อานิสงส์ของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี
เมื่อใครได้สร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีมาตามลำดับตั้งแต่บทที่ 1 - 5 อย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์มากมาย แต่สรุปโดยย่อ ก็คือ
ในเบื้องต้น ย่อมสามารถกำจัด ความเจ็บ ความจน ความโง่ออกไปจากชีวิตได้ และได้พบความสุขในปัจจุบัน
ในเบื้องกลาง ใจย่อมไม่เศร้าหมอง เมื่อหลับตาลาโลกไปย่อมมีเสบียงบุญติดตัวไปมากได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิ และสามารถพันาคุณภาพชีวิตในแต่ละภพชาติให้ดีขึ้นได้ตามลำดับ
ในเบื้องปลาย เมื่อบุญบารมีเต็มเปียมแล้ว ความสมบูรณ์แบบทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติคุณสมบัติย่อมบังเกิดขึ้น หากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมได้บรรลุธรรมตาม แต่หากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมโดยชอบด้วยตนเอง
การจะเข้าใจในอานิสงส์ของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีได้มากยิ่งขึ้น ต้องมีความเข้าใจในเรื่อง "วงจรการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร" และ "กฎเกณฑ์ของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง" ยกตัวอย่างเช่น มีความเข้าใจถูกว่า กฎแห่งกรรมมีจริง ความดีความชั่วมีจริงบุญบาปมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง นรก สวรรค์มีจริง เป็นต้น
ความเข้าใจถูกเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและกฎแห่งกรรมนี้ ย่อมทำให้มองออกว่า เมื่อใครได้ทำกรรมดีไว้มากมาย กรรมดีนั้นก็จะส่งผลให้ได้วิบากดีมากมาย แต่หากทำกรรมชั่วไว้มากมาย กรรมชั่วนั้นก็จะส่งผลให้ได้วิบากชั่วมากมายเช่นกัน ชีวิตของคนจึงมีทั้งความเสื่อมและความเจริญเป็นวงจรอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้ไปจนกว่าจะปราบกิเล ได้หมดสิ้น
นั่นก็หมายความว่า การที่ชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะดีหรือเลว จะรวยหรือจน จะเจ็บป่วยหรือแข็งแรง จะฉลาดหรือโง่เขลา ย่อมมีที่มาที่ไปจากกรรมที่ตนกระทำทั้งสิ้น หากได้ศึกษาถึงเบื้องหลังวงจรความเสื่อมและความเจริญแล้ว ก็ย่อมสามารถออกแบบชีวิตของเราได้ว่า ชีวิตต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างจึงถูกต้องสมบูรณ์แบบทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติที่เหมาะสมแก่การกำจัดกิเลสเพราะความสำเร็จทุกอย่างในชีวิตเป็นสิ่งที่เราลิขิตได้เองด้วยการกระทำของเราเอง แล้วเราก็จะพบว่าอานิสงส์ผลบุญต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตเกิดความเจริญรุ่งเรืองในทุกขณะจิต ทุกอย่างไม่มีคำว่าบังเอิญ มีแต่มาจากการกระทำของเราที่ทำอย่างถูกหลักวิชาทำอย่างต่อเนื่องเป็นนิสัย และเอาชีวิตของเราเป็นเดิมพันทั้งนั้น
1. ความรวยเริ่มต้นที่ความเข้าใจถูกตามความจริงของโลกและชีวิต
ความจริงของโลกและชีวิตมีอยู่ว่า ทุกชีวิตตกอยู่ในกระแสของวัฏฏะ คือ วงจรชีวิต และวงจรชีวิตของมนุษย์และ สรรพชีวิตทั้งหลายในโลกอยู่ภายใต้หลักของเหตุและผล เรียกอีกอย่างว่ากฎแห่งกรรม ซึ่งครอบคลุมการกระทำทั้งหมดของชีวิตทั้งหลายวงจรชีวิตนั้น มีอยู่ 2 วงจร คือ
1. วงจรแห่งความเสื่อม
ในตัวของคนทุกคนมีกิเลสอยู่ในตน หากยอมให้กิเลส คือ โลภ โกรธ หลง บีบบังคับตนเองให้สร้างกรรมชั่ว เมื่อได้ทำกรรมแล้ว ผลของกรรม คือ วิบากชั่ว ก็จะตามมาให้ผลกับชีวิตของบุคคลนั้น คือ เพราะมีความโลภ จึงต้องจน เพราะความโกรธจึงต้องเจ็บตัว และเพราะความหลง จึงต้องกลายเป็นคนโง่เขลา แล้วก็จนเจ็บโง่ ซ้ำๆ ซากๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะโดนกิเลสบังคับให้ทำชั่วและรับกรรมชั่วที่ตัวทำนั่นเอง
