วันมาฆบูชา
ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2559
จุดโคมมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชา.
วันมาฆบูชา 2559
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปี วันมาฆบูชาจึงเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ความเป็นมาของวันมาฆบูชา
เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า "วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์พิเศษที่มาบรรจบกัน 4 ประการ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นประดุจการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึก เพราะเป็นการประชุมของผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ และเป็นครั้งแรกที่มีการประขุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เหตุอัศจรรย์ในวันมาฆบูชา 4 ประการ
1. เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3 )
2. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมโดยมิได้นัดหมาย
3.ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแม้สักรูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้
4.พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งพระบรมศาสดาทรงประทานการบวชให้
มีใครบ้างมาเข้าร่วมประชุม
พระอรหันต์จำนวน 1,250 รูป ที่เข้าร่วมสันนิบาตในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
กลุ่มที่ 1 คณะพระภิกษุอดีตชฏิล 3 พี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้า และบริวารทั้งหมด 1,000 รูป
กลุ่มที่ 2 คณะที่เป็นบริวารของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ มีจำนวน 250 รูป
การที่มีพระภิกษุจำนวนถึง 1,250 รูปมาเป็นองค์ประชุมสันนิบาตในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปักหลักพระพุทธศาสนา โดยเริ่มจากแคว้นมคธ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ เพราะเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดในอินเดียสมัยก่อน เป็นแหล่งรวมความเจริญในทุกด้าน และมีเจ้าลัทธิต่างๆ แข่งขันกันเรียกความศรัทธา ความเชื่อ จากประชาชนอยู่มากมาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงต้องทำอย่างเต็มที่โดยอาศัยกำลังจากภิกษุผู้เป็นคนท้องถิ่นของแคว้นนี้เป็นหลักก่อน ซึ่งภิกษุทั้ง 2 คณะนี้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือแรกเริ่มเดิมทีก็เคยเป็นนักบวชอาศัยในเมืองนี้อยู่แล้ว การแนะนำสั่งสอนพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์แก่ชาวชมพูทวีปจึงเป็นไปได้ง่าย การมาชุมนุมกันของพระอรหันตสาวกในครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นมหาสาวกสันนิบาตที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด คล้ายๆ จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระทัยของพระพุทธองค์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงเริ่มประกาศปฐมเทศนา เพียงแต่กำลังทรงรอคอยบุคคลผู้หนึ่ง ผู้ที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์ของกองทัพธรรมอยู่ นั่นก็คือ พระสารีบุตร ซึ่งเมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ถือได้ว่าพระธรรมเสนาบดีได้บังเกิดขึ้น ดุจขุนพลแก้วบังเกิดแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยท่านจะมาเป็นหัวเรือใหญ่รับสนองนโยบายภารกิจนี้โดยตรง เมื่อการรอคอยของพุทธองค์บรรลุผล จึงทรงทำการประชุมสาวกสันนิบาตทันทีในวันเดียวกันนั้นเอง โดยไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพธรรมจะต้องเร่งรุดขยายให้ได้กว้างไกลที่สุด ฉะนั้นจำต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ทรงประทาน "โอวาทปาฏิโมกข์" เพื่อไว้ใช้เป็นแม่บทในการประกาศพระศาสนา
การประชุมมหาสาวกสันนิบาตนั้น ในยุคของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ มีการประชุมมากกว่า 1 ครั้ง ดังเช่น ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้ทรงประชุมสาวกสันนิบาตถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีพระอรหันตสาวก 100,000 โกฏิ ครั้งที่ 2 มีจำนวน 90,000 โกฏิ ครั้งที่ 3 มีจำนวน 80,000 โกฏิ แต่ละครั้งก็จะทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระเหมือนที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประทานเอาไว้ทุกอย่าง
สาระสำคัญของโอวาทปาฏิโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6
หลักการ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี 3 ประการ ได้แก่
หลักการ 3 ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วมี 10 ประการ อันความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 ประกาศอันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี 5 ประการ ได้แก่
1. กามฉันทะ คือความพอใจในกาม
2. พยาบาท คือความอาฆาตพยาบาท
3. ถีนะมิทธะ คือความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ
4. อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา คือความสงสัย
สิ่งที่สามารถควบคุมนิวรณ์ได้คือ ศีล 5 ได้แก่
กามฉันทะ ให้ควบคุมคุมด้วย ศีลข้อ 3 คือการไม่ประพฤติผิดในกาม
ความพยาบาทให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 1 คือการไม่ฆ่าสัตว์
ถีนมิทธะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 5 การไม่เสพสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้ประมาท
อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 2 การไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้
วิจิกิจฉา ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 4 การไม่พูดเท็จ
อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี 4 ประการ ได้แก่
อุดมการณ์ 4 ได้แก่
