ฆราวาสธรรม คืออะไร ?
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ
ฆราวาส แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน
ธรรม แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้
2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ
3. ขันติ แปลว่า อดทน
4. จาคะ แปลว่า เสียสละ
ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุป รรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ "ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศสร้างปัญญาสร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน
1. การสร้าง "สัจจะ" ให้เกิดขึ้นในตน
สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ
ถ้าขยายความตามศัพท์แยกได้ 3 ลักษณะคือ มีความจริง ความตรง และความแท้จริง คือ ไม่เล่น
ตรง คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรงไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง
แท้ คือ ไม่เหลวไหล
แต่ถ้าในทางปฏิบัติสัจจะ คือ ความรับผิดชอบ หมายความว่า ถ้าจะทำอะไรแล้ว ต้องตั้งใจทำจริง ทำอย่างสุดความสามารถให้เป็นผลสำเร็จ
การที่ใครจะสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้นั้น ต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน เพราะคนที่มีสัจจะเป็นพื้นฐานจะมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่งที่มาถึงมืออย่างสุดกำลัง และเต็มความสามารถ
ลักษณะของสัจจะ มีด้วยกัน 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 สัจจะต่อความดี
ก็คือ การประพฤติตนเป็นคนเที่ยงแท้ มั่นคงต่อความดีไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร
ในทางปฏิบัติ การจะมีสัจจะต่อความดีได้นั้น ต้องคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นโทษของความชั่วได้ชัดเจน
พยายามรักษาความดีในตนไว้ ถ้าเป็นฆราวาส ก็ต้องละ กรรมกิเลส 4, อคติ 4, อบายมุข 6 และต้องปรับความเห็นของตนให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้ หากเป็นพระก็ต้องรักษาสิกขาวินัยสืบทอดพระพุทธศาสนา หากเป็นฆราวาสก็ต้องทำมาหากินตั้งตนให้ได้สร้างหลักฐานให้กับวงศ์ตระกูล ใครจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ต้องพยายามหาดีของตนให้ได้ หากหาดีนอกทางเสียแล้วก็จะเสียความจริงต่อความดี
ประการที่ 2 สัจจะต่อหน้าที่
คือ การที่ใครก็ตามที่เกิดมาย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ใครเป็นสามีก็รับผิดชอบต่อหน้าที่สามี เลี้ยงครอบครัวให้ดีไม่ปันใจให้หญิงอื่น จริงใจกับภรรยา ใครเป็นภรรยาก็จริงใจต่อหน้าที่ของภรรยา ดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนันเผาผลาญทรัพย์
เป็นลูกก็ต้องมีความรับผิดชอบว่า เราเป็นลูกมีหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูลให้ดี ถ้าพ่อแม่แก่เฒ่า ก็ต้องเลี้ยงดูท่าน
เป็นทหารก็จริงใจลงไปในหน้าที่ทหาร เป็นตำรวจก็รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตำรวจ
ว่าใครจะเป็นอะไร ก็ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้เต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้จึงเรียกว่า มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ประการที่ 3 สัจจะต่อการงาน
สัจจะต่อการงาน ก็คือการตั้งสัจจะลงไปในงาน หมายถึงการทำงานนั้นต้องทำจริงไม่ทำเหยาะๆ แหยะๆ หรือทำเล่นๆ
ดังนั้น เมื่อมีหน้าที่แล้วก็ย่อมมีงานตามมาสามีก็มีงานของสามี คืองานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นภรรยาก็มีงานของภรรยา เป็นลูกก็มีงานของลูก เป็นพระก็มีงานของพระ จะเป็นอะไรก็มีหน้าที่และมีงานตามมา ยิ่งอายุมาก หน้าที่ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว เมื่อหน้าที่มาก งานก็มากด้วยเช่นกัน
คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1. พวก "ทุจฺจริตํ" คือ พวกที่ทำงานเสีย
2. พวก "สิถิลํ" คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ
3. พวก "อากุลํ" คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง
หากทำอย่างนี้จะเสียสัจจะต่อการงาน วิธีแก้ก็คือ ทำให้ดี ทำให้เคร่งครัด ทำให้เสร็จสิ้นหากทำได้ก็จะกลายเป็นสัจจะต่อการงาน
อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำพังเพยว่า "เรือล่มเมื่อจอด" คำนี้ใช้กับผู้ที่เคยทำดีมาแล้วแต่ประมาทเมื่อปลายมือ เพราะไม่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดหรือทำสักแต่ว่าทำ เพราะฉะนั้น เมื่อทำความดีแล้ว ต้องทำให้ดีพร้อม จนใครๆ ก็ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว คือ ต้องทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จให้ได้และให้ดีที่สุด นี่คือความรับผิดชอบของคนที่มีสัจจะต่อการงาน
ประการที่ 4 สัจจะต่อวาจา
สัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปากหรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม จัดอยู่ในเรื่องของวาจาได้
สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ
ประการที่ 5 สัจจะต่อบุคคล
สัจจะต่อบุคคล คือ ต้องจริงต่อบุคคล ในที่นี้คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา
จริงต่อบุคคลนั้น หมายถึง การเป็นผู้ที่ประพฤติต่อคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลับกลอกและความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเขาจริงใจต่อเรา เราก็ต้องให้ความจริงกับเขาด้วย
คนเรามักชอบบ่นว่า " ผมน่ะไม่มีเพื่อนจริงสักคน " ความจริงแล้ว ตัวเองต่างหากที่ไม่จริงกับเขาก่อน แล้วเขาจะมาจริงใจกับเราได้อย่างไร เวลาคบกับใครก็บอกเขาว่า " มีธุระเดือดร้อนอะไรละก็ บอกนะ จะช่วยเต็มที่ "
แต่พอเขาจะมาพึ่งพาให้ช่วยเหลือ กลับบิดพลิ้วสารพัดจะหาเหตุผลมาอ้าง มาแก้ตัวอย่างนี้ก็ไม่มีใครเขาจริงใจด้วย
ขอฝากเป็นข้อคิดไว้ คือ ถ้ารักจะคบเป็นเพื่อนกันตลอดไป อย่าเล่นแชร์เล่นไพ่กับเพื่อนเพราะสองอย่างนี้พอเล่นจะเอาผลประโยชน์กัน แล้วจะมีความจริงใจต่อกันได้อย่างไร เพื่อนกัน
มีอะไรต้องช่วยเหลือจุนเจือกัน เพื่อนติดขัดเรื่องเงินเรื่องทอง ก็ตัดเงินส่วนที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนให้ไปเลย ไม่ต้องไปคิดเรื่องดอกเบี้ย จะคิดถูกคิดแพงก็ถือว่าไม่จริงใจต่อกันทั้งนั้น
หรือเป็นตำรวจ จับผู้ต้องหาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ก็อย่าไปแก้แค้นด้วยการซ้อมคนไม่มีทางสู้ มีหน้าที่สอบสวน เจอผู้ร้ายปากแข็งชักช้าอย่างไรก็ต้องทน ต้องพยายามใช้ปัญญาอย่าใช้วิธีทารุณบีบคั้นให้เขารับสารภาพ ต้องนึกถึงคุณธรรมความดีให้มาก
สรุปความได้ว่า คนที่มีสัจจะคือคนที่ทำอะไรทุ่มสุดตัว จะทำงานชิ้นใดก็ทุ่มทำให้ดีที่สุดคบใครก็คบกันจริงๆ ไม่ใช่ต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา ถ้าจะคบก็คือคบ ถ้าไม่คบก็ตัดบัญชีกันไปเลย ฝึกทุ่มหมดตัวอย่างนี้ ไม่ช้าก็จะได้เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ พอนั่งสมาธิคู้บัลลังก์แล้ว ก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทุ่มชีวิตเลยว่า "แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็นกระดูก ก็ตามทีหากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด" พระบรมศาสดาของเราทุ่มสุดตัวอย่างนี้ เราเป็นลูกศิษย์ท่านต้องทำตาม
2. การสร้าง "ทมะ" ให้เกิดขึ้นในตน
ทมะ แปลว่า การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง
ทมะ หมายถึง ความรักในการฝึกฝนตนเอง ความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนตนเอง อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีทั้งความรู้ ความสามารถ และความดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน
เกิดเป็นคนต้องหมั่นปรับปรุงตนเองอยู่เรื่อยไป อย่าอยู่กับที่ ขณะที่คนอื่นเขาวิ่งบ้างเดินบ้าง แม้ที่สุดกำลังคลานอยู่ ถ้าเรามัวนอนหลับ ก็เท่ากับเรากำลังถอยหลัง
เรื่องฝึกตัวเป็นสิ่งสำคัญ ใครที่มีผู้ใต้บังคับบัญชามาก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พ่อค้าอะไรก็ตาม หากไม่ฝึกตัว ไปไม่รอด นอกจากต้องฝึกทางด้านวิชาการตลอดแล้วยังต้องฝึกแก้นิสัยใจคอตัวเองอีกด้วย ฝึกแก้นิสัยตัวเองคือ ฝึกตัวด้านคุณธรรมนั่นเอง
เพราะการที่เราฝึกแก้นิสัยที่ไม่ดีของตนเอง จะทำให้เรามีความพร้อมที่จะยอมรับการอบรมสั่งสอน จากคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งปัญญาที่สำคัญทมะ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ทันต่อกิเลสหมายถึง รู้เท่าทันกิเลสภายในตัวของเรา รู้ว่าอะไร คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟอยสิ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการที่เราทันต่อกิเลสนั้น เราจะรู้จักยับยั้งไม่ให้หลงไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี
2. ทันคน หมายถึง รู้เท่าทันคนที่เราต้องติดต่อ คบค้า มาคม เพื่อรู้เท่าทันความคิดของเขาว่า จะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อตัวของเราหรือหน้าที่การงานของเราอย่างไร
3. ทันโลก หมายถึง รู้เท่าทันโลก รู้ว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถปรับตัวได้ทัน
ทันโลกสามารถแบ่งได้เป็น 4 เรื่อง
1) ทันสถานการณ์ ในที่นี้เพื่อให้เรารู้ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกระทบกับเราในด้านที่เป็นโอกาสหรือวิกฤต เพื่อที่เราจะสามารถหาวิธีการรับมือได้ทัน
2) ทันเทคโนโลยี การทันต่อเทคโนโลยี จะช่วยพันาขีดความรู้ความสามารถของคนให้ก้าวหน้า ก้าวไกลสะดวกรวดเร็วมากกว่า ในแง่การค้าสามารถลดต้นทุนในการผลิตหรือการค้า และสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการแข่งขันในทางธุรกิจ
3) ทันกฎหมาย ทันต่อกฎหมายจะทำให้เรารู้ว่าเรามีข้อจำกัดอย่างไร อะไรต้องปฏิบัติ และอะไรที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
4) ทันวัฒนธรรมประเพณี การที่เรารู้ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งมีประเพณีและวัฒนธรรมอย่างไรนั้น เราจะสามารถรู้ว่า ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการอะไร และสิ่งไหนที่เขาสามารถยอมรับได้หรือไม่ได้ เพื่อเราจะได้รู้ว่าขอบเขตจำกัดของเราในการทำงานนั้นอยู่ที่ตรงไหน
4. ทันธรรมชาติ หมายถึง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของ ภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม และวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับ ภาพอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาลด้วย
หลักการฝึกฝนตนเอง
วิธีที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความดีในเรื่องใดๆ ก็ตาม มีแนวทางการปฏิบัติอยู่ 4 ขั้นตอน คือ
1. ต้องหาครูดีให้เจอ คือ การที่เราสนใจในเรื่องใดๆ ที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองก็ตาม ผู้นั้นจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ มาเป็นครูให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวก็มีมาก เช่นกัน
2. ต้องฟังคำครู คือ ต้องตั้งใจฟัง และเมื่อสงสัยก็ซักถามทันที จนกระทั่งจับประเด็นให้ได้ว่าสิ่งที่ครูสอนในเรื่องนั้นๆ มีหลักการ วิธีการอย่างไรบ้าง อย่างชัดเจนเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดเวลานำไปปฏิบัติ
3. ต้องตรองคำครู คือ นำประเด็นที่ครูอธิบายมาพิจารณาหาเหตุผลในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านของความสำคัญ วิธีการใช้งาน ข้อควรระวัง ตลอดจนผลได้ผลเสียที่จะตามมาในภายหลังให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
4. ต้องทำตามคำครู คือ เมื่อพิจารณาคำครูชัดเจนดีแล้ว ว่าทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั้นทำอย่างไร แล้วก็ลงมือปฏิบัติด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ทำอย่างมีสติ เพื่อที่จะไม่ประมาทพลั้งเผลอ จนอาจเกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้
การฝึกเพื่อแก้นิสัย
การแก้นิสัยไม่ดีแต่ละอย่าง ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ต้องพยายามแก้ส่วนจะแก้ได้มากหรือได้น้อยแค่ไหนก็ต้องพยายามแก้กันเรื่อยไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญบารมีในพระชาติต้นๆ ความรู้ความประพฤติของพระองค์ก็ไม่ มบูรณ์เช่นคนทั้งหลาย จึงต้องล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง บางชาติเกิดเป็นสัตว์ บางชาติเกิดเป็นคน เป็นคนยากจนก็มี เป็นกษัตริย์ก็มี บางชาติเป็นนักปราชญ์ แต่จะล้มลุกคลุกคลานอย่างไร พระองค์ก็พยายามฝึกตัวอยู่ตลอดเวลาสังเกตได้จากชาดกเรื่องต่างๆ
เราประกาศตัวเป็นชาวพุทธ เท่ากับประกาศว่าเป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีหน้าที่ต้องฝึกตนตามพระองค์ รู้ว่านิสัยอะไรไม่ดีก็รีบแก้เสีย ฝนใจให้ได้ ฝนใจอยู่บ่อยๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ช้าก็คุ้นกับความดี
ศีลธรรมต้องนำหน้าความรู้
ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานหลายแห่งคือ คนส่วนใหญ่มักไม่ฝึกฝน ปรับปรุงตัวเอง โดยเฉพาะความประพฤติ บางคนปรับปรุงเฉพาะความรู้ ซึ่งความรู้ทางโลก เป็นความรู้ที่สามารถเรียนรู้ ทันกันได้โดยใช้เวลาไม่นาน และถ้าหากมีความรู้แล้วแต่ไม่รู้จักการฝึกฝนตนเองก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าได้
ทางที่ถูกที่ควร คือ เมื่อด้านวิชาการก้าวหน้าอยู่ตลอด ตัวเราก็ต้องพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมมากหรือน้อยก็ให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็รีบปรับปรุงคุณธรรมในตัวเราเสียแต่เนิ่นๆ พอถึงเวลาแล้ว เราต้องอาศัยคุณธรรมเป็นแนวทาง ในเรื่องการถนอมน้ำใจคน เรื่องการเข้าสังคม เรื่องการติดต่อกับผู้ใหญ่ และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง
แต่ถ้าขาดคุณธรรม ย่อมเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก ปัดแข้งปัดขา ก่อเวร ต่างคนต่างมีจิตใจขุ่นมัว แล้วในที่สุด ก็ไม่สามารถสร้างตัวได้
ดังนั้นควรตั้งใจฝึกคุณธรรมดีที่สุด คุณธรรมที่ต้องฝึก ก็คือ ความไม่ลำเอียง ถ้าลำเอียงแล้ววินิจฉัยจะเสียตาม บางคนลำเอียงแม้เรื่องเล็กๆ เช่นสุนัขบ้านเราไปกัดแพ้สุนัขข้างบ้าน แค่นั้นและชักเคืองแทนสุนัขขึ้นมาทีเดียว คือ เอาหัวใจไปผูกกับสุนัข
บางคนเรื่องเล็กไม่ลำเอียง แต่ลำเอียงเรื่องใหญ่ พอลูกตัวเองไปเล่นกับลูกชาวบ้านเกิดทุบตีกันขึ้น ไม่ได้ถามเลยว่า ลูกตัวไปรังแกเขาก่อนหรือไปทำอะไรมา เข้าข้างลูกตัวเองทันทีจะไปเล่นงานลูกชาวบ้านอย่างนี้ก็มี
เรื่องความลำเอียงนี้ บางทีแก้กันชั่วชีวิตกว่าจะหาย เพราะฉะนั้นต้องฝึกเป็นคนไม่ลำเอียงให้ได้ การฝึกเช่นนี้ เน้นการนั่งสมาธิมากๆ ให้ใจละเอียดอ่อน แล้วจะไม่ลำเอียง ไม่มีอคติกับใครแล้วเราจะไม่มีปัญหากับใคร และจะเจริญก้าวหน้าได้ในที่สุด
กล่าวโดยสรุป ทมะ คือ การฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณธรรมซึ่งนอกจากจะทำให้การทำงานดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ไม่มีเวรมีภัยกับใครสามารถยับยั้งตัวเองได้สร้างเนื้อสร้างตัวได้มั่นคง
