งานสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้สำเร็จ
การพัฒนาคนนั้น เป็นแกนกลางของการพัฒนาทุกอย่างโดยแท้ เพราะความเจริญหรือความเสื่อมในโลกนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาคนทั้งนั้น เมื่อใดที่พัฒนาคนได้สำเร็จแล้ว การพัฒนาอื่นๆ ถึงจะก้าวตามไปได้ และเครื่องมือในการพัฒนาคนหมู่มากให้มีความคิด คำพูด การกระทำไปในทิศทางเดียวกัน มีศัพท์เรียกว่า "วัฒนธรรม"
1. วัฒนธรรมชาวพุทธคืออะไร
วัฒนธรรมชาวพุทธ ประกอบด้วยคำ 3 คำ คือ
วัฒนะ แปลว่า พัฒนาให้เจริญ
ธรรมะ แปลว่า นิสัย, ความถูกต้อง, ความดีงาม, ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ฯลฯ
ชาวพุทธ แปลว่า ผู้สืบทอดความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พระองค์ท่านเป็นผู้รู้เพราะขจัดความไม่รู้ได้หมดแล้ว เป็นผู้ตื่นเพราะกิเลส ไม่สามารถครอบงำพระองค์ให้ไม่รู้ได้อีกต่อไป เป็นผู้เบิกบานเพราะทรงบรรลุพระนิพพานอันปราศจากทุกข์
เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมชาวพุทธ หมายถึง ข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องดีงาม เพื่อการพัฒนาใจให้เจริญไปสู่ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเช่นดั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก่อให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม
2. จุดมุ่งหมายของวัฒนธรรมชาวพุทธ
จุดมุ่งหมายของวัฒนธรรมชาวพุทธ มี 3 ประการ
1. มุ่งเพิ่มพูนปัญญา เพื่อกำจัดความไม่รู้
2. มุ่งเพิ่มพูนความบริสุทธิ์ เพื่อกำจัดความทุกข์
3. มุ่งเพิ่มพูนความกรุณา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นความไม่รู้และความทุกข์
3. ปัญหาของการไม่มีวัฒนธรรม
ตามปกติของปุถุชนนั้น จิตใจยังห่อหุ้มด้วยกิเลสอย่างหนาแน่น ครั้นเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ต่างคนต่างก็อดทำตามใจกิเลส ของตัวไม่ได้ คือพวกหนึ่งก็คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว อีกพวกหนึ่งก็ขาดวินัยเอาแต่ใจตนเอง อีกพวกหนึ่งก็จ้องจับผิดขาดความเคารพเกรงใจกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันนั้นปราศจากความสงบสุข มีแต่ความหวาดระแวง มีแต่ลงมือฆ่าแกงปล้นชิงไม่เว้นแต่ละวัน ไม่มีการตัดสินด้วยเหตุผล มีแต่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันด้วยอำนาจกิเลสตลอดเวลาซึ่งชีวิตเยี่ยงนี้ย่อมไม่แตกต่างจากหมูหมากาไก่เท่าใดนัก
เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ จึงมีผู้มีปัญญาพวกหนึ่งมองเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์ไม่ควรจะป่าเถื่อนเช่นเดียวกับสิงสาราสัตว์ จำต้องหาแนวทางที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ในที่สุด ก็ต้องมีการกำหนดข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดความเป็นสุขในการอยู่ร่วมกันและเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อยกฐานะของมนุษย์ให้อยู่เหนือจากสัตว์โลกทั่วไป เมื่อมีการทำข้อตกลงในหลักการอย่างนี้แล้ว ก็มีการสร้างรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์ขึ้นมา จากนั้นก็มีการพัฒนาและถ่ายทอดมาตามลำดับๆ จากรุ่นปู่ย่าตาทวดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วก็เรียกสิ่งที่สืบทอดปฏิบัติกันมาตามวิถีชีวิตประจำเผ่าพันธุ์ของตัวว่า "วัฒนธรรม" (Culture) และเรียกคนในเผ่าที่ยอมรับเอาข้อปฏิบัติประจำเผ่าพันธุ์ของตนไปปฏิบัติว่า "ผู้มีวัฒนธรรม"
เนื้อหาของวันธรรมส่วนใหญ่ในโลกนี้ จะเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องพื้นฐานในการดำเนินชีวิตเช่น การแสวงหาปัจจัย 4 การค้าขาย การแพทย์ การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การสร้างที่อยู่อาศัย การรักษาโรค ภาษาศาสตร์ การร่ายรำ การเพาะปลูก การทอผ้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดแนวคิดและภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนมาสู่คนรุ่นใหม่ให้สืบทอดปฏิบัติและพันาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งเรียกว่า "การสืบทอดวัฒนธรรม"
แม้ว่าในโลกนี้จะมีผู้สร้างวันธรรมมากมายหลายท่านก็ตาม แต่มีข้อสังเกตว่า ยังไม่มีผู้ใดที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมที่ผลักดันวิถีชีวิตผู้คนในสังคมให้มุ่งกำจัดกิเลสในตนให้หมดสิ้นไปเหมือนอย่างกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วัฒนธรรมที่พระองค์สร้างขึ้นนั้น เป็น "วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ" ที่โลกต้องการ หากท้องถิ่นใดนำวันธรรมที่พระองค์สร้างขึ้นนี้ไปปฏิบัติใช้ ก็เป็นที่มั่นใจได้ล้านเปอร์เซ็นต์ว่าสันติภาพต้องเกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างแน่นอน
4. องค์ประกอบของการสร้างวันธรรมชาวพุทธ
การสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้สำเร็จนั้น ต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้
1. มีผู้นำจิตใจที่เป็นต้นแบบที่ดี
ผู้นำจิตใจในที่นี้ หมายถึง พระภิกษุที่เป็นผู้มีศีลธรรมดีงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ศรัทธา และสามารถเป็นผู้นำมวลชนใน 3 เรื่องต่อไปนี้
1) เป็นผู้นำทางปัญญา คือ เป็นผู้ที่สามารถชี้แจงแสดงเรื่องความจริงของชีวิต เรื่องบุญบาป เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดให้ผู้อื่นได้ เพื่อให้เกิดความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
2) เป็นผู้นำทางความบริสุทธิ์ คือ เป็นคนมีศีล มีมารยาทที่ดีงาม มีอาชีพที่สุจริต และสามารถเป็นแบบอย่างของความประพฤติให้แก่ผู้อื่นได้
3) เป็นผู้นำทางความกรุณา คือ เป็นที่พึ่งในยามเดือดร้อนของคนในท้องถิ่นได้ ไม่ว่าใครจะประสบทุกข์อะไร ก็สามารถแก้ทุกข์ให้เขาได้หมด อีกทั้งยังช่วยอบรมให้ความรู้และแก้ไขความประพฤติที่ดีงามให้แก่เขาด้วย
2. มีรูปแบบวัฒนธรรมที่ดี
วัฒนธรรมชาวพุทธนั้น แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่
หมวดที่ 1 ว่าด้วยการเพิ่มพูนความกรุณา เพื่อกำจัดกิเลสตระกูลโลภะ โดยมุ่งกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่น การแบ่งปันสิ่งของส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การยกย่องผู้ที่ตั้งใจทำความดี การช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น เรียกสั้นๆ ว่า "ทาน"
หมวดที่ 2 ว่าด้วยการเพิ่มพูนความบริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสตระกูลโทสะโดยมุ่งป้องกันตนไม่ให้ทำความชั่ว เช่น การรักษาศีล การขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบ การมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม เป็นต้น เรียกสั้นๆ ว่า "ศีล"
