การนับครั้งสังคายนาของไทย

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2560

การนับครั้งสังคายนาของไทย

 พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การทำสังคายนา , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , การนับครั้งสังคายนาของไทย , สังคายนาไทย

     ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทย เรารับรองสังคายนาครั้งที่ 1-2-3 ในอินเดียและครั้งที่ 1-2 ในลังกา รวม 5 ครั้ง ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัยแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรร ทรงถือว่าสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไปจึงทรงบันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม 3

     แต่ตามหนังสือสังคีติยวงศ์หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนรจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้ 9 ครั้ง ดังต่อไปนี้

       สังคายนาครั้งที่ 1-2-3 ทำให้ประเทศอินเดียตรงกับที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น

     สังคายนาครั้งที่ 4-5 ทำในลังกา คือครั้งที่ 1 ที่ 2 ที่ทำในลังกา ดังได้กล่าวแล้วในประวัติการสังคายนาของลังกา

     สังคายนาครั้งที่ 6 ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. 956 พระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก จากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม เนื่องจากการแปลอรรถกถาเป็นภาษาบาลีครั้งนี้ มิใช่การสังคายนาพระไตรปิฎกทางลังกาเองจึงไม่ถือว่าเป็นการสังคายนาตามแบบแผนที่นิยมกันว่า จะต้องมีการชำระพระไตรปิฎก

     สังคายนาครั้งที่ 7 ทำในลังกาเมื่อพ.ศ.1587 พระกัสสปเถระเป็นประธาน มีพระเถระร่วมด้วยกว่า 1,000 รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี กล่าวคือแต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่ 6 คำอธิบายอรรถกถานี้กล่าวตามสำนวนนักศึกษาก็คือ คัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎกเรียกว่า "บาลี" คำอธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า "อรรถกถา" คำอธิบายอรรถกถาเรียกว่า "ฎีกา" การทำสังคายนาครั้งนี้ เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎกแม้ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา

    อย่างไรก็ตาม ข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง

       หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมการสังคายนาครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7


การสังคายนาครั้งที่ 6 ที่ประเทศลังกา
     พ.ศ. 956 รัชสมัยของพระเจ้ามหานามมีพระมหาเถระปราชญ์สำคัญชาวชมพูทวีปรูปหนึ่งชื่อ พระพุทธโฆสะ เดินทางไปยังเกาะลังกาด้วยความประสงค์จะแปลอรรถกถาพระไตรปิฎกภาษาสิงหลในลังกาทวีปกลับเป็นภาษามคธ ท่านได้เข้าพบพระมหาเถระประธานสงฆ์ในสำนักมหาวิหาร บอกความประสงค์และขออนุญาตแปลอรรถกถา พระเถระเจ้าถิ่นผู้รักษาคัมภีร์ได้ทด อบความรู้ด้วยการให้คาถา 1 คาถา ในสังยุตตนิกาย คาถวรรค ให้พระพุทธโฆสะ แต่งขยายความแล้วขอตรวจสอบความรู้ คาถากระทู้นั้นคือ

สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ      จิตฺตํ ปฺญฺญจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ               โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

    ท่านพระพุทธโฆสะได้ใช้กระทู้นี้แต่งบรรยายเป็นหนังสือ ชื่อ ปกรณ์พิเศษวิสุทธิมรรคซึ่งบัดนี้ใช้เป็นหลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ. 8 และ ป.ธ. 9 ของ นามหลวงแผนกบาลีในประเทศไทย ผลงานของท่านพระพุทธโฆสะเป็นที่พอใจของพระมหาเถระแห่งมหาวิหารมาก ท่านจึงได้รับอนุญาตให้แปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธได้อรรถกถาเดิมภาษาสิงหลที่สำคัญปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักมี 3 คัมภีร์ คือ

    1. มหาอรรถกถา เป็นปรัมปราภตเถรวาทอธิบายพระสูตรที่พระมหินเถระนำมายังลังกา แล้วแปลสู่ภาษาสิงหล

