จักรธรรม หลักการพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

วันที่ 15 ธค. พ.ศ.2559

จักรธรรม
หลักการพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , จักรธรรม , เศรษฐกิจ , เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

1. สิ่งแวดล้อมไม่ดีสร้างความดีไม่ยั่งยืน
     การสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีด้วยฆราวาสธรรมและหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธนั้นย่อมเป็นหลักประกันความสำเร็จของเป้าหมายชีวิตระดับต้นและระดับกลางให้แก่ตนเองขึ้นมาแล้ว แต่การจะรักษาและป้องกันผลสำเร็จของการสร้างตัวสร้างฐานะให้ยั่งยืนไปตลอดชาตินี้และตลอดไปทุกภพทุกชาตินั้น มีความจำเป็นต้องมุ่งปฏิบัติเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุดควบคู่ไปด้วยนั่นคือ การมุ่งกำจัดกิเลสในใจให้หมดสิ้นเพื่อบรรลุพระนิพพาน

      แต่การกำจัดกิเลสในใจตัวเองและทวนกระแสกิเลสของคนทั้งโลกนั้น มิใช่ของง่าย การทำตามลำพังย่อมเป็นงานหนักที่จะทำได้สำเร็จ จำเป็นต้องได้อาศัยในท้องถิ่นที่เหมาะสมแก่การทำความดี อีกทั้งยังต้องมีเครือข่ายคนดีที่มีเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุดเหมือนๆ กันอยู่ร่วมด้วยจึงจะมีกำลังใจในการพัฒนาตนเองและฐานะให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป และในเวลาเดียวกันย่อมเป็นการป้องกัน ไม่ให้ตนเองไถลลงข้างทางไปตามกระแสเชี่ยวกรากของกิเลสเสียก่อนเพราะการอยู่ร่วมกับหมู่คณะที่มีเป้าหมายชีวิตสูงสุดเหมือนกัน ย่อมทำให้ควบคุมกิเลสไว้ได้สร้างความดีได้ง่าย รักษาความดีได้ง่าย เพิ่มพูนความดีได้ง่าย และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ จึงมีโอกาสก้าวหน้าในการบรรลุธรรม

   แต่ท้องถิ่นที่เหมาะแก่การทำความดีและหมู่คณะที่มีเป้าหมายชีวิตเหมือนกันนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรารวบรวมทีมมาลงมือสร้างขึ้นมาเท่านั้น หากแต่ลำพังต่างคนต่างอยู่ไม่ชักชวนคนดีในท้องถิ่นมาร่วมกันพันาท้องถิ่นให้เหมาะแก่การทำความดี ศีลธรรมย่อมตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ แต่อบายมุขมีกำลังเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลสุดท้าย หมู่คนพาลย่อมมีอำนาจปกครองท้องถิ่นให้ตกอยู่ใต้อบายมุขส่วนคนดีที่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ก็เท่ากับนั่งรอวันประสบภัยพิบัติทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และหมู่ญาติพี่น้อง เพราะการทำความดีท่ามกลางท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยคนพาลและอบายมุขเช่นนี้ จะรักษาความดีของตนไปได้นานเท่าไหร่

     1) เราจะอดทนต่อการกระทบกระทั่งกับคนพาลด้วยวิธีการอย่างไร ปฏิบัติจริงได้แค่ไหนได้นานเท่าไหร่ 

    2) เราจะอดทนต่อความเย้ายวนของอบายมุขที่มีปากทางสนุกแต่บั้นปลายฉิบหายด้วยวิธีการอย่างไร ปฏิบัติจริงได้แค่ไหน ได้นานเท่าไหร่ 

    3) เราจะคุ้มครองหมู่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย และบริวาร ให้ปลอดภัยจากคนพาล ไม่ตกเป็นทาสอบายมุขด้วยวิธีการอย่างไร ปฏิบัติจริงได้แค่ไหน ได้นานเท่าไหร่ 

    4) เราจะคุ้มครองทรัพย์สมบัติของเราให้ปลอดภัยจากการข่มเหงรังแกของหมู่คนพาลได้นานเท่าไหร่ ด้วยวิธีการอย่างไร ปฏิบัติจริงได้แค่ไหน 

     นี่คือภัยในปัจจุบันที่ต้องมองเห็นให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่เห็นภัยตรงนี้ คนดีก็จะต่างคนต่างอยู่กันต่อไป แล้วก็ปล่อยให้คนพาลรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโค่นล้มคนดีไปทีละคนๆ ผลสุดท้ายวันหนึ่งภัยจากคนพาลเหล่านั้น ก็ต้องมีอันตรายมาถึงตัวเราอย่างแน่นอน

     อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ ถึงจะสร้างลำต้นกิ่งใบได้อุดมสมบูรณ์แค่ไหน แต่เมื่อเติบโตอยู่เพียงลำพัง ก็ยากจะต้านทานลมพายุร้ายไว้ได้ ต้องถูกแรงลมพัดโค่นล้มลงอย่างเดียวดายแน่นอนผิดกลับหมู่ไม้ที่ขึ้นเป็นดงหนาแน่น ไม่เติบโตอยู่เพียงลำพัง แม้ถูกพายุร้ายโหมกระหน่ำรุนแรงเพียงไหน ย่อมต้านทานลมพายุได้ด้วยกำลังหมู่ไม้ที่เป็นญาติสนิท มิตรสหาย และบริวารของตน

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นภัยเหล่านี้ล่วงหน้าตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์จึงทรงขยันสร้างเครือข่ายคนดีและขยันพันาท้องถิ่นให้เหมาะแก่การทำความดีทุกรูปแบบขึ้นมานับภพนับชาติไม่ถ้วน พระองค์ทรงไม่ปล่อยให้คนดีมี ภาพต่างคนต่างอยู่ จนเป็นเหตุให้ศีลธรรมตายสนิทไปจากสังคมเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ทรงใช้ทั้งปัญญา ความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ และน้ำใจกรุณาต่อผู้อื่น รวบรวมหมู่คณะมาร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาสังคมพัฒนาประเทศ พัฒนาโลกให้มีมาตรฐานศีลธรรม เป็นโลกที่มีบรรยากาศที่เหมาะแก่ประพฤติปฏิบัติธรรมมาทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งแม้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายแล้ว แต่ยังทรงมุ่งมั่นสั่งสอนชาวโลกให้ทั้งฝึกฝนอบรมตนและร่วมกันพัฒนาสังคมโลกให้เหมาะแก่การสร้างความดีต่อไป

     ความรู้จริงอันใดที่เป็นหลักธรรมซึ่งเกิดจากประสบการณ์สร้างความดีอย่างถูกต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกมานับภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งกลายเป็นความรู้จริงที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว พระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนให้ชาวโลกได้มีความรู้จริงในเรื่องนั้น โดยไม่มีปิดบังแม้แต่น้อย และยังทรงสนับสนุนให้นำไปปฏิบัติอย่างเต็มกำลังอีกด้วย เพราะพระองค์ทรงรู้จริงว่ายิ่งนำไปปฏิบัติมากเท่าไหร่ ผลดีย่อมเกิดแก่ผู้ปฏิบัติมากเท่านั้น

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ธรรมะไว้ชุดหนึ่งสำหรับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการสู้รบกับกิเลสในใจตนเองและกระแสกิเลสของชาวโลกได้อย่างมีประสิทธิผลข้ามภพข้ามชาติ เรียกว่า "จักรธรรม"


2. จักรธรรม หลักการพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

2.1 จักรธรรมคืออะไร
        จักร แปลว่า วงล้อ, วงกลม, อาวุธรูปกลมมีคมเป็นเปลวรอบ, กองทัพ, อำนาจ, เขตแดน
        ธรรม แปลว่า ความจริง, ความถูกต้อง, ความดี, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
        จักรธรรม แปลว่า วงล้อที่หมุนพาไปสู่ความจริงอันถูกต้องดีงาม

      เพราะฉะนั้น จักรธรรม หมายถึง ความดี 4 ประการ อันเป็นประดุจวงล้อที่ขับเคลื่อนชีวิตให้ทำความดีสวนกระแสกิเลสได้อย่างเต็มที่ และเป็นอุปการะให้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างยั่งยืน

2.2 องค์ประกอบของจักรธรรม
        จักรธรรม ประกอบด้วยข้อปฏิบัติ 4 ประการ

1. ปฏิรูปเทสวาสะ แปลว่า การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ
2. สัปปุริสูปัสสยะ แปลว่า การผูกไมตรีกับอริยชน
3. อัตตสัมมาปณิธิ แปลว่า มบูรณ์พร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ
4. ปุพเพกตปุญญตา แปลว่า ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว

      จักรธรรม หรือ จักร 4 เรียกอีกอย่างว่า "พหุการธรรม" คือธรรมะที่มีอุปการะมาก เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างสมความดีอื่นๆ ทุกอย่างได้เต็มที่ และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอย่างถูกต้องและยั่งยืน

2.3 จุดมุ่งหมายของการพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจด้วยจักรธรรม
      1. เพื่อพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างยั่งยืน

      2. เพื่อช่วยเหลือคนดีให้สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริตได้เต็มที่จนกระทั่งสามารถสร้างตัวสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมได้สำเร็จเช่นเดียวกับตน

    3. เพื่อสร้างเครือข่ายคนดีไว้ช่วยกันปกป้องคุ้มครองชีวิตตนเอง ครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย บริวาร และคนดีทั้งหลายให้ปลอดภัยจากคนภัยคนพาลทั้งหลาย

   4. เพื่อสร้างเครือข่ายคนดีไว้ช่วยคุ้มครองป้องกันทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยากลำบากให้ปลอดภัยจากภัยต่างๆ และคนภัยคนพาลทั้งหลาย

    5. เพื่อสร้างระบบปลูกฝังศีลธรรมที่เข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น คือ บ้าน วัด โรงเรียนอันเป็นพุทธวิธีสร้างคนดีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวงจรศีลธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งให้แก่สังคม

2.4 งานสร้างจักรธรรม
     ธรรมชาติของคนนั้น มีความขาดแคลนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าเราเจริญก้าวหน้าอยู่คนเดียว แต่ไม่ช่วยให้คนอื่นเจริญก้าวหน้าด้วย เขาก็คงไม่มาทำดีกับเราด้วย (เขาไม่ได้ด้วย เขาก็ไม่ดีกับเราด้วย) ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราดีแล้ว เราก็มีน้ำใจช่วยให้เขาสร้างตัวสร้างฐานะได้ดีตามมาด้วย นอกจากเราจะได้พวกพ้องมาร่วมสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ยังได้ความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของตนเองเพิ่มขึ้นอีกด้วยในตัว (เขาได้ด้วย เขาก็ดีกับเราด้วย)

     งานสร้างจักรธรรม จึงเป็น 4 งานใหญ่ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนคนดีให้สร้างตัวสร้างฐานะให้สำเร็จ คือ

   1) ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง งานพัฒนาท้องถิ่นให้เหมาะแก่การสร้างความดี ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และธรรมะเป็นที่สบาย เพื่อให้คนดีได้ความสะดวกในการสร้างตัวสร้างฐานะ และทำความดีให้มากยิ่งขึ้นไป

     2)สัปปุริสูปัสสยะ หมายถึง งานสร้างเครือข่ายคนดีให้เกิดขึ้นรอบตัว ด้วยการเข้าไปผูกมิตรทำความรู้จักคนดี คอยให้การสนับสนุนคนดีส่งเสริมให้คนดีถ่ายทอดความรู้ ปกป้องภัยอันตราย และยกย่องให้เกียรติ เป็นต้น

    3) อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง งานสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น เพื่อให้คนดีรู้จักการตั้งเป้าหมายชีวิตได้ถูกต้องทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ บนดิน บนฟ้า เหนือฟ้า

    4) ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง งานสร้างวันธรรมชาวพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นด้วยการประพฤติตนเป็นต้นแบบต้นบุญในการทำเองและชักชวนผู้อื่นให้ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา จนกระทั่งเกิดเป็นวิถีชีวิตชาวพุทธประจำวัน


 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041227948665619 Mins