ความจริงเรื่องข้อจำกัดของชีวิต
นอกจากความจริงตามธรรมชาติ ที่มนุษย์มักมองข้ามไปแล้ว ยังมีเรื่องข้อจำกัดของชีวิตหลายอย่าง ทำให้มนุษย์ต้องประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน จนหลงลืมการแสวงหาความจริงของชีวิตไป
ความจริงเรื่องข้อจำกัดของชีวิต
ประการที่1 มนุษย์ยังชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัย4
ปัจจัย 4 ประกอบด้วย
1.เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
2.อาหาร
3.ที่อยู่อาศัย
4.ยารักษาโรค
ชีวิตต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นหลัก ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ไม่ได้ สาเหตุที่ต้องทำมาหากินอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อจะได้เงินได้ทองมาเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคหรือการรักษาพยาบาล ยามเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เรียกว่าปัจจัยสำหรับรองรับชีวิตของเรา หรือปัจจัยอุดหนุน
ให้ชีวิตดำเนินไปได้ นี่คือวัตถุประสงค์หลักที่แท้จริง
ปัจจัย 4 เป็นเครื่องยังชีพพื้นฐาน แต่จริงๆ แล้ว มีมากกว่านั้น เพียงแต่ว่าเป็นของเกี่ยวเนื่องประกอบกัน เช่น
เสื้อผ้า ต้องมีอุปกรณ์ตัดเย็บซ่อมแซม อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด อุปกรณ์ซัก ตาก รีด ที่สำหรับพับเก็บแขวน เป็นต้น
อาหาร ต้องมีเครื่องครัว เครื่องปรุง อุปกรณ์สำหรับหุง อบ ต้ม นึ่ง ตู้เย็นเก็บของสดของแห้ง ตู้เก็บของ ที่แขวนภาชนะ โต๊ะม้านั่ง ถ้วยชาม ช้อน ในการรับประทานอาหาร อุปกรณ์สำหรับล้างทำความสะอาด เป็นต้น ที่
อยู่อาศัย ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ ตู้เตียงเครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็น เป็นต้น
ยารักษาโรค ต้องมียากิน ยาทา ยาดม อุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ยิ่งอายุมากอาจต้องมีรถเข็นเพิ่มขึ้นมาอีก เป็นต้น
ชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 ก็จริง แต่ปัจจัย 4 มีความน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าอยากได้ แฝงอยู่ในตัวของมัน เมื่อใดที่ขาดสติ ความอยากได้เกินความจำเป็นจะเกิดขึ้นทันที เมื่อนั้นชีวิตจะวุ่นวายกับการแสวงหาทำให้เสียสุขภาพ เสียทรัพย์ เสียนิสัย เสียเวลา สังคมเสียประโยชน์ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เพราะตัณหาความทะยานอยากของมนุษย์ ที่ไม่รู้จักคำว่า"พอ" แล้วบ่นว่าเหนื่อย เงินไม่พอใช้ บ้านชักจะเล็กไป มีการสะสมสมบัติมากเกินความจำเป็น เช่น
รถยนต์ มีอยู่พอใช้สอยไปอัตคัด พอเห็นรถรุ่นใหม่ออกมาราคาไม่แพง จะขายคันเดิมไม่คุ้ม เลยซื้อมาเพิ่มอีกจนโรงรถไม่พอจอด บางคนหนักกว่านั้น ซื้อรถนำเข้าจากนอกราคาสูงหลายสิบล้าน นั่งได้เพียง 2 คน ความเร็วเท่ารถแข่งแต่ถนนเมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ รถติดหนึบวิ่งจริงๆได้ไม่ถึงครึ่งของความเร็วที่บริษัทสร้างขึ้นมาต้องเอามาวิ่งกันบนทางด่วนตอนดึกๆแทน จอดไว้ก็กลัวหาย ค่าบำรุงรักษาก็แพง ค่าภาษีแพงกว่านั้น
