พระกุณฑลเกสีเถรี

วันที่ 02 พค. พ.ศ.2560

พระกุณฑลเกสีเถรี,วาไรตี้,บทความประจำวัน

 

เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี (ฆ่าสามีโจรแล้วบวชเป็นปริพาชิกา บวชบรรลุอรหันต)

 

สถานที่ตรัส พระเวฬุวัน

               เล่ากันว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีอายุ ย่าง ๑๖ ปี มีรูปสวย น่าดู.

          ครั้งนั้น มารดาบิดาให้ธิดานั้นอยู่ในห้องอันมีสิริ บนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น, ได้กระทำทาสีคนเดียว เท่านั้นให้เป็นผู้บำรุงบำเรอนาง.

         ครั้งนั้น พวกราชบุรุษจับกุลบุตรคนหนึ่ง ผู้กระทำโจรกรรมได้มัดมือไพล่หลัง โบยด้วยหวายครั้งละ ๔ เส้นๆแล้วนำไปสู่ที่สำหรับฆ่า. ธิดาเศรษฐีได้ยินเสียงของมหาชน คิดว่า ‘นี่อะไรกันหนอแล?’ ยืนแลดูอยู่บนพื้นปราสาท เห็นโจรนั้นแล้ว ก็มีจิตปฏิพัทธ์ปรารถนาอยู่ ห้ามอาหาร แล้วนอนบนเตียง.

        ธิดาเศรษฐี. “ถ้าดิฉันจะได้ชายคนที่ถูกเขาจับไปว่า ‘เป็นโจร’ นั่นไซร้, ดิฉันจะเป็นอยู่ ; ถ้าไม่ได้, ชีวิตดิฉัน ก็จะไม่มี, ดิฉันจะตายในที่นี้นี่แหละ.”

         มารดา เมื่อไม่อาจให้ธิดายินยอมได้ จึงบอกแก่ บิดา. ถึงบิดานั้นก็ไม่อาจให้ธิดานั้นยินยอมได้ คิดว่า ‘เราอาจจะกระทำอย่างไรได้?’ ส่งห่อภัณฑะพันหนึ่ง แก่ราชบุรุษ ผู้ให้จับโจรนั้นแล้วเดินไปอยู่ ด้วยคำว่า “ท่านจงรับภัณฑะนี้ไว้แล้ว ให้บุรุษคนนั้นแก่ฉัน.”

    ราชบุรุษนั้นรับคำว่า “ดีละ” แล้วรับกหาปณะ ปล่อยโจรนั้นไป ฆ่าบุรุษอื่นแล้ว กราบทูลแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ฆ่าโจรแล้ว.”

    แม้เศรษฐีได้ให้ธิดาแก่โจรนั้นแล้ว. นางคิดว่า ‘จะทำให้สามียินดี’ จึงตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวง จัดแจง ยาคูเป็นต้นแก่โจรนั้นเองทีเดียว.

       โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน โจรคิดว่า ‘ในกาลไรหนอแล? เราจะได้เพื่อฆ่าหญิงนี้ ถือเอาเครื่องประดับของหญิงนี้ ขายกินในโรงสุราแห่งหนึ่ง’ โจรนั้นคิดว่า ‘อุบายนี้มีอยู่’ จึงห้ามอาหารเสียนอนบนเตียง.

         ที่นั้น นางเข้าไปหาโจรนั้นแล้วถามว่า “นาย มีอะไร ไม่สบายใจหรือ?

  โจร. “ไม่มีอะไรที่ไม่สบายใจหรอก นางผู้เจริญ.

   ธิดาเศรษฐี. “ก็มารดาบิดาของดิฉัน โกรธท่านแลหรือ?”

   โจร. “ไม่โกรธ นางผู้เจริญ.”

   ธิดาเศรษฐี. “เมื่อเป็นเช่นนั้น นี่ชื่ออะไร?”

   โจร. “นางผู้เจริญ ฉันถูกจับนำไปในวันนั้น บนบาน ไว้ต่อเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ภูเขาทิ้งโจรได้ชีวิต แล้ว, แม้หล่อนฉันก็ได้ด้วยอานุภาพแห่ง เทวดานั้นเหมือนกัน, นางผู้เจริญ ฉันคิดว่า ‘ฉันตั้งพลีกรรมนั้นไว้ต่อเทพดา.’

   ธิดาเศรษฐี. “นาย อย่าคิดเลย, ดิฉันจะกระทำพลีกรรม, ท่านจงบอก, ต้องการอะไร?”

