พระชาติที่ ๒
มหาชนกชาดก
พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี
มหาชนกชาดกเป็นเรื่องในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการบำเพ็ญวิริยบารมีอย่างยิ่งยวด (วิริยะ หมายถึง ความเพียร) แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ยังคงพากเพียรจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย โดยไม่ละทิ้งความตั้งใจเข้าทำนองว่า “ยอมตาย ไม่ยอมท้อ” นั่นเอง ซึ่งความเพียรนี้ เป็นอุปนิสัยที่ฝังแน่นอยู่ในใจของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเราทุกคนควรถือเป็นแบบอย่าง และนำไปปฏิบัติเพราะความเพียรจะช่วยให้สามารถทำกิจการงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและที่สำคัญยังช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วย
กำเนิดราชกุมาร รัชทายาทแห่งมิถิลานคร
กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าอริฏฐชนกผู้ครองราชสมบัติมิถิลานครได้สิ้นพระชนม์ในสงคราม ราชสมบัติตกไปเป็นของพระอนุชา ซึ่งเป็นผู้ชนะในการรบ ทำให้พระอัครมเหสีที่กำลังทรงพระครรภ์ ต้องปลอมเป็นชาวบ้านหลบหนีไปต่างเมืองต่อมาประสูติพระโอรสมีผิวพรรณงามดั่งทองคำทรงพระนามว่า“พระมหาชนก” เมื่อพระมหาชนกมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ทรงตัดสินพระทัยเดินทางข้ามมหาสมุทรไปค้าขายที่สุวรรณภูมิเพื่อหาทุนสร้างกองทัพสำหรับไปยึดราชสมบัติของพระราชบิดาที่ควรตกเป็นของพระองค์กลับคืนมา
บุรุษอาชาไนย ย่อมไม่ละทิ้งความเพียร
เรือที่พระมหาชนกโดยสารไปถูกพายุกระหน่ำ คลื่นลูกใหญ่ ๆ ซัดจนเรือแตกคนอื่น ๆ ต่างก็จมน้ำตาย กลายเป็นอาหารของปลา และเต่าแต่พระมหาชนกทรงปีนขึ้นไปบนยอดเสากระโดงเรือแล้วทรงกระโดดลงไปให้ไกลที่สุดเพื่อให้พ้นภัยจากสัตว์น้ำและพ้นจากแรงดึงดูดของน้ำขณะที่เรือจม จากนั้นทรงพากเพียรว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่นานถึง ๗ วัน โดยมุ่งไปทางเมืองมิถิลา แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใดก็ไม่ทรงท้อถอยทรงยึดมั่นในเป้าหมายที่จะกอบกู้ราชสมบัติกลับคืนมาให้ได้เทพธิดามณีเมขลาเห็นความเพียรพยายามของพระมหาชนกก็เกิดความเลื่อมใส จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งไว้บนแผ่นศิลามงคลในพระราชอุทยานของมิถิลานคร
ธรรมราชา ผู้เสด็จออกผนวช
ในเวลานั้น มิถิลานครกำลังปล่อยรถเทียมม้าเสี่ยงทายหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจากกษัตริย์พระองค์เก่าสิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาทด้วยบุญญาธิการของพระมหาชนกทำให้รถม้าวิ่งมาหยุดใกล้แผ่นศิลาที่พระองค์บรรทมอยู่เหล่าอำมาตย์ต่างพร้อมใจกันอภิเษกพระมหาชนกขึ้นเป็นกษัตริย์ พระมหาชนกทรงได้ราชสมบัติคืนมาสมปรารถนาเพราะทรงมีความเพียรพยายามไม่ท้อถอยหากทรงท้อแท้ก็จะทรงจมน้ำสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้ราชสมบัติคืนมา ดังเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในเวลาต่อมาพระมหาชนกได้เสด็จออกผนวช เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก