แม่บทแห่งธรรม ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือที่เขียนตามพจนานุกรมว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณ และเป็นพระสูตรที่เป็นแหล่งรวมของหลักธรรมสำคัญ ๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ พระสูตรนี้จึงได้สมญาว่า “ปฐมเทศนา” คือเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ตั้งพระทัยที่จะประกาศพระศาสนา เพื่อประทานพุทธธรรมแก่ชาวโลก ให้มีธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต อันเป็นแนวทางให้เกิดสันติสุข และเป็นการประกาศความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งยังทรงเป็นผู้เปิดทางสายเอกสายเดียวที่จะนำพามหาชนไปสู่พระนิพพาน
นอกจากปฐมเทศนาแล้ว ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ไม่เคยปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงเทศนาพระสูตรนี้ ณ ที่ใดอีกเลย การตรัสเทศนาในโอกาสต่อ ๆ มา ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นปฐมเทศนานั้น ถือเป็นประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไปด้วยการหมุนวงล้อแห่งธรรม เพื่อขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว ๒ เดือน ตรงกับวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้มาเป็นครั้งแรก อันเป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลกด้วยพระธรรมที่ทรงตรัสรู้แล้วนั้น จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือ ทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น “สัมมาสัมพุทธะ” คือ ทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงสามารถแสดงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้
การที่พระสัทธรรมเทศนาสูตรได้รับการขนานนามดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจาก ห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ พระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถีเอง ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญประการหนึ่งอันจะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า “จักร” นั่นเอง
ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า “จักรธรรม” หรือ “ธรรมจักร”
ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ดุม กำ และกง ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรม เป็น “ดุม” ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็น “กำ” และ อริยสัจ ๔ เป็น “กง”
ตราบใดที่ ดุม กำ และกง ยังวางแยกกันอยู่ ตราบนั้น “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมไม่บังเกิดขึ้น ต่อเมื่อนายช่างผู้ชาญฉลาดนำอุปกรณ์ทั้ง ๓ อย่างนั้นประกอบเข้าด้วยกันอย่างถูกต้องและสนิทแนบแน่นแล้ว “จักร” ที่แข็งแรงมั่นคงพร้อมที่จะนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจะบังเกิดขึ้นฉันใด ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็ฉันนั้น กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาพระธรรมทั้ง ๓ หมวดดังกล่าวแล้ว โดยมีความสัมพันธ์โยงใยกันอย่างใกล้ชิด เพราะเหตุนี้เอง พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงได้ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” เพราะเป็นพระธรรมที่จะนำผู้ที่ได้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญและความหลุดพ้นได้ในที่สุด นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะหานักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ใดที่จะมีปัญญาสามารถตรัสรู้และเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้มิได้เลย
ธัมมจักกัปปวัตนสูตรมีเนื้อหาที่แสดงถึงการปฏิเสธการประพฤติปฏิบัติในส่วนที่สุดโต่ง ๒ ทางที่ไม่ควรปฏิบัติ คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นอยู่ในกามสุข หมายถึงสภาวะกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ อันประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เป็นต้น
๒. อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน
และทรงเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตโดยสายกลาง อันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์นำมาประพฤติปฏิบัติ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ที่ชื่อว่า ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางทั้ง ๘ ประการนี้ มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า พระอัฏฐังคิกมรรค อันเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ทรงประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้ นอกจากเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวกิเลส กลายเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังส่งให้พระพุทธองค์ทรงบรรลุ พระสอุปาทิเสสนิพพาน หรือที่เรียกว่า นิพพานเป็น คือ ดับกิเลสโดยสิ้นเชิง แต่ยังทรงมีเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์) เหลืออยู่ และภายหลังทรงบรรลุ พระอนุปาทิเสสนิพพาน หรือที่เรียกว่า นิพพานตาย ในที่สุด
บุคคลผู้ปรารถนาจะพ้นจากวัฏสงสาร สละเพศฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว พึงปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทาหรือหนทางสายกลางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือเรียกว่า “มรรคมีองค์ ๘” ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ประจักษ์แจ้งด้วย พระอนาวรณญาณ (พระปรีชาญาณเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงรู้ทุกอย่างโดยตลอดทะลุปรุโปร่ง) อันวิเศษ มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นเหตุให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และ มรรคอริยสัจ มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นเหตุปัจจัยให้ระงับกิเลส เป็นเหตุปัจจัยให้ตรัสรู้อริยสัจ เป็นเหตุปัจจัยให้เห็นแจ้งประจักษ์ในพระนิพพานอันเป็นอมตะ
โดยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศยิ่ง เปรียบประดุจรัตนยานอันประเสริฐเยี่ยมยอด สามารถนำผู้ปฏิบัติไปสู่พระนิพพานได้เที่ยงแท้ ธรรมนี้ตถาคตทรงตรัสรู้แล้วด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง
มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศยิ่งของพระอริยเจ้า เปรียบประดุจสมเด็จบรมจักรพัตราธิราชผู้ทรงไว้ซึ่งพระเดชาคุณอันสูงส่ง เหล่าอริราชทั้งมวลย่อมสยดสยอง มิอาจต้านทานต่อราชฤทธิ์ของพระองค์ได้ มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นที่ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง เปรียบประดุจดังมหาสมุทรอันเป็นที่ประชุมแห่งแม่น้ำทั้งปวง แม่น้ำน้อยใหญ่บรรดามีในโลกนี้ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งสิ้นฉันใดก็ดี มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เป็นองค์ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ ก็ฉันนั้น
ดังได้กล่าวแล้วว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ประการ เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระญาณหรือปัญญาอันรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น พระองค์ทรงทบทวนถึง ๓ รอบ เป็นไปในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเป็น ๑๒ แล้วจึงกล้าปฏิญาณว่า พระองค์ทรงบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ดังนั้นญาณทัสนะอันรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ จึงได้ชื่อว่า ญาณทัสนะอันมีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒
อริยสัจญาณ
|
ทุกขอริยสัจ
|
สมุทัยอริยสัจ
|
นิโรธอริยสัจ
|
นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
|
สัจจญาณ
|
ทรงหยั่งรู้
|
ทรงหยั่งรู้
|
ทรงหยั่งรู้
|
ทรงหยั่งรู้
|
กิจจญาณ
|
เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
|
เป็นสิ่งที่ควรละ
|
เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง
|
เป็นสิ่งที่ควรเจริญหรือปฏิบัติ
|
กตญาณ
|
ทรงกำหนดรู้แล้ว
|
ทรงละแล้ว
|
ทรงทำให้แจ้งแล้ว
|
ทรงเจริญแล้ว
|
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัจวัคคีย์ว่า พระญาณทัสนะหรือปัญญาอันรู้ในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้ว จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ทั้งในโลกมนุษย์ ในเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับมากำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่
เมื่อบุคคลใดก็ตามหากได้ปฏิบัติตามคำสอนอย่างถูกต้องพร้อมบริบูรณ์แล้ว ก็สามารถจะทำให้กิเลสตัณหาในตัวสูญสิ้นไปอย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามพระพุทธองค์ได้ในที่สุด ดังที่เมื่อพระโกณฑัญญะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้ว ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระศาสดา แล้วพระพุทธองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระภิกษุสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ด้วยอานุภาพของพระสูตรนี้จึงทำให้มีสังฆรัตนะบังเกิดขึ้นในโลกร่วมกับพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ เป็นพระรัตนตรัย คือ แก้ว ๓ ประการ
Cr. วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