   โจร. “ต้องการข้าวมธุปายาสชนิดมีน้ำน้อย และ ดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕.”

   ธิดาเศรษฐี. “ดีละ นาย, ดิฉันจะจัดแจง.”

         ธิดาเศรษฐีนั้นจัดแจงพลีกรรมทุกอย่างแล้ว จึงกล่าว ว่า “มาเถิดนาย, เราไปกัน.”

    โจร. “นางผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น หล่อนให้พวกญาติ ของหล่อนกลับเสีย ถือเอาผ้าและเครื่อง ประดับที่มีค่ามากแล้วจงตกแต่งตัว, เราจะ หัวเราะเล่นพลางเดินไปอย่างสบาย.”

              นางได้กระทำอย่างนั้นแล้ว. ทันทีนั้น ในเวลาถึง เชิงเขา โจรนั้นกล่าวกับนางว่า “นางผู้เจริญ เบื้องหน้าแต่นี้ เราจะไปกัน ๒ คน, หล่อนจงให้คนที่เหลือกลับพร้อมกับ ยาน ยกภาชนะพลีกรรมถือไปเอง.” นางได้กระทำอย่างนั้น. โจรพานางขึ้นสู่ภูเขาทิ้งโจร.

               ก็มนุษย์ทั้งหลายย่อมขึ้นไปโดยข้างๆ หนึ่งแห่งภูเขา นั้น. ข้างๆ หนึ่งเป็นโกรกชัน, คนทั้งหลายยืนอยู่บนยอดเขา แล้ว ย่อมทิ้งโจรทั้งหลายโดยทางข้างนั้น, โจรเหล่านั้นเป็น ท่อนเล็กท่อนน้อยตกลงไปที่พื้น; เพราะฉะนั้น เขาจึง เรียกว่า ‘เขาทิ้งโจร.’ นางยืนอยู่บนยอดเขานั้นกล่าวว่า “นาย ท่านจงทำพลีกรรมของท่าน.” โจรนั้นได้นิ่งแล้ว.

              เมื่อนางกล่าวอีกว่า “นาย เหตุไรท่านจึงนิ่งเสียเล่า?” จึงบอกกับนางว่า “ฉันไม่ต้องการพลีกรรมดอก, แต่ฉัน ล่อลวงพาหล่อนมา.”

   ธิดาเศรษฐี. “เพราะเหตุไร? นาย.”

   โจร. “เพื่อต้องการฆ่าหล่อนเสีย แล้วถือเอาเครื่อง ประดับของหล่อนหนีไป.”

      นางถูกมรณภัยคุกคามแล้วกล่าวว่า “นายจ๋า ดิฉัน และเครื่องประดับของดิฉันก็เป็นของๆ ท่านทั้งนั้น, เหตุไร ท่านจึงพูดอย่างนี้?” โจรนั้นแม้ถูกอ้อนวอนบ่อยๆ ว่า “ท่าน จงอย่ากระทำอย่างนี้”

      ก็กล่าวว่า “ฉันจะฆ่าให้ได้.”

      นางกล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะต้องการอะไร? ด้วยความตายของดิฉัน, ท่านถือเอาเครื่องประดับเหล่านี้ แล้วให้ชีวิตแก่ดิฉันเถิด, จำเดิมแต่นี้ท่านจงจำดิฉันว่า ‘ตายแล้ว’ หรือว่า ‘ดิฉันจะเป็นทาสีของท่านกระทำการงานให้’ ” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-

“สายสร้อยทองคำเหล่านี้ ล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์,

ท่านผู้เจริญ ท่านจงถือเอาทั้งหมด

และจงประกาศว่าดิฉันเป็นทาสี.”

        โจรฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า “เมื่อฉันกระทำอย่างนั้น, หล่อนไปแล้วก็จะบอกแก่มารดาบิดา, ฉันจะฆ่าให้ได้, หล่อนอย่าคร่ำครวญไปนักเลย” ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ว่า :-

“หล่อนอย่าคร่ำครวญนักเลย,

จงรีบห่อสิ่งของเข้าเถิด, ชีวิตของหล่อนไม่มีดอก,

ฉันจะถือเอาสิ่งของทั้งหมด.”

        นางคิดว่า ‘โอ กรรมนี้หนัก, ชื่อว่าปัญญา ธรรมดา มิได้สร้างมาเพื่อประโยชน์แกงกิน, ที่แท้ สร้างมาเพื่อ ประโยชน์พิจารณา, เราจะรู้สิ่งที่ควรกระทำแก่เขา.’

