หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๘๐)
ผู้ไขปัญหา (ตอนที่ ๓)
เมื่อธรรมทายาทบวชใหม่ ๆ หลวงพ่อทั้งสองจะตอกย้ำอยู่เสมอเรื่องการศึกษาทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติเพื่อจะได้บรรลุผลคือ ปฏิเวธ
หลวงพ่อทัตตชีโว จะคอยสอบถามลูก ๆ ว่าอ่านพระไตรปิฎกกันบ้างไหม สำหรับอาตมาก็ขอยอมรับความจริงว่า ก่อนบวชก็เคยเห็นพระไตรปิฎกอยู่ไกล ๆ ในตู้ที่วัดข้างบ้าน เข้าใจว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เลยไม่กล้าไปแตะ
เมื่อมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายเพิ่งรู้ว่า อ้าว นี่เรื่องสำคัญอยู่ที่นี่นี่นา ยิ่งหลวงพ่อคอยถามอยู่บ่อย ๆ ก็คิดว่าต้องสำคัญแน่ ๆ แต่กระนั้น ก็เลือกดูว่าอะไรน่าอ่านก่อน แล้วก็พบว่า พระวินัยนี่อ่านแล้วต้องตีความ ไม่สนุก พระอภิธรรมยิ่งเป็นเรื่องยาก แล้วก็สรุปว่า พระสูตรนี่แหละอ่านเพลิน มีเรื่องราวประกอบ
จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ไปกราบหลวงพ่อทัตตชีโว จู่ ๆ หลวงพ่อก็ปรารภขึ้นมาเอง ทำเอาอาตมาสะดุ้งไปเลย
“ ความผิดพลาดของพวกเราในการศึกษาพระไตรปิฎก คือ เรามักจะเริ่มศึกษากันที่พระสูตร เราพากันมองข้ามพระวินัยไป
เราปฏิเสธบทฝึกที่จะทำให้เราไปนิพพาน
ในพระวินัยนี่แหละที่พุทธองค์ให้บทฝึกไว้ จะเป็นใครมาจากไหน เมื่อออกบวชแล้ว ให้บิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้เป็นวัตร และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
นั่นแหละ บทฝึกเพื่อไปนิพพาน แต่เราไม่ทำ เราอยากออกจากทุกข์ แต่ปฏิเสธวิธีพ้นทุกข์ และจริง ๆ แล้ว พระวินัยทั้งหมด มีแค่ สะอาดกับระเบียบ ”
หลวงพ่อเล่ามาถึงตรงนี้ จู่ ๆ ท่านก็ถามขึ้นมาว่า
“ เอ็งรู้ตัวไหมว่า เริ่มไม่จริง มาตั้งแต่เมื่อไร ”
พอหลวงพ่อเห็นอาตมาทำหน้างง ๆ ท่านเลยเปลี่ยนคำถามใหม่
“ เอ็งเริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมมาตั้งแต่เมื่อไร ”
อาตมาหัวเราะ แล้วรีบตอบท่านว่า
“ ตั้งแต่จำความได้ก็เริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมกับพ่อแม่แล้วครับ ห่วงเล่น เห็นเพื่อนไปวิ่งเล่นที่วัด แม่บอกให้อาบน้ำ ก็รีบเข้าห้องน้ำ เอาน้ำราดขา เอาหัวจุ่มโอ่ง ก็รีบออกมาแล้วครับ ”
“ เออ คนเรามันก็เป็นพรรค์นั้น อยากสะอาด แต่ก็รังเกียจที่จะขจัดความสกปรกที่ออกมาจากตัวเอง ฉะนั้นหากใครได้พ่อ แม่ดี คอยเคี่ยวเข็นเรื่องนี้มาก ก็พอรอดตัวไป ”
“ หลวงพ่อครับ แล้วบ้านไหนที่เขามีคนทำความสะอาดให้ เขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้สิครับ ”
“ ทำไมจะไม่มี ดูให้ดีนะ บ้านไหนที่พ่อแม่เขาฝึกมาดี เห็นใครมาทำความสะอาดให้นี่ ขอบอกขอบใจ แทบจะกราบเขาเลย
แต่บ้านไหนที่พ่อแม่ฝึกมาไม่ดี ไอ้ลูกนี่แหละ จะเป็นคนที่ชอบดูถูกคน เห็นใครมาทำความสะอาดให้ แทนที่จะขอบคุณเขา กลับดูถูกเขาซะอีกว่า เขาชั้นต่ำ จึงต้องมารับใช้ มาทำความสะอาดให้ ”
“ หลวงพ่อครับ เกี่ยวกับเรื่องความสะอาดนี่ คุณยายสอนหลวงพ่อยังไงบ้างครับ ”
“ ยายไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่ยายทำให้ดู หลวงพ่อได้ตัวอย่างจากยายมากมาย แค่การบ้วนน้ำลาย หลวงพ่อยังต้องฝึกกับยาย เวลายายทำอะไรยายจะนึกถึงคนอื่นเสมอ อย่างการบ้วนน้ำลายนี่ ยายบอกมันเป็นของน่ารังเกียจ จึงเอากระดาษชิ้นเล็ก ๆ ทับไว้ เวลาคนที่เขาเอาไปทิ้ง เขาก็ไม่เห็นความน่ารังเกียจนั้น นี่คือ บทฝึกของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ”
เมื่อหลวงพ่อเล่าถึงตรงนี้ ทำให้อาตมานึกย้อนหลังไปสมัยเป็นนักศึกษาแล้วก็รู้สึกละอายใจ ที่เวลาเข้าเรียนจะต้องไปจองที่นั่ง วางหนังสือไว้ก่อนหรือขึ้นรถเมล์ก็จองที่นั่งให้เพื่อน ไม่สนใจว่าคนอื่น เขาจะมองยังไง
หวังว่าพวกเรานักสร้างบารมีทั้งหลาย คงจะไม่เป็นอย่างนี้นะ เวลาเรามาวัด จอดรถจอดราหรือการขับขี่ เราก็ต้องนึกถึงอกเขาอกเรา ไปสวดมนต์ก็คงไม่ต้องไปจองที่หรือคนเดียวแต่วางของหลายเก้าอี้ อย่าลืมที่หลวงพ่อทัตตชีโวท่านย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ เป็นบทฝึกให้กับเราทั้งสิ้น
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๘ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae