ผู้มองการณ์ไกล

วันที่ 01 มิย. พ.ศ.2560

ผู้มองการณ์ไกล

 

 

              ปี พ.ศ.๒๕๑๘  การดำเนินการสร้างวัดได้เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ มีศาลาสำหรับปฏิบัติธรรมและมีกุฏิให้อยู่กันได้แล้ว ราวเดือนเมษายน หลวงพ่อและคุณยายจึงย้ายจากบ้านธรรมประสิทธิ์มาอยู่ที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม คุณยายท่านมองการณ์ไกล ตั้งกฎระเบียบภายในวัดด้วยตนเองทั้งหมด โดยนำประสบการณ์ในสมัยที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาใช้ท่านให้เหตุผลว่า

               "พระยายยังหนุ่ม ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร"

               กฎระเบียบที่สำคัญก็คือ

               ๑) ให้มีการปิดประตูวัดเวลา ๖ โมงเย็น และเปิด ๖ โมงเช้าทุกวัน

               ๒) ห้ามพระทุกรูปรับแขกในกุฏิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามผู้หญิงขึ้นกุฏิพระอย่างเด็ดขาด

                นอกจากนี้ท่านยังเห็นว่า พระที่วัดพระธรรมกายมี เป็นจำนวนมาก อาหารที่บิณฑบาตมาได้จะไม่พอฉัน และยัง ต้องมีอาหารอย่างพอเพียงไว้เลี้ยงญาติโยมที่มาช่วยงานวัดอีกด้วย ท่านจึงปรารภกับหลวงพ่อให้ตั้งโรงครัวขึ้นภายในวัด เหมือนกับสมัยของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                คุณยายท่านเป็นคนกล้าตัดสินใจท่านไม่เคยหวั่นวิตกว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร หากเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิดต่อวินัย ไม่ผิดต่อศีลธรรม อีกทั้งไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสังคมเพราะโลกนี้มีธรรมประจำโลกอยู่ ชื่อว่าโลกธรรม   เป็น ภาพความผันแปรประจำโลกคือ มีลาภคู่กับเสื่อมลาภ มียศคู่กับเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์คละเคล้ากันไปแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเอกในโลกก็ยังถูกนินทาส่วน โจรผู้เลวทรามต่ำช้าก็ยังมีคนสรรเสริญ เพราะฉะนั้น การที่คุณยายคิดจะทำอะไร เมื่อเห็นว่าเหมาะสมถูกต้องแล้วคุณยาย ก็กล้าตัดสินใจทันทีท่านเคยกล่าวว่า

               "ตลอดชีวิตยายนี่ ยายมีวิธีตัดสินใจง่ายๆ ของยาย คือยายไม่เอาใจใครเลย ยายตามใจอยู่ท่านเดียวคือพระพุทธเจ้า เพราะท่านแยกได้ชัดเจนแล้วว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว อะไรบุญ อะไรบาป อะไรควร อะไรไม่ควร เพราะฉะนั้นยาย ทำตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่าเอาไว้ แล้วใครเขาจะด่า ใครเขาจะติยายทั้งเมือง ยายก็เฉยๆ ยายเอาใจคนเดียวคือพระพุทธเจ้า"

               ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อทัตตะเคยถามคุณยายว่า

                "แล้วเขาไม่โกรธเอาหรือยาย"

                คุณยายตอบว่า

                "โกรธทำไมจะไม่โกรธ"

                "แล้วยายทำอย่างไรเวลาเขาโกรธ"

                "ยายก็เข้ากลางของกลางไปเรื่อยๆ เอาธรรมกายของเราไปกราบพระพุทธเจ้าอยู่ข้างในนั้น ไปอยู่กับธรรมกายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน"

              นี่คือคุณลักษณะของคุณยายท่านไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของการกระทบกระทั่งเหล่านั้น ใจของท่านจึงหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถนำหมู่คณะให้สามารถสร้างงานที่สำคัญยิ่ง นั่นคือการเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย หากแต่ความนิ่งเฉย ไม่สู้ ไม่หนีทำความดีเรื่อยไป และความเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ ปรารถนาดีต่อคนทั้งโลกทำให้สามารถฝ่าฟันทำลายอุปสรรคเหล่านั้นให้มลายหายสูญไปได้

              ในระหว่างที่ทุกคนกำลังลุยงานสร้างโบสถ์กันอย่างขะมักเขม้น คุณยายก็ปฏิบัติตนเสมือนเป็นแม่บ้าน คอยดูแลการหุงหาอาหารเลี้ยงพระด้วยตนเอง หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วท่านจะนั่งสมาธิจนถึงเกือบ ๑๑ นาฬิกา แล้วพักรับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นท่านจะถือถังใบหนึ่งกับจอบคู่มือ แล้วก็มีดอีโต้ซึ่งใช้ประจำอีกเล่มหนึ่ง ชวนเด็กวัดไปช่วยกันปลูกต้นไม้ท่านปลูกทุกอย่างที่ปลูกได้เช่น ต้นประดู่ หรือต้นมะค่า แต่ที่ปลูกมากที่สุดคือ ต้นกล้วยน้ำว้า

               บางครั้งต้องมีการปรับดิน เมื่อปลูกต้นไม้แล้วเขาไถของท่านทิ้งท่านก็ปลูกต่อไม่ปริปากบ่น ปลูกด้วยความเพลิดเพลินใจแม้อายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว แต่ท่านทำไหวทำด้วยความเข้มแข็งและอดทนจนหนุ่มๆ ต้องอายเพราะหมดแรงก่อน

               คุณยายปลูกต้นไม้จนกระทั่ง ๔-๕ โมงเย็นจึงจะเลิกท่านตรงเวลา พอเลิกแล้วท่านจะเอากระติกน้ำร้อนไปส่งไว้ที่กุฏิของหลวงพ่อธัมมชโย เป็นกระติกน้ำตราอูฐมีฝากระบอกที่ท่านเอาติดมาด้วยจากบ้านธรรมประสิทธิ์ ใครจะหาให้ใหม่ท่านก็ไม่สนใจ กระติกใบนี้ดูมีค่าสำหรับท่านจริงๆ

                พอส่งเสร็จเรียบร้อย ก็ไปอาบน้ำเตรียมตัวนั่งสมาธิท่านจะเริ่มนั่งตั้งแต่ ๒ ทุ่ม พอ ๓ หรือ ๔ ทุ่มก็พักผ่อนและ ตื่นขึ้นมาอีกครั้งประมาณตี ๓ กว่า เพื่อนั่งสมาธิตามทรัพย์สมบัติและตามบริวารสมบัติคือนักสร้างบารมีทั้งหลาย ให้มาช่วยกันสร้างวัด อันเป็นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047541916370392 Mins