หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๕๗)
แม้ทำดีก็ต้องมีหลัก
หากเราจำกันได้ ในสมัยหนึ่งหลวงพ่อทัตตชีโว ท่านจะเทศน์ในหัวข้อ "คนดีที่โลกต้องการ" อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์ที่สภาธรรมกายสากล หรือในการไปแสดงธรรมให้กับสถาบันศึกษาหรือองค์กรใดต่าง ๆ
ประเด็นที่สำคัญของการทำความดีนั้น หลวงพ่อได้ใช้คำง่าย ๆ ว่า ต้องให้ถูกดี ถึงดี พอดี แล้วจะได้ดี แต่จริง ๆ แล้ว นอกจากจะถูกดีหรือถูกวัตถุประสงค์ของงานแล้ว จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกคือ ถูกเวลา ถูกสถานที่ และต้องดูบุคคลด้วย มิฉะนั้นก็จะมานั่งบ่น น้อยอกน้อยใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี
ยิ่งการไปทำงานที่ต่างประเทศที่เขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวพุทธ ยิ่งต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะบางสิ่งบางอย่างหากทำที่บ้านเราก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอไปถึงที่โน่น กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หรือต้องมีการขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ที่รัฐเวอร์จิเนีย จะอนุญาตให้ปล่อยปลาได้ แต่จะกำหนดชนิดและขนาดของปลา ในขณะที่รัฐนิวเจอร์ซี จะไม่อนุญาตเลย เป็นต้น
เพราะความละเอียดอ่อนในการทำงานอย่างนี้ หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านจึงมักจะย้ำกับหมู่คณะเสมอว่า
“ การที่เราไปทำงานที่โน่น ขอให้ระมัดระวัง ช่วยกันคิด พิจารณาให้ดี อะไรที่มันผิดกฎหมาย ผิดระเบียบของบ้านเมืองเขา อย่าทำเด็ดขาด จะทำให้เป็นที่รังเกียจของชาวเมืองได้ จากสิ่งเหล่านี้ มันบังคับให้พวกท่าน ต้องศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ให้รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อย่าคิดเพียงแค่ว่า เราจะทำความดี ไม่น่ามีปัญหา อย่าลืมว่า ความคิดของเรากับความคิดของเขามันต่างกัน วัฒนธรรมก็ต่างกัน นี้เป็นสิ่งที่พวกท่านต้องไปเรียนรู้ ”
จากโอวาทของหลวงพ่อทำให้หมู่คณะต้องไปจัดการเรื่องของสัปปายะ ๔ คือ เรื่องของ สถานที่ อาหาร บุคคล และธรรมะหรือวิธีการจัดการให้ดี
“ อย่าดูเบาในเรื่องของสัปปายะ ๔ อย่าลืมไปทำมาตรฐานของเราให้ดี หากเหนือกว่าเขาได้หล่ะวิเศษเลย หรืออย่างน้อยต้องให้ได้เท่ากับเขา เขาจึงจะยอมรับเราได้ พวกอาหาร การกินก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ส่งกลิ่นจนชาวบ้านทนไม่ไหว คนของเราก็ต้องฝึกให้ดี ให้รู้จักเกรงอกเกรงใจชาวบ้านย่านนั้น ไม่ใช่ส่งเสียงดัง หรือเลิกบูชาข้าวพระก็อึกทึกครึกโครม ส่วนเรื่องธรรมะ พระอาจารย์ก็ต้องขยันเทศน์ขยันสอน สามารถให้คำแนะนำกับญาติโยมได้ ให้สมกับที่เขาเอาข้าวปลาอาหารมาให้ฉัน ”
จากการที่หลวงพ่อท่านเข้าใจวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ ท่านจึงสามารถให้คำแนะนำได้ถูกจุด ตรงประเด็นอยู่เสมอ
“ ให้ระมัดระวังให้ดีนะ อย่าให้ญาติโยมของเรา ไปจอดรถเกะกะชาวบ้าน เวลาจะไปหาซื้อโบสถ์ สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกอย่างก็คือ เรื่องที่จอดรถนี่แหละ ”
อีกเรื่องที่หลวงพ่อท่านตอกย้ำอยู่บ่อย ๆ คือ ให้ติดตามข่าวสารของบ้านนั้นเมืองนั้นให้ดี เวลามีข่าวคราวอะไรก็จะเล่าถวายให้ท่านฟัง และท่านก็จะให้ข้อคิดกลับมาเสมอ
“ หลวงพ่อครับ คนที่เมกานี่เขาขี้ฟ้องจังเลยนะครับ เอะอะอะไรก็ฟ้อง วันก่อนมีข่าว คนไปซื้อของร้อน แล้วเจ้าตัวทำหกรดตัวเองด้วย มันก็ไปฟ้องว่า ภาชนะที่ใส่ของไม่มีระบุ ว่าเป็นของร้อน ทำให้มันไม่ได้ระมัดระวัง แล้วศาลก็สั่งให้ร้านนั้นจ่ายค่าเสียหายซะด้วย ”
“ เรื่องนี้ไม่ใช่ตลกนะลูก เราเองก็ต้องระมัดระวัง เวลาที่ชาวท้องถิ่นเขามาวัด อย่าดูเบา เท่าที่หลวงพ่อทราบ อาหารก็ต้องให้อุ่นอยู่เสมอ ความร้อนต้องได้มาตรฐาน ยังไงไปศึกษาดูให้ดี ”
เพราะการที่ได้หลวงพ่อคอยแนะนำในการทำงาน จึงทำให้หมู่คณะทำงานด้วยความระมัดระวัง และพยายามสร้างมาตรฐานให้ดีที่สุด เพื่อสักวันหนึ่งข้างหน้า หากเขายอมรับเราแล้ว การจะนำเอาวิชชาสมาธิไปให้กับเขา ไม่น่าจะยากเกินวิสัย
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๙ ก.ย. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae