6 วิธี ดูแลลูกรักหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2559

6 วิธี ดูแลลูกรักหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

 

วิธีที่ 1 เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายอารมณ์
           หลังจากการสูญเสีย พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ดูแลลูกให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้เขาได้ระบายอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น ลูกอาจจะตกอยู่ในสภาพของอารมณ์เศร้า อารมณ์กลัว และอารมณ์โกรธ เราควรอยู่ใกล้ชิดกับลูกเพื่อสร้างความมั่นใจว่า เขาไม่ได้อยู่คนเดียว เราจะอยู่เคียงข้างและคอยดูแลเขาตลอดไปลูกอาจจะมีข้อสงสัยต่างๆ นานา เกี่ยวกับความตาย พ่อแม่จึงควรพูดถึงเรื่องความตายกับลูก เราไม่ควรทำเรื่องความตายให้เป็นเรื่องต้องห้าม หรือเป็นเรื่องไม่ควรพูด เพราะจะยิ่งสร้างอารมณ์เศร้าและความกลัวให้เกิดกับเด็ก

 

วิธีที่ 2 อธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
           พ่อแม่ผู้ปกครองควรอธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับวัยของลูก เช่น เราสามารถบอกลูกว่า แม่ของหนูตายไปแล้ว หรือ แม่ของหนูจะไม่อยู่กับหนูแล้ว เราสามารถอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ได้ เพราะถ้าเราไม่อธิบายให้ลูกฟัง เขาอาจจะคิดแต่งเติมเรื่องราวต่างๆตามจินตนาการของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อผิดๆได้ผู้ปกครองบางท่านหลอกลูกว่า แม่ไปทำงานต่างประเทศ หรือพ่อติดธุระสำคัญไม่สามารถกลับมาบ้านได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งเสริมสภาพจิตใจของเด็กให้ดีขึ้นได้เลย ในขณะเดียวกันเราควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ซักถาม เช่นพ่อหรือแม่ของเขาเสียชีวิตได้อย่างไร โดยเราอาจจะเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ให้ลูกฟัง แต่ไม่ควรเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพศพ

           สมมติว่า พ่อหรือแม่ของเขาเสียชีวิตเพราะประสบอุบัติเหตุเราไม่ควรเล่ารายละเอียดว่ารถประสบอุบัติเหตุอย่างไร สภาพศพเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดอารมณ์กลัว หรืออารมณ์เศร้ามากขึ้นไปอีกเรื่องที่ไม่ควรเล่าอย่างยิ่งคือเรื่องที่ก่อให้เกิดความโกรธแค้น สมมติว่าพ่อหรือแม่ของเด็กอาจจะถูกฆาตกรรมถ้าผู้ปกครองเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เด็กฟังก็จะเป็นการฝังความโกรธแค้นเข้าไปในใจเด็ก เขาจะพยาบาทไปตลอดชีวิต

 

วิธีที่ 3 ยอมรับพฤติกรรมของลูกที่อาจจะเปลี่ยนแปลง
          พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรยอมรับและเข้าใจอารมณ์ความคิดและพฤติกรรมของลูก ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างในช่วงใหม่ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี เขาอาจจะคิดหรือจินตนาการไปเองว่า เขามีส่วนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อหรือแม่ของเขาเสียชีวิต บางครั้งลูกอาจจะโทษตนเองว่า เขาไม่สามารถปกป้องคนที่เขารักได้ เป็นต้น นอกจากนี้ลูกอาจจะเก็บกดอารมณ์ต่างๆ ไว้ แล้วไปแสดงออกในทางอื่นๆ เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่เหมาะสม ซึ่งคนใกล้ชิดจะต้องให้ความรัก ความเข้าใจ และช่วยกัน ปรับทัศนคติของเด็กอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการสูญเสียนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ลูกอาจจะยังตั้งตัวไม่ทัน

 

วิธีที่ 4 ให้ลูกได้อยู่กับบุคคลที่เขารัก
          ในช่วงเวลาของการสูญเสีย ควรให้ลูกได้อยู่กับคนที่เขารักและใกล้ชิด ไม่ควรแยกลูกออกไปอยู่ต่างหาก หลายครั้งที่เกิดการสูญเสยขึ้น สมมติว่า พ่อซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวเสียชีวิต แม่อาจจะยุ่งเรื่องการจัดเตรียมงานศพจึงนำลูกไปฝากไว้กับคนอื่นก่อน จริงๆแล้วทางจิตวิทยาเราไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้เพราะตอนที่เรานำลูกไปฝากคนอื่นไว้ เขาจะมีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และไม่มีความสำคัญ สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดในขณะที่เขาสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก คือความรักจากคนใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ถึงเราจะยุ่งกับการเตรียมงานศพอย่างไร เราก็ควรมีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกด้วย

 

วิธีที่ 5 ให้ลูกได้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา 
       พ่อแม่ผู้ปกครองควรพาลูกไปงานศพด้วย เพื่อที่ลูกจะได้รับรู้แล้วเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับความตาย รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนา การจัดการงานศพ โดยให้ลูกมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีตามความเหมาะสม ในช่วงเวลาของงานศพ เราสามารถอธิบายเกี่ยวกับความตายให้ลูกฟัง ให้เขาได้รับรู้และเข้าใจพิธีกรรมต่างๆ โดยเด็กแต่ละวัยจะมีความต้องการที่จะเข้าร่วมในพิธีกรรมแตกต่างกันออกไป เช่น เด็กโต อาจจะอยากพูดความรู้สึกของตนเองที่มีต่อพ่อหรือแม่ที่เสียชีวิต ผู้ปกครองควรอนุญาตให้เขาได้พูดในพิธีศพ เพื่อที่เขาจะได้แสดงความอาลัยรักเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเขามีกิจกรรมทำเขาจะได้ไม่เศร้าโศกจนเกินไป
       เด็กบางคนอาจไม่กล้าแสดงออกมากนัก แต่ลูกก็ควรได้ไปร่วมช่วยงานศพโดยการช่วยเสิร์ฟน้ำ อาหาร 
หรือต้อนรับแขกที่มาในงานพิธี ซึ่งจะทำให้ลูกได้มีส่วนร่วม และรู้สึกว่าตนเองเป็นสมาชิกของครอบครัว ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เขาคลายความเศร้าไปได้ระดับหนึ่ง 

 

วิธีที่ 6 มองหาสิ่งที่ลูกกังวล
         ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นผู้นำเสียชีวิตลง ลูกๆ จะเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเองว่าต่อไปนี้เขาจะอยู่กับใคร ในเมื่อไม่มีพ่อหรือแม่แล้ว ชีวิตเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อนาคตเขาจะเป็นอย่างไรครอบครัวเขาจะมีรายได้พอที่เขาจะศึกษาต่อหรือไม่ เป็นต้น ผู้ปกครองควรพูดกับบุตรหลานของตนเองเพื่อสร้างความเข้าใจกับเด็กในเรื่องนี้ แล้วสร้างเสริมกำลังใจให้กันและกัน เพื่อดำรงชีวิตต่อไปได้ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะรู้สึกว่า ตนเองได้อธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปมากมายแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเด็กๆจะเข้าใจเหตุการณ์จริงหรือไม่ นั่นก็ขึ้นอยู่กับระดับอายุของเด็กด้วย ซึ่งในเด็กเล็กอาจจะไม่มีความเข้าใจมากนัก ทำให้เขาลำดับเหตุการณ์ไม่ถูก หรือสรุปสาเหตุของการตายไม่ถูกต้อง

-----------------------------------------------------------------------------------------

" หนังสือ Secret of Love  รักลูกอย่างไรไม่ให้เสียน้ำตา "

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ


    

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014727218945821 Mins