หมวดที่ 3 ว่าด้วยการเพิ่มพูนปัญญา เพื่อกำจัดกิเลสตระกูลโมหะ โดยมุ่งฝึกฝนอบรมตนเองให้ฉลาด มีสติปัญญาดี เช่น การทำภาวนา การฟังธรรม การสนทนาธรรม เป็นต้น และเรียกสั้นๆ ว่า "ภาวนา"
วัฒนธรรมทั้งสามหมวดหมู่นี้ แต่ละหมวดยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 แขนง ได้แก่
1) คติธรรม หมายถึง ธรรมะประจำใจอันเป็นหลักดำเนินชีวิตของแต่ละคนให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อใช้ในการสอนตัวเอง เตือนตัวเอง ไม่ให้แชเชือนออกไปนอกทาง มีแต่เร่งเร้าให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
2) เนติธรรม หมายถึง กฎหมาย ระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี อันเป็นเครื่องประกันสวัสดิภาพในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและขัดเกลาจิตใจของหมู่คณะให้ดีขึ้น
3) วัตถุธรรม หมายถึง อาคารสถานที่ ปัจจัย 4 วัตถุสิ่งของเครื่องใช้ งานศิลปกรรมการแต่งกาย เป็นต้น ต้องมีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยและผู้พบเห็น และไม่เป็นข้าศึกต่อการทำความดี
4) สหธรรม หมายถึง มารยาทในการติดต่อกับบุคคลอื่น และการเข้าสู่สาธารณสังคมทั่วไป เพื่อให้สังคมยอมรับ ไม่จับผิดคิดในแง่ลบวัฒนธรรมชาวพุทธทั้งสามหมวดที่นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นเครื่องมือพันาใจให้พ้นจากความทุกข์เศร้าหมองทั้งหลาย และเพิ่มพูนทั้งปัญญา ความบริสุทธิ์ และความกรุณาไปด้วยในตัว โดยผ่านการแตกแขนงวัฒนธรรมออกมาในรูปแบบของคติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรม และ หธรรม ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนั้น นอกจากได้รับ "นิสัยที่ดี" แล้ว ย่อมได้ "ผลบุญ" เป็นเสบียงติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติอีกด้วย
3. มีวิธีถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดี
การถ่ายทอดวัฒนธรรม โดยพื้นฐานมีอยู่ 2 ประการ คือ "แนะดี" กับ "นำดี" "แนะดี" คือ ต้องถ่ายทอดเนื้อหาของการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้ครบถ้วน 4 ประเด็น ได้แก่ อะไร (What) ทำไม (Why) ทำอย่างไร (How) ผลเป็นอย่างไร (Result)
"นำดี" คือ เป็นผู้ลงมือทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาด้วยตัวเองและชักชวนผู้อื่นให้ทำตามอย่างจริงจัง ถูกต้องตามหลักวิชา และต่อเนื่องตลอดชีวิต
4. มีบุคคลที่รักการฝึกฝนอบรมตนเอง
ชาวพุทธที่จะมีความก้าวหน้าในการฝึกฝนอบรมตนเอง จะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติ 3ประการนี้ คือ
1) มีความเคารพ คือ มีความตระหนักในความดีของผู้อื่น ไม่จ้องจับผิดใคร มีแต่จับจ้องมองหาความดีที่มีในตัวผู้อื่น เพื่อซึมซับรับเอามาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม
2) มีวินัย คือ มีการควบคุมกาย และวาจาให้ประพฤติแต่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
3) มีความอดทน คือ มีความสามารถในการรักษาใจของตนให้เป็นปกติได้ แม้ต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ นานาที่ก่อให้เกิดความลำบากกายและความลำบากใจก็ตามผู้ที่มีคุณสมบัติ 3 ประการนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ซึมซับรับเอาความมีปัญญา ความบริสุทธิ์ และความกรุณาจากต้นแบบเข้ามาไว้ในตัวได้เต็มที่ ย่อมทำให้สามารถสร้างบุญได้อย่างเต็มที่และถูกต้องตามหลักวิชาส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งในภพนี้และภพหน้าอย่างเต็มกำลัง