1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
วิธีการ คือ แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามี 6 ประการ คือ
1. อนูปวาโท ไม่ไปว่าร้ายกัน ผู้เผยแผ่คำสอนจะต้องไม่โจมตี ไม่นินทาใคร
2. อนูปฆาโต ไม่ไปล้างผลาญกัน ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่า และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
3. ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง
5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่
6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส
โอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นหลักปฏิบัติและนโยบายในการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานให้แก่พระอรหันต์ชุดแรกที่ได้ออกไปประกาศพระศาสนาในโอกาสที่ได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ถือเป็นนโยบายและหลักปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแนวทาง เดียวกัน การประชุมพระอรหันตสาวกเช่นนี้ เพื่อประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีแต่ในยุคของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ในกัปนี้เท่านั้น แต่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ในอดีตก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แต่จำนวนครั้งในการประชุมภิกษุสาวกและจำนวนพระอรหันตสาวกที่เข้าร่วมประชุมต่างกัน จะเห็นได้ว่า วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน คือ เมื่อทรงฝึกพระอรหันต์ชุดแรก สำหรับเป็นครูและเป็นต้นแบบให้กับชาวโลกได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว ก็ส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนา และเมื่อคราวที่พระอรหันตสาวกเหล่านั้น มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทะเลแห่งทุกข์ ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน
...ท่านผู้มีบุญทั้งหลาย ลองนึกดูเถิดว่า เพราะการรวมตัวกันของเหล่าพุทธบุตรในวันมาฆบูชาครั้งนั้น ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีการสืบทอดคำสอนมายาวนานถึง 2,500 กว่าปี หากในยุคปัจจุบันนี้ พุทธบุตรทุกนิกายทั่วทุกมุมโลกมารวมชุมนุมสันนิบาตเป็นมหาสมาคมใหญ่อีกครั้ง โดยยึดหลักการสมานฉันท์ว่า "พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว" มาปรึกษาหารือกันเพื่อศึกษาคำสอนดั้งเดิม เพื่อให้การเผยแผ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รังสีธรรมอันบริสุทธิ์จะเจิดจ้าเพียงใด ภารกิจบุญนี้ถือเป็นกรณียกิจที่เหล่านักสร้างบารมีจะต้องรีบทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ในเร็ววัน สันติภาพจะได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก โดยเราจะได้พร้อมใจกันกราบนิมนต์พุทธบุตรทุกนิกายจากทั่วโลกเรือนล้านให้ได้มาประชุมรวมกัน ณ มหารัตนวิหารคด ในวันมาฆบูชานี้
จุดโคมมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความรักของชาวพุทธ เพราะเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงออกซึ่งความรักต่อมวลมนุษชาติอย่างแท้จริง ความรักของพระองค์เป็นความเมตตา ความปรารถนาดีต่อทุกสรรพชีวิตด้วยความจริงใจ ทรงลำบากพระวรกายเผยแผ่พระศาสนาจนตลอดพระชนม์ชีพ ยาวนานถึง 45 ปี เพราะอยากจะให้มวลมนุษยชาติได้เข้าถึงหนทางแห่งความสุขภายในอันประเสริฐ คือหนทางสายกลางภายในดวงใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ดังนั้น หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา หรือ "โอวาทปาฏิโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ในวันมาฆบูชา เป็นแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เมื่อใครได้นำหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง ย่อมสามารถสัมผัสได้ถึงความเมตตา อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านทางพระธรรมคำสอนของพระองค์ที่ไม่เคยเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันวันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยในวันนี้จะมีการประกอบพิธีต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
อีกทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นทั้งหญิงและชายมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์หลายหน่วยงานจึงรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก(อันบริสุทธิ์)แทน
โดยในวันมาฆบูชาของทุกปี วัดพระธรรมกายจะได้มีการจัดปฏิบัติธรรมในช่วงเช้า และมีการจุดโคมมาฆประทีปในช่วงค่ำ ซึ่งพุทธศาสนิกชนผู้ใคร่ในธรรม จะสวมชุดขาวขาวมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
พุทธศาสนิกชนร่วมกันจุดโคมมาฆประทีปเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันมาฆบูชาของทุกปี
เนื่องในวันมาฆบูชานี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ควรจะให้ความสำคัญในการเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ด้วยการมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาที่วัดข้างบ้าน ส่วนที่วัดพระธรรมกายสาธุชนจะได้จุดมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นการย้อนรำลึกถึงเมื่อคราวที่พระบรมศาสดาผู้มีเหล่าอรหันตสาวก 1,250 องค์ นั่งแวดล้อมอยู่เพื่อรับฟังโอวาทปาฏิโมกข์ในวันมาฆบูชาเมื่อ 2,500 กว่าปี การสั่งสมบุญในวันนี้ นอกจากได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของชาวโลกแล้ว มหากุศลอันไม่มีประมาณจะส่งผลดลบันดาลให้เราเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไป และเป็นเหตุให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่าย ตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม
http://www.dmc.tv/pages/top_of_week/วันมาฆบูชา-วันจาตุรงคสันนิบาติ.html