แถลงข่าว "เครือข่ายพุทธบริษัท ๔ ปกป้องพระพุทธศาสนา"

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2559

แถลงข่าว "เครือข่ายพุทธบริษัท ๔ ปกป้องพระพุทธศาสนา"

 

    วันนี้ (๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙) เวลา ๑๐.๓๐ น. “เครือข่ายพุทธบริษัท ๔ ปกป้องพระพุทธศาสนา” ได้จัดการแถลงข่าว โดยมี...
    ๑) พระครูวิสุทธิ์กาญจนกิจ (สมบูรณ์ สุวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดถ้ำเนรมิต” ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
    ๒) ทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล ทนายผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
    ๓) นายองอาจ ธรรมนิทา ผู้ประสานงานเครือข่ายพุทธบริษัท ๔ ปกป้องพระพุทธศาสนา

    โดยขอใช้สถานที่ภายในห้องสตูดิโอ สถานีวิทยุโทรทัศน์ DMC วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี จัดงานแถลงข่าวและถ่ายทอดสด

---------------------------------------------------

๑.) กรณี "วัดถ้ำเนรมิต ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี"

    “ทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล” กล่าวว่า ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสื่อมวลชนทุกท่านที่สนใจมาทำข่าว และกราบเรียนไปถึงพี่น้องชาวพุทธทุกท่าน ข้าพเจ้าขอออกตัวก่อนว่า ข้าพเจ้ามิใช่ศิษย์วัดพระธรรมกาย แต่ที่ข้าพเจ้าเข้ามาช่วยทำคดีเพราะเห็นแก่พุทธศาสนา ที่กำลังประสบภัยอยู่ในวันนี้

     สืบเนืองจากเมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค. ๕๙ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ไปทำการตรวจยึดพื้นที่บริเวณ วัดถ้ำเนรมิต ตามที่ได้มีการแจ้งความไว้ ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๑ กค.๕๙ ตามลำดับคดี่ ๙/๕๙

    ในนามของทนายวัดถ้ำเนรมิต โดยพระครูวิสุทธิ์กาญจนกิจ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเนรมิต (เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๗) ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา ขอชี้แจงมายังสื่อมวลชนที่เคารพทุกท่านว่า วัดถ้ำเนรมิต และพระครูวิสทธิ์กาญจนกิจ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเนรมิต ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

    ผมขออธิบายหลักกฎหมายนิดหน่อย วัดมี ๒ ประเภท
          ๑.วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
          ๒.สำนักสงฆ์ ดังนั้น สำนักสงฆ์ก็คือวัด

ผมขออธิบายความหมายของคำว่า วิสุงคามสีมา และที่ธรณีสงฆ์ ให้เข้าใจก่อน

          ๑.วิสุงคามสีมา คือ เขตแดน หรือที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินของคนอื่น เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์ เป็นการเฉพาะ เพื่อใช้สร้างอุโบสถ โดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ ปัจจุบัน วัดถ้ำเนรมิต ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๔

          ๒.ที่ธรณีสงฆ์ หมายถึง ที่ดินที่เป็นของวัด ได้รับบริจาคมา หรือยกให้เป็นของวัด ที่ดินดังกล่าวถือเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งวัดจะได้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ที่ธรณีสงฆ์คนอื่นจะเข้าครอบครอง หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คนอื่นไม่ได้ นอกจากพระราชบัญญัติการเวนคืนเท่านั้น 

          ที่ธรณีสงฆ์ หรือ ที่ดินของวัด ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๑๒ เดิม ห้ามโอนโดยเด็ดขาย 

          ในปัจจุบันสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ ยกเว้นโอนให้ส่วนราชการ ฯ ทำได้โดยพระราชกฤษฎีกา

          แต่ที่สำคัญ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ฯ เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

          วัดถ้ำเนรมิต ได้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นการสร้างก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ บังคับใช้ ( กฎหมายสงฆ์ฉบับแรก) และเป็นการสร้างก่อน พระราชบัญญัติป่าไม้ ๒๔๘๔ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ และ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗

          เมื่อประมาณปี ๒๕๓๓ พระสมบูรณ์ สุวณโน หรือปัจจุบันคือ พระครูวิสุทธิ์กาญจนกิจ ได้เข้ามารักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำเนรมิต

          และในช่วงเวลานั้นเอง ได้รับการบริจาคที่ดินจากประชาชน ที่มีที่ดินติดต่อกับวัด 
          ๑. พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ณ สงขลา จำนวน ๕๘ ไร่
          ๒. นายหาญ กุยยกานนท์ จำนวน ๘ ไร่
          ๓. นางวันดี วิทยา จำนวน ๒๐ ไร่
          รวมแล้วได้รับบริจาคมา ๘๖ ไร่ (ตามเอกสาร บันทึกของทางวัด)
          หลังจากที่พระครูวิสุทธิ์ ได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ขอหนังสือรับรองสภาพวัด ต่อกรมศาสนา โดยได้รับหนังสือรับรองสภาพวัด ๑๑ กค. ๓๔ โดยระบุชัดเจนว่า วัดสร้างมาตั้งแต่ ปี ๒๔๘๐

          พร้อมกับขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ต่อสำนักงานนายกรัฐมนตรี โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๓๔ ตามราชกิจจานุเบกษา

          ในระหว่างที่พระครูวิสุทธิ์ เข้าไปเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ทำบันทึกกิจกรรมไว้ตลอด

           แต่จะขอยกเอามาเฉพาะปี ๒๕๓๓

           ในปี ๒๕๓๓ ได้มีการบันทึกกิจกรรมของวัด เป็นหลักฐาน โดยเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๓๓ พ.ต.ท.ทวีศักดิ ณ สงขลา ถวายที่ดินที่ติดกับวัดให้วัดจำนวน ๕๘ ไร่ นายหาญ กุยยกานนท์ ถวายที่ดิน ๘ ไร่ นางวันดี วิทยา ๒๐ ไร่ รวมที่ดินที่ได้รับถวายมา ๘๖ ไร่ โดยไม่รวมที่ดินของวัดที่มาก่อน ๒ ไร่ ในหนังสือขอขึ้นทะเบียนไว้ ระบุไว้ถึงคนที่บริจาคที่ให้วัด 

           และยังปรากฏตามหนังสือ หนังสือลงวันที ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๓ ถึงการบริจาค

           เห็นได้ชัดเจนว่า มีการบันทึกการถวาย พันธ์ต้นไม้ เกือบ ๓,๙๐๐ ต้น ต้นมะม่วง มะขาม ขนุน ยาง ไทร พร้อมกับมีการบันทึกผู้บริจาคที่ดินให้กับทางวัดไว้ด้วย 

           กิจกรรมในการปลูกต้นไม้ มีเจ้าหน้าที่อุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ ๑๐ คน และญาติโยมเกือบ ๒๐๐ คน มีบันทึกว่าตำรวจตระเวนชายแดนเดินทางมาร่วมงาน โดยรถบัส แต่มาไม่ถึงเพราะทางเปียกและลำบากมาก (เป็นคำพูดของคนบ้านนอก) จึงกลับไปก่อน

           มีบันทึกถึงการปลูกต้นไม้ ๓,๙๐๐ ต้นชัดเจน การใช้แรงงานผู้ชาย ๖๐ คน การใช้แรงงานหญิง การใช้ใช้นักเรียน การใช้รถเทเลอร์ ในการปลูกต้นไทร มะม่วง มะขาม ขนุน และต้นยาง

           แต่ที่สำคัญ ก่อนจะถึงวันปลูกต้นไม้ให้วัด ทางวัดได้ทำหนังสือถึง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขื่อนศรีนครินทร์ ขอกำลังคนมาช่วยปลูก ( ตามหนังสือ ๑๕ มิย. ๓๓ )

           การปลูกต้นไม้ ก็เป็นไปตามผัง ที่จัดทำขึ้น บ่งบอกสถานีและบริเวณชัดเจน ( ตามผังเก่า )

           คดีนี้เจ้าหน้าที่อุทยาน ไม่ได้ตรวจพบการกระทำความผิด เพราะถ้าเจ้าหน้าที่

           อุทยานพบกระทำความผิดปกติจะแจ้งความพื้นที่เกิดเหตุ

           แต่เป็นกรณีที่พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้เจ้าหน้าที่อุทยานไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สำนักงาน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บก.ปทส. บางเขน กรุงเทพ

           เจ้าหน้าที่อุทยานเองเคยร่วมกิจกรรม กับทางวัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ถ้าผิดจริง ทำไมปล่อยไว้ถึง ๒๖ ปี แสดงว่าตลอด ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยกระทำความผิดเลย
          1. ถ้าวัดกระทำความผิด ชาวบ้านแถวนั้น หลายหมู่บ้าน ก็ผิดด้วย โดยเฉพาะหมู่ ๖ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด สำนักงานอนามัย และ อบต
          2. ความจริงแล้ว วัดและชาวบ้านอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทธยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี ๒๕๒๔ดังนั้น จึงไม่มีความผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการผ่อนผันให้อยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน วัด หน่วยงาน ราชการ โรงเรียน และอุทธยาน
          3. ถนนจากเขื่อนศรีนครินทร์ ผ่านหมู่บ้านเข้าไป ชาวบ้านตั้งชื่อให้ ถนนศรีนครินทร์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทางราชการเองก็ยอมรับชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ถึงกับสร้างถนนเข้าไปให้เพื่อให้มีความเจริญ
         ๔. ที่ดินที่ตรวจยึด เป็นที่ราบเชิงเขา เดิมที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาตลอด และมีการโอนครอบครองต่อกันมาถึงวัด ไม่มีส่วนใดแสดงว่าวัดมีเจตนาบุกรุกที่อุทยานเลย
         ๕. วัดไม่ได้ไปบุกรุกพื้นที่บนเขา อยู่เพียงสถานที่ที่ได้รับบริจาคมา มาตั้งข้อหาในที่ดินที่รับบริจาคมาได้อย่างไร 
         ๖. ที่วัดและที่ชุมชน หมู่บ้าน บริเวณ ตั้งแต่เริ่มถนนศรีนครินทร์ เข้าไป จนสุด มีหลายหมู่บ้าน และไม่มีหมู่บ้านไหน มีโฉนด เหมือนกับวัด แต่วัดผิดเพียงผู้เดียว เป็นได้อย่างไร

การกระทำที่ผิดกฏหมายของป่าไม้และตำรวจ
        คดีอาญาถ้าผิดต้องถือว่าบุกรุก วัดได้รับบริจาคที่มา ปี ๓๓ ปัจจุบัน ๒๖ ปี แล้วยังมาตั้งข้อหาวัดบุกรุกที่ดินได้อย่างไร ฆ่าคนตายอายุความยังเพียง ๒๐ ปี ถ้าบุกรุกจริงอายุความขาดมาตั้ง แล้ว มาแจ้งความเป็นคดีนี้ได้อย่างไร 

       ที่ดินที่รับบริจาคมา เป็นที่ธรณีสงฆ์ ตำรวจเอาอำนาจอะไรมาปิดประกาศทำการตรวจยึด ที่ธรณีสงฆ์จะยึดได้ ก็ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติเวนคืนเท่านั้น และเป็นการเวนคือเพื่อสาธารณะประโยชน์

จากข้อเท็จจริงดังเรียนมา 
ทางวัดและทางพระครูวิสุทธิ์กาญจนกิจ ไม่ได้กระทำความผิดในคดีนี้เลย

       คดีนี้ตำรวจให้เจ้าหน้าที่อุทยานมาแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวหา โดยที่ตำรวจไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานต้องรับผิดชอบแทนตำรวจ

