รับประทานอาหารอย่างไรให้ดูดี

วันที่ 29 มค. พ.ศ.2559

รับประทานอาหารอย่างไรให้ดูดี


          การรับประทานอาหารไม่ใช่การตักอาหารเข้าปากเท่านั้นแต่การรับประทานอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ แสดงออกถึงการฝึกฝนอบรมตนเองของแต่ละคน เรามาดูวิธีการรับประทานอาหารแบบดูดีดังนี้

ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ
นอกจากเรื่องเสียงดังแล้ว ในโต๊ะอาหารไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะรับสาย โทรออก หรือพิมพ์ส่งข้อความ ถือว่าเป็นกิริยาแสดงความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เป็นการไม่ให้ความสนใจกับคนที่ร่วมรับประทาน

 

ชักชวนสนทนา
การนั่งรับประทานอาหารอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนรอบข้างเลย เราก็จะได้รสอาหารอย่างเดียว แต่ไม่ได้รสแห่งมิตรภาพเลย หากนั่งใกล้คนที่ไม่รู้จักควรเริ่มต้นจากการแนะนำตัวเองก่อน เพื่อแสดงออกถึงมนุษยสัมพันธ์อันดี ระหว่างรับประทานอาหารควรดูจังหวะในการชวน สนทนาให้เหมาะสม เช่น ระหว่างนั่งรออาหารชุดต่อไปเป็นช่วงที่ควรชวนสนทนา ช่วงที่ไม่ควร เช่นตักอาหารเข้าปาก หรือมีอาหารอยู่เต็มปาก จะทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัดได้ รวมถึงเรื่องที่ควรสนทนาในโต๊ะอาหารควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคู่สนทนามากกว่าเรื่องของตัวเราเอง เช่น เรื่องงานอดิเรก กีฬาที่ชื่นชอบ สำหรับการสนทนากับคนแปลกหน้ายังไม่คุ้นเคยกัน ไม่ควรแสดงอาการปฏิเสธหรือเห็นต่างจนมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกัน

 

รับประทานเสร็จพร้อมกัน
หากเราเป็นคนรับประทานอาหารเช้า ก็ควรเร่งความเร็วในการรับประทานเพราะถ้าผู้ใหญ่ในโต๊ะหรือเจ้าภาพรับประทานเสร็จ แล้วแต่เรายังไม่เสร็จก็จะดูไม่ดี หรือในทางกลับกันเรารับประทานอาหารเสร็จเร็วมากๆ ก็ทำให้เราต้องมานั่งเฉยๆ ในโต๊ะอาหารก็จะดู กดดันคนอื่นที่ยังรับประทานไม่เสร็จ

 

ไม่วางของบนโต๊ะอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กระเป๋า เอกสาร อะไรก็ตามที่เป็นของใช้ส่วนตัวของเรา ให้หาที่วางที่อื่นนะ

 

ดูแลคนข้างเคียง
หากมีเครื่องปรุง เมื่อเรานำมาปรุงแล้ว ให้ถามคนที่นั่งข้างๆ ด้วยว่าต้องการเครื่องปรุงหรือไม่ ถ้าเขาต้องการให้หยิบมาวางให้ใกล้ตัวเขา ไม่ส่งให้กับมือ แต่ให้วางไว้ที่โต๊ะแล้วถ้าเขาจะใช้ให้เขาหยิบเอง

 

ไม่เป่าน้ำซุป
การเป่าน้ำซุปถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่น่าดู กรณีที่ซุปยังร้อนอยู่ให้ใช้วิธี ตักทีละน้อย ถ้าร้อนจนรับประทานไม่ได้จริงๆ ให้ปล่อยเอาไว้ก่อนสักครู่แล้วค่อยรับประทาน 

 

ไม่ซดน้ำซุปเสียงดัง
ถ้าเป็นจีน หรือญี่ปุ่น ต้องดังๆ ไม่ดังแสดงว่าไม่อร่อย โดยเฉพาะญี่ปุ่น น้ำซุปไม่มีช้อนให้ยกถ้วยขึ้นซดเลย แต่ถ้าเป็นมาตรฐานสากลต้องเบาๆ ใช้วิธีตักเข้าปาก ไม่ซดจากช้อน แค่นี้เสียงน้ำซุปก็จะไม่ดังแล้ว 

 

ไม่เคี้ยวอาหารอ้าปาก
คงพอนึกออกว่าน่าสยองขวัญแค่ไหน รวมถึงอาหารที่จะกระเด็นไปเผื่อคนข้างๆ และเสียงดังจับๆ อย่างกับหมูกินผัก ดังนั้นเคี้ยวหุบปากกันเถอะนะ

 

พอดีคำ
ไม่ว่าจะเอาอะไรเข้าปาก ต้องหั่นให้พอดีคำก่อนเข้าปาก ไม่กัดไม่แลบลิ้นเลีย และแต่ละคำต้องไม่ใหญ่เกินไปจนทำให้อ้าปากกว้างหั่น ตัก เฉลี่ย อย่าให้เสียงดังรับประทานอาหารอย่างมีมารยาทต้องเสียงเบา การหั่น การเกลี่ยในจาน ให้ค่อยๆทำเมื่ออิ่มแล้วให้แสดงสัญลักษณ์มาตรฐานในร้านอาหารมีสัญลักษณ์ให้เก็บจานได้ คือ รวบช้อนส้อม แสดงว่าจานนั้น เราพอแล้ว

 

           ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ควรทำก่อนรับประทานอาหารแบบวัฒนธรรมชาวพุทธทุกตัวหนังสือข้างต้นไม่อาจเกิด
ประโยชน์อันใดถ้าหากเราไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันขอให้พวกเราได้ลองฝึกตามที่ได้แนะนำมาแล้วเราจะพบกับความแตกต่างที่สัมผัสได้ด้วยจิตใจของเราเอง

----------------------------------------

"หนังสือ 5 ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ฉบับสร้างแรงบันดาลใจ

ทีมงานหลักสูตรโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก"

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013512810071309 Mins