       2. มหาปัจจริยัตถกถา อรรถกถาอภิธรรมปิฎก มีชื่อตามแพที่พระเถระนั่งประชุมกันทำอรรถกถานี้

       3. กุรุนทีอรรถกถา อรรถกถาวินัยปิฎก มีชื่อตามตำบลซึ่งวิหารที่พระสงฆ์ประชุมกันทำอรรถกถานี้ตั้งอยู่

     พระพุทธโฆสะใช้ข้อมูลจากกุรุนทีอรรถกถาแต่งคัมภีร์อรรถกถาวินัย ชื่อ มันตปาสาทิกา ใช้ข้อมูลจากมหาอรรถถาแต่งคัมภีร์อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกตามลำดับนิกาย คือ

- สุมังคลวิลาสินี       อรรถกถาทีฆนิกาย
- ปปัญจสูทนี           อรรถกถามัชฌิมนิกาย
- สารัตถปกาสินี       อรถกถาสังยุตตนิกาย
- มโนรถปูรณี           อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ฯลฯ

     ใช้ข้อมูลจากอรรถกถามหาปัจจรี แต่คัมภีร์อรรถกถาอภิธรรมปิฎก คือ

- อัตถสาลินี         อรรถกถาธัมมสังคณี
- สัมโมหวิโนทนี     อรรถกถาวิภังค์
- ปรมัตถทีปนี       อรรถกถาปัญจปกรณ์แห่งอภิธรรมปิฎก

   กล่าวกันว่า พระพุทธโฆสะใช้เวลาเพียง 1 ปีเพื่อแปลอรรถกถาเหล่านี้ ซึ่งทางประเทศลังกาถือเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6

   สังคายนาครั้งนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ บางมติไม่ถือว่าเป็นสังคายนาเพราะไม่มีอธิกรณ์หรือการชำระพระไตรปิฎก


การสังคายนาครั้งที่ 7 ที่ประเทศลังกา
    พ.ศ. 1587 รัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช พระมหากัสสปเถระได้รับอาราธนาและพระบรมราชูปถัมภ์ให้จัดทำสังคายนา จึงประชุมพระสงฆ์พันกว่ารูปประชุมจัดทำคำอธิบายอรรถกถา คือ คัมภีร์ฎีกาแห่งพระไตรปิฎกเป็นเวลา 1 ปี คัมภีร์ฎีกาที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ คือ

1.สารัตถทีปนี                ฎีกา มันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก
2. ปฐมสารัตถมัญชุสา     ฎีกาสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย
3. ทุติยสารัตถมัญชุสา     ฎีกาปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย
4. ตติยสารัตถมัญชุสา     ฎีกาสารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย
5. จตุตถสารัตถมัญชุสา   ฎีกามโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย
6. ปฐมปรมัตถัปปกาสินี   ฎีกาอัตถสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี
7. ทุติยปรมัตถัปปกาสินี   ฎีกาสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์
8. ตติยปรมัตถัปปกาสินี   ฏีกาปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์แห่งอภิธรรมปิฎก

       เช่นเดียวกับครั้งที่ 6 บางมติไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา เพราะเหตุผลเช่นเดียวกับการสังคายนาครั้งที่แล้ว

     สังคายนาครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎก ในวัดโพธารามเป็นเวลา 1 ปี จึงสำเร็จสังคายนาครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 1 ในประเทศไทย

     สังคายนาครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ 218 รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก 32 คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก แล้วจัดให้มีการจารึกลงใบลานสังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน 5 เดือน จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศไทย

      ประวัติการสังคายนา 9 ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่ง มเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้ ภิกษุชินานันทะ ศาสตราจารย์ภาษาบาลี และพุทธศาสตร์แห่ง ถาบันภาษาบาลีที่นาลันทาได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ 2,500 ปีแห่งพระพุทธศาสนาในอินเดียซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษในอินเดียด้วย

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024813016255697 Mins