เสื้อผ้า ที่มีอยู่ก็มากมายพออยู่แล้ว บางตัวยังไม่ได้หยิบมาใช้เลยเป็นปี แต่ว่าปีนี้แฟชั่นออกมาใหม่ก็ซื้อหามาเพิ่มอีก แต่ละคนมีตู้เสื้อผ้ากันใหญ่โตหลายตู้ บางคนถึงขนาดไปซื้อกล่องอัดสุญญากาศมาบรรจุเสื้อผ้าอาภรณ์เก็บซ้อนๆกันไว้ กล่องนี้หน้าหนาวเอาไว้ไปเมืองนอก กล่องนี้หน้าฝน กล่องนี้เอาไปเที่ยวชายทะเล อันที่จริงแล้วต่างคนต่างใส่เสื้อผ้าที่ชอบอยู่ไม่กี่ตัวนั่นแหละ
รองเท้ากระเป๋าถือเครื่องประดับ ซึ่งเป็นความชื่นชอบของบรรดาสุภาพสตรี ที่มีข้าวของเหล่านี้จำนวนมากเท่าไหร่ก็ไม่เคยมีคำว่า"พอ"
เสื้อนอก เสื้อเบลเซอร์ เสื้อยืด สำหรับสุภาพบุรุษถ้าเป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มพนักงานห้างร้าน ทั้งซื้อเองและเขาให้มามีจำนวนมากมายหลายสิบตัว รับรองใส่ทั้งชีวิตก็ใส่ไม่หมดหรอก ถ้าเก็บกวาดบ้านกันวันไหน รวบรวมเอาไปแจกคนยากคนจนเสียบ้าง จะได้บุญมากกว่าแขวนเก็บไว้เต็มตู้เสื้อผ้าเสียอีก บ้านก็ไม่รก บุญก็ได้แน่นอน
ลองสำรวจของใช้ในห้องนอนก่อน จะพบว่า มีหลายอย่างตั้งแต่ซื้อมาไม่ได้แกะออกมาใช้เลยเป็นปีๆ ที่ซื้อมาเพราะอยากได้ของแถม บางทีซื้อมาเพราะมันลดราคาเกินครึ่ง ซื้อมาสะสมตุนไว้จนไม่มีที่จะนอนห้องที่เคยใหญ่โล่งโถงสบายก็คับแคบลง เพราะต้องแบ่งพื้นที่ไปเก็บสะสมของที่ซื้อมาแต่ไม่เคยใช้ มาเก็บกองไว้ให้รกห้อง รกตู้ รกชั้นวางของที่สำคัญรกรุงรังสายตา แต่ไม่เกิดประโยชน์ใช้สอยอีกต่างหาก
ประการที่ 2 มนุษย์อายุสั้น
มนุษย์ปัจจุบันมีอายุสั้นมาก เวลาของชีวิตมีจำกัด รู้ไหมว่าคนเราเริ่มแก่เมื่ออายุเท่าไร พอคลอดออกมาก็เริ่มแก่ทันที นับถอยหลังได้เพราะอายุคนถูกจำกัดเอาไว้เท่านี้ แต่ละวันที่ผ่านไปคือแต่ละก้าวที่ใกล้หลุมฝังศพ ใกล้เมรุเผาศพเข้าไปทุกก้าวๆ เมื่อมองเห็นชีวิตชัดเจนอย่างนี้รีบไปบวชประเสริฐสุดยิ่งเสียเวลาหา เสียเวลาเก็บ เสียเวลาใช้ปัจจัย4 มากเท่าไร ยิ่งเสียโอกาสในการฝึกสติ ฝึกสมาธิเพื่อกำจัดกิเลส อันเป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วและเพาะนิสัยเสีย
ประการที่ 3 มนุษย์มักหลงผิด
มนุษย์ต้องการทรัพย์สมบัติมาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต แต่อย่าเผลอหลงผิดไป บางคนมี 10 ล้าน ไม่พอ 100 ล้านไม่พอ 1,000ล้าน ไม่พอ หามาแล้วทั้งชีวิตไม่ได้ใช้เก็บไว้อย่างนั้น ตายแล้วทิ้งทรัพย์สมบัติไว้มากมายไม่รู้จะเหนื่อยไปทำไมกัน แต่ถ้าหากทำงาน แล้วแสวงหาทรัพย์สมบัติมาได้มาก เพราะมีความรู้ความสามารถ ควรแบ่งสันปันส่วนสินทรัพย์เหล่านั้นไปทำบุญทำทาน แบ่งไปทำบุญกับพระในบ้านคือพ่อแม่ก่อน ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ตามวัดต่างๆ ทำบุญแบบสังคมสงเคราะห์ ตามโรงเรียน โรงพยาบาล คนยากไร้ คนด้อยโอกาสก็ได้ ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระรอดพ้นจากการถูกฆ่า บุญเหล่านี้เรียกว่าเสบียงบุญ ตามติดตัวไปไม่ต้องมานั่งแบกสมบัติ
ถ้าร่ำรวยแล้ว ต้องนำทรัพย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองต่อครอบครัว ต่อบิดามารดาบุพการี ต่อพระพุทธศาสนา ต่อสังคม และประเทศชาติ จิตใจย่อมจะเป็นสุขที่เกิดมาเป็นผู้ให้ ลดความตระหนี่ถี่เหนียวลงไปได้ แต่ถ้ามัวแต่หวงทรัพย์สมบัติไม่ว่า
จะนั่งนอนยืนเดินจะกลายเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า"โรคตระหนี่" เป็นนิสัยไม่ดีติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ
ประการที่ 4 มนุษย์มีนิสัยไม่ดี มีกิเลสที่หมักหมมไว้
มนุษย์บางคนมีกิเลสชั่วที่หมักหมมไว้ติดตามตัวไปมาก เมื่อเกิดในภพชาติใหม่ ความรู้ที่เคยมี ความดีที่เคยทำ จะถูกลืม พร้อมจะทำกรรมชั่วในชาติใหม่ได้ง่าย ตามนิสัยชั่วที่ติดตัวไปตั้งแต่ชาตินี้
ความจริงเรื่องข้อจำกัดของชีวิต
1. มนุษย์ยังชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัย
มนุษย์ยังชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 คือ เสื้อผ้า - อาหาร - ที่อยู่อาศัย - ยารักษาโรค แต่ปัจจัยเหล่านี้มีความน่าใคร่ น่าอยากได้แฝงอยู่ ถ้าบริโภคใช้สอยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์แท้จริง ก็จะอยากได้เกินจำเป็น ตนเองย่อม วุ่นวายแสวงหา จึงเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียทรัพย์ เสียนิสัย สังคม ก็ขาดแคลน เกิดการเอารัดเอาเปรียบ
สิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลาย
2.มนุษย์อายุสั้นนัก
มนุษย์อายุสั้นนัก ยิ่งเสียเวลาแสวงหาปัจจัย 4 ส่วนเกิน ยิ่งเสียโอกาสฝึกตัว กิเลสจึงมีแต่จะเพิ่ม นิสัยมีแต่จะเสียนับว่าเสียชาติเกิด
3.มนุษย์มักหลงผิด
มนุษย์มักหลงผิด สำคัญเรื่องเล่นว่าเป็นจริง เรื่องจริงว่าเป็นเล่น เอาชีวิตเป็นเดิมพันทำชั่ว ทำเรื่องไร้สาระเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ สนุกเพิ่มพูนแต่บาป แต่ทำดีแบบเหยาะแหยะ สร้างบุญกุศลแบบเสียไม่ได้ ทำให้ชีวิตมีแต่ตกต่ำแล้วโทษว่าบุญไม่ช่วย
4. นิสัยไม่ดี-กิเลสที่หมักหมมไว้
นิสัยไม่ดี - กิเลสที่หมักหมมไว้ แม้ตนเองตายแล้วก็ยังไม่สูญ ย่อมตามไปรังควานต่อชาติหน้า ความรู้ที่เคยมีความดีที่เคยทำไว้แบบเหยาะแหยะ จะถูกกิเลสบดบังให้หลงลืมได้ง่าย จึงพร้อมจะทำกรรมชั่วอีกตามนิสัยชั่วเดิม ๆ ที่สั่งสมไว้ข้ามชาติ
ความจริงจากข้อจำกัดของชีวิตทั้ง 4 ประการนี้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้นำมาพินิจพิจารณากันให้ตระหนักซึ้ง ถึงความจริงนี้เลย
................................................................................................................
จากหนังสือ ความดีสากล
โดย " พระราชภาวนาจารย์ (เผด็จ ทตฺตชีโว)