3. การสร้าง "ขันติ" ให้เกิดขึ้นในตน
ขันติ แปลว่า ความอดทน
อด คือ ไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้
ทน คือ ได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้
ขันติ เป็นลักษณะบ่งบอกถึงความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการพยายามทำความดี ถอนตัวออกจากความชั่ว และเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ในการแสวงหาเพื่อให้ได้ทรัพย์มา ในการสร้างตัว
ที่ว่าอดทนนั้น ไม่ได้หมายความว่า ใครตกอยู่ใน ภาพไหนแล้ว ก็จะยอมอยู่ใน ภาพอย่างนั้น เช่น ใครจนก็ยอมจนอยู่อย่างนั้น ไม่พยายามขวนขวายหาทรัพย์หรือเกียจคร้านในการทำงาน จะถูกใครด่าว่าก็ทน อย่างนี้เขาเรียกว่าตายด้าน ไม่ใช่ขันติ
ขันติ จำเป็นสำหรับการเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะทำให้เราหันออกจากความดี
ดังนั้น ถ้าใครมีขันติแล้วคนนั้นจะมีจิตใจเข้มแข็ง อาจหาญร่าเริงในการทำความดี และสามารถถอนตัวออกจากความชั่วทุกอย่างได้ขันติ มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ
1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ได้แก่ อดทนต่อธรรมชาติสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าลมพายุ ฝนตกหนัก แสงแดดที่แผดกล้า อากาศหนาว ภูมิประเทศจะทุรกันดารอย่างไร ทนได้ทั้งนั้น ไม่ทอดทิ้งการงาน กัดฟันทนทำงานของตนให้สำเร็จ
2. อดทนต่อความทุกขเวทนา คือ ทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจาก ภาพสังขารร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมรู้จักอดทนอดกลั้น ไม่โวยวายคร่ำครวญเกินเหตุบางคนทนต่อ ภาพดินฟ้าอากาศได้ดี แต่พอป่วยไข้ เห็นเข็มฉีดยาก็กลัวตัวสั่นแล้ว บางคนเป็นฝีธรรมดาก็ผวา กลัวจะเป็นมะเร็ง แต่บางคนเจ็บป่วยให้แทบตายก็ไม่เคยร้องโอดครวญ
3. อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ทนต่อการกระทบกระทั่ง หรือกระทบกระเทียบเปรียบเปรยการทำให้เจ็บอกเจ็บใจ บางคน เพียงถูกคนโน้นกระทบที คนนี้กระแทกที เขาว่าหน่อยค่อนขอดนิด ก็อึดอัดเจ็บใจ บางคนทนต่อความเจ็บใจได้บ้าง เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ถึงจะทนไม่ได้ก็ต้องทน การทนอย่างนี้ได้ถือว่ายังไม่เรียกว่า ขันติ บางคนทนต่อความเจ็บใจ ต่อคำพูดของคนในระดับเดียวกัน พรรคพวกเพื่อนฝูงในที่ทำงานเดียวกันได้ถือว่า มีขันติระดับปานกลาง
ส่วนคนที่มีขันติ จริงๆ นั้น ต้องทนต่อการกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย การทำให้เจ็บอกเจ็บใจ จากคนใต้บังคับบัญชาหรือผู้ต่ำกว่าได้
ในการทำงานนั้น เราต้องมีการติดต่อกับบุคคลหลายประเภท เพราะแต่ละคนมีการฝึกฝนตนเองต่างกัน ถ้าหากไม่มีขันติแล้ว ก็ไม่อาจจะทำงานให้ออกมาดีได้อย่างเป็นสุข ทั้งบางครั้งยังอาจทำให้มีเรื่องเดือดร้อนมาสู่ตัวเองอีกด้วย
4. อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ การอดทนต่อนิสัยที่ไม่ดีของตัวเราเอง ในที่นี้มุ่งหมายถึง การไม่เอาแต่ใจตัว ไม่ยอมปล่อยตัวตามกระแสโลก ความเพลิดเพลิน เช่น ความสนุกสนาน การเที่ยวเตร่ ความฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ หรือการได้ผลประโยชน์ในทางที่ไม่ควร เป็นต้น
กิเลส เป็นเชื้อโรคร้ายที่ฝังอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เกิด เวลามันกำเริบขึ้นมา จะคอยบีบคั้นบังคับ ให้เราทำความชั่วต่างๆ โดยไม่มีความละอาย แล้วพอเราไปทำเข้า กิเลสก็ทำให้เราได้รับทุกข์ เป็นความเดือดร้อนมากมาย เป็นเหตุให้เราต้องมานั่งตำหนิตนเองในภายหลัง
อบายมุข เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่คอยกระตุ้นกิเลสให้กำเริบ และลุกลามอยู่ภายในใจ จนกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี หรือสันดานชั่วๆ ที่แก้ไขได้ยาก
บุคคลบางคนทนต่อความลำบากตรากตรำได้ ทนต่อทุกข์เวทนาได้ ทนต่อความเจ็บใจจากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ที่ทนได้ยากที่สุดคือ ทนต่ออำนาจกิเลส หรือ การอดทนต่อความอยากนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ผู้ชายบางคน ทนแดดทนฝน ทนได้สารพัด แม้ที่สุด เขาเอาเงินมาติดสินบนก็ไม่ยอมรับ เอาปนมาขู่จะฆ่าบังคับ จะให้ทำผิด ก็ไม่ยอมก้มหัว แต่พอเจอสาวๆ สวย ๆ มาออดอ้อนออเซาะเอาใจเข้าหน่อย ก็เผลอใจไปหมดทุกอย่าง อะไรที่ผิดก็ยอมทำ ไม่ว่าจะ ผิดกฎหมายผิดศีล หรือผิดธรรมก็ตาม ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วก็ยากที่จะสร้างตัวขึ้นมาได้
ดังนั้นความอยู่รอดของตัวเรา จึงขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถทนต่ออำนาจกิเลสได้เพียงใดเราจึงต้องอดทนต่อกิเล ให้ได้ด้วยการฝึกฝนตนเอง 2 ประการ คือ
1. อดทนต่อการควบคุมนิสัยที่ไม่ดีของเราไม่ให้ระบาดไปติดคนอื่น
2. อดทนต่ออบายมุข 6
ถ้าหากอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะสามารถตั้งตัวได้ ดังนั้น ขันติจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างตัว นั่นเอง
4. การสร้าง "จาคะ" ให้เกิดขึ้นในตน
จาคะ แปลว่า ความเสียสละ
จาคะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. การสละสิ่งของ
2. การสละความสะดวกสบาย
3. การสละอารมณ์ที่บูดเน่า
ความเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจต่อการอยู่ร่วมกัน นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
การรู้จักเสียสละนั้น จะทำให้เราสามารถได้มิตรมา เพราะการเสียสละนั้น ไม่เพียงจะเสียสละในทางวัตถุแล้ว ยังหมายถึง การเสียสละเพื่อดูแลทั้งทางกายและทางจิตใจ
ทางกาย ก็คือ มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันสิ่งของให้กัน หรือหากมิตรมีปัญหาในเรื่องใดก็ตาม หากสามารถช่วยได้ก็จะช่วยอย่างเต็มกำลัง ความสามารถ
ทางจิตใจ ก็คือ การรู้จักถนอมน้ำใจกันในยามปกติ รู้จักการให้กำลังใจกัน ในยามป่วยไข้รู้จักเตือนสติห้ามปรามกันในยามประมาท และมีความซื่อสัตย์ต่อกัน
หากทำอย่างนี้ได้ เราก็จะได้มิตรที่ดีมาอยู่ใกล้ๆ คอยชี้แนะแนวทางที่สามารถสร้างความเจริญให้กับตัวของเราได้
คนที่มีความตระหนี่ จะมีจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัว จะไม่ นว่าคนอื่นจะเดือดร้อนเพียงใด ก็ไม่คิดจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ จึงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ไม่มีใครอยากจะแนะนำสิ่งที่ดีๆหรือช่องทางแห่งความเจริญให้
ส่วนคนที่รู้จักการเสียสละ จะมีจิตใจกว้างขวาง ช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอ แม้เขาจะไม่เอ่ยปากร้องขอ จึงเป็นการเรียกมิตรให้เข้ามาหา โดยไม่ต้องเอ่ยปาก ใครๆ ก็อยากให้คำแนะนำที่ดีๆ และตักเตือนเมื่อทำอะไรผิดพลาดไป ซึ่งเป็นการป้องกันภัยที่จะมาถึง และนำหนทางแห่งความเจริญมาสู่ตัวของเรา อีกทางหนึ่ง
อานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
1. อานิสงส์ของการมีสัจจะ
- ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว
- เป็นคนหนักแน่นมั่นคง
- มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน
- ได้รับการเคารพยกย่อง
- มีคนเชื่อถือ และยำเกรง
- ครอบครัวมีความมั่นคง
- ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
2. อานิสงส์ของการมีทมะ
- ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว
- ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน
- ไม่มีเวรกับใคร
- ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้