2. วงจรแห่งความเจริญ
ในตัวของคนทุกคนแม้จะมีกิเลสอยู่ในตน แต่ก็ไม่ยอมทำความชั่วตามอำนาจกิเลสแต่ได้ทวนกระแสร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นในใจ แล้วดำเนินชีวิตด้วยการกระทำที่ดีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ผลคือวิบากดีๆ ก็จะตามมาให้ผล ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข เพราะไม่โลภ แต่ให้ทาน จึงได้ร่ำรวย เพราะไม่โกรธ แต่มีความเมตตา จึงได้แข็งแรง เพราะไม่หลง แต่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาจึงได้ฉลาด กลายเป็นที่มาของทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
วงจรชีวิตทั้ง 2 วงจร คือ วงจรแห่งความเสื่อม และวงจรแห่งความเจริญ เมื่อทุกคนได้กระทำลงไปแล้ว ผลของวิบากนั้นก็จะส่งผลให้ชีวิตไปเสวยผลในภพภูมิต่างๆ หากตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมก็จะตกต่ำอยู่ในภพภูมิของ นิรยภูมิ เปตตภูมิ อสุรกายภูมิ ดิรัจฉานภูมิ หรือมนุษย์ที่มีแต่ทุกข์ยากลำบาก หรือ หากอยู่ในวงจรแห่งความเจริญก็จะไปเสวยผลไปในภพภูมิสูงๆของเทวภูมิขึ้นไป หรือหากเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่มีแต่ความสุข ดังแผนภูมิ ภพภูมิต่อไปนี้
แผนภูมิจักรวาล
เมื่อเข้าใจถึงวงจรชีวิตดีแล้ว ย่อมจะทราบได้ว่าหากไม่มีความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตแล้ว จะไม่เข้าใจได้เลยว่า อะไรเป็นสาเหตุจุดเริ่มต้นของความรวยและความจน แต่หากมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ผลของความเข้าใจถูก คือ มีปัญญาในการดำเนินชีวิตตามพุทธวิธี 3 ประการ
1) มีเป้าหมายชีวิต 3 ระดับ คือ บนดิน บนฟ้า และเหนือฟ้า
2) เห็นโทษของความยากจนและไม่ยอมแพ้ความยากจน
3) สร้างความรวยตามพุทธวิธีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน
2. เบื้องหลังความยากจนข้ามภพข้ามชาติ
เบื้องหลังที่แท้จริงของความจนข้ามภพข้ามชาติ คือ ความตระหนี่ ความประมาท และความเกียจคร้าน
2.1 คนยากจน
คนยากจน คือ คนที่มีนิสัยเสียๆ 3 อย่างในตัว ได้แก่
1. เป็นคนที่มีนิสัยตระหนี่อยู่ในใจ ไม่รู้จักให้ทานสั่งสมบุญกุศลให้กับตัวเอง
2. เป็นคนที่มีนิสัยประมาทในการดำเนินชีวิต มีทรัพย์แต่ก็ไม่ทำบุญ
3. เป็นคนมีนิสัยเกียจคร้านไม่ทำการงาน เอาแต่เที่ยวเตร่สนุกสนาน
คนประเภทนี้จะมีนิสัยเสียๆ ทั้ง 3 ประการอยู่ในตัวเมื่อภพชาติในอดีต แม้เป็นคนรวยในชาตินั้นก็เป็นคนรวยที่รื้อผังรวยของตนเองให้มลายหายสูญ เมื่อกลับมาเกิด ก็ย่อมต้องพบกับความจน จึงเป็นคนยากจนในปัจจุบัน
เพียงแค่มีนิสัยเสียๆ ข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในตัว ชีวิตก็จะพบกับความยากจน จะสร้างฐานะอย่างไรก็ไม่มีทางเจริญรุ่งเรือง หากยิ่งมีนิสัยเสียๆ ทั้ง 3 ข้อ แล้วไม่ยอมแก้ไข ตลอดทั้งชีวิตก็ยากที่จะมีชีวิตที่สุขสบาย เจริญรุ่งเรืองได้ ดังตัวอย่างของ อานันทเศรษฐี เป็นต้น
อานันทเศรษฐี ผู้ทำลายผังรวยของตนเองข้ามชาติ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปกับพระอานนท์ ซึ่งเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จไปพระองค์ทรงชี้ให้ดูเด็กขอทานคนหนึ่งแล้วก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ เด็กขอทานที่มีร่างกายอัปลักษณ์ ผอมโซน่าเกลียดเหมือนผีที่ตกลงไปในโคลนอย่างนั้น เด็กคนนี้คืออานันทเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก แต่ว่าเป็นคนตระหนี่ ห้ามบุตรหลานทุกคนบริจาคทาน ห้ามให้แต่ให้หวงแหนทรัพย์เอาไว้ เพราะกลัวทรัพย์จะหมดจะสูญหายไป ความตระหนี่นั้นครอบงำอานันทเศรษฐีมาตลอดชาติ ลูกหลานก็ไม่กล้าขัดใจพ่อ เมื่อพ่อบังคับและ อนไม่ให้บริจาคทานให้มีความตระหนี่เหนียวแน่น ก็ไม่กล้าทำ ไม่กล้าให้ทาน อานันทเศรษฐีได้ฝังทรัพย์เอาไว้ 5 แห่งเพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาลักมาขโมย หรือกลัวคนอื่นเขาจะมาขอ กลัวว่าตนจะไม่มีบริโภค มีความตระหนี่เป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดชาติ ทั้งตระหนี่ด้วยตัวเอง บังคับให้คนอื่นตระหนี่ และยังสอนให้คนอื่นตระหนี่ด้วย เป็นอย่างนั้นจนกระทั่งในที่สุดก็ละโลก