5. มีวัดที่ดีเป็นสถานที่ฝึกฝนอบรมตนเอง
- วัด เป็นสถานที่ปลูกฝังศีลธรรม คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้แก่ประชาชนสำหรับไว้ต่อสู้ทำลายล้างกิเลสโดยมีพระภิกษุเป็น "ผู้แนะ" ได้แก่ อบรมสั่งสอนชี้ทางถูก และ "ผู้นำ" ได้แก่ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้ดูเป็นตัวอย่าง
- วัด นอกจากเป็นแหล่งอบรมปลูกฝังศีลธรรมแล้ว ยังเป็นจุดรวมให้ประชาชนเข้ามา "วัด" ตัวเอง คือสอบตัวเองดูว่า การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ของตัวมีอยู่หรือถูกต้องหรือไม่ วัดกิริยามารยาท คุณสมบัติของผู้ดี คุณธรรมต่างๆ ของแต่ละคนว่าจะมีหรือไม่และมีมากมีน้อยกว่ากันอย่างไร จะได้แก้ไขปรับปรุงให้มีและดียิ่งๆ ขึ้นไป
- วัด เมื่อเป็นสถานที่ปลูกฝังศีลธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชีวิตแล้วจึงเป็น ถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เมื่ออยู่วัดทุกคนต้องระมัดระวังตนให้คิด พูด ทำแต่ในสิ่งที่สมควรเสมอ คือช่วยกันรักษาความสงบ ความสะอาด ความเรียบร้อย ทั้งของตนและของวัดให้ดี ถ้าคนใดประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมภายในบริเวณวัด ก็จะเป็นความเสื่อมอย่างยิ่งทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่น และพระพุทธศาสนา
- วัด ที่เหมาะแก่การปลูกฝังศีลธรรมนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการจึงจะเป็นถสานที่เหมาะสมแก่การละชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใสได้แก่ มีอาวา เป็นที่สบาย มีอาหารเป็นที่สบาย มีพระภิกษุผู้ทรงศีลอยู่ที่นั่น มีบุคคลที่ตั้งใจฝึกตนอยู่ที่นั่น และมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน คือ การทำทาน รักษาศีล และภาวนาอยู่เป็นประจำ เพื่อมุ่งพัฒนาใจของตนให้พ้นจากอำนาจกิเลส
เพราะฉะนั้น การสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธได้สำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้ ผู้ที่คิดจะสร้างวันธรรมชาวพุทธนั้น จึงต้องเป็นบุคคลที่มีเป้าหมายชีวิตระดับสูงสุด คือ มุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะตระหนักดีว่า งานที่แท้จริงของชีวิต ก็คือ การกำจัดกิเลสในตัวของคนเรา ซึ่งรู้ดีว่าเป็นงานยาก เพราะจิตใจของคนเรานั้นคุ้นอยู่กับกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำมากกว่า การชักชวนให้ผู้อื่นเห็นดีเห็นงามกับการพรากใจออกจากกิเลสจึงไม่ใช่เป็นงานง่าย แต่ทว่าหากตนเองไม่ลงมือชักชวนผู้อื่นให้ทวนกระแสกิเลสไปด้วยกัน ตนเองก็ยากจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำเป้าหมายระดับสูงสุดของชีวิตได้สำเร็จเช่นกัน
5. วิธีการสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น
เพราะความที่คนเรานั้นชอบทำอะไรตามอำนาจกิเลสบังคับบัญชาอยู่บ่อยๆ จึงเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์อยู่ประจำ ครั้นเมื่อพยายามหาทางออกจากความทุกข์นั้น กิเลส ก็สอนให้แก้ปัญหาแบบผิดๆ เพิ่มขึ้นไปอีก มนุษย์จึงอยู่ใน ภาพยิ่งทำยิ่งแย่ ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ ปัญหาสารพัดจึงหมักหมมไม่จบไม่สิ้น กว่าจะมีผู้รู้ยิ่งเห็นจริงดั่งเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นมนุษย์ก็จมอยู่ก้นทะเลทุกข์ไปมากมาย ที่พอจะฉุดขึ้นฝังได้ ก็คือพวกที่พยายามว่ายทวนกระแสกิเลสอยู่แล้ว เป็นพวกที่มีแนวคิดเดียวกับพระองค์ท่านส่วนที่ยังลอยคออยู่ กว่าพระพุทธองค์จะฉุดดึงให้ว่ายทวนกระแสตามมาได้ ก็หมดเวลาของพระองค์ไปเสียก่อนส่วนที่จมดิ่งอยู่กับกิเลสชนิดโงหัวไม่ขึ้นนั้น ก็ต้องปล่อยไปก่อน ต้องรอให้เขาได้คิดแล้วค่อยไปรอพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไป แต่เนื่องจากมีบางพวกที่มีแนวคิดเดียวกับพระพุทธองค์ แต่เกิดมาไม่ทันพระพุทธองค์ พวกนี้จะมีวิธีช่วยเหลืออย่างไร คำตอบก็คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธ
วัฒนธรรมชาวพุทธจึงเป็นเหมือนมรดกที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้ผู้ที่มีความรักดีปรารถนาจะข้ามทะเลทุกข์ ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการพันาตนเองให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลสสามารถข้ามฝังทะเลทุกข์ตามพระองค์เข้าพระนิพพานไปได้ในภายหลัง
วิธีการถ่ายทอดวันธรรมชาวพุทธนั้นทำง่ายๆ ประการเดียว นั่นคือ การเป็นผู้ปฏิบัติเองและชักชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติด้วย โดยมุ่งให้องค์ประกอบทั้ง 5 ประการ คือ พระภิกษุ เชื่อมเข้าหากัน เริ่มจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอ เส้นทางจากบ้านมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรมก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย
จุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมชาวพุทธนั้น คือ การทำใจให้สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะเมื่อกิเลสงบแล้ว ย่อมทำให้ทุกข์คลาย ความสุขย่อมเพิ่มขึ้นตามลำดับเมื่อนั้นปัญญา บริสุทธิ์ และกรุณาในตัวย่อมเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นความเข้มแข็งในการสู้กับกิเลส
แต่การชักชวนให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าของการทำใจให้สงบนั้น ตนเองจำเป็นต้องมีความรู้ธรรมะพื้นฐานในการทำใจให้สงบก่อน มิฉะนั้น หากผู้อื่นซักถามขึ้นมา แล้วตนเองตอบไม่ได้ก็จะกลายเป็นความเสียหายของผู้ชักชวนและพระพุทธศาสนาอย่างน่าเสียดาย
ธรรมะพื้นฐานสำหรับการชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมนั้น มีอยู่ 6 เรื่องใหญ่ นั่นคือ
1. ใจคืออะไร
2. กิเลสคืออะไร
3 พระธรรมคืออะไร
4. ผู้บรรลุธรรมคือใคร
5. การปฏิบัติตนของคนไปวัด
6. ประเพณีที่ควรทราบ
ผู้ที่มีความรู้ธรรมะเบื้องต้นทั้ง 6 ประการนี้ ย่อมสามารถปฏิบัติธรรมเองได้ถูกต้อง และสามารถชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้วันธรรมชาวพุทธแผ่ขยายออกไปส่งผลให้เกิดบรรยากาศที่สงบเย็นขึ้นในท้องถิ่น ผู้คนต่างก็มีศีลธรรม อบายมุขย่อมหมดสิ้นไป ผู้คนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมีวิถีชีวิตที่มีความสุข อยู่ร่วมกันอย่างผู้มีจิตใจผ่องใสเป็นปกติ ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังก็เป็นคนดีเพราะได้ต้นแบบที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้เกิดเป็นหมู่คณะใหญ่ที่มีทั้งปัญญา ความบริสุทธิ์ ความกรุณา และเป้าหมายชีวิตที่เหมือนกัน ทำให้ศีลธรรมเข้มแข็งขึ้นตามลำดับและมีกำลังมากในการมุ่งทวนกระแสกิเลส เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง และเป็นผลให้โลกนี้สันติสุขไปอีกนานแสนนาน
6. เงื่อนไขความสำเร็จแห่งการสร้างจักร 4 ให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเอง เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ แบกภาระรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าพระนิพพานอยู่นั้น พระองค์ก็ทรงต้องสร้างหมู่คณะที่ตั้งใจสร้างบุญบารมีให้เกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน ไม่ว่าพระองค์จะไปเกิดเป็นกษัตริย์ เป็นพ่อค้า เป็นประชาชน หรือเป็นนักบวช พระองค์ทรงต้องทุ่มเทรวบรวมทีม เพื่อมาช่วยกันพัฒนาสังคมที่พระองค์อยู่ให้มีมาตรฐานศีลธรรม เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเป็นทีม ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกสถานที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่กระตุ้นให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสเหมือนยุคสมัยนี้
การลงมือสร้างจักร 4 ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นในยุคสมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคที่อบายมุขระบาดไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จึงเป็นงานของคนที่มีใจกุศลอย่างแรงกล้าที่ปรารถนาจะทำให้ท้องถิ่นมีความสงบสุข ปราศจากอบายมุข และต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายคนดีมาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศีลธรรมอย่างสุดชีวิต แล้วจะพบว่า เพียงแค่เราเริ่มต้นเป็นแสงสว่างให้แก่ท้องถิ่นความสว่างของศีลธรรมภายในใจจะส่องสว่างมาสู่ภายนอกอย่างมีความคืบหน้ามาตามลำดับดังนี้
1. เราต้องมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาตนเองตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
2. ความดีที่กระทำนั้นต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องจริง ดีจริง เป็นประโยชน์จริง และทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ทำอย่างถูกหลักวิชา ทำอย่างต่อเนื่องเป็นนิสัย
3. แม้ต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากกระแสกิเลสของชาวโลกมากมายเพียงไหนความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของเราต้องมากพอที่จะเป็นเกราะป้องกันภัยชีวิตเราได้
4.สามารถอธิบายเหตุผลในการสร้างความดีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันของตนให้ผู้มีดวงปัญญาเข้าใจและเกิดศรัทธามาร่วมสร้างความดีกับตนจนกระทั่งเป็นหมู่คณะใหญ่ได้
5. ผลการทำความดีของตนเองและหมู่คณะ ต้องเกิดประโยชน์ต่อตนเองและประโยชน์ต่อคนจำนวนมหาศาล จนกระทั่งใครๆ ในสังคมก็ให้การยอมรับว่าเป็นความดีที่ตนสร้างมาตลอดอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องจริง ดีจริง และเป็นประโยชน์จริงสมควรแล้วที่ผู้หวังความดีทุกคนควรจะน้อมนำมาปฏิบัติตามให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปบ้าง
จากจุดเริ่มต้นเพียงแสงสว่างภายในใจที่จุดความสว่างภายในใจผู้อื่นให้สว่างขยายไปทั่วท้องถิ่น ย่อมทำให้งานสร้างจักร 4 มีความคืบหน้าบรรลุถึงขั้นที่ 5 และนั่นหมายความว่าผลแห่งการทำความดีเองและชักชวนให้ผู้อื่นทำความดีโดยไม่ย่อท้อ ย่อมทำให้เรามีทั้งกำลังความดี กำลังปัญญา กำลังเครือข่ายคนดี กำลังเกียรติยศ กำลังทรัพย์ และกำลังบุญบารมีที่มากพอจะส่งเสริมให้สังคมในท้องถิ่นเกิดมาตรฐานศีลธรรมที่เข้มแข็งและเป็นแรงผลักดันให้ศีลธรรมและเศรษฐกิจเกิดความเจริญรุ่งเรืองควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน
GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา