ห้องแต่งตัว ห้องพัฒนานิสัย ตัดใจและใฝ่บุญ

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2559

ห้องแต่งตัว
ห้องพัฒนานิสัย ตัดใจและใฝ่บุญ

1. แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
       เราคงเคยได้ยินคำว่า "เฟิร์ส อิมเพรสชั่น" (First Impression) หรือ "ความประทับใจแรกพบ"  เชื่อว่าหลายคนคงอยากให้คนอื่นประทับใจเราตั้งแต่แรกเห็น ซึ่งมีที่มาคือ การแต่งตัว เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาผู้ที่พบเห็น ถ้าแต่งตัวเหมาะสมก็จะเกิดความประทับใจในทางที่ดี ทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย แต่หากแต่งตัวไม่เหมาะสมผู้อื่นก็จะมองเราในลักษณะที่ไม่ดีแม้จะเป็นความจริงว่าคนเลวอาจซ่อนร่างอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เรียบร้อย สวยงามก็ได้ แต่ถ้าคนดีมีความรู้ความสามารถนั้นหากแต่งตัวไม่เหมาะสมคนที่พบเห็นครั้งแรกอาจไม่เกิดความนิยมเลื่อมใส และเป็นการปิดโอกาสของตนเองที่จะได้แสดงความดีและความสามารถอีกด้วย

"ความประทับใจแรกพบส่วนใหญ่มาจากการแต่งตัว"

 

มารยาทการแต่งกายที่ใครๆก็ชื่นชม
       การแต่งกายเป็นมารยาททั่วๆไปที่ทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน ไปวัด ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่างๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัท ห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น

     หากบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ตามกฏระเบียบที่กำหนดได้ ถือว่าเป็นผู้มีมารยาทในการแต่งกายที่ดี ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. แต่งกายสะอาด
       ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดในที่นี้ไม่เกี่ยวกับความเก่าหรือใหม่ เพราะเครื่องแต่งกายที่ใหม่อาจสกปรกก็ได้ ส่วนเครื่องแต่งกายที่เก่ามีรอยปะชุน ก็อาจดูสะอาดได้ หรือเครื่องแต่งกายราคาแพง ก็อาจดูสกปรกได้ ในขณะที่เครื่องแต่งกายราคาถูกก็อาจดูสะอาดได้เช่นกัน  ส่วนเราเป็นนักเรียนก็ควรแต่งกายให้ถูกระเบียบของทางโรงเรียนด้วย

2. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย
     คนแต่ละคนหรือสังคมแต่ละแห่งอาจมีเกณฑ์วัดความสุภาพ เรียบร้อยต่างกันออกไป ในสังคมไทยเราก็มีเกณฑ์วัดความเรียบร้อย ในแบบของไทยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว คือไม่แต่งกายเปิดเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรสงวน ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนน่าเกลียด หรือสวมกระโปรงกางเกงที่สั้นมาก เพื่อต้องการแสดงและเน้นสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะการแต่งกาย ดังกล่าวข้างต้นไปในสถานที่ควรแก่การสักการบูชา เช่น ศาสนสถาน วัด โบสถ์ หรือสถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย

3. แต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ
     นอกจากความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยแล้วการแต่งกายให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและให้เหมาะสมกับสถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นการแต่งกายที่ผิดสมัยนิยมนั้น หากสะอาดและสุภาพเรียบร้อยก็อาจจะไม่มีอะไรเสียหายมากแต่อาจถูกมองว่าเชยได้ ดังนั้นการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรแต่งกายให้ถูกกาลเทศะเหมาะสมกับงานที่จะไป เช่น ไม่แต่งชุดดำไปงานแต่งงาน ไม่แต่งสีฉูดฉาดไปงานศพ เป็นต้น แต่งกายให้เกียรติเจ้าภาพของงานตามสมควร เช่น ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงอาจแต่งชุดลำลองอย่างไรก็ได้

      จะเห็นว่า การแต่งตัวให้ดูดีนั้นง่ายนิดเดียว เพียงยึดหลักปฏิบัติ 3 ข้อ เท่านี้เราก็สามารถทำให้คนอื่นประทับใจเราตั้งแต่แรกเห็นได้แล้ว

ลองคิดดู
      "หากเราเห็นคนแต่งตัวเรียบร้อย สะอาด มีระเบียบ กับคนแต่งตัวไม่เรียบร้อย สกปรกไม่มีระเบียบ เราจะรู้สึกอยากเข้าใกล้ใครมากกว่ากัน..."