เมื่อละโลกไปแล้ว ด้วยอำนาจของความตระหนี่ที่เข้าไปครอบงำจิตใจ หุ้มห่อเห็น จำ คิด รู้ อยู่ในกลางกายละเอียดของอานันทเศรษฐี กรรมนั้นดึงดูดให้ไปเกิดในตระกูลของคนจัณฑาลที่ยากจน จัณฑาลแปลว่าลูกครึ่ง หาเลี้ยงชีพด้วยการขอทาน เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาก็พลอยทำให้มารดาอดอยากยิ่งขึ้นไปอีก ขนาดยังไม่คลอด ยังอยู่ในครรภ์มารดาเท่านั้น ความตระหนี่ยังส่งกระแสครอบงำไปถึงมารดา ไม่ว่าจะไปขอทานที่ไหนก็ลำบากมาก ที่จนอยู่แล้ว ก็ยิ่งกลายเป็นคนจนในหมู่ยาจกทีเดียว เป็นมหาทุคตะ จนแล้วจนอีก
พอคลอดออกมาแล้ว ไม่ว่าพ่อแม่จะอุ้มพาไปที่ไหนก็ขอทานไม่ได้ เพราะกระแสแห่งความตระหนี่ที่อยู่ในกลางกายของลูก ทำให้เกิดมามีหน้าตาอัปลักษณ์ ผลักดันสมบัติ และปกปิดบดบังความเมตตาของผู้ที่ได้พบเห็น ไม่ให้เกิดความสงสาร เป็นอย่างนั้น จนกระทั่งพ่อแม่มาปรึกษากันว่ามันเป็นเพราะอะไร ทำไมแต่ก่อนนั้นเราขอทานยังประสบความสำเร็จ จะผ่านไปทางไหนก็มีคนเมตตาปรานีสงสาร ให้ปัจจัยสี่มาพอให้เรายังชีพได้ แต่ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมาทำไมไปที่ไหนมันมักจะทุรกันดาร อัตคัดตลอดเวลา แต่ก็ยังอดทนเลี้ยงดูลูกเรื่อยมา จนกระทั่งลูกโตพอสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ก็บอกกับลูกว่า "ลูกเอ๋ยเอากระเบื้องอันนี้ไป แล้วต่างคนต่างไปเถอะ แม้พ่อกับแม่จะรักลูกแค่ไหน ถ้าขืนเอาลูกไปด้วยก็คงจะอดอยาก คงเป็นเพราะลูกนี่แหละ" เพราะฉะนั้นให้ลูกออกไปเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ลูกก็ต้องจำใจไป เมื่อพ่อแม่ตัดขาดแล้วก็ตะเกียกตะกายไปแสวงหาทรัพย์เพื่อจะเลี้ยงชีพตัวเอง แต่ไปทางไหนก็ตามมักจะไม่ค่อยจะได้ เพราะกระแสแห่งความตระหนี่ที่ซ้อนอยู่ในกลางกายตรงนั้น มันส่งกระแสผลักดันสมบัติ แล้วก็ดึงดูดวิบัติเข้าหาตัวตลอดเวลา
กระแสแห่งความตระหนี่นี้ ถ้ามองไปตรงกลางด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย เราจะเห็นมันเป็นดวงสีดำๆ ซึ่งเรียกว่า กัณหธรรม ธรรมดำครอบงำอยู่ ครอบงำบังคับในเห็น ในจำในคิด ในรู้ บังคับให้เกิดความหวงแหนทรัพย์ เสียดายทรัพย์ และให้ความโลภบังเกิดขึ้น มันอยู่ในกลางตรงนั้น มันบังคับกันอยู่แล้วก็จะดึงดูดวิบัติเข้ามา และก็ผลักดันสมบัติออกไป มันติดอยู่ตรงนั้น ใครมีความตระหนี่ก็จะเป็นอย่างนี้แหละ จิตมันถูกบังคับอยู่
เมื่อลูกขอทานอดีตอานันทเศรษฐีตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเองไปจนถึงบ้านของตนเกิดระลึกชาติได้ว่า ก่อนที่เราจะมาเป็นอย่างนี้ เราเคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน เห็นบ้านช่องใหญ่โตทีเดียว เห็นหลานเดินเล่นอยู่ จำเรื่องราวในอดีตของตนเมื่อยังเป็นอานันทเศรษฐีได้แม่นยำเหมือนเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ และด้วยสัญญาเก่าๆ จึงมีความรู้สึกนึกคิดว่า เรายังเป็นอานันทเศรษฐีอยู่ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าสมบัติเป็นของผลัดกันชม ใครมีบุญก็สามารถที่จะดึงดูดสมบัตินั้นมาได้ ถ้าใครหมดบุญแล้วไม่ได้สร้างบุญใหม่ต่อ ทรัพย์แม้เคยเป็นของตนมาก่อน ก็ไม่อาจที่จะบริโภคได้ เหมือนอย่างอดีตอานันทเศรษฐีตอนนี้ ที่เห็นปราสาทที่ตัวเคยสร้างมาก่อน ของของตัวแท้ๆสร้างมากับมือสมบัติฝังอยู่ก็รู้อยู่ เห็นอยู่ จำได้ แต่ไม่มีสิทธิ์บริโภคใช้สอย เห็นชัดๆ แต่นำมาใช้ไม่ได้เลย เพราะไม่มีบุญ ในที่สุดก็เดินเข้าไปในบ้านนั้นหลานของตัวเองแท้ๆ เห็นแล้วก็ตกใจที่เห็นเด็กขอทานเข้ามาในบ้าน หน้าตาอัปลักษณ์เหมือนผีที่ตกลงไปในโคลน คือน่าเกลียดน่ากลัวมาก จึงร้องไห้วิ่งไปบอกพ่อ พ่อซึ่งก็คือลูกชายของอานันทเศรษฐี เห็นเข้าก็ไม่รู้จัก เพราะว่าอดีตพ่อของตัวมาเกิดอยู่ในยูนิฟอร์มใหม่ เกิดเป็นลูกคนขอทานแถมร่างอัปลักษณ์อย่างนี้ ใครจะไปจำได้ เมื่อจำไม่ได้ก็จับโยนออกมาข้างนอกไม่ให้เข้าบ้าน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอานนท์เสด็จไปถึงก็ทรงบอกให้ลูกชายของอานันทเศรษฐีทราบว่า นี่คือพ่อของตนในอดีตชาติ เขากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า แล้วข้าพระองค์จะเชื่อได้อย่างไร พระองค์ตรัสว่าเขาจำที่ฝังสมบัติได้ ในที่สุดเด็กขอทานอดีตอานันทเศรษฐีก็นำไปชี้ที่ฝังสมบัติได้ถูกต้องทุกแห่ง
เพราะฉะนั้นความตระหนี่ไม่ดีเลย ความตระหนี่จะนำให้ไปเกิดในตระกูลที่ยากจนเข็ญใจผู้ที่เกิดมาชาตินี้ทุกข์ยากลำบาก ตื่นแต่เช้าก็ทำงานไปจนกระทั่งถึงกลางคืนอย่างนั้น ขยันหมั่นเพียรมากขนาดนี้ แต่ทำไมเรายังไม่เป็นเศรษฐีเสียที ทำไมลำบากอย่างนี้อยู่ตลอดชาติก็ให้รู้ไว้นะว่าได้ทำอย่างท่านอานันทเศรษฐีนั่นแหละ คือมีความตระหนี่เสียดายทรัพย์ ไม่สร้างทานบารมี เพราะฉะนั้นเมื่อหมดบุญก็ไม่สามารถรักษาสมบัติอันนั้นได้ กระแสแห่งความตระหนี่ ก็ดึงดูดไปสู่ที่ยากจนที่ลำบากอย่างนี้
2.2 คนอยากจน
คนอยากจน คือ คนที่มีนิสัยเสียๆ 3 อย่างอยู่ในตัว ได้แก่
1. เป็นคนที่มีนิสัยตระหนี่อยู่ในใจ ไม่รู้จักให้ทานสั่งสมบุญกุศลให้กับตัวเอง
2. เป็นคนที่มีนิสัยประมาทในการดำเนินชีวิต มีทรัพย์แต่ก็ไม่ทำบุญ
3. เป็นคนมีนิสัยเกียจคร้านไม่ทำการงาน เอาแต่เที่ยวเตร่สนุกสนาน
คนอยากจน มี 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 เป็นคนรวยที่อยากจน
ในปัจจุบัน เป็นคนร่ำรวยเพราะขยันทำมาหากินจนสร้างตัวสร้างฐานะขึ้นมาได้สำเร็จและมีบุญเก่าที่ได้ทำไว้ในภพชาติอดีตตามมาส่งผลจึงช่วยให้สร้างฐานะขึ้นมาได้ แต่กลับมีนิสัยเสียๆ ข้อ 1 และข้อ 2 อยู่ในตัว แม้ความรวยในชาตินี้จะยังมีอยู่ แต่เมื่อใดบุญเก่าหมดลง ก็จะกลายเป็นคนยากจนทันที แม้จะขยันเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ไม่อาจจะพลิกกลับขึ้นมาได้ และเมื่อละจากโลกนี้ไป ภพชาติต่อไปก็จะเกิดมายากจนเพราะได้เปลี่ยนโอกาสมีทรัพย์แต่ไม่ยอมทำบุญให้เป็นวิกฤตจึงต้องเกิดมาจน
ประเภทที่ 2 เป็นคนจนที่อยากจนต่อไปอีก
ในปัจจุบัน เป็นคนยากจนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีนิสัยเสียๆ ทั้ง 3 ข้ออยู่ในตัว คนประเภทนี้ไม่มีทางจะสร้างฐานะขึ้นมาได้ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ขาดทั้งทรัพย์ ขาดทั้งบุญ ขาดทั้งความขยัน หากไม่กำจัดนิสัยเสียๆ ทั้ง 3 ข้อให้หมดไปจากตัว ก็จะยิ่งกลายเป็นคนยากจนหนักเข้าไปอีก จากที่เป็นคนจน ก็จะกลายเป็นคนขอทาน และก็จะกลายเป็นมหาทุคตะตัวอย่างของคนอยากจนที่เห็นได้ในสมัยพุทธกาลมีหลายคน ตัวอย่างเช่น นางเรวดี ผู้เป็นภรรยาของนันทิยะมานพ เป็นต้น
นางเรวดี ผู้ทำลายโอกาสให้เป็นวิกฤต
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีตระกูลมั่งคั่งใหญ่โตตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลสัมมาทิฏฐิมีความเลื่อมใสศรัทาในพระพุทธศาสนา เมื่อบุตรของเศรษฐีชื่อ นันทิยะ เจริญวัยขึ้นบิดาจึงได้สู่ขอนางเรวดีมาเป็นสะใภ้ของตน แต่นางเป็นคนไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ นันทิยะจึงไม่ปรารถนาที่จะแต่งงานด้วย
บิดาจึงออกอุบายให้นางเรวดีมาอยู่ในเรือนและให้นางแกล้งทำเป็นคนมีศรัทธา หมั่นอุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสงฆ์ นางจึงฝนใจทำ ทั้งๆ ที่ใจจริงไม่ได้มีความเคารพเลื่อมใสนันทิยะเมื่อเห็นนางมีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงยอมแต่งงานกับนาง
เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตลง นันทิยะมอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยาส่วนตนเองได้บำเพ็ญทานอย่างเต็มที่เป็นประจำยิ่งทำก็ยิ่งมีศรัทธาเพิ่มขึ้น คราวหนึ่งเขาสร้างศาลาจตุรมุขหลังใหญ่มี 4 ห้อง ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมด้วยตั่งเตียง ที่นั่ง ที่นอน และอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนบริบูรณ์ ในวันฉลองศาลาได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อจะถวายศาลาจึงหลั่งน้ำทักขิโณทกลงบนพระหัตถ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในขณะนั้นเอง ทิพยวิมานของนันทิยอุบา กอันรุ่งเรืองวิจิตรตระการตา เต็มไปด้วยรัตนะ 7 มีความสูงประมาณ 100 โยชน์ เป็นวิมานที่งดงาม สว่างไสวเรืองรองพร้อมด้วยเหล่าเทพอัปสรหนึ่งพัน ได้บังเกิดขึ้น ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทันที คือ เมื่อทำบุญในโลกมนุษย์ วิมานบนสวรรค์ก็เกิดขึ้นรอท่าเลย
ต่อมาวันหนึ่ง เขาต้องไปค้าขายต่างเมืองนานหลายวันจึงสั่งให้นางเรวดีทำทานแทนจนกว่าจะกลับมา แต่นางให้คนเอาข้าวสุกและอาหารที่เหลือจากการบริโภค ใส่บาตรพระเมื่อพระภิกษุรับมาแล้วเห็นว่าเป็นเดนไม่ควรแก่การขบฉันเมื่อกลับถึงวัดท่านจึงเทอาหารเหล่านั้นทิ้งนางจึงได้โอกาสด่าบริภาษพระภิกษุเหล่านั้น เมื่อด่าจนหนำใจแล้วก็กลับบ้านและได้เลิกให้ทานอีกต่อไป
เมื่อนันทิยะกลับมาจากต่างเมือง นางจึงเล่าเรื่องที่พระเทอาหารทิ้งให้ฟัง แต่นันทิยะเป็นผู้มีศรัทธาเต็มเปี่ยม จึงไม่เชื่อและได้สืบสวนดูจนรู้ความจริง จึงโกรธนาง ได้ขับไล่นางออกจากบ้านไป และเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ ทูลอาราธนาให้ไปรับอาหารที่บ้านของตนดังเดิม
ต่อมา เมื่อนันทิยะเสียชีวิตลง ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางเรวดีกลับมารับมรดกครอบครองสมบัติทั้งหมดวันนั้นเองขณะที่นางกำลังนอนหลับอยู่ ได้มีเสียงดังสนั่นจากฟากฟ้าว่า "ท่านทั้งหลาย อีก 7 วัน นางเรวดีจะต้องตาย แล้วไปตกนรก" เสียงนี้ทำให้ผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้นพากันตกใจกลัว เป็นเสียงของยักษ์ตนหนึ่งที่ได้รับคำสั่งจากท้าวเวสสวัณมหาราชให้มาบอก
แล้วในวันที่ 7 เมื่อนางเสียชีวิต ยักษ์ 2 ตนก็ไปรับนางมาดูวิมาณของนันทิยเทพบุตรก่อนที่จะไปรับโทษในนรกนางถามยักษ์ว่า "วิมานนี้ มีรัศมีรุ่งเรืองเหมือนพระอาทิตย์งดงามวิจิตรสุดที่จะพรรณนา ใครช่างมีบุญวา นาได้เป็นเจ้าของวิมานอัน วยงามเช่นนี้" ยักษ์จึงบอกว่า"เจ้ายังจำนันทิยะได้ไหม เขาคือเจ้าของวิมานนี้ เพราะเขาเป็นผู้ไม่ตระหนี่ บำเพ็ญบุญกุศลไม่เคยขาด"
นางกล่าวว่า "จำได้ เขาคือสามีของข้าเอง ข้าเป็นภรรยาของเขา ได้รับความเป็นใหญ่ในเรือนเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ บัดนี้เขาตายแล้วได้เสวยทิพยวิมาณแห่งนี้ ข้าเองเป็นภรรยาก็ควรจะได้อยู่ในวิมาณนี้ด้วยเช่นกัน"
ยักษ์ทั้งสองจึงบอกว่า "อย่าเพ้อเจ้อฝันไปเลย นางผู้มีใจบาปเจ้าต้องไปอยู่ในนรกเท่านั้นแล้วจับแขนนางคนละข้าง ฉุดกระชากไปสู่นรก เมื่อถึงเขตอุสทนรก ซึ่งเป็นขุมบริวารชั้นในล้อมรอบนรกขุมใหญ่แห่งหนึ่ง จึงกล่าวว่า "นรกนี้เป็นที่อยู่ของเจ้า เจ้าจะต้องได้รับทุกข์ทรมานอยู่ที่นี่" กล่าวแล้วยักษ์ก็อันตรธานหายไป
นายนิรยบาล 2 ตน ก็ปรากฏขึ้น มีรูปร่างใหญ่มหึมาน่ากลัว เข้ามาฉุดกระชากนางไปยังขุมนรก นางตกใจมาก จึงถามนายนิรยบาลว่า "เหตุใดท่านจึงนำข้ามายังสถานที่สกปรกเต็มไปด้วยมูตรและคูถ ที่มีกลิ่นเหม็นฟุ้งเช่นนี้" นายนิรยบาลจึงตอบว่า "ที่นี่เป็นที่รับกรรมของเจ้า เจ้าต้องอยู่ที่นี่ ชดใช้กรรม 1,000 ปีนรก"
นางจึงถามว่า "ข้าได้ทำผิดอะไรร้ายแรงจึงต้องมาอยู่ที่นี่จะขอไปอยู่ที่อื่นไม่ได้หรือ"นายนิรยบาลสั่นศีรษะ แล้วบอกว่า "ไม่ได้หรอก เจ้าเป็นคนใจบาปหยาบช้า ประพฤติทุจริตด่าว่าพระอรหันต์" แล้วนายนิรยบาลได้พรรณนาถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ นางฟังแล้วเกิดความสยองจึงพร่ำพิไรร่ำพันว่า
"ขอให้ท่านได้โปรดเมตตา พาข้าพเจ้าไปส่งยังมนุษยโลกก่อนเถิด ข้ากลับไปแล้วจะหมั่นสร้างบุญกุศล ทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา จะไม่กระทำกรรมอันหยาบช้า แม้เพียงเล็กน้อย ท่านโปรดอนุญาตเพื่อให้ข้าได้กลับไปทำสิ่งที่ดีงามก่อนเถิด"
นายนิรยบาลจึงกล่าวว่า "เจ้าเป็นผู้ประมาทแล้ว ตอนนี้จะมาร้องไห้ร่ำไรอยู่ทำไม จงเสวยผลกรรมที่เจ้าได้กระทำไว้เถิด ข้าไม่อนุญาตให้เจ้าไป" นางร้องไห้คร่ำครวญ แล้วขอร้องต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้น เมื่อท่านเห็นผู้ใดจะไปเกิดในโลกมนุษย์โปรดเอ็นดูช่วยสั่งให้เขาไปบอกกับลูกของข้าด้วยว่า ขอให้เขาจงเร่งทำบุญ ให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา อย่าได้ก่อกรรมทำเข็ญส่วนตัวข้าเมื่อพ้นทุกข์จากที่นี่แล้ว หากมีวาสนาได้เกิดเป็นมนุษย์อีก จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะทำบุญกุศลให้มาก จะสร้างศาลาและวิหาร จะไม่ประมาทในชีวิตอีกแล้ว
เมื่อใครไปสู่มนุษยโลกแล้วถูกถาม ก็พึงตอบว่า ขอท่านทั้งหลายจงถวายทาน ผ้านุ่งห่มที่นอน ข้าว น้ำ ในสมณพราหมณ์ผู้วางอาชญาแล้ว เพราะว่า คนตระหนี่ โกรธเคือง มีบาปธรรมย่อมไม่ได้ความเป็นสหายของผู้ขึ้นสวรรค์ ดิฉันนั้นไปจากที่นี้ ได้กำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว จักเป็นผู้รู้ถ้อยคำของผู้ขอทานสมบูรณ์ด้วยศีล จักกระทำบุญกุศลให้มาก ด้วยทาน มจริยาสัญญมะและทมะ ท่านนิรยบาลได้โปรดเมตตาดิฉันด้วยเถิด ดิฉันจักปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น จักตัดทางเข้าไปในที่ที่เดินไปลำบาก จักขุดบ่อและตั้งน้ำไว้ ด้วยใจที่ผ่องใสขอท่านจงให้โอกาสแก่ดิฉันอีกครั้งด้วยเถิด ดิฉันจักเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์แปดตลอด 14 ค่ำ 15 ค่ำ 8 ค่ำแห่งปักษ์และตลอดปาฏิหาริยปักษ์สำรวมในศีลทุกเมื่อ และจักไม่ประมาทในทาน ผลกรรมนี้ดิฉันเห็นแล้วด้วยตนเอง"
นายนิรยบาลจึงกล่าวว่า "แม้เจ้าจะคิดได้ มันก็สายเกิดไปเสียแล้ว" จากนั้นก็นำนางไปลงโทษอย่างแสนสาหัส เพราะฉะนั้น ชาวพุทธอย่าได้ประมาทในชีวิต เมื่อมีบุญได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ต้องเห็นคุณค่าของชีวิต เร่งสร้างบุญสร้างกุศลให้เต็มที่ เพราะชีวิตมนุษย์ประเสริฐที่สุด ไม่ว่าจะมีฐานะเช่นใด เป็นคนร่ำรวย หรือไม่ร่ำรวย ก็ต้องเร่งขวนขวายสร้างบุญให้เต็มที่สุดกำลัง ความสามารถ เพราะบุญจะบันดาลความสุข ความสำเร็จให้ แม้เป็นคนจนบุญก็ส่งผลให้เป็นคนรวยได้ คนรวยก็จะรักษาสมบัติไว้ได้ข้ามภพข้ามชาติ
2.3 คนจนยาก
คือ คนที่มีนิสัยดีๆ อยู่ในตัว 3 ประการ คือ
1. เป็นคนที่มีนิสัยชอบให้ทานอยู่ในใจ หมั่นให้ทานสั่งสมบุญกุศลให้กับตัวเอง
2. เป็นคนที่มีนิสัยไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หาทรัพย์ได้ก็นำมาทำบุญ
3. เป็นคนมีนิสัยขยันมีความเพียรในการงาน ใช่ชีวิตอย่างพอประมาณสมฐานะ
