พระอานนท์เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

วันที่ 24 มิย. พ.ศ.2560

พระอานนท์เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พระไตรปิฎกคืออะไร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระอานนท์เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร , พระอานนท์

      เมื่อพระพุทธองค์เสด็จออกบรรพชาและได้ตรัสรู้แล้ว แสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก

    พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนะศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธองค์ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก คือ 1. อนุรุทธะ 2. ภัคคุ 3. กิมพิละ 4. ภัททิยะ รวมเป็น 5 ท่านในฝ่ายศากยวงศ์ เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ 1 กับอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลามีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก 1 รวมเป็น 7 ท่าน ใน 7 ท่านนี้เมื่อออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ 4 ท่าน คือ พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ทรงจำพุทธวจนะได้มากพระอนุรุทธ์ชำนาญในทิพยจักษุ พระอุบาลีทรงจำและชำนาญในทางพระวินัย กับพระเทวทัตมีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      กล่าวเฉพาะพระอานนท์ เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์ ก่อนท่ีจะรับหน้าท่ีน้ี ท่านได้ขอพรหรือนัยหน่ึงเง่ือนไข 8 ประการจากพระพุทธองค์ เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ 4 ข้อ เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง 4 ข้อ คือ

เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ

1. ขอพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
2. ขอพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
3. ขอพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
4. ขอพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง

5. ขอพระองค์จักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
6. ขอข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว
7. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
8.ถ้าพระพุทธองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์

      พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร พระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าท่านอุปัฏฐากพระพุทธองค์เพราะเห็นแก่ลาภสักการะส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง 4 ข้อ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า 3 ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า พระอานนท์จะอุปัฏฐากพระพุทธองค์ทำไม ในเมื่อพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้ายเพื่อว่า ถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธองค์ว่าคาถานี้สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสดาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้งแปดข้อให้แก่พระอานนท์

   โดยเฉพาะพรข้อที่ 8 เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลีเกี่ยวกับพระวินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน

     ในสมัยที่วิชาหนังสือยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งในปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า มุขปาฐะ

    พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดีสดับตรับฟังมาก นับว่าท่านเป็นส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012144009272257 Mins