       ลำดับนั้น นางกล่าวกับโจรนั้นว่า “นาย ท่านถูกจับ นำไปว่า ‘เป็นโจร’ ในกาลใด; ในกาลนั้น ดิฉันบอก แก่มารดาบิดา, ท่านทั้งสองนั้นสละทรัพย์พันหนึ่ง ให้นำท่านมากระทำไว้ในเรือน, จำเดิมแต่นั้นดิฉันก็อุปการะ ท่าน, วันนี้ท่านจงให้ดิฉันกระทำตัว (ท่าน) ให้เห็นถนัด แล้วไหว้.”

     โจรนั้นกล่าวว่า “ดีละ นางผู้เจริญ, หล่อนจงทำตัว (ฉัน) ให้เห็นได้ถนัด แล้วไหว้เถิด” ดังนี้แล้ว ก็ได้ยืนอยู่ บนยอดเขา. ทีนั้นนางทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้โจรนั้น ในที่ ๔ สถานแล้ว กล่าวว่า “นาย นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ของดิฉัน, บัดนี้การที่ท่านเห็นดิฉันหรือการที่ดิฉันเห็นท่าน ไม่มีละ” แล้วสวมกอดข้างหน้าข้างหลังยืนที่ข้างหลัง เอามือข้างหนึ่งจับโจรผู้ประมาท ยืนอยู่บนยอดเขาตรงคอ เอามือข้างหนึ่งจับตรงรักแร้ข้างหลัง ผลักลงไปในเหวแห่งภูเขา. โจรนั้นถูกกระทบที่ท้องแห่งเขา เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตกลงไปแล้วที่พื้น. ทิ้งเครื่องประดับไว้ในที่นั้นนั่นเอง เข้าไปสู่ป่าเที่ยวไปโดยลำดับ ถึงอาศรมของพวกปริพาชกแห่งหนึ่ง ไหว้แล้ว กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลาย จงให้การบรรพชา ในสำนักของท่านแก่ดิฉันเถิด.”

        ลำดับนั้น ปริพาชกทั้งหลายให้นางบรรพชาแล้ว

      ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้น ยังนางให้เรียนวาทะ พันหนึ่งแล้วกล่าวว่า “ศิลปะ ท่านก็เรียนแล้ว, บัดนี้ ท่าน จงเที่ยวไปบนพื้นชมพูทวีปตรวจดูผู้สามารถจะกล่าว ปัญหากับตน” แล้วให้กิ่งหว้าในมือแก่นาง ส่งไปด้วยสั่งว่า “ไปเถิด นางผู้เจริญ; หากใครๆ เป็นคฤหัสถ์อาจกล่าว ปัญหากับท่านได้, ท่านจงเป็นบาทปริจาริกา ของผู้นั้นเทียว; หากเป็นบรรพชิต, ท่านจงบรรพชาในสำนักผู้นั้นเถิด.”

      นางมีชื่อว่า ชัมพุปริพาชิกา ตามนาม (ของไม้) ออกจากที่นั้น เที่ยวถามปัญหากับผู้ที่ตนเห็นแล้วๆ. คนชื่อว่าผู้สามารถจะกล่าวกับนางไม่ได้มีแล้ว. คนทั้งหลาย พอฟังว่า ‘นางชัมพุปริพาชิกามาแต่ที่นี้’ ย่อมหนีไป.

      นางเข้าไปสู่บ้านหรือตำบลเพื่อภิกษา (ขออาหาร) ก่อกองทรายไว้ใกล้ประตูบ้าน ปักกิ่งหว้าบนกองทรายนั้น กล่าวว่า “ผู้สามารถจะกล่าวกับเรา จงเหยียบกิ่งหว้า” แล้วก็เข้าไปสู่บ้าน.

       ใครๆ ชื่อว่าสามารถจะเข้าไปยังที่นั้น มิได้มี. แม้นาง ย่อมถือกิ่งอื่น ในเมื่อกิ่งหว้า (เก่า) เหี่ยวแห้ง, เที่ยวไป โดยทำนองนี้

        ถึงกรุงสาวัตถี ปักกิ่ง (หว้า) ใกล้ประตูบ้าน พูด โดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล เข้าไปเพื่อภิกษา. เด็กเป็น อันมากได้ยืนล้อมกิ่งไม้ไว้แล้ว.

      ในกาลนั้น พระสารีบุตรเถระเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต กระทำภัตตกิจแล้วออกไปจากเมือง เห็นเด็กเหล่านั้น ยืนล้อมกิ่งไม้ จึงถามว่า “นี้อะไร?” เด็กทั้งหลายบอก เรื่องนั้นแก่พระเถระแล้ว. พระเถระกล่าวว่า “เธอทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งไม้นี้.

พวกเด็ก. “พวกกระผมกลัว ขอรับ.”

พระเถระ. “เราจะกล่าวปัญหา พวกเจ้าเหยียบเถิด.”

        เด็กเหล่านั้นเกิดความอุตสาหะด้วยคำของพระเถระ กระทำอย่างนั้น โห่ร้องอยู่ โปรยธุลีขึ้นแล้ว.

       นางปริพาชิกามาแล้วดุเด็กเหล่านั้น กล่าวว่า “กิจ ด้วยปัญหาของเรากับพวกเจ้า ไม่มี เหตุไร พวกเจ้าจึงพา กันเหยียบกิ่งไม้ของเรา?”

พวกเด็กกล่าวว่า “พวกเรา อันพระคุณเจ้าใช้ให้เหยียบ.”

นางปริพาชิกา. “ท่านผู้เจริญ ท่านใช้พวกเด็กเหยียบกิ่งไม้ ของดิฉันหรือ?”

พระเถระ. “ใช่ น้องหญิง.”

นางปริพาชิกา. “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกล่าวปัญหากับดิฉัน.”

พระเถระ. “ดีละ, เราจะกล่าว.”

      นางปริพาชิกานั้น ได้ไปสู่สำนักของพระเถระเพื่อถาม ปัญหาในเวลาบ่าย. ทั่วทั้งเมืองลือกระฉ่อนกันว่า ‘พวกเรา จะฟังถ้อยคำของ ๒ บัณฑิต’

          พวกชาวเมืองไปกับนางปริพาชิกานั้นเหมือนกัน ไหว้พระเถระแล้วนั่ง ณ ที่สุดข้างหนึ่ง.

         นางปริพาชิกา กล่าวกับพระเถระว่า “ท่านผู้เจริญ ดิฉันจะถามปัญหากับท่าน.”

         พระเถระตอบว่า “ถามเถิด น้องหญิง.”

         นางถามวาทะพันหนึ่งแล้ว. พระเถระแก้ปัญหาที่ นางถามแล้วๆ.

         ลำดับนั้นพระเถระกล่าวกับนางว่า “ปัญหาของท่าน มีเท่านี้, ปัญหาแม้อื่นมีอยู่หรือ?”

นางปริพาชิกา. “มีเท่านี้แหละ ท่านผู้เจริญ.”

พระเถระ. “ท่านถามปัญหาเป็นอันมาก,แม้เราจะถาม สักปัญหาหนึ่ง, ท่านจะแก้ได้หรือไม่?”

นางปริพาชิกา. “ดิฉันรู้ก็จะแก้, จงถามเถิด ท่านผู้เจริญ.”

พระเถระถามปัญหาว่า “อะไร ชื่อว่าหนึ่ง?.”

นางปริพาชิกานั้น ไม่รู้ว่าปัญหานี้ ควรแก้อย่างนี้ จึงถามว่า “นั่นชื่อว่าอะไร ท่านผู้เจริญ?”

พระเถระ. “ชื่อพุทธมนต์ น้องหญิง.”

นางปริพาชิกา. “ท่านจงให้พุทธมนต์นั้นแก่ดิฉันบ้าง

ท่านผู้เจริญ.”พระเถระ. “หากว่า ท่านจะเป็นเช่นเรา, เราจะให้.”

นางปริพาชิกา. “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านยังดิฉันให้บรรพชาเถิด.”

      พระเถระบอกแก่นางภิกษุณีทั้งหลายให้บรรพชาแล้ว. นางครั้นได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว มีชื่อว่า ‘กุณฑลเกสีเถรี’ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายโดย ๒-๓ วัน เท่านั้น.

         เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า :-

"ก็ผู้ใด พึงกล่าวคาถาตั้งร้อย

ซึ่งไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์;

บทแห่งธรรมบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้

ประเสริฐกว่า (การกล่าวคาถาตั้ง ๑๐๐ ของผู้นั้น).

ผู้ใด พึงชนะมนุษย์ พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง (คือ ๑ ล้าน)

ในสงคราม ผู้นั้น หาชื่อว่า

เป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่,

ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้,

ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม."

       ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011999845504761 Mins