       ทนายขอร้องผ่านสื่อมวลชนทุกฉบับ ขอให้ความเป็นธรรมกับทางวัดและพระครูวิสิทธิ์กาญจนกิจ ด้วยและขอให้เป็นสื่อสอบถามไปยัง ท่าน พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ว่า ขอความเมตตาให้ทาง หลวงพ่อได้ประกันตัวด้วย และแจ้งผ่านสื่อมาก็ได้ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกัน
จะมีการจับสึก จับเข้าห้องขังไหม

        ถ้าท่านพล.ต.อ.จักร์ทิพย์ กับท่าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รับรอง ไม่มีการจับสึก ไม่มีการเข้าห้องขัง และให้ประกันตัวแน่นอน มีสื่อเป็นพยาน ผมก็จะพาหลวงพ่อไปมอบตัว

        และทางทีมทนายได้ตัดสินใจ ทำเรื่องร้องเรียน ไปยังองค์กรต่างๆ อีกหลายองค์กร เช่น สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนกยกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

---------------------------------------------------

๒) กรณี "พระธาดา จรณธโร ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์" (ศูนย์อบรมเยาวชนอุ้มผาง จ.ตาก)

        ตามที่ “นายวรกิจ โตเจริญ เจ้าหน้าที่ป่าไม้” ได้แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ “พระธาดา จรณธโร ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์” เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามบันทึกประจำวันคดีอาญาที่ ๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒ กค. ๒๕๕๙
        ๑.) บุกรุก แผ้วถาง ป่า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ๒๔๘๔
        ๒.) และร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กก. ๔ บก ปทส. และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกไปยัง พระธาดา ฯ โดยให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ. ที่ทำการ บางเขน

        ข้าพเจ้า “นายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล ในฐานะทนายผู้รับมอบอำนาจจากพระธาดา จรณธโร ประธานมูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์” ขอกราบเรียนชี้แจงมายังสื่อมวลชนที่เคารพทุกท่านว่าพระธาดา ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กล่าวคือ

       เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระธาดา ได้ไปรักษาการณ์เป็นเจ้าอาวาสที่สำนักสงฆ์เขาวงพระจันทร์ เหตุเพราะเป็นวัดร้างมาก่อน วัดดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ติดภูเขา และมีถนนล้อมรอบ เนื้อที่เพียง ๔ ไร่ ๓ งาน ไม่สามารถขยายได้ พระธาดามีความประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาจัดอบรมแก่เยาวชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

       ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ พระธาดา จึงได้ไปซื้อที่ดินจากชาวบ้านชื่อนายเสมอ ใจดี ซึ่งเป็นคนอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ไร่ ที่หมู่บ้านเซอทะ (ใกล้กับหมู่บ้านเดลอคี ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นหมู่บ้านเดลอคี) จำนวนประมาณ ๖๐ –๗๐ ไร่

       ที่ดินดังกล่าวติดทางหลวงหมายเลข ๑๒๘๘ โดยมีด้านทิศใต้ติดกับสวนส้มเพชรอุ้มผาง ด้านตะวันออกติดถนนหลวง (ปรากฏตามสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ )

        หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ พระธาดา ก็ได้ซื้อที่ดินต่อเนื่อง จากนายประวัติ ปะนันท์ จำนวน ๒๓ ไร่เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และซื้อจากนายเจริญ กันทะวงศ์ อีก ๑๖.๕ ไร่ เป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท (ตามสัญญาซื้อขาย)
        และในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้มีนางจินตนา วิริยะ มอบที่ดินให้กับทางมูลนิธิฯ อีกจำนวน ๖๗ ไร่ ทำให้ที่ดินของมูลนิธิทั้ง ๔ แปลงต่อเป็นผืนเดียวกัน (ตามหนังสือสัญญายกที่ดินให้วัด ๑ มีนาคม ๕๖) รวมเป็น ๔ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑๗๖.๕ ไร่ หลังจากที่พระธาดา ได้ไปซื้อที่ดินแปลงแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้ว พระธาดา ก็ได้ก่อตั้งมูลนิธิ ชื่อ มูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ โดยมีสำนักงานอยู่ที่ ๓๖๕ หมู่ ๑ ตำบลแม่กลอง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ้านของรองประธานฯ โดยมูลนิธิก่อตั้งสำเร็จโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕

       เนื่องจากบริเวณที่ดินที่ซื้อมา ส่วนมากเป็นไร่ข้าวโพด มียุ้งฉางเก็บข้าวโพด และกระท่อมเฝ้าไร่ พระธาดา จึงได้รื้อทิ้ง และสร้างเป็นมูลนิธิขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่เป็นหลัก มิได้มีการตัดต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่มาแปรรูปใช้ในการก่อสร้างแต่อย่างใด พร้อมขอทะเบียนบ้านต่อทางราชการ คือบ้านเลขที่ ๑๔๓ หมู่ ๒ ตำบลหนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก และได้มีการแจ้งย้ายที่ทำการมูลนิธิมา ณ ที่ ๑๔๓ ฯ แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้เสร็จ ฯ

        ถ้าที่ดินที่ขอทะเบียนไม่ถูกต้อง มีการบุกรุก แผ้วถางป่าตามข้อกล่าวหา ทางเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านจนถึงสำนักงานอำเภอก็คงไม่ออกทะเบียนบ้านให้

        เนื่องจากที่ดินที่มูลนิธิซื้อมาจากชาวบ้าน เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และทางราชการก็ยังไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้

        แต่เป็นที่ดินที่ให้ชาวบ้านใช้ทำประโยชน์ ขายเปลี่ยนมือกันได้ ดังนั้นการจะทำอะไรลงในที่ดิน บางครั้งต้องขออนุญาตต่อทางราชการ

        หลังจากจดทะเบียนมูลนิธิเสร็จ ทางพระธาดา ได้ประสานชาวบ้านเพื่อขอความเห็นชอบในการใช้พื้นที่ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งชาวบ้านที่เข้าประชุม เห็นชอบด้วยกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ (ตามเอกสารรายงานการประชุม และชาวบ้านผู้เข้าประชุม ๖๕ คน)

         และได้มีการประชุมชาวบ้านครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยการขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมประมาณ ๒๐๐ ไร่ ในบริเวณที่ซื้อมา เพื่อปลูกป่า สร้างศูนย์อบรม ให้แก่เยาวชน และเป็นแหล่งเผยแผ่ความรู้ ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

         ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบด้วย ตามรายงานการประชุมและผู้เข้าประชุม ๗๔ คน (ตามรายงานการประชุม )
หลังจากผ่านประชาคมหมู่บ้านแล้ว ทางมูลนิธิได้ทำเรื่องเสนอต่อเทศบาลตำบลแม่กลอง (ตามเอกสาร ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๕๗) และได้รับความเห็นชอบในการใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ที่ยื่นขอไป

         และทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ก็ได้ตอบเป็นหนังสือกลับมายังมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๑๖ พย.๕๘ โดยในหนังสือตอบกลับดังกล่าว ได้มีการยืนยันว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตาก ได้ออกไปตรวจสอบสภาพป่า ที่ขออนุญาต ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรป่าไม้เขต ๔ (ตาก)

        โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพป่าแล้ว เห็นควรอนุญาต ในเนื้อที่ ๑๘๖ ไร่ ๓ งาน ๘๐ วา

        ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในหลักเกณท์ตามระเบียบที่กำหนด ฯ

        ประกอบกับคณะกรรมการกลั่นกรองการขอใช้พื้นที่เขตป่า มีมติเห็นควรอนุญาต เช่นเดียวกัน จังหวัดตากจึงมีความเห็นว่า สมควรพิจารณาอนุญาตให้มูลนิธิธรรมชาติพิสุทธิ์ เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่กลองและป่าอุ้มผาง ท้องที่ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เนื้อที่ ๑๘๖ ไร่ ๓ งาน ๘๐ วา

        เพียงแต่รอขั้นตอนการอนุญาตขึ้นสุดท้ายจากกรมป่าไม้ เรื่องก็จบ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0029623826344808 Mins