ต้นเหตุแห่งความวิบัติของความเจริญรุ่งเรือง

วันที่ 19 ธค. พ.ศ.2559

ต้นเหตุแห่งความวิบัติของความเจริญรุ่งเรือง

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , ต้นเหตุแห่งความวิบัติของความเจริญรุ่งเรือง   , ทิฏฐิมานะ

     จุดอ่อนของคนที่สร้างตัวสร้างฐานะทางเศรษฐกิจได้สำเร็จแล้ว คือมักหลงตัวเองว่า "ตนเองดีกว่าคนอื่นแล้ว" จึงลืมคิดไปว่าแท้จริงแล้วตนเองยังไม่หมดกิเลสเพราะตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ กิเลสในใจย่อมยังเป็นเหมือนหญ้าที่ถูกหินทับไว้พอยกก้อนหินออกเมื่อไหร่ หญ้าก็งอกใหม่ได้ทันที

     ความหลงตัวเองจนกลายเป็นความอวดดื้อถือดี เรียกว่า"ทิฏฐิมานะ" คนมีทิฏฐิมานะจะมีพฤติกรรมไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือไม่รับฟังคำตักเตือนของใครๆ ทั้งนั้น เมื่อใครแนะนำประโยชน์อะไรไม่ได้ ตักเตือนภัยใดๆ ไม่ได้ จึงไม่มีใครอยากเตือน คนดีมีความสามารถก็ถอยหนีห่างไกลออกไปหมด คนที่อยู่ใกล้ก็มีแต่คนที่ไม่กล้าขัดใจ ทำให้ขาดความรอบคอบในการทำงานต่างๆ เป็นเหตุให้ประพฤติผิดชอบไปต่างๆ นานา ผลสุดท้ายชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์ก็กลับเต็มไปด้วยปัญหายุ่งเหยิงจนสางไม่ออก ความเสื่อมต่างๆ ก็เข้ามาแทนที่ หน้าที่การงานที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็กลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย ซึ่งแม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ กับชีวิตของตนเอง

       เพราะฉะนั้น ต้นเหตุแห่งความวิบัติของความเจริญรุ่งเรือง คือ "ทิฏฐิมานะ" หรือ "ความอวดดื้อถือดี" ที่มีอยู่ในตัวเรานี่เอง

       มานะ คือ ความถือตัว เย่อหยิ่ง จองหอง ความอวดดื้อถือดีที่มีอยู่ในตัว ในที่นี้คือ ถือตัวว่าตัวเองมีดีอยู่แล้วไม่คิดจะแก้ไขปรับปรุงตนเอง และไม่ยอมรับฟังในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ที่ผู้รู้แนะนำสั่งสอน


1.สิ่งที่คนหลงนำมาอวดดื้อถือดี

        1. ชาติตระกูล คือคิดว่า ตระกูลของเราเป็นตระกูลใหญ่ เชื้อสายผู้ดีเก่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ผ่านมาจะกี่รุ่นก็ตาม มีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบกับเราได้อย่างไร เมื่อหลงตัวเองถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่า ดีกว่าผู้อื่น ความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

        2. ทรัพย์สมบัติ คือคิดว่า ทรัพย์สินเงินทองของเรามีมาก อยากได้อะไรก็ได้จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นต้องไปง้อ หรือไปเกรงใจใคร เมื่อหลงตัวเองคิดว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่นเช่นนี้แล้ว ความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

      3. รูปร่างหน้าตา คือคิดว่า ตนเองรูปร่างหน้าตาดีกว่าคนอื่น ใครจะมีหน้าตาดีกว่าฉันเป็นไม่มี เมื่อหลงถือตัวว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่นเช่นนี้แล้ว ความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

       4. ความรู้ความสามารถ คือคิดว่า ตนมีความรู้สูง ระดับปริญญาโท ปริญญาเอกความรู้ที่ใครคิดว่ายาก ฉันก็เรียนจนสำเร็จมาแล้ว คิดว่าใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ เมื่อหลงตนเองว่าตนมีความรู้ความสามรถสูงกว่าผู้อื่น ความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

