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติแลมิตรสหาย รวมทั้งบริวารของฝ่าพระบาทในนาคพิภพนี้ยังมีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่คิดร้ายในนาคเหล่านั้นอยู่เป็นนิตย์แล้วฝ่าพระบาทจะได้สถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุ และจะลุถึงเทวโลกที่สูงกว่านาคพิภพนี้อีกเนื่องเพราะเมตตาจิตจัดเป็นบุญยิ่งกว่าทาน พระเจ้าข้า" บัณฑิตชี้หนทางสว่างให้นาคราชนาคราชทรงสดับธรรมกถาชี้ทาง ว่างแก่ตนแล้วก็พอพระทัยเป็นยิ่งนัก ทรงชื่นชมโสมนัสมีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตไปยังที่อยู่ของพระชายาแล้วตรัสว่า..

"น้องวิมลา! พี่มาแล้ว ทำไมน้องถึงดูซูบผอมเหลือเกิน.. น้องไม่ยอมเสวยกระยาหารบ้างเลยหรือ น้องจงดูนี่! ผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตมาถึงแล้ว จะมาทำความสว่างไสวให้แก่น้อง เชิญน้องตั้งหทัยฟังคำของท่านเถิด การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหายากนะ"

 

              พระนางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตเกิดมีพระทัยยินดีโสมนัสทรงยกพระองคุลีทั้งสิบขึ้นอัญชลี วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พระนางเพื่อไม่ให้พระนางประมาทในบริวารชน เป็นการรักษาสมบัติให้ยืนยาวนานต่อไป พระนางวิมลาเทวีทรงยินดีเป็นที่ยิ่งที่ได้สนทนากับวิธุรบัณฑิตจนพระอาการหายจากไข้เป็นปลิดทิ้ง เมื่อสนทนากันจบลง วิธุรบัณฑิตก็กล่าวขึ้นว่า..

"ขอฝ่าพระบาทจงนำหทัยของข้าพระองค์ไปตามพระประสงค์เถิด ถ้าฝ่าพระบาทไม่ทรงสามารถจะฆ่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะควักหัวใจถวายตามพระอัธยาศัยของฝ่าพระบาทเอง พระเจ้าข้า"
"ปัญญาท่านนั่นเอง! เป็นดังดวงใจของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนักแล้ว" พระราชาตรัสชื่นชมบัณฑิตแล้วตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า..

"ท่านจงไปส่งวิธุรบัณฑิตสู่แคว้นกุรุรัฐโดยเร็วเถิด ป่านนี้พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชคงรอท่านบัณฑิตนักหนาแล้ว และเรายินดีจะยกธิดาให้แก่ท่าน"

 

            ปุณณกยักษ์รอคอยคำนี้มานาน ดีใจจนแทบตัวลอยอยากตะโกนกู่ก้องฟ้า แต่ก็เก็บเสียงเอาไว้ แล้วฉายสีหน้ายินดีปรีดาหันไปกล่าวขอบคุณวิธุรบัณฑิตเป็นการใหญ่ว่า.."ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านทำให้ข้าพเจ้ากับภรรยาได้อยู่ร่วมกัน ข้าพเจ้าจะต้องตอบแทนท่านข้าพเจ้าขอมอบแก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิดวงนี้ให้ท่านไปเลยและจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้เลยทีเดียว"

          วิธุรบัณฑิตรับแก้วนั้นมาแล้วชื่นชมกับสองสามีภรรยา จากนั้นก็ขึ้นม้าอาชาไนย ยักษ์ควบม้าเหาะไปส่งถึงนครอินทปัตต์ ปุณณกยักษ์พาวิธุรบัณฑิตลงที่โรงธรรมสภา ร่ำลากันแล้วก็รีบพาภรรยาของตนไปสู่เทวนครทันที


             พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาทรงพระปรีดาปราโมทย์อย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตท่ามกลางมหาชนที่มารอคอยอย่างล้นหลาม วิธุรบัณฑิตได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้พระราชาและมหาชนได้ฟังโดยละเอียด แล้วนำดวงแก้วจักรพรรดิออกมาถวายแด่พระราชาพระราชาทรงรับดวงแก้วนั้นแล้วก็รับสั่งให้ตีกลองประกาศว่า..
"บัดนี้พวกท่านทั้งหลาย! จงพากันทำสักการะเคารพนบนอบแก่วิธุรบัณฑิตนี้เถิด พวกท่านจงเตรียมบรรณาการไว้ให้มากแล้วนำมาสักการะแก่วิธุรบัณฑิตนี้เถิดสัตว์ที่ขังไว้ในแคว้นของเราจงปล่อยออกไปให้หมด วันนี้ท่านบัณฑิตพ้นจากพันธนาการแล้วฉันใดสัตว์ทั้งหลายก็จงพ้นจากที่คุมขังด้วยเช่นกัน ชาวไร่ชาวนาจงเลิกทำไร่ทำนาสักเดือนหนึ่งแล้วมาทำการฉลองสมโภชกันเถิด"

 

            มหาชนพากันดีใจโห่ร้องก้องกระโจน พากันโยนผ้าขาวขึ้นทั่วทั้งนคร งานมหรสพจัดอยู่ตลอดหนึ่งเดือน วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่มหาชน ชักชวนให้สร้างบารมี ชนชาวกุรุรัฐได้ตั้งอยู่ในโอวาทนั้น พากันรักษาศีล ทำทาน ละโลกแล้วไปพักในสวรรค์กันทั่วหน้า..


ประชุมชาดก
           พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า มารดาบิดาของบัณฑิตครั้งนั้นมาเป็นมหาราชสกุล ภริยาของบัณฑิตมาเป็นมารดาของพระราหุล บุตรคนโตมาเป็นพระราหุล พระนางวิมลามาเป็นนางอุบลวรรณาเถรี พระยาวรุณนาคราชมาเป็นพระสารีบุตร พระเจ้าโกรพยะมาเป็นพระอานนท์ ปุณณกยักษ์มาเป็นพระฉันนะ ม้ามโนมัยสินธพมาเป็นพระยาม้ากัณฐกะ วิธุรบัณฑิตมาเป็นตถาคตแล


            จากชาดกเรื่องนี้ วิธุรบัณฑิตเห็นภัยมาก็ไม่โกหกเพื่อให้ตนพ้นภัย แม้โศกเศร้าอาลัยในบุตรก็ยังรักษาคำพูดทั้งน้ำตา เป็นการสละชีวิตเพื่อรักษาคำสัตย์ชนิดยอมตายไม่ยอมเป็นคนคด เมื่อตนจากไปย่อมมีผลกระทบต่อครอบครัว ได้ขอผัดผ่อนต่อยักษ์เพื่อตามแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นก่อน โดยให้โอวาทแก่บุตรและสอนวิธีสืบทอดตำแหน่ง ทั้งยังตามให้โอวาทนางสนมกำนัลและเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายว่าต้องปฏิบัติตนต่อพระราชาอย่างไร เป็นโอวาทแทนตัวสมหน้าที่ราชบัณฑิต เมื่อยักษ์ยอมปล่อยตนก็คิดตอบแทนยักษ์บ้าง ยอมเอาตนเข้าเสี่ยงเพื่อให้ยักษ์ได้สมหวังชื่อว่าจริงต่อมิตร
           ผู้ไร้สัจจะต่อหน้าที่ ต่อมิตรสหาย ต่อหมู่คณะ ต่อธรรม จะต้องเสื่อมค่าลงทุกชาติ จนสูญสิ้นค่าโดยสิ้นเชิง และเสวยผลกรรมที่ก่อเอาไว้

 

"นิสัยถือคำสัตย์เหนือสิ่งใด, รับผิดชอบการกระทำของตน และชอบสะสมสัจจะในตัว"
ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในสัจจบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0038251161575317 Mins