 

2. เทรนด์ตลอดกาลของการแต่งตัวไปวัด

       สมัยนี้ เราอาจห่างหายจากการไปวัดมานาน แต่เมื่อเราอยากจะไปวัดเพื่อทำความดีแบบวัยรุ่นสไตล์เด็กซิ่งอิงธรรมะขึ้นมาบ้าง เราก็ควรจะรู้ว่าจะแต่งกายมาวัดอย่างไรให้เหมาะสมซึ่งมีวิธีง่ายๆดังต่อไปนี้

        1. เสื้อผ้าควรเป็นสีขาวทั้งชุด หรืออย่างน้อยก็เสื้อสีขาว ยกเว้นเครื่องแบบของข้าราชการ
        2. เนื้อผ้าไม่ควรโปร่งบาง หรือหรูหราราคาแพงเกินไป
        3. การตัดเย็บควรให้หลวมพอสมควร ไม่รัดรูป เพื่อสะดวกในการกราบไหว้พระและนั่งสมาธิ ผู้หญิงไม่ควรนุ่งสั้นควรยาวตั้งแต่ครึ่งแข้งเป็นต้นไป หรือชะเวิกชะวากผ่านหน้าผ่านหลัง และควรนำผ้าคลุมเข่า ไปด้วยเพื่อใช้คลุมเข่าขณะนั่งพับเพียบหรือนั่งสมาธิ
        4. ทรงผมผู้ชายควรตัดให้สั้น ถ้าไว้ยาวก็หวีให้เรียบร้อย ส่วนผู้หญิงอย่าแต่งผมประณีตเกินไป  ผู้พบเห็นจะได้ไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่าน
        5. ไม่ควรใช้น้ำมันใส่ผม ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรเป็นชนิดที่มีกลิ่นอ่อนที่สุดจะได้ไม่รบกวนผู้อื่น 
        6. น้ำหอมควรเว้นเด็ดขาด
        7. ไม่ควรแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บ ฯลฯ จนเกินงาม
        8. เครื่องประดับราคาแพง จำพวกแหวนเพชร นาฬิกาเรือนทอง หรือสร้อยทองคำเส้นโตๆ ฯลฯ ไม่ควรสวมใส่

 

3. เปิดและสำรวจตู้เสื้อผ้าทุกสัปดาห์

      กฎข้อนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ สำรวจดูว่ามีเสื้อผ้าตัวไหนเครื่องประดับชิ้นใดที่ไม่ได้ใส่บ้าง หยิบออกมาดูแล้วอาจจะใช้เวลาว่างลองทุกชุดกับเครื่องประดับเก่าๆ เพราะแฟชั่นมักจะวนไปวนมาของเก่าในวันก่อนอาจจะเป็นของยอดนิยมในวันนี้ก็ได้ และหากชุดไหนใส่ไม่ได้ ล้าสมัยหรือเบื่อแล้วก็แยกไว้เพื่อนำไปบริจาค หรือแลกกับเพื่อนหากตัดใจสละไม่ได้จริงๆ ให้แยกประเภทของตามความถี่ในการใช้งาน เช่น

ของที่ใช้ประจำ 
ของที่นานๆใช้ 
และของที่ไม่ได้ใช้นานแล้ว

      โดยให้ของที่ใช้ประจำอยู่ใกล้ตัว หยิบสะดวก ของอื่นๆ ก็อาจเก็บไว้ที่อื่นส่วนของที่ไม่ได้ใช้นานแล้วก็อาจแยกเก็บใส่กล่อง หรือตู้ต่างหากไว้หากผ่านไปหลายปีแล้วยังไม่ได้ใช้ก็สามารถบริจาคหรือสละได้ง่ายขึ้นเองเท่านี้ตู้เสื้อผ้าเราก็จะดูโล่ง เรียบร้อย หาของง่าย หยิบใช้คล่อง

 

4. ไม่เตะใจ-ไร้เหตุผล-อย่าซื้อ

     หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงชอบซื้อของด้วยความรู้สึกว่า ใส่แล้วน่าจะสวย/หล่อหรือเดี๋ยวก็ได้ใส่ไปงานเลี้ยง ทางที่ดีก่อนซื้อลองถามตัวเองอย่างน้อยสองครั้ง และไม่ควรฟังคนขายมากเกินไป สุดท้ายลองสวมใส่แล้วมองตัวเองหน้ากระจกว่า "จะใส่ไปที่ไหนบ้าง" "ใส่ได้อย่างน้อยกี่ครั้ง" และของชิ้นนั้นอยู่ในข่ายไม่มีไม่ได้ (เช่น ชุดนักเรียน) หรือไม่ ถ้าอยากได้มาตั้งแต่หลายปีก่อน หรือหารจำนวนครั้งที่คิดว่าจะได้ใช้กับราคาแล้วคุ้มค่าค่อยควักกระเป๋าขึ้นมาจ่ายเท่านี้เงินในกระเป๋าของเราก็จะไม่หายไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยง่ายๆแล้ว
 
หลักการเลือกซื้อง่ายๆ คือ หลัก "ใช่ ชอบ ใช้"

ใช่  คือ ของที่จำเป็น ต้องการ เหมาะสม 
ชอบ คือ ของที่ชอบ ภูมิใจ พร้อมใช้ อย่างถนอม
ใช้ คือ ตัดสินใจซื้อมาใช้

 

5. แฟชั่นตลอดกาล
      บ่อยครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์ ความหรูหรา และเสน่ห์ ของแฟชั่น ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้เราเสียเงิน เพื่อซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์ ทั้งที่ไม่จำเป็น แต่ก่อนที่เราจะหลงไปตามแฟชั่นใหม่ๆที่เปลี่ยนไปบ่อยๆขอให้เราลองพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก่อนเสมอ เพราะคือแนวทางการแต่งตัวที่ดีที่สุด

แนวทางการแต่งตัวที่ดี
      1. แต่งตัวเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอายและเป็นที่อุจาดตา
      2. แต่งตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนความหนาวสัตว์และแมลง
    3. เลือกแต่งตัวให้เหมาะสมกับทุกสถานที่ เป็นการป้องกันไม่ให้โจรผู้ร้ายปล้นจี้ หรือฉุดคร่าไปทำร้ายทางเพศ
      4. แต่งตัวเหมาะสมกับฐานะไม่เป็นทาสเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวตามกระแสสังคม
      5. ไม่หมกมุ่นในกามด้วยการแต่งหน้าก่อนวัยอันควรอันนำไปสู่ปัญหามากมายในภายหลัง      

     หากพิจารณาดังนี้แล้วหักห้ามใจปฏิบัติตามได้ ก็เปรียบเสมือนเราได้รับชัยชนะ ซึ่งก็คือชนะใจตนเองนั่นเอง "แต่งตัวเหมาะสมกับวัย ฐานะ สถานที่ ไม่เป็นทาสเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวตามกระแสสังคม"

เกร็ดความรู้
    สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "คนกรุงกับปัญหาการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ" โดยสำรวจประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,137 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการคุกคามล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ระบุว่า คือการแต่งตัวที่ล่อแหลมและโป๊ ร้อยละ 75.3 รองลงไป คือการแพร่ระบาดของสื่อลามก ร้อยละ 64.8

 

6. เราแต่งตัวนานไปหรือเปล่า
      เคยลองจับเวลาตอนเราแต่งตัวกันไหม เคยสังเกตไหมว่าขั้นตอนไหนของการแต่งตัวที่ทำให้เราเสียเวลามากที่สุด หรือมากเกินพอดี

      แท้จริงแล้ว   การแต่งตัวควรเน้นเรื่องความสะอาด สุภาพ และถูกกาลเทศะ มาเป็นอันดับแรก ไม่ควรเสียเวลาแต่งตัวหรือลองชุดนานเกินไป เพราะจะทำให้เรามีเวลาทำอย่างอื่นน้อยลง เช่นมีเวลานอน เวลาทานอาหาร น้อยลง หรือไม่ได้ทานเลยอาจทำให้เราไปโรงเรียนสายหรือไปธุระสายได้ ซึ่งอาจแก้ไขโดยวางแผนล่วงหน้าและฝึกตัดสินใจเร็วขึ้น ว่าจะเลือกชุดไหน จะทำอะไรก่อนหลัง เร่งมือแต่งตัวให้เร็วขึ้น ไม่พิถีพิถันจนเกินไป และไม่ควรแต่งหน้า อาจแค่ทาแป้งป้องกันความมันก็พอ เพราะจะทำให้เสียเวลามาก ความสดใสตามวัยหายไปอีกทั้งยังทำให้ดูแก่เกินวัยอีกด้วย

      เป็นยังไงบ้างเริ่มเห็นข้อดีของการไม่เสียเวลาในการแต่งตัวและไม่แต่งหน้าก่อนวัยอันควรแล้วใช่ไหม ลองเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลองจับเวลาในการแต่งตัว แล้วเราจะมีเวลาไปทำอะไรได้อีกมากมายเลยทีเดียว

เกร็ดความรู้
  การแต่งหน้าจัดส่งผลร้ายต่อผิวอีกทั้งการทาครีมรองพื้นนานๆ ยังอุดตันไม่ให้ออกซิเจนเข้าสู่ชั้นผิวเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผิวโทรม 

 

7. การดูแลรักษาความสะอาดของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

      เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น และอยู่ติดตัวเรามากที่สุด ดังนั้นเราจึงควร หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มให้ถูก สุขอนามัยจะได้ไม่เกิดโรค โดยการซักผ้าให้ถูกวิธีควรปฏิบัติ ดังนี้

การซักผ้าอย่างถูกวิธี
    1. ก่อนการซักผ้า ให้ล้วงกระเป๋าเสื้อและกางเกงทุกตัว หากมีวัตถุสิ่งของตกค้างอยู่ให้เอาออกจากกระเป๋าหากมีเสื้อที่ชำรุดให้แยกออก และซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนนำไปซัก
      2. แยกผ้าขาว ผ้าสี ออกจากกัน
      3. ซักด้วยน้ำธรรมดา เพื่อขยายใยผ้าให้สิ่งสกปรกหลุดออก
    4. ซักด้วยน้ำยาซักผ้าที่ผสมได้สัดส่วนพอเหมาะ อาจแช่ผ้าไว้ประมาณ 5-30 นาที ควรขยี้ผ้าโดยออกแรงสองมือสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน ในการแช่ผ้าไม่ควรนำกางเกงใน ถุงเท้า แช่ปนกับเสื้อ
     5. ซักด้วยน้ำเปล่าอีก 2 น้ำ เพื่อล้างน้ำยาและความสกปรก
     6. บีบผ้าให้หมาด (หลีกเลี่ยงการบิดผ้าแรงๆ เพื่อรักษาใยผ้า)
     7. กลับตะเข็บเพื่อไม่ให้สีเสื้อผ้าจาง เมื่อถูกแดดขณะตาก

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับห้องแต่งตัว
ทำอย่างไรให้ห้องแต่งตัวเป็นห้องแห่งการสร้างบุญ
     คำนิยามของห้องแต่งตัว คือ ห้องพัฒนานิสัย ตัดใจและใฝ่บุญ คือฝึกตัดใจไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดีสิ่งไร้สาระที่จะทำให้เราเสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย 

     หลักธรรมประจำห้องแต่งตัว คือ สัมมาสติ หมายถึงความระลึกชอบ รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่โดยพยายามทำสิ่งที่ถูกที่ควร ไม่พลั้งเผลอไปทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ห้องแต่งตัวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ห้องมหาสติ"

 

หน้าที่หลักของห้องแต่งตัว
     1. ใช้ในการปลูกฝังสัมมาสติ คือ ฝึกประคองรักษาใจให้ผ่องใสเป็นปกติไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส
     2. ฝึกให้มีความระมัดระวังตน ไม่ประมาทเผอเรอ มีความตื่นตัวตลอดเวลา 
     3. ฝึกตัดใจไม่คิดหมกมุ่นในกาม ตามแฟชั่นหรือกระแสสังคม
    4. ฝึกใช้เหตุผลตักเตือนใจของตนให้เป็นสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะไม่ให้เกิดความลำเอียง และสูญเสียศีลธรรมประจำใจ

 

ประโยชน์จากการใช้ห้องแต่งตัวอย่างถูกต้อง
ทางใจ
    1. ตัดใจไม่ให้หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จากการที่ต้องแต่งตัวหรูๆ ดึงดูดสายตาคนอื่นหรือเพื่อให้ตัวเองเด่นเหนือใครๆ 
    2. ตัดใจไม่ให้มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวในความไม่มีโรค ในความอายุยืน
    3. ตัดใจไม่ฟุ้งเฟ้อ ประหยัดเวลา ประหยัดทรัพย์ เพราะใช้หลักการแต่งตัวที่ถูกต้อง
   4. ตัดใจสร้างบุญกุศลเป็นประจำ เช่น ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพราะได้ฝึกการตัดใจ จากการแต่งตัวที่ไม่เหมาะสมไม่ฟุ่มเฟือยทำให้มีเงินทำทาน และแต่งตัวสุภาพเพื่อให้ใจไม่หมกมุ่นเรื่องแฟชั่นการแต่งตัว สามารถนำใจมาเกาะเกี่ยวในเรื่องบุญกุศล เช่นการรักษาศีลและเจริญภาวนาได้
   5. ไม่ตกเป็นทาสอบายมุข เพราะมีสติไม่ปล่อยใจไปในอกุศล ไม่แต่งตัวล่อแหลมและไปในที่อันเสี่ยงต่อการตกเป็นทาสอบายมุข

ทางกาย
    1. รู้จักการให้เกียรติ เคารพสถานที่ เช่น วัด โรงเรียน
    2. รู้จักมารยาทในการเข้าสังคม เช่น ร่วมงานมงคล งานอวมงคล
    3. รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสมตามภาวะและฐานะที่ตนเป็น เช่น เป็นเด็กก็ควรเคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่
    4. มีความตื่นตัวและกระตือรือร้นในการคิดดี พูดดี ทำดีอยู่เสมอ เพราะได้ฝึกสติจากห้องแต่งตัว จึงมีสติกำกับการคิด พูด ทำ ดีอยู่เสมอ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031628183523814 Mins