- สามารถตั้งตัวได้
- มีปัญญาเป็นเลิศ
3. อานิสงส์ของการมีขันติ
- ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ
- ทำงานได้ผลดี
- สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้
- สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้
- ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น
- ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้
- ทำให้ได้ทรัพย์มา
4. อานิสงส์ของการมีจาคะ
- ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสีย ละให้เกิดขึ้นในตัว
- เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง
- เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป
- ครอบครัวและสังคมเป็นสุข
- มีกัลยาณมิตรรอบตัว
สรุปแล้วคุณของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียงเมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม
โทษของการไม่สร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
1. โทษของการขาดสัจจะ
- ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว
- เป็นคนเหลาะแหละ
- พบแต่ความตกต่ำ
- มีแต่คนดูถูก
- ไม่มีคนเชื่อถือ
- ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆ ได้
- ไร้เกียรติยศชื่อเสียง
2. โทษของการขาดทมะ
- ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง
- ทำให้ขาดความสามารถในการทำงาน
- สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย
- จะเกิดการทะเลาวิวาทได้ง่าย
- จะจมอยู่กับอบายมุข
- ครอบครัวเดือดร้อน
- ไม่สามารถตั้งตัวได้
- เป็นคนโง่เขลา
3. โทษของการขาดขันติ
- ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
- เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง
- ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้
- หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย
- ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น
- เต็มไปด้วยศัตรู
- ขาดความเจริญก้าวหน้า
- ทำให้เสื่อมจากทรัพย์
4. โทษของการขาดจาคะ
- ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ
- ได้รับคำครหาติเตียน
- เป็นทุกข์ใจ
- ไม่มีใครอยากเข้าใกล้
สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหาถูกหวาดระแวง เมื่อขาดทมะย่อมเกิดปัญหาความโง่เขลา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในสังคม
สรุป
การที่บุคคลใดจะสามารถสร้างตัวได้นั้นต้องมีสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ และฆราวาสธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างตัวได้อย่างถูกวิธี และเป็นพื้นฐานในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจต่อไป
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เกิดขึ้นจากนิสัยที่เราทำเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว เรารู้ว่าฆราวาสธรรมเกิดจากนิสัยของเรา เราก็ควรฝึกให้มีในตัวของเราเองเพื่อให้สามารถเป็นทางมาแห่ง เกียรติยศ ปัญญา ทรัพย์สมบัติ และหมู่มิตร
หากบุคคลใดก็ตามไม่สามารถสร้างฆราวาสธรรมให้เกิดขึ้นในตัวได้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสามารถสร้างฐานะได้สำเร็จ
การที่เราทำงานเรื่องใดก็ตามไม่ประสบความสำเร็จ อย่ามุ่งแต่โทษคนอื่น ให้หันกลับมาทบทวนฆราวาสธรรมภายในตัวของเราเองก่อนว่ามีครบถ้วนแล้วหรือยัง
บุคคลใดก็ตาม หากฝึกฝนให้มีฆราวาสธรรมเกิดขึ้นในตนแล้ว ย่อมจะเป็นผู้มีกำลังกายกำลังความคิด กำลังสติปัญญา และกำลังความดี พร้อมที่สร้างฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้โดยง่ายอย่างแน่นอน
GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา