วิธีเทียบเคียงการสร้างความดีของตนเองกับมาตรฐานของพระพุทธองค์

วันที่ 19 ธค. พ.ศ.2559

วิธีเทียบเคียงการสร้างความดีของตนเองกับมาตรฐานของพระพุทธองค์

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , วิธีเทียบเคียงการสร้างความดีของตนเองกับมาตรฐานของพระพุทธองค์   , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     การเทียบเคียงการสร้างความดีนั้นก็คือ การเปรียบเทียบพฤติกรรมที่เราทำ จนเคยชินเป็นประจำ ทั้งทางกาย วาจา ใจ หรือที่ใช้คำว่า นิสัย

    โดยในที่นี้เพื่อการป้องกันความเสื่อม และทำลายความอวดดื้อถือดีในตัวของเรา เราต้องฝึกตัดใจแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น โดยการเลือกคิด พูด ทำแต่สิ่งที่ดีๆ เพื่อกำจัดนิสัยที่ไม่ดีในตัวเราออกไป

       การที่จะสามารถลดทิฏฐิในตัวของเรานั้น เราต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีจึงจะสามารถลดทิฏฐิมานะในตัวเองได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งก็คือ การสร้างบารมีนั่นเอง

    ในระหว่างที่เรากำลังฝึกฝนตนเองอยู่นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้นำตนเองไปเทียบเคียงกับมาตรฐานของการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างความดี อย่างถูกหลักวิชา โดยทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และตั้งใจทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นก็คือ การบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการของพระองค์


บารมี 10 ประการ
     1. ทานบารมี คือ การเสียสละ ทั้งสละทรัพย์ ละอวัยวะ จนกระทั่งถึงสละชีวิต การละนั้น ต้องเป็นการตัดใจ ละออกโดยไม่มีเยื่อใย และไม่รู้สึกเสียดายในสิ่งที่ได้สละออกเป็นทานแล้ว ทั้งยังมีจิตใจชุ่มชื่นอิ่มเอิบใจจากการเสียสละนั้น และมีความเต็มใจและตั้งใจที่จะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยไม่กลัวต่อความยากลำบาก อุปสรรคต่างๆ หรือแม้กระทั่งมรณภัยที่จะเกิดขึ้น

    2. ศีลบารมี คือ เป็นการรักษาความเป็นปกติของมนุษย์ไว้ จุดประสงค์เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้อื่น ให้ความปลอดภัยกับทรัพย์สินของผู้อื่น ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ให้ความเชื่อใจกัน และให้ตนเองมีสติอยู่เสมอไม่ประมาทการรักษาศีลนี้จะต้องทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันไม่ว่าจะต้องสละชีวิตก็ตามย่อมไม่ทำผิดศีล ทั้งยังมีจิตใจที่ปลื้มปีติกับการรักษาศีลนั้น

     3. เนกขัมมบารมี คือ การออกบวช ปลีกตัวออกจากการครองเรือน ที่เปรียบเสมือนเครื่องพันธนาการ ทั้งยังเป็นการฝึกตัวไม่ให้ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญสุข ที่เกิดจากกามคุณทั้ง 5 นอกจากจะปลีกตัวออกมาแล้ว ยังต้องมีใจให้ชุ่มชื่นอยู่กับการบวช มีปีติทุกครั้งที่พิจารณานึกถึงข้อวัตรปฏิบัติของตน และมีจิตใจที่แน่วแน่เด็ดเดี่ยวในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

    4. ปัญญาบารมี คือ เป็นการแสวงหาความรู้เพื่อทำลายอวิชชา คือความไม่รู้ออกไปจากใจของบุคคลนั้น เริ่มต้นจากการแสวงหาความรู้จากผู้มีความรู้ต่างๆ โดยไม่เกี่ยงว่าคนคนนั้นจะเป็นใครมาจากไหน ขอให้มีความรู้จริงในสิ่งที่เราต้องการจะศึกษา แล้วลงมือศึกษา ฝึกฝนตนเองอย่างสุดความสามารถ แล้วนำความรู้ที่ได้รับมานั้นมาพิจารณาไตร่ตรอง ทดลองด้วยตนเอง และสุดท้ายก็คือ การเจริญสมาธิภาวนา โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อขจัดความไม่รู้ออกไปจากใจของเราอย่างสิ้นเชิง

     5. วิริยบารมี คือ ความเพียรพยายามในการสร้างความดีทุกรูปแบบ และมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ในการแก้ไขปรับปรุงตัวละเว้นความไม่ดีที่เคยทำมาแล้ว และกล้าคิดกล้าทำสิ่งที่จะสามารถฝึกฝนตนเองในการสร้างความดีทวนกระแสโลก อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

     6. ขันติบารมี คือ การสร้างความอดทนทางร่างกาย เพื่อควบคุมสติไว้ให้ประพฤติในทางที่ชอบ และอดทนทางจิตใจต่อสิ่งเย้ายวนต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส เป็นความอดทนที่จะชำระกิเลสในตัว ไม่หวั่นไหวโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศสรรเสริญ นินทา โดยยังสามารถรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ปล่อยตัวเองไปตามอำนาจกิเลส

     7.สัจจบารมี คือ ความจริง จริงต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สุดฝีมือ ไม่เป็นคนโลเล เป็นคนที่พูดอย่างไหนทำอย่างนั้นและทำอย่างไหนก็พูดอย่างนั้น รวมทั้งมีความตั้งใจมั่น ที่จะไม่ออกนอกเส้นทางการสร้างความดี โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่หวั่นไหวในอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

     8. อธิษฐานบารมี คือการตั้งจิตมั่นในการวางแผน แล้วทำให้ได้ตามแผนที่วางเอาไว้โดยตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำอย่างเต็มที่ให้สำเร็จให้ได้ ในการทำความดีแม้ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคมากน้อยเพียงใดก็ตาม ต้องไม่หวั่นไหว ต้องทำให้สำเร็จโดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ตาม

     9. เมตตาบารมี คือ การตั้งจิตเมตตาต่อทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความปรารถนาดีต่อทุกๆ คน และสุดยอดของความเมตตาก็คือถ้าเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อตนเองหรือบุคคลอื่น ก็กล้าที่จะเข้าไปตักเตือนด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี แม้รู้ว่าเขาจะโกรธที่ถูกตักเตือนก็ตาม

    10. อุเบกขาบารมีคือ การวางใจให้เป็นกลางสงบ เป็นการฝึกตัวไม่ให้เกิดความลำเอียงทั้งไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเอง และไม่ลำเอียงเข้าข้างคนอื่น ไม่มีความยินดียินร้ายด้วยความชอบหรือความชัง ให้ความเสมอหน้ากัน และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังรักษาใจให้เป็นปกติอยู่ได้

    การสร้างบารมีนั้นนอกจากตัวเราจะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหมู่คณะของเรา เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี เราต้องบอกให้เขาได้รับทราบ และกล้าที่จะแนะนำตักเตือนกัน เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะนั้นอย่างมีความสุข

    เมื่อเราเปรียบเทียบการสร้างความดีของตัวเรากับมาตรฐานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราก็จะรู้ว่าต้นแบบที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร และเป็นได้โดยวิธีการใด เราก็จะคลายความอวดดื้อถือดีที่มีอยู่ในตัวเรา แล้วหมั่นฝึกฝนตนเองเพื่อกำจัดนิสัยที่ไม่ดีให้หมดไปจากตัวของเรา เพื่อที่สักวันหนึ่งเราก็จะกลายเป็นบุคคลที่เป็นมาตรฐานได้เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

 

วิธีการคบกัลยาณมิตร และปวารณาตัวให้ตักเตือนได้

 เมื่อรู้จักถึงวิธีการในการสร้างความดี และมาตรฐานที่เป็นต้นแบบในการสร้างความดีแล้ว เราก็ต้องหากัลยาณมิตรเพื่อปวารณาตัว ให้เขาสามารว่ากล่าวตักเตือนเรา เพื่อเป็นการลดความอวดดื้อถือดีในตัวของเรา ทำให้เขาพร้อมที่จะให้คำปรึกษากับเราในการสร้างความดีอย่างเต็มที่ รวมทั้งคอยตักเตือนเราเมื่อเวลาเราพลาดพลั้งคิดหันเหออกจากเส้นทางการสร้างความดี และคอยแนะนำหรือเป็นกำลังใจในยามที่เราพบเจอกับอุปสรรค เพื่อให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี และสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝัง

วิธีการคบกัลยาณมิตร มีดังนี้

     1. หาครูดีให้พบ คือ ไม่ว่าเราจะศึกษาเรื่องใดก็ตามหรือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความดีที่มีอยู่ในตัวของเราก็ตาม เราจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ มาเป็นครูของเราให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะผิดพลาดหรือล้มเหลวก็มีมากตามมาด้วยเช่นเดียวกันและนอกจากนี้ถ้าหาครูผิดยังอาจทำให้เราหลุดออกไปนอกเส้นทางของการแ วงหาความรู้หรือเพิ่มพูนความดีในตัวของเราได้

       2. ฟังคำท่านให้ชัด คือ เมื่อท่านพูดจา อบรมสั่งสอน หรือว่ากล่าวตักเตือนเราในเรื่องใดก็ตาม ต้องตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ไม่ดูหมิ่น และรวมทั้งไม่จ้องจับผิดท่าน เพราะการที่ท่านใช้เวลามาแนะนำเรานั้นไม่ใช่โอกาสที่จะหาได้ง่ายนัก ดังนั้นเราจึงต้องให้ความ นใจ และใส่ใจในคำของท่านทุกคำด้วยความเคารพ เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้และความดีที่มีอยู่ในตัวท่านมาสู่เราให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องจับประเด็น หลักการ วิธีการปฏิบัติ อย่างชัดเจนให้ได้รวมทั้งเมื่อมีปัญหาอะไรต้องรีบถามทันทีไม่ปล่อยผ่าน เพราะเราอาจะไม่มีโอกาสได้กลับมาถามท่านอีกก็ได้

    3. ตรองคำท่านให้ลึก คือ นำแต่ละประเด็น ที่ครูอธิบายแล้วอธิบายอีก หรือที่ครูคอยย้ำเป็นประจำมาพิจารณา ให้เข้าใจในแง่ของเหตุและผล รวมทั้งความสำคัญในการใช้งานข้อควรระวังต่างๆ ในการลงมือปฏิบัติ รวมทั้งผลได้ผลเสียที่จะตามมาหลังจากได้ลงมือปฏิบัติแล้ว

       4. ปฏิบัติตามคำท่านให้ครบ คือ หลังจากที่พิจารณาคำครูอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเข้าใจดีแล้ว ว่าที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างไร แล้วจึงลงมือปฏิบัติ อย่างมีสติรอบคอบระมัดระวัง ไม่ประมาทจนอาจนำไปสู่ความความเสียหาย หรือ ล้มเหลวตามมาได้ ถ้ามีปัญญาสงสัยอย่างไรในการปฏิบัติให้ถามครูทันทีไม่ปล่อยผ่านเพราะถ้าเราไม่แน่ใจแล้วลงมือทำไปแล้วถ้าเกิดความผิดพลาดอาจส่งผลเสียตามมาภายหลังได้

     คนที่จะมีความรู้ ความสามารถ และความดีได้อย่างเต็มที่นั้นต้องอาศัยวิธีการดังนี้เท่านั้นในการฝึกฝนตนเอง เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย

      และการที่จะยอมรับใครสักคนมาเป็นครูได้นั้นต้องอาศัย ใจที่ยอมรับ รวมทั้งฝนกิเลสในตัว ข่มความอวดดื้อถือดีในตัว และในที่สุดก็ต้องข่มใจ เพราะหากเราต้องการจะแก้สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากตัวของเราแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องเปลี่ยนนิสัยของเราให้ได้นั่นเอง

 

วิธีการสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นในตนเพื่อป้องกันความเสื่อมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

    การป้องกันความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้นั้น เราต้องอาศัยการสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นในตัวของเราด้วย เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงไม่ให้ความเสื่อมเกิดขึ้นอีก ทั้งต่อตัวเอง ทรัพย์ และหมู่คณะ ไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้หรือโลกหน้าอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ ถ้ามีอยู่ในบุคคลใดแล้วจะห่างไกลจากความเสื่อมทั้งต่อตนเอง ทรัพย์สมบัติ และหมู่คณะ มีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ

    1) ศรัทธา คือ ความเชื่อที่ประกอบไปด้วยปัญญา เชื่ออย่างมี ติพิจารณาว่าสิ่งใดควรเชื่อสิ่งใดไม่ควรเชื่อ ศรัทธาขั้นพื้นฐานมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง ถ้าทำอะไรแล้วย่อมมีผลไม่สูญหาย การกระทำไม่ว่างเปล่า

2. เชื่อในผลของกรรม คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว ใครทำสิ่งใดไว้ย่อมได้รับสิ่งนั้นตอบสนอง

3. เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลบุญผลบาป กรรมดีกรรมชั่วย่อมติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป

4. เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง คือ เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระองค์

    2) ศีล คือ การรักษา กายวาจา ให้เรียบร้อยเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนใคร ให้ความมั่นคงและความจริงใจซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งเป็นหลักประกันความเป็นมนุษย์ในตัวบุคคล อย่างน้อยต้องรักษาศีล ให้ได้ 5 ข้อ ซึ่งต้องหมั่นทำให้เป็นปกติจนกลายเป็นนิสัยให้ได้

     3) หิริ คือ ความละอายต่อการทำบาป ละอายต่อการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว ต้องหมั่นเตือนตนเองไม่ให้พลาดพลั้งไปทำความชั่วอยู่ตลอดเวลาวิธีการฝึกให้เป็นคนมีหิริ

1. คำนึงถึงความเป็นคนหรือชาติตระกูล ว่าเราอุตส่าห์ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีทำไมจะต้องไปฆ่าสัตว์ หรือขโมยเขากิน ทำอาการเหมือนสัตว์ เราสูงกว่าสัตว์ตั้งเยอะ เมื่อคำนึงถึงอย่างนี้ หิริก็เกิดขึ้น

2. คำนึงถึงอายุ ว่าเราอายุปูนนี้แล้วจะมาทำเสียๆ หายๆ ได้อย่างไร จะมาทำผิดเอาตอนนี้ได้อย่างไร หิริก็เกิดขึ้น

3. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ ว่าความดีเราก็เคยทำมามากแล้วจะมาทำชั่วเสียตอนนี้ได้อย่างไร หิริก็เกิดขึ้น

4. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต ว่าเรามีความรู้ตั้งขนาดนี้แล้ว จะมาทำความชั่วได้อย่างไรหิริก็เกิดขึ้น

5. คำนึงถึงพระศาสดา ว่าพุทธองค์อุตส่าห์ ละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อตรัสรู้ธรรมมาสั่งสอนพวกเรา แล้วเราจะละเลยคำ อนของพระองค์ไปทำชั่วได้อย่างไร หิริก็เกิดขึ้น

6. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา ว่าเราก็ศิษย์มีครู สถาบันเราก็มีชื่อเสียงไปทั่วแล้วเราจะมาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้อย่างไร หิริก็เกิดขึ้น

    4) โอตตัปปะ คือ ความกลัวต่อผลของบาป ว่าเมื่อถ้าเราคิดชั่ว พูดชั่ว หรือทำชั่วไปแล้วสิ่งที่ตามมาคือ วิบาก ที่ทุกข์ทรมานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต


วิธีการฝึกให้เป็นคนมีโอตตัปปะ
1. คำนึงถึงว่าคนอื่นจะตำหนิติเตียนเอาได้ เมื่อกลัวคนอื่นตำหนิ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น

2. คำนึงถึงโทษที่จะได้รับ ว่าถ้าหากเราไปทำผิดเข้า ตำรวจจับได้เราต้องติดคุกบาปกรรมจะส่งผลให้ถูกลงโทษแน่ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น

3. คำนึงถึงภัยในทุคติ ว่าเราถ้าเราทำผิด ทำชั่ว อีกหน่อยจะต้องไปเกิดในอบาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกายสัตว์เดรัจฉาน เมื่อกลัวการไปเกิดในอบายโอตตัปปะก็เกิดขึ้น

     5) สุตะ คือ หมั่นฟังธรรมและศึกษาธรรมเพื่อให้ได้ฟังและรู้สิ่งที่ตนไม่เคยรู้ และเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วศึกษาให้แตกฉาน ทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม

     6) จาคะ คือ รู้จักเสียสละแบ่งออกเป็น 2 ประการ

1. การสละสิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ จะทำให้เป็นที่รักของคนทั้งหลาย

2. ละอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นทาน คือ สละอารมณ์โกรธ พยาบาทออกไป และให้อภัยทาน ซึ่งจะส่งผลให้ใจของเราผ่องใสไม่ขุ่นมัว และไม่จองเวรกับใคร

     7) ปัญญา เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะสาเหตุที่ทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้น เป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ซึ่งการฝึกสมาธิภาวนา เป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจของเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็งในการรักษาเป้าหมายของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ และมีปัญญารู้จักการวางเป้าหมายของชีวิตได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ดีแล้ว

     ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นได้ในตนดังนี้แล้ว และหมั่นสั่งสมอริยทรัพย์จนติดเป็นนิสัย ให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้นไป เราก็จะห่างไกลจากความเสื่อมทั้งในภพนี้และภพหน้าอย่างแน่นอน

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.072587966918945 Mins