ทำอย่างไรจึง "มีศรัทธา"
ศรัทธาเป็นลักษณะของผู้มีใจใสว่าง ประกอบด้วยปัญญาสามารถตรองตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้ จนกระทั่งเชื่อสนิทใจ เกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจ จึงพร้อมปฏิบัติตาม จนกระทั่งพ้นทุกข์ การสั่งสมศรัทธาจึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิในระดับที่เกิดมุมมองของชีวิตในเรื่องต่อไปนี้
1) ต้องรู้สถานการณ์ของชีวิตตามความเป็นจริง
สถานการณ์ของชีวิตมนุษย์ก็คือ ทุกคนล้วนอยู่ท่ามกลางทะเลทุกข์ ตราบใดยังไม่หมดกิเลสก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดกันต่อไป ยิ่งเวียนว่ายตายเกิดนานเท่าไหร่ ก็ทุกข์นานเท่านั้นชีวิตของคนในโลกนี้ จึงมีอยู่ 3 พวก พวกหนึ่งลอยคออยู่เฉยๆ ท่ามกลางกระแสกิเลส วันหนึ่งก็ต้องโดนกระแสกิเลสพัดจมลงไปสู่ก้นทะเลทุกข์ อีกพวกหนึ่งว่ายตามกระแสกิเลส ยิ่งว่ายเร็วเท่าไหร่ ยิ่งจมลงท่ามกลางก้นทะเลทุกข์เร็วเท่านั้น แต่อีกพวกหนึ่งพยายามว่ายทวนกระแสกิเลสพวกนี้ยิ่งว่ายมากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใกล้ฝัง มีสิทธิรอดพ้นจากการจมอยู่ใต้ก้นทะเลทุกข์ เมื่อทราบสถานการณ์ชีวิตเช่นนี้แล้ว ก็ต้องแสวงหาบุคคลที่ข้ามพ้นทะเลทุกข์นี้ได้สำเร็จ เพื่อศึกษาว่าท่านข้ามไปได้อย่างไร เราจะได้นำมาศึกษาเป็นต้นแบบ และท่านผู้นั้นย่อมเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
2) ต้องหมั่นศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การที่เราจะข้ามพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปได้ เราก็ต้องหมั่นศึกษาการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเพื่อที่จะได้รู้ว่าต้นแบบที่ถูกต้องนั้น ท่านทำอย่างไรจึงข้ามพ้นไปได้ เพื่อเราจะได้ออกแบบชีวิตได้ถูกต้องและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเมื่อเราพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เราก็จะมีวิธีแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่เราต้องเผชิญ
3) ต้องหมั่นศึกษาพระธรรมคำสอนของท่าน
เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกท้อแท้ในการทำความดี ถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว เราจะมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป
4) ต้องมีครูดีเป็นต้นแบบศีลธรรม
การที่เรากำลังฝึกฝนตนเองอยู่นั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องหาต้นแบบที่จะคอยแนะนำสั่งสอนสิ่งที่ดีมีประโยชน์กับเรา และคอยชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ต้องสามารถเป็นต้นแบบให้เราได้ทั้ง ทางกาย วาจา และใจ เพื่อที่เราจะได้มีแนวทางที่ถูกต้องในการฝึกฝนตนเอง และยกระดับมาตรฐานศีลธรรมตามท่านไปได้
5) ต้องหมั่นปฏิบัติตามโอวาทของครูให้ถูกต้อง
เมื่อเราได้ครูที่ดีมาแล้วเราก็ควรปฏิบัติตามโอวาทของครู เพื่อที่จะได้พัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยเริ่มตั้งแต่ฟังคำครูให้ชัด ตรองคำครูให้ลึก ทำตามคำครูให้ครบเพื่อจะได้เป็นเหมือนอย่างกับครูนั่นเอง
6) ต้องออกแบบชีวิตในสัมปรายภพให้ถูกต้อง
เมื่อชาตินี้เรารู้ว่าเรามีข้อบกพร่องอย่างไร เราก็ควรปรับปรุงตนเองเพื่อไม่ให้ข้อบกพร่องต่างๆ ติดตัวไปในภพเบื้องหน้า ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรม เพื่อให้เลิกจนเลิกเจ็บ เลิกโง่ และมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นในภพต่อไป
7) ต้องหมั่นสั่งสมขุมทรัพย์ คือ บุญ อยู่เสมอ
การที่จะทำให้ชีวิตในภพชาติเบื้องหน้ามีความสมบูรณ์ได้นั้น เราต้องรู้จักหาบุญและหมั่นสั่งสมบุญ เพราะบุญเป็นทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่เราจะสามารถนำติดตัวไปในภพชาติเบื้องหน้าได้
8) ต้องรู้จักป้องกันไม่ให้บุญตกหล่น
เมื่อเราหาบุญมาได้แล้ว เราต้องป้องกันไม่ให้บุญที่ได้มานั้นต้องสูญเสียไป โดยในขณะที่เราทำบุญ ก่อนทำเราต้องมีจิตใจผ่องใสปลื้มปีติในบุญที่เรากำลังจะทำ ขณะทำเราต้องมีความปีติในบุญที่เราทำ ไม่ขุ่นมัวกับเรื่องที่มากระทบ และหลังจากทำ เราก็ต้องมีจิตระลึกนึกถึงบุญที่เราทำด้วยความปีติ ไม่มีความเสียดาย ในบุญที่เราได้ทำลงไปแล้ว
9) ต้องรู้ถึงการส่งผลของบุญกับสภาพจิตก่อนตาย
ภาพจิตก่อนตาย คือสิ่งที่ตัดสินว่าเราจะไปสู่สุคติภูมิหรืออบายภูมิ เพราะว่า เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใสย่อมมีทุคติเป็นที่ไป เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปเมื่อเราสั่งสมบุญบ่อยๆสั่งสมบุญจนติดเป็นนิสัยแล้วผลของบุญก็จะทำให้เรามีจิตผ่องใสอยู่ตลอดเวลา แม้กำลังจะละโลกก็องอาจสง่างามและจากไปด้วยจิตใจที่ผ่องใสตลอดเวลาเป็นหลักประกันว่า เราย่อมไปสู่สุคติในสัมปรายภพอย่างแน่นอน
GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา