....เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชาแล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข(ความสุขที่เกิดจากความสงบ) ณ บริเวณที่ตรัสรู้ตลอด ๗ สัปดาห์ หลังจากนั้นได้ทรงพิจารณาว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อมนุษยชาติ และเล็งเห็นว่าคนในโลกนี้แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท หรือดอกบัว ๔ เหล่า คือ
๑.อุคฆติตัญญู ผู้ที่มีปัญญาไว เข้าใจได้ทันที เหมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว พร้อมบานรับแสงอาทิตย์
๒.วิปัจจิตัญญู ผู้รู้ธรรมได้ต้องอธิบายขยายความ เหมือนบัวที่อยู่เสมอน้ำ จักบานในวันต่อไป
๓.เนยยะ ผู้ที่ต้องใช้ความพากเพียร ฟัง คิด ถามท่องอยู่เสมอจึงจะเรียนรู้ได้ เปรียบเหมือนบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยง ก็สามารถจะโผล่ไปบานในวันต่อๆไป
๔.ปทปรมะ ผู้ปัญญาน้อย ไม่สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวที่ติดกับเปือกตม รังแต่จะกลายเป็นอาหารของปลา เต่าต่อไป
เมื่อทรงพิจารณาแล้ว จึงทรงดำริไปโปรดอาฬารดาบสและอุททกดาบส อาจารย์ที่เคยสอนพระองค์มาก่อนเป็นอันดับแรก แต่ท่านทั้งสองก็สิ้นชีพไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวคีย์ผู้เคยมีอุปัฏฐากพระองค์ ดังนั้น จึงเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (คือสวนกวาง ดังนั้น กวางจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับธรรมจักร) ที่เมืองพาราณสีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ซึ่งได้เสด็จถึงเมื่อเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ และในวันรุ่งขึ้นคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หรือ วันอาสาฬหบูชา ที่มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆขึ้นหลายประการ คือ
๑.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก ด้วยการแสดงปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า “ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ซึ่งหมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้
๒.เมื่อพระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัจวัคคีย์ได้ฟังธรรม ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา จึงได้ทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธี “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้) ดังนั้น พระโกณฑัญญะจึงเป็นเป็นพระสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา
๓.ทำให้วันนี้เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย เป็นครั้งแรกในโลก
ธรรมจักกัปปวัตนสูตร
“ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” พระธรรมเทศนาครั้งแรกเป็นการสอนมิให้ประพฤติที่สุดโต่ง ๒ ส่วนคือ ๑.กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข และ๒.อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตัวให้ลำบาก แต่ให้เดินตามสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติที่สมควรไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ จากนั้นทรงสรุปด้วย อริยสัจ ๔ คือ หลักความจริงของชีวิต ประกอบด้วย ทุกข์ ความไม่สบายกายและใจ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ โดยแท้จริงแล้ว ไม่ว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมะหรือสัจธรรมก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลก เพียงแต่ไม่มีใครรู้หรือไม่มีใครนำมาสั่งสอนให้เราทราบและปฏิบัติเท่านั้น แต่เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบหลักธรรม แล้วนำมาสั่งสอนต่อประชาชนชาวโลก เราจึงได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ
มัชฌิมาปฏิปทา
“ มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลาง ได้แก่ ข้อควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น ในหนังสือ “ วันอาสาฬหบูชา” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้อธิบายพอสรุปได้ว่า
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบหรือปัญญาเห็นชอบ คือ การเห็นอริยสัจ ๔ ตามสภาพความเป็นจริงว่าอะไรคือทุกข์ อะไรทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์ และรู้แนวทางที่จะดับทุกข์
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบหรือความคิดชอบ คือ ความนึกคิดที่จะทำตนให้ออกห่างจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ รวมทั้งการไม่คิดพยาบาทอาฆาตผู้อื่น มีจิตใจที่เมตตาต่อผู้อื่น
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือการงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง หรือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ให้พูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น
สัมมากัมมันตะ การประพฤติชอบ คือ การมีศีล อันได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติในกาม ไม่ทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นต้น
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สำหรับบรรพชิต(นักบวช) คือ ดำรงชีพด้วยการบิณฑบาต งดการแสวงหาในสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนฆราวาส คือ การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม
สัมมวายะมะ เพียรชอบ คือ การเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หรือเพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้น้อยลง เพียรให้ความดีเกิดขึ้น และเพียรให้ความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป
สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ การฝึกด้านสมาธิ หรือการทำใจให้เป็นสมาธิ ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา
สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ การอบรมจิตให้สงบ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นการฝึกจิตขั้นสูงขึ้นไป
วันอาสาฬหบูชา ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นี้ จึงขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงความสำคัญของวันนี้ และดำเนินชีวิตตามรอยพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตัวเราและเพื่อนร่วมโลกด้วย
สวช. กระทรวงวัฒนธรรม