ทำอย่างไรจึง "มีศีล"

วันที่ 09 ธค. พ.ศ.2559

ทำอย่างไรจึง "มีศีล"

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , ทำอย่างไรจึง "มีศีล"

      การเป็นคนมีศีลมีวิธีการดังต่อไปนี้

1) ต้องรู้ความสำคัญของการรักษาศีล
     โดยสามัญสำนึก คนเราโดยทั่วไปย่อมมีศีล 5 เป็นศีลประจำใจ โดยปกติ กล่าวได้ว่า ศีล 5 คือคุณสมบัติขั้นต่ำสุดของมนุษย์ หรือ มนุษยธรรม เป็นความดีงามขั้นพื้นฐานที่แ ดงความเป็นผู้มีใจประเสริฐ ดังนั้น ผู้ใดแม้จะมีร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ถ้าขาดศีล 5 ก็ไม่ชื่อว่าเป็นมนุษย์เพราะขาดความดีหรือคุณสมบัติของมนุษย์นั่นเอง

    พระพุทธองค์ตรัสว่า ศีลทำให้ไปสู่สุคติ หมายความว่า เมื่อรักษาศีล 5 ได้เป็นปกติก็เป็นหลักประกันได้ว่าเมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก หรือสามารถส่งผลให้เกิดในสวรรค์ได้ด้วย

2) ต้องมีต้นแบบในการรักษาศีล

      ต้องรู้จักแสวงหาบุคคลที่มีศีลเป็นปกติมาเป็นต้นแบบในการปฏิบัติ ได้แก่ พระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะท่านเป็นผู้เห็นภัยในเพศฆราวาส จึงได้ออกบวชและรับเอาศีลที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้มาปฏิบัติ ถึง 227 ข้อส่วนสามเณรมีศีล 10 ข้อ จะเห็นได้ว่าพระภิกษุสามเณร ท่านมีศีลมากแต่ก็ยังสามารถปฏิบัติได้

      หรือคบหากับฆราวาส ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ผู้ดำเนินชีวิตอย่างไม่ผิดศีลธรรม ไม่ว่าจะสร้างตัวสร้างฐานะอย่างไรก็ไม่ยอมทำบาปกรรมโดยมองหาส่วนดีที่เขาได้ประพฤติปฏิบัติแล้วนำมาเป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม

3) ต้องมีหิริและโอตตัปปะ
      หิริ คือ ความละอายต่อบาป แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น ก็ไม่ยอมทำบาป

      โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
    คือ มีความละอายและความเกรงกลัวต่อการทำกรรมชั่วทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจาและใจ แม้จะถูกข่มขู่ หรือถูกความทุกข์ ความจน ความเจ็บ ใดๆ บีบคั้นอยู่ก็ตามก็ไม่ยอมละเมิดไปทำผิดศีลแม้แต่น้อย

4) ต้องรู้จักวิธีรักษาศีล
      การจะรักษาศีลให้ได้ตลอดชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ และมีผู้ที่ทำได้มากมาย โดยผู้ที่จะรักษาศีลต้องเห็นความสำคัญของศีล รู้ว่าศีลเป็นปกติของมนุษย์ คนผิดศีล คือ คนผิดปกติ ต้องละเว้นการเข้าไปในแหล่งอบายมุข หรือ ถานที่ๆ นำไปสู่การผิดศีลไม่คบหากับคนที่นำไปสู่การผิดศีล

     และที่สำคัญคือต้องตอกย้ำความคิดที่จะรักษาศีลให้มั่นคงตลอดชีวิตทุกวัน เช่น ก่อนออกจากบ้าน ให้นำพระของขวัญที่เคารพนับถือที่แขวนคออยู่มาระลึกนึกถึงแล้วสมาทานศีล 5 โดยว่าดังนี้

"ปาณาติปาตา เวระมณี              ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่า
อะทินนาทานา เวระมณี              ข้าพเจ้าจะไม่ลัก
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี          ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติล่วงในกาม
มุสาวาทา เวระมณี                     ข้าพเจ้าจะไม่หลอกลวง
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานะ   ข้าพเจ้าจะไม่เสพของมึนเมาให้โทษ"

    เมื่อได้ตั้งใจเช่นนี้แล้ว ก็ให้รักษาไว้อย่างดีให้ข้ามวันข้ามคืน เมื่อทำอย่างนี้ทุกวัน ย่อมสามารถรักษาศีลได้ตลอดชีวิต

5) ต้องเห็นคุณประโยชน์ของการรักษาศีล
      อานิสงส์ของการรักษาศีล โดยย่อมี 3 ประการ
    1. ศีลทำให้ไปสู่สุคติ คือ มีอนาคตเจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียง เป็นที่ยกย่อง เคารพนับถือ ไว้วางใจจากคนทั่วไป ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ย่อมไปดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก คือ ไปเกิดบนสวรรค์หรือเป็นเทวดา นางฟ้า

      2. ศีลทำให้มีโภคทรัพย์ คือ ย่อมทำให้ผู้รักษาศีลได้โภคทรัพย์และใช้สอยทรัพย์ได้เต็มที่ ทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยความทุจริตย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายใจทุกครั้งที่เราคิดถึงหรือมองเห็น คนโบราณมักกล่าวว่าสิ่งของที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมเปรียบเหมือนมีผีสิง ทั้งนี้เพราะเจ้าของจะหวาดผวาทุกครั้งที่ได้เห็นทรัพย์ที่ตนได้มาโดยทุจริต

       3. ศีลทำให้ไปนิพพาน คำว่า นิพพาน มีความหมายเป็น 2 นัย คือ

      (1) นิพพานขั้นต้น หมายถึง คนที่มีศีลย่อมเกิดความสบายใจ จะอยู่ที่สุดก็สงบเย็นเป็นสุข

      (2) นิพพานขั้นสูง หมายถึง ศีลทำให้ผู้รักษาหมดกิเลสผู้ที่หมดกิเลสย่อมได้ไปนิพพานทั้งสิ้น

6) ต้องเห็นโทษของการไม่รักษาศีล
       โทษของผู้ทุศีล1 มีอย่างน้อย 5 ประการ

1. เสื่อมจากโภคทรัพย์
2. เสียชื่อเสียง
3. ไม่องอาจกล้าหาญในเวลาเข้าสังคม
4. หลงตาย คือตายอย่างไม่มีสติ
5. ตายไปเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019216899077098 Mins