คนประเภทนี้จะไม่มีทางยากจนได้เลย แม้ปัจจุบันจะเป็นคนจน แต่รู้จักฝึกฝนอบรมตนเอง ให้มีนิสัยดีๆ ทั้ง 3 ประการอยู่ในตัวแล้ว ความจนนั้นก็จะค่อยๆ หมดสิ้นไป ชีวิตก็จะกลับมาพลิกฟนขึ้นมาเป็นคนรวยได้ใหม่ ยิ่งมีนิสัยดีๆ มากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็จะสามารถยกระดับยกฐานะของตนให้สูงยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ยิ่งถ้าหากเป็นคนรวยอยู่แล้ว โอกาสที่จะสร้างฐานะของตนให้เจริญรุ่งเรืองให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปก็จะทำได้มากขึ้นเท่านั้น ดังตัวอย่างของ ภัตตติกเศรษฐี
เป็นต้น
ภัตตติกเศรษฐี ผู้หลุดพ้นวงจรความยากจนในวัฏสงสาร
ในครั้งอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อคันธเศรษฐี ทราบว่ามีสมบัติอยู่ในสกุลเป็นอันมากเขาเห็นว่าทรัพย์ที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้เหล่านั้น เมื่อตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ คนที่แสวงหาทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก แล้วนำติดตัวไปไม่ได้ ได้ชื่อว่าไม่ฉลาดเลย เศรษฐีจึงคิดใหม่ว่า เมื่อนำติดตัวไปไม่ได้ ควรนำไปใช้ให้หมด เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว จึงให้บุคคลนำทรัพย์นั้นมาเป็นค่าเครื่องบริโภค คือค่าอาหารวันละแสนกหาปนะ รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตซึ่งล้วนแต่มีราคาแพงทั้งนั้น ความฟุ่มเฟอยของคันธเศรษฐีนั้น เป็นที่รู้กันไปทั่วเมืองพาราณสี ขนาดว่าเวลาจะรับประทานอาหารยังต้องเชิญให้คนดูเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะอาหารและอุปกรณ์ทุกอย่างล้วนแต่เป็นของดีมีราคาแพงทั้งสิ้น
วันหนึ่ง ชายตัดฟนมาเที่ยวในเมืองเพื่อมาพบเพื่อน เพื่อนก็บอกข่าวนี้ให้ทราบ แล้วชวนกันไปดูเศรษฐีบริโภค ซึ่งมีคนมุงดูอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ขณะที่กำลังดูการบริโภคของเศรษฐีนั้น เขาเกิดความอยากกินอาหารเช่นนั้นบ้าง ขนาดที่ว่าไม่ได้ก็ยอมทีเดียว จึงร้องขออาหารเศรษฐี เศรษฐีไม่ยอมให้บอกว่า
"ถ้าให้ท่าน คนอื่นเขาก็จะขอบ้าง อาหารไม่ใช่ราคาเพียงเล็กน้อย มีราคาแพงเป็นแสนเชียวนะ"
ถึงขนาดนั้น ชายตัดฟนก็ไม่อาจระงับความอยากในอาหารนั้นได้ จึงบอกเศรษฐีว่า ถ้าไม่ได้ เขาคงต้องตายแน่ เศรษฐีจึงบอกว่า
"เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเจ้าสามารถทำงานให้เราครบ 3 ปีเต็ม เราจะให้อาหารถาดหนึ่งที่มีความประณีตเหมือนกันเลย"
ด้วยความอยากบริโภคอาหาร ชายตัดฟืนจึงรับคำ ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงได้มีชื่อใหม่ว่า นายภัตตภัตติกะ แปลว่ารับจ้างทำงานเพื่ออาหารเขาอยู่รับใช้เศรษฐี 3 ปีเต็ม โดยไม่มีข้อบกพร่องเลยแม้แต่น้อยคนของเศรษฐีได้มารายงานว่า
"บัดนี้ชายตัดฟืนนั้น ทำงานครบ 3 ปีแล้ว ท่านเศรษฐีจะให้ทำอย่างไร"
เศรษฐีจึงสั่งให้บริวารจัดของทุกอย่าง ทั้งเครื่องอาบน้ำทั้งผ้านุ่งห่มและอาหารในทำนองเดียวกันกับที่เศรษฐีได้ใช้ในวันนั้นพร้อมกับป่าวประกาศให้คนทั่วทั้งเมืองมาดูการบริโภค ครั้งยิ่งใหญ่ของชายตัดฟืนนั้น
ขณะที่เขากำลังเตรียมจะบริโภคนั่นเอง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ได้ตรวจดูว่าใครที่ควรจะไปโปรด ได้เห็นอุปนิสัยของชายตัดฟนนั้นจึงเหาะมา แล้วยืนปรากฏอยู่เฉพาะหน้าของเขา ทันทีที่ชายตัดฟืนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเกิดความเลื่อมใสและคิดว่า กว่าเราจะได้กินอาหารที่ประณีตสักมื้อหนึ่ง ต้องทำงานให้เศรษฐีถึง 3 ปี แสดงว่าในอดีตชาตินั้น เราคงทำบุญมาน้อย ทำทานมาน้อย ชาตินี้จึงลำบากยากจนถ้าเรากินอาหารนี้หมดภายในวันเดียว เราก็อิ่มเพียงวันเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายอาหารนี้แด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผลบุญที่เกิดจากการถวายของเรา จะส่งผลไปหลายภพหลายชาติ