      5. ยศตำแหน่ง คือคิดว่า ตัวเรานี้มีตำแหน่งสูงแล้ว เป็นถึงผู้อำนวยการ เป็นถึงอธิบดีเป็นถึงปลัดกระทรวง มีตำแหน่งสูงขนาดนี้แล้วใครจะมาแน่เท่าฉัน เมื่อหลงตัวเองว่าตนมียศมีตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น ความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

     6. บริวาร คือคิดว่า พรรคพวกตัวเองมีมาก ลูกน้องมีเยอะแยะไม่มีใครจะมากล้าขัดใจหรือกล้ากำเริบเสิบสาน เมื่อหลงถือว่าตัวมีบริวารมากกว่าผู้อื่นความอวดดื้อถือดีจึงเกิดขึ้น

     คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ 6 ประการนี้ เป็นข้อถือดีของตัว ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆนั้น มั่นไม่จีรังยั่งยืน ทุกอย่างไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่ง มมติขึ้นมาเท่านั้น แต่สิ่งที่จะอยู่กับตัวเรา และช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอนนั้นก็คือความดีในตัวของเรานั่นเอง


2. ความเสื่อมที่เกิดจากความอวดดื้อถือดี

2.1 เสื่อมตนเอง
      เสื่อมตนเอง คือ ความรู้ และคุณความดีที่เคยมีอยู่ในตนค่อยๆ ลดลงไป และไม่สามารถเพิ่มเติมความรู้ และความดีใหม่ๆ เข้าไปในตัวได้ ซึ่งมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

        1) เสื่อมจากความไม่ประมาท
       ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตามจะไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี และไม่พลั้งไปทำความชั่วอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความอวดดื้อถือดี ก็จะเกิดความประมาท คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว มีความสามารถสูงอยู่แล้ว ใครเตือนใครสอนก็ไม่ฟัง ซึ่งจะทำให้เกิดโทษต่างๆ ตามมา คือ

- ขาดความระมัดระวังในการทำกิจการทั้งหลาย ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ ตามมา

- ขาดการยับยั้งตนเองไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม หรือมัวแต่ลุ่มหลงมัวเมา กับสิ่งที่ไม่ใช่สาระ

- ขาดความจริงจังกับงาน ไม่ใส่ใจในการทำงาน ซึ่งจะทำให้พลาดประโยชน์ที่สมควรจะได้ เสื่อมจากทรัพย์ที่รออยู่เบื้องหน้า

- ขาดความสำนึกในหน้าที่ของตน ทั้งสิ่งที่ทำไปแล้ว และยังไม่ได้ทำ

- ขาดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน เป็นต้น

       2) เสื่อมจากกุศลกรรมบถ 10
      กุศลกรรมบถ เป็นธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน เพื่อความเจริญในตัวของบุคคล ประกอบด้วยธรรม 10 ประการ คือ

1. เว้นจาการฆ่าสัตว์
2. เว้นจาการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการพูดส่อเสียด
6. เว้นจาการพูดคำหยาบ
7. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
8. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
9. ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
10. มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)

     คุณธรรมทั้ง 10 ประการนี้ ทุกคนย่อมต้องฝึกฝนให้มีขึ้นในตน โดยเฉพาะผู้นำ และผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตน เพื่อให้มีพื้นฐานใจที่ดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง และให้การทำงานได้ผลดี แต่ถ้าใครก็ตามมีความอวดดื้อถือดี จะทำให้ไม่สามารถดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถได้ เพราะขาดความคิดว่าการกระทำที่ตนทำลงไปนั้นดี และถูกต้องแล้วไม่ยอมรับฟังคำแนะนำสั่งสอนจากบุคคลรอบข้าง ยิ่งถ้าบุคคลนั้นมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทรัพย์มาก ก็จะมีโอกาสพลาดพลั้งไปทำสิ่งที่ผิดเพิ่มขึ้นได้มากเช่นกัน เพราะมีวินิจฉัยผิด ไม่มีหลักการ ที่เป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง แล้วยิ่งถ้าไม่มีใครอยากจะเข้ามาแนะนำสั่งสอนให้ด้วยแล้ว ในที่สุดก็จะกลายเป็นการทำลายความดีในตัวของเรานั่นเอง


2.2 เสื่อมกัลยาณมิตร
     บุคคลใดก็ตามที่มีความอวดดื้อถือดี ย่อมมองว่าตนเองมีดีกว่าคนอื่น ดูถูกคนอื่นว่าไม่คู่ควรที่จะว่ากล่าวสั่งสอนตัว และเมื่อมีความคิดอย่างนี้อยู่ในใจ ในที่สุดก็จะเมาความโตของตนเอง จนทำให้ผู้นั้นขีดวงขังตัวเอง คนประเภทนี้จึงกลายเป็นคนไม่มีคนคบค้าสมาคมด้วย ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเสื่อม มีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

      1) เสื่อมปัญญา
     คนที่อวดดื้อถือดีจะคิดอยู่ในใจเสมอว่าตนเองมีดีกว่าบุคคลอื่นๆ ทำให้ใครจะพูดอะไรก็ไม่ฟังทั้งสิ้น ดังนั้นจึงกลายเป็นคนขาดความกระตือรือร้นในการฝึกฝนตนเอง ขาดความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และขาดการรับฟังสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน ทั้งความอวดดื้อถือดีที่มีอยู่ในตนจะทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรือแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ให้ เพราะคิดว่าบอกไปก็คงจะไม่เกิดประโยชน์ทั้งยังอาจถูกดูหมิ่นกลับมาอีกด้วย ในที่สุดก็จะเสื่อมปัญญา ดวงปัญญาที่มีก็จะคับแคบลงทั้งยังไม่รับความรู้ ความดีหรือสิ่งที่มีประโยชน์เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนโง่ที่ไม่มีใครอยากคบหาด้วย

     2) เสื่อมความปลอดภัย
     เมื่อไม่มีใครอยากคบหาด้วยแล้ว เมื่อมีสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้นย่อมไม่มีใครอยากบอกทั้งตนเองก็ไม่คิดจะถามใคร จึงทำให้ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างกะทันหันได้ จึงทำให้ไม่ทันได้ระวังตัว เพื่อหาทางป้องกัน หรือเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเอง ครอบครัว หรือธุรกิจที่ตนมีอยู่ได้นอกจากนี้คนที่มีความอวดดื้อถือดี ถ้าหากบุคคลอื่นรู้ว่าจะมีภัยใดๆ มาถึงตัว หรือมีคนคิดร้าย เขาย่อมไม่บอก ไม่สนใจ และไม่คิดที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพราะคิดว่าคงเก่งอยู่แล้วคงสามารถเอาตัวรอดได้ คนที่อวดดื้อถือดีย่อมหาความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินได้ยาก


2.3 เสื่อมหมู่คณะ
    หมู่คณะใดก็ตามที่มีคนอวดดื้อถือดีหมู่คณะนั้นย่อมมีความสั่นคลอนเกิดขึ้นอยู่ภายในรอวันที่จะแตกและพังลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตนเอง และเสื่อมกัลยาณมิตรดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งยังส่งผลต่อหมู่คณะอีกด้วย ความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับหมู่คณะนี้ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

      1) เสื่อมจากยศเพราะอคติ 4
    การที่เสื่อมจากยศเพราะอคติ 4 เนื่องจาก เมื่อบุคคลใดก็ตามมีความอวดดื้อถือดีในตน ย่อมเชื่อในการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ไม่ฟังเสียงของบุคคลรอบข้างจนทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในหมู่คณะ ซึ่งก็คือ เกิดอคติขึ้นนั่นเองอคติ 4 ประกอบด้วย

      1. ลำเอียงเพราะรัก คือ การกระทำสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่มีความรักใคร่ชอบพอกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ยศก็ดี ให้ลาภก็ดี รวมไปถึงการเลื่อนตำแหน่งหรือการตัดสินความอื่นๆ ด้วยความพอใจ รักใคร่ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม รวมถึงรักทรัพย์สมบัติมากจนยอมเสียความเป็นธรรม

     2. ลำเอียงเพราะชัง คือ การกระทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์หรืออาจเกิดผลเสียต่อบุคคลที่ไม่ชอบพอ หรือเกลียดชังกัน โดยการไม่ให้ยศก็ดี หรือการไม่ให้ลาภก็ดี รวมถึงการตัดสินความต่างๆ ด้วยอำนาจของความเกลียดชัง จนทำให้เสียความเป็นธรรม

   3. ลำเอียงเพราะความหลง คือ การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปด้วยความไม่รู้ หรือขาดปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน ทั้งการให้ลาภยศและไม่ให้ก็ตาม หรือการตัดสินเรื่องราวต่างๆ ด้วยอำนาจความโง่เขลา ทำให้เสียความเป็นธรรม

       4. ลำเอียงเพราะกลัวภัย คือ การกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือทำในสิ่งที่ผิด ด้วยความกลัวและหวั่นไหว ต่อภัยที่จะมาถึงตัว ด้วยอำนาจแห่งความกลัวจึงทำให้เสียความเป็นธรรม

       อคติ 4 เหล่านี้หากเกิดแก่บุคคลในหมู่คณะใดก็ตาม ย่อมจะนำมาซึ่ง ความร้าวฉานในองค์กร ทำให้เกิดการแตกความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ ซึ่งจะทำให้เสื่อมจากยศในที่สุด เพราะเมื่อไม่เกิดความเป็นธรรมขึ้นในหมู่คณะ คนที่ตั้งใจทำงานก็ทนอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็ถอดใจลาออกไป ในที่สุดหมู่คณะนั้นก็ขาดคนที่มีความสามารถ ทำให้ชื่อเสียงที่เคยมีเคยได้ หมดไป


       2) เสื่อมจากทรัพย์เพราะอบายมุข 6
   เมื่อบุคคลที่ความอวดดื้อถือดี คนที่อยู่รอบข้างด้วยได้นั้น ย่อมเป็นคนหัวอ่อนหรือเป็นพวกชอบประจบสอพลอ หวังประโยชน์จากบุคคลนั้น ดังนั้นความอวดดื้อถือดี ย่อมทำให้เขาเสื่อมจากทรัพย์ เพราะอบายมุข 6 นั่นเองอบายมุข 6 ประกอบด้วย

      1. ดื่มน้ำเมา โทษของการดื่มน้ำเมา คือ ย่อมเสียทรัพย์ทันตาเห็น นอกจากนั้นยังทำให้เสียสุขภาพ เสียชื่อเสียง และปัญญายังเสื่อมถอยอีกด้วย

   2. เที่ยวกลางคืน โทษของการเที่ยวกลางคืน คือ ชื่อว่าไม่คุ้มครองตนเอง และครอบครัวเพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ทั้งเป็นที่น่าระแวงของผู้อื่น เพราะจะทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และย่อมเสียทรัพย์จากการเที่ยวนั้น

     3. เที่ยวดูมหรสพ โทษของการเที่ยวดูมหรสพ คือ ทำให้เสียทั้งทรัพย์ทั้งค่าใช้จ่ายรวมทั้งเสียเวลาที่ต้องไป และเสียการเสียงานซึ่งก็คือ เงินที่ควรจะได้ ในที่สุดก็จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นทั้งในครอบครัวและหมู่คณะตามมา

     4. เล่นการพนัน โทษของการเล่นการพนัน คือ ผู้ที่ชนะเมื่อนำทรัพย์ไป ผู้แพ้ย่อมรู้สึกเสียดาย และแค้นเคืองผู้ชนะ ซี่งจะเป็นการนำมาของการก่อเวร เพื่อพยายามหาทางเอากลับคืน และย่อมเป็นการเสียทรัพย์ในปัจจุบัน ทั้งอาจมีปัญหาเรื่องการเงินตามมาอีก

     5. คบคนชั่วเป็นมิตร การคบคนชั่วเป็นมิตรย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมทุกประการเมื่อบุคคลใดก็ตามมีคนพาลเป็นมิตรแล้ว ย่อมจะทำให้สามารถพลาดพลั้งไปทำความชั่วต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งก็คือ การพลาดไปประกอบอบายมุข 6 นั่นเอง ทั้งยังติดนิสัยที่ไม่ดีมาอีก ในที่สุด นอกจะเสียทรัพย์แล้วยังเสียผู้เสียคนอีกด้วย

     6. เกียจคร้านการทำงาน โทษของการเกียจคร้าน ไม่ยอมทำงาน หรือทำงานคั่งค้าง ย่อมเป็นคนที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ย่อมทำให้พลาดโอกาสในการได้ทรัพย์มาแล้วยังทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่นั้นล่อยหลอลงไป ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนที่ตายแล้วทั้งจากความคิดและความดี

     ดังนั้น การอวดดื้อถือดี ใครเตือนใคร อนไม่ยอมรับฟังจึงเป็นสาเหตุหลักในการนำไปสู่อบายมุข ทรัพย์สมบัติที่หามาด้วยความยากลำบากต้องพังพินาศไป ทั้งยังอาจก่อให้เกิดหนี้สินตามมาไม่รู้หมดสิ้น และที่สำคัญยังเป็นหนทางที่มุ่งหน้าไปสู่อบายอีกด้วย


     3) เสื่อมบริวารเพราะขาดสังคหวัตถุ 4
      การที่บุคคลอวดดื้อถือดีนั้น ย่อมไม่สนใจว่าใครจะมองตนเองอย่างไรทั้งไม่สนใจว่าใครจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร เพราะคิดว่าตนเองสามารถเอาตัวรอดได้ จึงไม่สนใจพรรคพวกเพื่อนฝูงบริวาร ทำให้ขาดสังคหวัตุ 4 ซึ่งเป็นคุณธรรมสำหรับครองใจคนนั่นเอง

สังคหวัตุ 4 ประกอบด้วย
1. ทาน
2. ปิยวาจา
3. อัตถจริยา
4. มานัตตา
คนที่ไม่มีสังคหวัตถุ 4 นี้ ย่อมไม่สนใจในการแบ่งปันสิ่งของ

     เมื่อมีคนได้รับความเดือดร้อนก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ ใช้คำพูดที่ไม่ถนอมน้ำใจคนฟังชอบนินทาว่าร้าย หรือวางตัวไม่สมกับที่เป็น คือ มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น คนที่อวดดื้อถือดี ย่อมไม่มีเพื่อนฝูงบริวารที่ดีคบค้าสมาคมด้วย

    คนที่เสื่อมจากบริวารนั้น เวลามีเรื่องที่ต้องการคนคอยช่วยเหลือย่อมไม่มีผู้ใดยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ไม่มีใครแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างอีกด้วย

     หมู่คณะใดก็ตามหากมีแต่คนอวดดื้อถือดี หรือมีคนอวดดื้อถือดีเป็นหัวหน้าแล้ว ก็จะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่คณะนั้น เพราะจะเป็นพวกที่ชอบอวดเบ่ง จะทำอะไรตามใจตนเอง ทำให้หมู่คณะขาดระเบียบวินัย ในที่สุดหมู่คณะนั้นก็ล่มสลายลง


3. หลักการป้องกันความเสื่อม
    1. หมั่นตรวจสอบการสร้างความดีของตนเอง แล้วเทียบเคียงกับการสร้างความดีที่เป็นมาตรฐานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าตนเองมีข้อบกพร่องมากน้อยอย่างไร และควรปรับปรุงแก้ไขด้วยวิธีการใด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม และสร้างความเจริญให้มีขึ้นในตัว

     2. หมั่นคบกัลยาณมิตรและเข้าไปปวารณาตัวให้ตักเตือนได้ในยามประมาท เป็นการลดทิฏฐิในตัวเอง ทั้งยังเป็นการฝึกฝนตนเอง และสร้างโอกาสที่จะถ่ายทอดคุณธรรมความรู้ที่เขามีอยู่มาสู่ตัวเรา

       3. หมั่นสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นภายในตนเพื่อสร้างหลักประกันความเสื่อม ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า


 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033782398700714 Mins