พระชาติที่ ๗
จันทกุมารชาดก
พระจันทกุมาร ผู้ยิ่งด้วยขันติบารมี
จันทกุมารชาดกเป็นเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญขันติบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขันติบารมี หมายถึง ความอดทนที่จะชำระกิเลสในตัว เป็นคุณธรรมที่รักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนไม่หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญและนินทา เหมือนดั่งแผ่นดิน ที่ผู้คนทิ้งสิ่งของทั้งสะอาดและสกปรกลงมา แต่แผ่นดินก็ไม่เคยขัดเคือง ในพระชาตินี้ พระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดเป็น “พระจันทกุมาร” ทรงบำเพ็ญขันติบารมีด้วยความอดทนอย่างไม่มีขีดจำกัดยอมสละตนเองเพื่อช่วยผู้อื่นให้พ้นภัย การสร้างขันติบารมีของพระองค์จึงเข้าทำนองว่า “ยอมตาย ไม่ยอมแพ้” คือ ไม่ยอมแพ้ต่อความชั่วนั่นเอง
อุปราช ผู้ผดุงความยุติธรรม
พระจันทกุมารเป็นพระโอรสของพระเจ้าเอกราช และพระนางจันทาเทวีแห่งเมืองปุปผวดี ทรงเป็นอุปราชผู้ปรีชาสามารถและมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา จึงเป็นที่รักของประชาชนทั้งเมืองอยู่มาวันหนึ่ง พระจันทกุมารได้นำคดีที่ขัณฑหาลพราหมณ์ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมมาตัดสินใหม่ด้วยความยุติธรรม จนกระทั่งเป็นที่สรรเสริญของชาวเมือง พระราชบิดาจึงทรงมอบหมายหน้าที่ตัดสินคดีให้แก่พระจันทกุมารนับตั้งแต่บัดนั้น ทำให้ขัณฑหาลพราหมณ์ ผู้เคยมีอำนาจตัดสินคดีไม่พอใจมาก เพราะต้องเสียผลประโยชน์จากการรับสินบนพราหมณ์จึงรอคอยโอกาสที่จะล้างแค้นพระจันทกุมาร
บำเพ็ญขันติบารมี แม้ชีวีจะดับสูญ
วันหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบิน (ฝัน) เห็นดาวดึงส์เทวโลกอันงดงามอลังการเมื่อตื่นจากบรรทมทรงปรารถนาที่จะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงตรัสถามวิธีไปสวรรค์จากพราหมณ์ พราหมณ์ผู้รอคอยโอกาสจะแก้แค้นพระจันทกุมาร จึงทูลหลอกว่าจะไปสวรรค์ได้ต้องบูชายัญโดยให้ตัดพระเศียร (ศีรษะ) ของพระจันทกุมาร พระธิดา พระมเหสี เศรษฐี ช้าง ม้า และโค มาเป็นเครื่องเซ่นสรวง พระราชาจึงรับสั่งให้ทำตามนั้น ฝ่ายพระจันทกุมารแม้ความตายกำลังจะมาถึงก็ทรงอดทนไม่ทรงตอบโต้ทั้ง ๆ ที่ทรงมีกำลังไพร่พลมากพอที่จะเอาชนะได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมีด้วยความอดทนอย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่โกรธเคืองศัตรูผู้มุ่งร้าย แต่จะทรงยอมเป็นทาสรับใช้ศัตรูตลอดชีวิตและยอมสละชีวิตเพื่อช่วยผู้อื่นให้พ้นภัย
ชัยชนะ ของขันติบารมีอย่างยิ่งยวด
เมื่อเริ่มพิธีบูชายัญ ขัณฑหาลพราหมณ์หยิบดาบและจะเดินเข้าไปตัดพระศอ (คอ) ของพระจันทกุมาร ขณะนั้นพระนางจันทาเทวี ทรงตั้งจิตอธิษฐานต่อเทวดา เพื่อช่วยเหลือพระราชโอรส เป็นเหตุให้ท้าวสักกะทรงมิอาจอยู่นิ่งเฉย เสด็จมากลางอากาศ พร้อมค้อนเหล็กที่มีไฟลุกโพลง ส่วนพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งถือพระขรรค์เพชร ท้าวสักกะทรงขู่พระราชาให้ปล่อยคนและสัตว์ทั้งหมด พระราชาทรงยอมทำตามโดยดี จากนั้นชาวเมืองจึงพากันรุมประชาทัณฑ์พราหมณ์ชั่วจนตายส่วนพระราชาถูกชาวเมืองเนรเทศแล้วกราบทูลเชิญพระจันทกุมารขึ้นครองราชสมบัติแทนสืบไป