เมื่อคิดได้ดังนี้ชายตัดฟืนยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นจึงน้อมถามถาดอาหารเข้าไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า พอถวายได้กึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ปิดบาตร แสดงให้ทราบว่าพอแล้ว แต่เขาขอร้องขึ้นอีกว่า
"อาหารมื้อนี้เพียงพอสำหรับคนๆ เดียวเท่านั้น ขอได้โปรดรับเถิด อย่า สงเคราะห์ข้าพเจ้าเพียงแค่ชาตินี้เลย ให้ช่วยสงเคราะห์ถึงชาติหน้าด้วยเถิด"
พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเปิดบาตรแล้วรับจนหมด ชายตัดฟืนถวายอาหารเสร็จแล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า
"อาหารนี้ข้าพเจ้าต้องทำงานถึง 3 ปี จึงจะได้มา ด้วยอานุภาพผลแห่งทานนี้ ขอความสุขจงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าในที่ที่เกิดแล้วทุกภพทุกชาติ และขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเข้าถึงแล้วด้วยเถิด"
ชายตัดฟืน แม้ตนเองเป็นคนรับใช้ที่ยากจนด้วยทรัพย์แต่เมื่อถึงเวลาถวายทานสามารถยกใจเอาชนะความตระหนี่ได้เรียกว่า ได้ถวายสามีทานที่ประณีตกว่าที่ตนเองบริโภค พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้นรับอาหารแล้ว จึงให้พรว่า
"ขอสิ่งที่ท่านตั้งใจดีแล้ว ปรารถนาดีแล้ว จงสำเร็จอย่างบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญฉะนั้น"
ในขณะที่ชายตัดฟืนถวายอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยาก มหาชนที่มาดูการบริโภคของเขา ต่างก็ปีติยินดีในกิจที่ทำได้ยากนั้น จึงส่งเสียงสาธุการดัง นั่น จนได้ยินไปถึงเศรษฐี เศรษฐีคิดว่าชายตัดฟืนนั้นเป็นคนบ้านนอก คงกินอาหารไม่เป็น ทำให้คนทั้งหลายหัวเราะเยาะเอา จึงส่งคนใช้ที่สนิทออกไปสืบดู
เมื่อคนใช้ออกไปดูทราบเหตุการณ์ทุกอย่างแล้ว จึงกลับมาบอกเรื่องนี้แก่เศรษฐี ครั้นเศรษฐีได้ยินแล้วเกิดความปีติตื้นตันใจว่า "ชายคนนี้ทำสิ่งที่ทำได้โดยยาก เรามีสมบัติมากมายขนาดนี้ยังไม่อาจทำได้เหมือนเขาเลย" เศรษฐีจึงให้คนใช้เรียกชายตัดฟืนมาพบ มอบทรัพย์ให้พันหนึ่ง และขอมีส่วนในบุญนั้นด้วย ชายตัดฟืนใจดี ได้อุทิศส่วนบุญให้เศรษฐีเศรษฐีจึงแบ่งทรัพย์ของตนให้เขาเป็นจำนวนมาก
เรื่องของชายตัดฟืนมิได้จบเพียงแค่นั้น ความดีของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องราวของเขา ทรงปีติยินดียิ่ง จึงให้เรียกมาพบ พระราชทานทรัพย์ให้พันหนึ่ง และขอมีส่วนในบุญนั้น ชายตัดฟืนก็ยินดีแบ่งส่วนบุญให้ พระราชาจึงพระราชทานรางวัลอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ด้วย เขาได้ชื่อว่า "ภัตตัตติกเศรษฐี" ซึ่งแปลว่า เศรษฐีผู้รับจ้างเพื่ออาหาร
ภัตตภัตติกเศรษฐีได้ทำบุญเป็นอันมากตลอดชีวิต เมื่อละโลกแล้วก็ไปสู่เทวโลก ครั้นถึงเวลาอันสมควร จึงได้มาเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรในเมืองสาวัตถี ได้ชื่อว่าสุขกุมาร เพราะในขณะที่เขาเกิดนั้น ทำให้ทุกคนในบ้านมีความสุขกันไปหมด
ต่อมาเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เกิดความศรัทธาที่จะบวช จึงขออนุญาตพ่อแม่บวชเป็นสามเณรไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้เอง
จะเห็นได้ว่า ชายตัดฟืนได้พัฒนาชีวิตของตน จากคนยากจนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ขึ้นมาเป็นผู้ที่มีจิตใจยิ่งใหญ่สามารถขจัดความตระหนี่ออกจากใจได้ ด้วยการเสีย ละอาหารอันพิเศษประณีตเหนือกว่าที่ตนเคยบริโภคหลายเท่า ซึ่งได้มาโดยยากนั้นถวายเป็นทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาจึงได้รับอานิสงส์อย่างไพศาล ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติในที่สุด นี่เป็นผลจากการทำ "สามีทาน" ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนั้นจึงได้ผลบุญมากถึงเพียงนี้
GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา